Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
14 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ครอบครัว & เด็ก
มาตาลดา : ทำไมการเลี้ยงลูกแบบ “พ่อแม่เอเชีย ” อาจสร้างผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในระยะยาว
ละครมาตาลดา เป็นละครที่ฉายภาพสะท้อนครอบครัวแบบเอเชียได้อย่างชัดเจน ครอบครัวของ “เป็นหนึ่ง” หมอสุดหล่อที่โตมากับครอบครัวสมบูรณ์แบบตามมุมมองของคนทั่วไป มีพ่อแม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
หากแต่ความจริงแล้ว ลึกๆ เขากลับอึดอัดกับการที่ถูกพ่อบงการชีวิตในแทบทุกเรื่องตั้งแต่เด็กๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนถึงปัจจุบันพ่อก็ยังพยายามควบคุมการใช้ชีวิตของเขาให้เป็นไปตามที่พ่อต้องการอยู่เสมอ
การเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องทำตามทุกอย่างที่พ่อแม่ต้องการ และถูกมองว่ายังเป็นเด็กเสมอในสายตาพ่อแม่จึงไม่ยอมปล่อยให้ลูกตัดสินใจอะไรเอง
สิ่งเหล่านี้ คือ ภาพจำการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวเอเชีย ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยตีกรอบให้ลูกเดินไปในเส้นทางที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ในบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อตัวลูก
ในขณะที่มาตาลดา หญิงสาวที่เติบโตมากับพ่อที่เป็น LGBTQ หรือโดนกล่าวอย่างหยาบคายโดยคำว่า 'ตุ๊ด' (ทางเราไม่มีเจตนาใช้คำไม่สุภาพ) และถูกเลี้ยงดูโดยกลุ่มเพื่อน LGBTQ ของพ่อ
ถึงแม้คนอื่นจะมองว่าครอบครัวเธอแปลก ไม่สมบูรณ์ แต่ครอบครัวต่างสายเลือดนี้กลับให้ความอบอุ่นแก่มาตาลดาเป็นอย่างมาก จนเธอไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาดอะไรเลย และยังเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีจิตใจดี สามารถเผชิญหน้ากับทุกปัญหาได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะมีครอบครัวที่คอยซัพพอร์ทในสิ่งที่เธอตัดสินใจเสมอ
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากมาเล่าว่าอะไรเป็นตัวกำหนดสไตล์การเลี้ยงลูกของแต่ละคน
และทำไมการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดอย่างที่พ่อแม่ชาวเอเชียนิยมทำ อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีในระยะยาว
📌 แนวทางการเลี้ยงลูกในอดีตเป็นอย่างไร
ศาสตราจารย์ Fabricio Zilibotti นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีชี้ว่า ในอดีต การเลี้ยงลูกแบบแรกๆ ของพ่อแม่เลยก็คือ การมองว่าเด็กยังคงมีความสับสน และไม่เข้าใจในหลายๆ สิ่ง วิธีเดียวที่จะสอนเด็กๆ ได้คือ การลงโทษทางร่างกายเพื่อให้เด็กๆ ประพฤติตัวอยู่ในระเบียบวินัย
ต่อมาแนวทางการเลี้ยงดูเด็กเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีแนวคิดที่ว่าเด็กไม่ควรจะได้รับการลงโทษเช่นนั้น แต่การลงโทษควรจะเป็นผลโดยธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำผิดของเขาเสียมากกว่า หรือพูดง่ายๆ คือผู้ใหญ่ควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยความเร็วและรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเด็กเอง
การเปลี่ยนแปลงหลักการทางการศึกษาในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 จึงมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ผู้เรียนมีความสุข ร่าเริง สมดุล และส่งเสริมให้มีพัฒนาการในแบบของตนเอง สำหรับหลายๆ ประเทศในช่วงนั้นการศึกษาไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากนัก พ่อแม่จึงไม่ค่อยพยายามขวนขวายผลักดันให้ลูกต้องเรียนหนักๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าระบบการศึกษาแบบนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากพอ 30 ปีถัดมา โลกมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เด็กๆ ที่เรียนไม่จบจะไม่สามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้
1
จึงเกิดคำว่า “Tiger parenting” หรือ การเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่ผู้เข้มงวด เป็นรูปแบบการเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องการเรียนของลูกเป็นอย่างมาก คอยเข้มงวดกวดขันเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะประสบความสำเร็จ เหมือนกับพ่อของเป็นหนึ่งในละครเรื่องนี้ ที่คอยเข้มงวดเรื่องการใช้ชีวิตของลูกจนแทบจะกลายเป็นชีวิตที่สองของตัวเอง
รูปแบบการเลี้ยงลูกเช่นนี้พบมากในครอบครัวชาวจีน เอเชียตะวันออก และในตอนหลังก็เริ่มแพร่ไปในครอบครัวชนชั้นกลางของสหรัฐฯ
📌 รูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้พ่อแม่มีแนวทางการเลี้ยงลูกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้วแนวทางการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ถูกแบ่งอย่างคร่าวๆ ได้ 3 แบบคือ
1️⃣ แบบเผด็จการ (authoritarian) พ่อแม่เหล่านี้มักจะควบคุมและจำกัดทางเลือกต่างๆ ของลูก โดยลูกต้องเชื่อฟังที่พ่อแม่สั่งอย่างเคร่งครัด
2️⃣ แบบปล่อยให้ทำตามใจ (permissive) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่เหล่านี้จะละเลยลูก แต่พวกเขามักจะเคารพในการตัดสินใจของลูก และลูกไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง
3️⃣ แบบคอยกำกับดูแล (authoritative) พ่อแม่เหล่านี้จะคอยชี้นำสิ่งที่สำคัญให้แก่ลูก บ่มเพาะความคิดของลูกด้วยการใช้เหตุผลมากกว่าที่จะออกคำสั่งและกฎระเบียบ
ศาสตราจารย์ Fabricio Zilibotti มองว่าการที่พ่อแม่จะเลือกสไตล์การเลี้ยงลูกแบบใดแบบหนึ่งนี้ ปัจจัยสำคัญก็มาจากความชอบส่วนตัว ส่วนอีกปัจจัยก็มาจากลักษณะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศนั้นๆ
งานวิจัยพบข้อสังเกตที่ว่าในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง คนที่การศึกษาที่สูงจะมีชีวิตที่ดีกว่ามากๆ ในขณะที่คนที่การศึกษาต่ำมักจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงนิยมการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการและเข้มงวดกับลูก
ในขณะที่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำอย่างแถบสแกนดิเนเวีย ศิลปิน หรือเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน มีรายได้น้อยกว่าหมอและวิศวกรไม่มากนัก พ่อแม่จึงสามารถปล่อยวางกับลูกได้มากขึ้น ในประเทศเหล่านี้จึงมักจะเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับอนาคตของลูกมากนัก
2
ข้อมูลการสำรวจจาก OECD พบว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เด็กๆ มักจะถูกปลูกฝังให้ต้องตั้งใจเรียนอย่างหนัก เช่น ในประเทศจีน หรือสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศสวีเดน, นอร์เวย์ ที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ มักจะให้ค่ากับความเป็นตัวของตัวเองและการมีจินตนาการมากกว่า
และเมื่อมองลึกลงไป ก็จะพบว่าสถานะทางสังคมก็มีผลต่อการเลือกรูปแบบการเลี้ยงลูกเช่นกัน ครอบครัวชนชั้นกลาง ที่พอมีกำลังทางการเงินและมีความรู้ มักจะมีแนวโน้มเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
โดยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลูกอยู่เสมอๆ ยิ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่พอจะมีทุนทรัพย์อยู่บ้าง พยายามดูแลและกวดขันลูกอย่างเต็มที่ เพื่อหวังจะหนีออกจากวงจรความยากจน
1
📌 แล้วการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดของพ่อแม่เอเชียส่งผลเสียหรือผลดีมากกว่ากัน?
ทั้งนี้มีคนสังเกตว่าพ่อแม่ผู้เข้มงวดของเอเชีย เหมือนจะเลี้ยงลูกได้เหนือกว่า มีผลการเรียนดีกว่า ในงานวิจัยหนึ่งจึงได้นำข้อมูลของเด็กในประเทศจีนมาวิเคราะห์ด้วยเศรษฐมิติ
จากการวิจัยพบว่า การแสดงความรู้สึกของพ่อแม่ต่อลูก มีผลอย่างต่อทักษะทางด้านการคิดและผลการเรียน ในขณะที่พ่อแม่ที่ชอบออกคำสั่งกับลูก ช่วยให้ลูกมีผลการเรียนดีก็จริง แต่ไม่มีผลต่อการพัฒนาทักษะทางด้านการคิด
และถ้าเรามองว่าทักษะทางด้านการคิดเป็นสิ่งทำคัญที่ต้องใช้ในการทำงานในระยะยาว นั่นก็หมายถึงว่าการที่พ่อแม่ลักษณะเผด็จการ ชอบออกคำสั่งและออกกฎเข้มงวด ไม่มีประสิทธิภาพในการปลูกฝังและเสริมสร้างทุนมนุษย์ได้เลย
ในขณะที่พ่อและแม่ที่มีการแสดงความรู้สึกต่อลูก จะมีผลเชิงบวกต่อทักษะการคิดและผลการเรียนของลูก
ดังนั้นวิธีการเลี้ยงดูลูกในแบบที่น่าจะดีที่สุดโดยเปรียบเทียบกันแล้ว คือ การเลี้ยงลูกแบบกำกับดูแล เพราะจะช่วยให้การพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมของลูกในช่วงวัยรุ่นดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการคิดได้
📌 เพราะลูกไม่ใช่ชีวิตที่สองของคุณ…
การเป็นพ่อแม่ที่คอยซัพพอร์ทอยู่ห่างๆ ในทุกการตัดสินใจของลูก
คอยเป็นบ้านที่อบอุ่นที่พร้อมเปิดรับให้ลูกกลับไปเสมอไม่ว่าจะไปเจออะไรจากข้างนอกมา
ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ให้ลูกเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีตรรกะทางความคิดที่ดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง
1
ในทางกลับกัน พ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป อาจสร้างผู้ใหญ่ที่มีแผลทางจิตใจ และเป็นปัญหาให้กับคนอื่นๆ ต่อไปในระยะยาวก็ได้…
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ : เฟสบุ๊คทางการของ 3 Plus
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ครอบครัว
เลี้ยงลูก
9 บันทึก
29
21
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
9
29
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย