9 ก.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“John Hancock” ประธานสภาผู้ประชดอังกฤษด้วยลายเซ็น

เมื่อพูดถึงบิดาแห่งอเมริกา ท่านผู้อ่านอาจจะรู้กันมาบ้างว่ามีทั้งหมด 56 คนตามจำนวนลายเซ็นบนคำประกาศอิสรภาพหลังการประชุมสภาแห่งทวีปที่ 2 ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นชื่อของยอร์ช วอชิงตัน หรือเบนจามิน แฟรงคลิน เสียส่วนใหญ่
แต่บนคำประกาศอิสรภาพของอเมริกานี้ จะมีอยู่ลายเซ็นหนึ่งที่ถูกเขียนเอาไว้ด้วยขนาดที่ใหญ่ยักษ์แต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งเจ้าของลายเซ็นนี้ก็คือ “จอห์น แฮนค็อค” (John Hancock) ผู้ซึ่งเป็นประธานสภาแห่งทวีปที่ถูกลืมเลือนนั่นเองครับ
1
จอห์น แฮนค็อค เกิดในเมืองเบรนทรี รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเป็นบุตรของนายพันโทจอห์น แฮนค็อค จูเนียร์ และเป็นเพื่อนสมัยเด็กของจอห์น อดัม ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่พ่อของของจอห์นเสียชีวิตลง จอห์นก็ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่บอสตันกับ โธมัส แฮนค็อค ลุงของเขาผู้เป็นเจ้าของบริษัทนำเข้าสินค้าจากอังกฤษ ตั้งแต่เหล้ารัม น้ำมันวาฬ ไปจนถึงปลาต่าง ๆ โดยลุงของจอห์นเป็นนักธุรกิจที่รวยที่สุดในบอสตัน และความร่ำรวยของลุงทำให้จอห์นใช้ชีวิตได้อย่างไม่ขัดสน
จอห์น แฮนค็อคเข้าเรียนที่โรงเรียนบอสตันละตินร่วมกันกับจอห์น อดัม ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานให้กับลุงของเขาในช่วงต้นของสงครามเจ็ดปี โดยที่จอห์นมีเส้นสายสนิทกับข้าหลวงใหญ่ประจำรัฐแมสซาชูเซตส์ และสร้างกำไรจากรัฐบาลได้เป็นกอบเป็นกำผ่านการขายสินค้าให้
ซึ่งจอห์นค่อนข้างใช้ชีวิตติดหรู โดยมักจะสวยใส่เสื้อผ้าราคาแพงเหมือนขุนนางชั้นสูงอยู่เสมอ ๆ และเขายังร่ำรวยขึ้นอีกหลังจากที่ลุงของเขาเสียชีวิตและได้มอบพินัยกรรมให้แก่เขา
📌 ภาษีมหาโหดจากสภาอังกฤษ
หลังจากที่สงครามเจ็ดปีจบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ แน่นอนว่าอังกฤษใช้จ่ายไปเยอะเพื่อชัยชนะทำให้รัฐบาลอังกฤษติดหนี้และคิดค้นหาวิธีเอาเงินเข้ารัฐด้วยการเพิ่มภาษีประเทศอาณานิคม
พระราชบัญญัติน้ำตาลถูกบังคับใช้กับชาวอาณานิคมในปี 1764 โดยปราศจากความยินยอมจากชาวอาณานิคมที่ไม่มีแม้แต่ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร การเก็บภาษีของอังกฤษจึงได้รับการตอบรับในแง่ลบ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่แล้วไม่นาน พระราชบัญญัติตราประทับก็ผ่านสภาออกมาในปี 1765 ซึ่งยิ่งทวีคูณความไม่พอใจต่อชาวอาณานิคม
ซึ่งนำโดยบิดาแห่งการปฏิวัติอเมริกาอย่าง แซมูเอล อดัมส์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Loyal Nine ก็ได้ทำการประท้วงและบอยคอตต์รัฐบาลจนรัฐบาลต้องยกเลิกพระราชบัญญัติไปในปี 1766 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นจอห์นได้รับเลือกให้เข้าไปในสภาของเมืองบอสตัน และมีส่วนช่วยในการตอบโต้พระราชบัญญัติตราประทับด้วย
แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้หยุดแค่นั้น ในปีถัดมาพระราชบัญญัติทาวน์เชน ที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไปยังอเมริกาก็ผ่านสภาออกมา ซึ่งแน่นอนว่าพระราชบัญญัตินี้มีผลกระทบต่อธุรกิจของจอห์นเป็นอย่างมาก
1
อย่างเช่นในปี 1768 เรือของจอห์นถูกจับ และถูกปรับในข้อหาไม่จ่ายภาษีนำเข้า ทำให้จอห์นเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการคบค้าสมาคมกับแซมูเอล อดัมส์ และสนับสนุนเงินทุนมากมายให้แก่กลุ่มนักปฏิวัติ
📌 จากการสังหารหมู่ถึงปาร์ตี้น้ำชา
พระราชบัญญัติทาวน์เชนนั้นไม่ได้มาแค่กฏหมาย หากแต่มีกองทหารอังกฤษตามติดมาด้วย เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการประท้วงและบอยคอตต์รัฐอีก โดยพระราชบัญญัตินี้ถูกยกเลิกไปในปี 1768 ทว่าทหารอังกฤษยังอยู่ ซึ่งยังคงสร้างความไม่พอใจอยู่เนือง ๆ
1
จนกระทั่งในปี 1770 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บอสตันซึ่งเกิดจากการที่ทหารติดอาวุธยิงปืนใส่ประชาชนมือเปล่า โดยจอห์น แฮนค็อค และแซมูเอล อดัมส์ก็ได้เขียนจดหมายร้องเรียนให้ทหารอังกฤษถอยกำลังออกไปจนสำเร็จ
3
แต่แล้วอังกฤษก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น โดยในปี 1773 พระราชบัญญัติชาก็ได้ผ่านสภาออกมาโดยผูกขาดสิทธิการค้าชาให้เป็นของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก ทำให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่ม Loyal Nine เดิมซึ่งขณะนี้ได้ขยายตัวออกกลายเป็นองค์กรต่อต้านอังกฤษอย่าง “บุตรแห่งเสรีภาพ” (The Son of Liberty)
กลุ่มการเมืองหัวรุนแรงนี้ก่อตั้งโดยแซมูเอล อดัมส์และได้ทำภารกิจที่เรียกว่า “ปาร์ตี้น้ำชาที่บอสตัน” โดยการโยนลังชาบนเรือของอังกฤษทิ้งลงทะเลในช่วงกลางคืน ซึ่งภารกิจนี้เองที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา โดยจอห์น แฮนค็อคเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของบุตรแห่งเสรีภาพด้วย
2
📌 บทโหมโรงสงคราม และประธานสภาจอห์น แฮนค็อค
จอห์น แฮนค็อค กับแซมูเอล อดัมส์ เริ่มมีบทบาทต่อชาวเมืองมากขึ้น โดยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของรัฐแมสซาชูเซตส์เพื่อไปร่วมปรึกษาหารือกับรัฐอื่นในปี 1774 และเกิดการตั้งรัฐสภาแห่งทวีปขึ้นมาโดยมีผู้นำจากทั้ง 13 อาณานิคมมาร่วมด้วย เพื่อส่งจดหมายประท้วงไปยังพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งบริเตนใหญ่ พร้อมกับเริ่มรวบรวมกองกำลังติดอาวุธเพื่อเตรียมตัวสำหรับสงคราม
การสั่งสมกำลังของจอห์น แฮนค็อค และแซมูเอล อดัมส์ ทำให้ในปี 1775 ทหารอังกฤษเคลื่อนพลมายังคองคอร์ดเพื่อที่จะจับกุมทั้งคู่ และทำลายคลังอาวุธของฝ่ายอเมริกา ทำให้เกิดการปะทะครั้งแรกของทหารฝ่ายอเมริกา
และฝ่ายอังกฤษที่สมรภูมิเล็กซิงตันและคองคอร์ด ซึ่งอเมริกาเป็นฝ่ายชนะในสมรภูมินี้ เป็นการเปิดฉากสงครามปฏิวัติอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ และเกิดการประชุมสภาโดยแต่งตั้งให้ยอร์ช วอชิงตันเป็นแม่ทัพ และจอห์น แฮนค็อคเป็นประธานสภาที่จะคอยสนับสนุนเม็ดเงินให้กับการปฏิวัติ
📌 ประกาศอิสรภาพ และลายเซ็นสร้างชื่อของประธานสภา
ในปี 1776 การประชุมรัฐสภาแห่งทวีปครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นเพื่อทำการร่างคำประกาศอิสรภาพ และได้มีการเปิดให้ลงนามบนคำประกาศในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 1776
โดยจอห์น แฮนค็อคก็ได้เป็นคนแรก ๆ ที่ได้ลงนาม พร้อมกับเขียนชื่อตัวเองใหญ่ ๆ ลงไปในคำประกาศอิสรภาพอย่างประชดประชันแต่ก็แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน พร้อม ๆ กับกล่าวขึ้นมาว่า
นั้นปะไร เชื่อเถอะว่าพระเจ้าจอร์จจะอ่านชื่อของฉันได้ชัด ๆ โดยไม่ต้องใส่แว่น
2
ซึ่งการเขียนลายเซ็นต์ใหญ่ยักษ์นี่เองที่สร้างภาพจำของแฮนด์ค็อคในหน้าประวัติศาสตร์ ถึงขั้นที่ในยุคหลังมีการนำชื่อของจอห์น แฮนค็อค มาเป็นคำแสลงที่แปลว่าลายเซ็นเลยทีเดียว
ต่อมาในปี 1777 จอห์น แฮนด์ค็อคก็ได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งประธานสภาเนื่องจากโรคเกาท์ โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีของสงคราม จอห์น แฮนค็อคก็ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือคณะปฏิวัติมาโดยตลอด
1
📌 ชีวิตหลังเกษียณจากประธานสภา
จอห์น แฮนค็อคเดินทางกลับมาบอสตันในปี 1777 อย่างวีรบุรุษ ผู้คนต่างนับหน้าถือตาจอห์น แฮนค็อคเป็นอย่างมากในฐานะของไอดอล นอกจากนี้จอห์นยังช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่เด็กกำพร้าและแม่หม้ายที่เกิดจากสงคราม ซึ่งยิ่งทำให้ความนิยมในตัวของจอห์น แฮนค็อคสูงขึ้นไปอีก
1
โดยในปี 1780 แฮนค็อคก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ และดำรงตำแหน่งนาน 5 ปีก่อนที่จะลาออกมา และเศรษฐกิจของเมืองก็ตกต่ำลง จนเกิดเหตุการณ์กบฏเชย์ในปี 1786 ทำให้จอห์นได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐอีกครั้งหนึ่งในปี 1787
จอห์น แฮนค็อคได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาในปี 1789 แต่ก็ได้รับคะแนนโหวตเพียงเล็กน้อย
จอห์นยังคงถูกเลือกตั้งโดยประชาชนให้เป็นผู้ว่าการรัฐเรื่อยมาจนเสียชีวิตในปี 1793 ด้วยวัย 56 ปี ขณะดำรงตำแหน่งสมัยที่ 9 โดยได้เพื่อนสมัยเด็ก, รองผู้ว่าการรัฐ, และรองประธานาธิบดีอย่างจอห์น อดัมส์มาจัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติและประกาศให้วันที่ฝังจอห์น แฮนค็อคเป็นวันหยุดประจำรัฐอีกด้วย
1
📌 ประธานสภาผู้ถูกลืม
ถึงแม้ว่างานศพของจอห์น แฮนค็อคจะยิ่งใหญ่มากแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็ค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา ไม่ต่างจากคู่หูนักปฏิวัติของเขาอย่างแซมูเอล อดัมส์ ทั้งคู่ถูกฝังอยู่ในสุสานไปพร้อม ๆ กับชื่อเสียงของพวกเขา ซึ่งจากการศึกษาของอัลเฟรด ยัง มองว่าเกิดจากการที่เหล่าปัญญาชนยุคใหม่ไม่ชื่นชอบที่จอห์นเป็นบุคคลที่ใช้จ่ายเงินเพื่อให้เกิดการปฏิวัติ
1
กล่าวคือพวกเขามองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของคนรวย และมองว่าจอห์น แฮนค็อคเป็นบุคคลมีตัวตนในช่วงปฏิวัติได้ก็เพราะทรัพย์สินของเขา ทำให้ความนิยมในตัวของจอห์น แฮนค็อคลดลง และค่อย ๆ จางหายไปในขณะที่ผู้คนรู้จักเพียงแค่ยอร์ช วอชิงตัน เบนจามิน แฟรงคลิน หรือโทมัส เจฟเฟอร์สันเท่านั้น
1
แม้ว่าจอห์น แฮนค็อคจะมีชื่อเสียงจากลายเซ็นอันเลื่องชื่อมากขนาดไหนก็ตาม แต่ในฐานะบิดาแห่งอเมริกา เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจดจำน้อยที่สุดด้วย ชื่อของเขาปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งในอเมริกา
แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเรื่องราวของเจ้าของชื่อนั้น นับว่าเป็นจุดจบที่น่าเศร้าของหนึ่งในนักปฏิวัติที่ทุ่มเททั้งแรงกายและทุนทรัพย์เพื่อเสรีภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
References:
โฆษณา