22 ก.ค. 2023 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

ความ(พร้อม)รับผิดชอบ

ในชีวิตเราข้องเกี่ยวกับคนรอบข้างและสิ่งรอบตัวที่ส่งผลกระทบกับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะมาจากการกระทำของเราหรือไม่ก็ตาม ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวจนถึงหน้าที่การงาน
5
จากตัวอย่างสถานการณ์ข้างล่างเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน
• เลิกกับแฟน
- ทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานใจ เราอาจโทษแฟนที่เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ไปไม่รอด แต่คนที่จะต้องยอมรับความจริง ให้เวลาตัวเองในการเยียวยาดูแลตัวเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นและทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ คือใคร?
• รู้สึกถึงความอับโชคหรือน้อยเนื้อต่ำใจกับฐานะครอบครัว หรือรูปร่างหน้าตา
- เราเลือกเกิดไม่ได้และนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของเราที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีฐานะ เกิดมาไม่สวย ไม่หล่อ แต่คนที่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกจากการสงสารตัวเองหรือนิยามตัวเองว่ายากจนหรือขี้เหร่ และให้สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจเพื่อหาวิธีจัดการหรือพัฒนาเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้ คือใคร?
• ขับรถชนรถคนอื่น
- แม้ว่าการชนจะเป็น’อุบัติเหตุ’ก็ตาม แต่คนที่ต้องรับผิดชอบส่วนกระทบต่างๆที่ข้องเกี่ยวกับตัวเราและคู่กรณี คือใคร?
• พนักงานในแผนกส่งของให้ลูกค้าไม่ทันเวลา
- คนที่ต้องจัดการตั้งแต่ชี้แนะพนักงานและวิเคราะห์หาสาเหตุกับความผิดพลาด เพื่อปรับปรุง แก้ไข พัฒนาระบบเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซาก คือใคร?
• ลูกแมวถูกทิ้งร้องอยู่หน้าบ้าน
- ไม่ใช่ความผิดของเราที่ลูกแมวถูกทิ้งหน้าบ้าน แต่ว่าคนที่จะทำการตัดสินใจเลือกที่ดูแลหรือดูดาย คือใคร?
จากตัวอย่างสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้เห็นว่า ความผิดพลาดและความรับผิดชอบมักปรากฏอยู่พร้อมกัน แต่ทั้งสองไม่ใช่สิ่งเดียวกัน "เรา"จึงมีส่วนร่วมในการ"รับผิดชอบ"ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ความผิดของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้อยู่ตลอดเวลา - ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
1
ค่าที่ให้ในชีวิตจึงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวชี้นำในการเลือกตอบสนองหรือตัดสินใจต่อทุกการกระทำด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเราเอง
บางคนเชื่อในเรื่องของโชคชะตาและมักจะโทษโชคชะตาเมื่อมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นในชีวิต จึงไม่ได้ตอบรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรับผิดชอบ ชีวิตจึงตกอยู่ในวงเวียนแห่งความทุกข์ไม่จบสิ้น
ถ้ามองว่าโชคชะตาคือความสำเร็จ ดังนั้นคนที่สร้างโชคขึ้นมาคือตัวเรา เพราะโชคไม่ได้เกิดขึ้นเองแต่เราคือคนที่สร้างมันขึ้นมา หมายความว่า เราสามารถเพิ่มโอกาสเพื่อให้ชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง จากการยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตามด้วยการเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
บางคนเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะดีพร้อมทุกอย่าง แต่ลงเอยด้วยการอยู่คนเดียวและไม่มีความสุข ขณะเดียวกันอีกคนเติบโตมาในครอบครัวที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แต่ผลักดันตัวเองจนประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ สิ่งที่ทําให้สองคนนี้แตกต่างกันคือ วิธีการรับมือและจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรับผิดชอบ หรือสร้างโชคให้ตัวเองนั่นเอง
บอกเตือนตัวเองบ่อยๆว่า ”ชีวิตของเราขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเรา- ไม่ใช่ใครอื่น" เราต้องหยุดคาดหวังหรือเรียกร้องให้คนอื่นมาลงมือทำแทนเรา
ในภาษาอังกฤษ “ความรับผิดชอบ” ใช้คำว่า Responsibility กับ Accountability แม้ว่าบางครั้งจะใช้แทนกันได้ แต่มีความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน
ถ้าให้คำว่า ความรับผิดชอบ responsibility
มาจากคำว่า response(ตอบสนอง) + ability(ความสามารถ)
ดังนั้น ความรับผิดชอบจึงเป็นความสามารถในการสนองตอบต่อหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับมอบหมายในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งภายใต้เงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดด้วยคนอื่นหรือสังคม ทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นบทบาทในนามของตัวเองเพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่นหรือส่วนรวม
เช่น บทบาทพ่อแม่ – มีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูและให้การศึกษากับลูกตามสมควร มีอำนาจปกครองและสิทธิตัดสินใจที่ข้องเกี่ยวตามกฎหมาย หรือบทบาทครู – มีหน้าที่รับผิดชอบสอนนักเรียนให้เข้าใจข้อมูลเนื้อหาทางวิชาการ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น
ถ้าให้คำว่า ความพร้อมรับผิด accountability
มาจากคำว่า account(บัญชีหรือในนามของ) + ability(ความสามารถ)
ดังนั้น ความพร้อมรับผิดจึงเป็นความสามารถที่พร้อมรับต่อผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของตัวเอง ทั้งเรื่องที่ดีและร้าย ด้วยการตัดสินใจเลือกทำในส่วนที่เราควบคุมได้ ซึ่งเป็นบทบาทในนามของตัวเองเพื่อตัวเอง ที่มาพร้อมกับอำนาจอิสระในการตัดสินใจเลือกอย่างมีวุฒิภาวะ ภายใต้ขอบเขตชีวิตที่สอดคล้องตามอิสรภาพทางชีวิตที่มีของตัวเอง
เช่น อกหัก - รับผิดชอบด้วยการเยียวยาดูแลตัวเองให้ดีขึ้น หรือลูกค้าปฏิเสธงาน – รับผิดชอบด้วยการวิเคราะห์ แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้น
บทบาทในชีวิตจึงอาจจำแนกในความหมายแบบกว้างๆ ได้สองแบบคือ
1) บทบาทในนามของ"ตัวเองเพื่อคนอื่น/สังคม"
: เป็นบทบาทในการรับผิดชอบตามงานที่ได้รับมอบหมายแบบเฉพาะเจาะจง ในการขับเคลื่อนสังคมให้มีความสงบสุข ที่เราได้มาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจทำ ภายใต้กฎเกณฑ์เงื่อนไขที่คนอื่นหรือสังคมกำหนดมาในรูปแบบของระเบียบข้อกำหนด ศีลธรรมหรือกฎหมาย
1
2) บทบาทในนามของ"ตัวเองเพื่อตัวเอง"
: เป็นบทบาทจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนชีวิตความเป็นอยู่ของเราเองเพื่อความสุขสงบโดยรวม ที่มาพร้อมกับอำนาจอิสระต่อทุกการกระทำ ภายใต้ขอบเขตชีวิตที่สอดคล้องตามค่าที่เราให้ที่ใช้ชี้นำชีวิตและอิสรภาพทางชีวิตที่เรามีต่างกันไป
 
สรุปได้ว่า ทุกบทบาททั้งหมดที่เราต่างได้รับ ไม่ว่าด้านชีวิตส่วนตัวหรือหน้าที่การงานจะมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้
1
นั่นหมายความว่า เราสามารถกำหนดโชคชะตาหรือความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยความพร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เป็นไปตามการเติบโตตามสามจังหวะชีวิต คือ
1) เติบโตตามวัย - เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
2) เติบโตตามกฎหมายกำหนดหรือบรรลุนิติภาวะ - เป็นการดูแลและรับผิดชอบชีวิตได้ด้วยตัวเองทุกอย่างภายใต้กฎหมายกำหนด
3) เติบโตตามวุฒิภาวะหรือความเป็นผู้ใหญ่ - เป็นการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและอารมณ์ที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ ในการตอบรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสถานการณ์รอบตัวในทุกวันด้วยเหตุและผลอย่างครองสติตามวุฒิภาวะที่ควรมี เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิต
► ที่มาของความ(พร้อม)รับผิดชอบ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีการเติบโตในการรวมกลุ่มมาเป็นสังคม เราจึงอยู่หรือชอบอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมมากกว่าการอยู่คนเดียว ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงทางสังคมของเราจึงเป็นไปตามสัญชาตญาณ
บทบาทต่างๆในชีวิตจึงเป็นไปตามธรรมชาติ เริ่มจากความเป็นลูกที่เป็นบทบาทแรกที่ได้รับจากครอบครัวที่เป็นสังคมแรกที่เราได้สัมผัส จากนั้นก็เป็นบทบาทอื่นๆที่เกิดขึ้นตามวัยที่เปลี่ยนแปลงและการเข้าสังคมอย่างต่อเนื่องจนมาถึง ณ ปัจจุบัน
ขณะที่เราเป็นเด็ก ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและตัดสินใจทำการใดๆได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและวุฒิภาวะที่มี อิสรภาพทางชีวิตทั้งหมดของเราจึงตกอยู่ในความพร้อมรับผิดชอบภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ตั้งแต่การเลี้ยงดูสุขภาพร่างกายให้เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ รวมถึงการเอาใจใส่สุภาพทางจิตใจและอารมณ์ให้แข็งแกร่งสอดคล้องไปตามวัย
พ่อแม่จึงได้รับบทบาท"จำเป็น" ในการชี้แนะนำทางและอบรมในช่วงเริ่มต้นของชีวิตผ่านทัศนคติและพฤติกรรมที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการกระทำและคำพูด สอดคล้องตามค่านิยมและอิสรภาพทางชีวิตตามที่พ่อแม่มี และกำหนดออกมาเป็นเงื่อนไขกฎเกณฑ์ในเลี้ยงดูที่แต่ละครอบครัวมีต่างกันไป
ถ้ามองชีวิตในวัยเด็กของเราให้เข้าใจง่ายๆ ก็ไม่ต่างกับพ่อแม่นกที่ป้อนลูกนก - ป้อนอะไรก็ได้กินตามนั้น จนกว่าลูกนกจะเติบโตแข็งแรงหากินเองได้
"ความเป็นเรา"จึงถูกถอดแบบมาจากพ่อแม่ ทัศนคติหรือพฤติกรรมของเราจึงคล้ายคลึงกับพ่อแม่ ความเป็นเราก็จะเป็นแบบนั้นจนกว่าจะได้ค้นพบ"ตัวตน"ที่แท้จริง ตามจังหวะชีวิตที่เราจะเติบโตต่างกันไป
ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นวัยเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ เราจะรู้สึกสับสน ทำให้ได้เลือกทดลองกับบทบาทใหม่ที่แตกต่างจากประสบการณ์เก่า จึงได้เลือกผิดบ้าง-ถูกบ้าง ให้เป็นเรื่องธรรมชาติที่ปกติของการเรียนรู้ในการค้นหาตัวเอง
ในระหว่างกระบวนการนี้ เราจึงต้องได้ปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาบางอย่างเพื่อความอยู่รอดในสังคมอยู่ตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน บทบาทและความรับผิดชอบของเราเริ่มขยับมีมากขึ้นตามสังคมที่เรามีส่วนร่วม ที่มาพร้อมกับคนใหม่ๆที่”ไม่คุ้นเคย” ในแวดล้อมที่”ไม่คุ้นชิน” เราจึงต้องเลือกตัดสินใจกับความรับผิดชอบที่มีมากขึ้นด้วย”ความระมัดระวัง”
แม้ว่าจะมีเหตุผลร้อยแปดที่ดึงรั้งให้ชีวิตติดหล่มย่ำอยู่กับที่ แต่มีสองการกระทำที่เกิดจากตัวเราเองอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ
1) การโทษตัวเอง
“มนุษย์ไม่มีความสมบูรณ์แบบ"
การหมกมุ่นอยู่กับการตกเป็นเหยื่อกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเฝ้าโทษตัวเองซ้ำๆ ยิ่งนึกถึงเหตุการณ์ที่จบลงครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยิ่งทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้น กลายเป็นตัวดึงรั้งที่ไม่ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ในปัจจุบันดีขึ้น
การครุ่นคิดและวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อหาเหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นพันธนาการที่ผูกมัดระหว่างที่สิ่งเกิดขึ้นซึ่งจบลงแล้ว ผูกกับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ความละอายใจ หรือความรู้สึกผิด เหมือนเป็นการลงโทษตัวเองเพื่อชดเชยความผิดแบบไม่รู้ตัว
ชีวิตจึงตกอยู่ในวงจรความยุ่งเหยิง ทำให้ลืมรับผิดชอบ(ดูแลตัวเอง)กับเวลาที่มี ณ ปัจจุบัน
บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างหรือให้เหตุผลกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะความผิด (false) คืออดีตที่ได้เกิดขึ้นและจบลงแล้ว ส่วนการรับผิดชอบ (accountability) คือปัจจุบันที่(ยังคง)ต้องยินยอมและพร้อมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในนามของเราอย่างรับผิดชอบ
ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของเราที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ ดังนั้น ใช้ทุกโอกาสที่เป็นประสบการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้นให้เป็นบทเรียน เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำๆครั้งแล้วครั้งเล่า ที่กำลังฉุดรั้งไม่ให้เราเดินไปข้างหน้า
2) การโทษคนอื่นหรือสิ่งรอบตัว
“ใดๆ โลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ”
ถ้าเราติดอยู่ในลัทธินิยมความสมบูรณ์แบบที่เราสร้างขึ้นในโลกแห่งจินตนาการ เราก็จะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าในโลกแห่งความเป็นจริงได้
2
การโทษคนอื่นหรือหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ทำให้เราติดอยู่ในพื้นที่คุ้นเคย (comfort zone) ที่เราสร้างขึ้น เราจึงติดกับดักอดีตทำให้ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้
การที่เรา"คิดว่า"ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้รับความรัก การชื่นชม การเคารพ ต่างๆนานา การย้ำคิดย้ำทำจนกลายเป็นความรู้สึกเรื้อรังที่อาจดึงเราไปสู่การลดคุณค่าในตัวเอง ให้ถูกขังอยู่ในสถานะที่ด้อยค่าด้วยกรอบกรงที่เราสร้างขึ้นมาเอง
เราต้องมองว่า “ตัวเองและคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม” เป็นคนละส่วนที่เราต้องแยกออกจากกัน เพราะเราไม่สามารถบังคับให้คนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนได้ ดังนั้น ให้มุ่งเน้นไปที่การพร้อมรับผิดชอบ ด้วยการปรับเปลี่ยนและแก้ไขในส่วนที่เราสามารถควบคุมหรือจัดการได้เท่านั้น
ฝึกบอกเตือนตัวเอง ชีวิตเราขับเคลื่อนได้เพราะตัวเราเอง ให้หยุดจับจดอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นและจบลงแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของเรา
ให้มองชีวิตอย่างตรงไปตรงมาตามโลกแห่งความจริง อย่างไม่เสแสร้งหรือหลอกตัวเอง ให้ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยความเปราะบางทางอารมณ์ที่กำลังรู้สึก แทนการเก็บกดหรือเลี่ยงความรู้สึกที่กำลังเป็นไปลงที่อื่น
นำพลังงานชีวิตมาลงทุนกับความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่ดีที่ยังมีอยู่รอบตัว ดีกว่านำไปใช้กับความสัมพันธ์ที่สูญเสียไปแล้ว
หันมาจดจ่อใช้เวลาในการวิเคราะห์ แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น ดีกว่าการเสียเวลาไปกับการครุ่นคิดกับความผิดพลาดที่จบลงไปแล้ว
ความสงบสุขในชีวิตนั้นจะมาพร้อมกับความพร้อมรับผิดชอบ
และความพร้อมรับผิดชอบมาจะพร้อมกับพลังสำคัญ ยิ่งเราเลือกที่จะรับผิดชอบในชีวิตของเรามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีอำนาจเหนือชีวิตของเรามากขึ้นเท่านั้น ที่จะได้มาพร้อมกับความรู้สึกถึงคุณค่าและเข้าใจความหมายของชีวิต เพราะความพร้อมรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของชีวิตโดยรวมนั้นเป็นบทบาท"ในนามของตัวเราที่ทำเพื่อตัวเรา" นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา