25 มิ.ย. 2023 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

ขอบเขตในชีวิตกับเรื่องของ"การให้"

"ให้" คำสั้นๆที่มีความหมายในตัว
เราให้ตั้งแต่คนใกล้ชิดจนถึงคนแปลกหน้า พ่อแม่ให้ลูก พี่ให้น้อง พนักงานให้บริษัท เพื่อนให้เพื่อน ให้แบบอื่นๆอีกมากมาย
แต่บางคน"ได้ให้" มากกว่า "ได้รับ"
เราสัมผัสกับวัฒนธรรมการให้ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวจนถึงหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆจนถึงเรื่องใหญ่ที่สำคัญ เป็นสิ่งที่จับสัมผัสได้จนถึงจับและสัมผัสไม่ได้แต่ให้คุณค่าทางจิตใจ
♦ เหตุผลของวัฒนธรรมการ"ให้"?
โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพากันและกันเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้ และเมื่อใดที่เรา"ให้"คนอื่น เราจะรู้สึกดีเพราะร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ส่งผลให้สุขภาวะทางกายของเราดีตามไปด้วย
นอกจากนี้ 'การให้'ความช่วยเหลือกันและกันในสังคม ก็มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้สังคมอยู่รอด ความเห็นแก่ตัวจึงอาจเป็นภัยต่อบุคคลที่อาจทำให้สังคมไม่ยอมรับได้
เห็นได้ว่า "การให้" เป็นสิ่งที่ดีกับตัวเราและสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การให้เปรียบเหมือนดาบสองคม ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
"ให้เงินเดือนพ่อแม่ใช้ทั้งที่มีไม่พอใช้ - เพราะความกตัญญู"
"ลัดคิวทำงานให้หัวหน้าทั้งที่มีงานล้นมือ - เพราะอยากเป็นที่ยอมรับ"
"ให้อภัยเพื่อนที่โกหกนับครั้งไม่ถ้วน - เพราะไม่อยากเสียเพื่อน"
"ให้โอกาสแฟนที่นอกใจบ่อยครั้ง - เพราะกลัวเป็นโสด" เป็นต้น
เราต่างให้(คนอื่น) ด้วยเหตุผลส่วนตัวตามค่าที่เราให้ซึ่งมีต่างกันออกไป รวมถึง"ความกลัว"ที่เป็นไปตามจินตนาการที่เรามีต่างๆนานา
เมื่อเรา”ให้มากเกินไป” เราไม่เพียงแค่จำยอมแบ่งเวลาชีวิตที่เรามีเพื่อให้ความสำคัญกับคนอื่นเป็นอันดับแรกเหนือความต้องการของเราเท่านั้น แต่เราจํานนตัวเองจนทําให้สูญเสีย"ตัวตน"หรือความเป็นตัวเองด้วยเช่นกัน
1
ทำให้พฤติกรรมนี้กลายเป็นราคาที่เราต้องจ่าย ซึ่งค่าที่ได้รับกลับมาจะเป็นในรูปแบบของความรู้สึกผิดหวัง ความเจ็บปวด หมดทั้งแรงกายแรงใจ สุดท้ายกลายเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่เราได้รับเป็นผลเสียมากกว่าผลดีที่กระทบต่อความสัมพันธ์ ไม่เพียงแค่กับคนอื่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ที่มีกับตัวเราเองด้วย
1
ถ้าเราไม่เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งสำคัญหรือใครคือคนสำคัญในชีวิตเราบ้าง เราจะไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้เลย พฤติกรรมการให้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น.. อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
♦ อะไรคือเหตุผลของพฤติกรรมการ"ให้"
เราต่างมีพฤติกรรมการให้ เพราะ
(1) แรงผลักจากภายใน เราให้เพราะอยากให้ เราก็จะรู้สึกถึงความสบายใจ สุขใจ - ผลข้างเคียงจากการ"ลงมือทำ"ตามความต้องการของตัวเองที่ทำเองด้วยความเต็มใจ
(2) แรงดึงจากภายนอก เราทำเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ เราทำเพราะจำยอมต่อคนอื่นและสังคมเพื่อให้ได้รับการยอมรับ อาจจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ขึ้นอยู่กับค่าที่เราให้โดยตรง ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกได้ทั้งอารมณ์ในเชิงบวก - ให้ความสบายใจ และเชิงลบ - ให้ความเครียดหรือความกังวล
เราต่างมีค่าที่ให้หรือที่เรียกว่าค่านิยมส่วนตัวในการดำเนินชีวิต ค่าต่างๆเหล่านี้เป็นค่าที่เราได้รับเริ่มต้นจากวัฒนธรรมการอบรมเลี้ยงดู สังคมที่เราอยู่ ตามด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ในชีวิต จนรวมกลายเป็น"ตัวตน" เรานำค่าที่ให้มาเป็นตัวชี้นำและเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของเราเอง
ดังนั้น 'ค่าที่ให้'ของเราจึงแตกต่างจาก'ค่าที่ให้'ของคนอื่น เราจึงมีความคิดและวิถีชีวิตที่ต่างกันตามอิสรภาพทางชีวิตที่เอื้อต่างกันไป เช่น เพื่อนให้ค่ากับการเล่นเกม จึงใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกม น้องสาวให้ค่ากับการแต่งตัวตามเทรนด์ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการแต่งตัว หรือ แม่ให้ค่ากับการกินเจ การกินอาหารของแม่จึงเป็นเพียงผัก เป็นต้น
สังเกตได้ว่า "หนึ่งค่าที่ให้ของแต่ละคน ก็จะมีเหตุผลที่ต่างกัน" เช่น กินเจเพราะเพื่อสุขภาพ หรือทางความเชื่อทางศาสนา หรือไม่อยากฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั่นหมายความว่า เราอาจมี"ค่าที่ให้"เป็นค่าเดียวกันกับคนอื่น แต่เหตุผลของเราอาจต่างจากคนอื่น ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องแปลกหรือผิดปกติ ดังนั้น เหตุผลที่แต่ละคนให้ค่าในแต่ละการกระทำก็จะแตกต่างกันไป
ทุกการให้จะเป็นไปตามค่าที่เราให้และสอดคล้องกับอิสรภาพทางชีวิต(ที่เรามี ณ ปัจจุบัน) นั่นคือ บทบาทความรับผิดชอบในส่วนที่เป็นของเรา เพื่อไม่ให้ตัวเองหรือคนอื่นและสังคมต้องเดือดร้อนภายหลังจากการเลือกต้ดสินใจทำของเรา
♦ อะไรคือการให้ที่ "มากเกินไป"? รู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ถึงควรพอ?
จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราทุกคนมีขอบเขตในชีวิตที่ฝังอยู่ในตัวที่ได้มาให้เป็นสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด เราอาจยังไม่เข้าใจว่านั่นคือ"ขอบเขต"ที่เรามี
ให้สังเกตตัวเองว่า ถ้ารู้สึกถึงความอึดอัดหรือไม่มีความสบายใจในการ"ให้" และอาจถามตัวเองบ่อย ๆ ว่า ไหวไหม? มีความสุขไหม? นั่นคือเรากำลังก้าวออกจากขอบเขตที่เรามีโดยที่ไม่รู้ตัว ขณะที่สัญชาตญาณกำลังส่งสัญญาณบอกว่าเรากำลังข้ามเส้นขอบเขตที่มี เราจึงรู้สึกได้ถึง"ความฝืน"
1
ทุกครั้งที่รู้สึกอึดอัดหรือลำบากใจที่จะต้อง"ให้"กับใครสักคนในสถานการณ์ใดๆก็ตาม นั่นคือสัญญาณที่เตือนเราว่า “พอ” เพื่อไม่ให้ตัวเองก้าวล้ำเส้นเขตหรือปล่อยให้คนอื่นก้าวข้ามเส้นเขตที่เรามี
ต้องใช้เวลาเรียนรู้ความต้องการของตัวเองเพื่อให้เข้าใจขอบเขตที่เรามี จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา หยุดด้อยค่า หยุดตัดสินตัวเอง และกล้าที่จะยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น หมายถึง ไม่กลัวที่คนอื่นจะตัดสินการกระทำของเรา ค่อยๆสังเกตและเรียนรู้ตัวเอง แล้วเส้นขอบเขตชีวิตก็จะปรากฎชัดเจนขึ้นเอง
♦ ขอบเขตในชีวิตกับเรื่องของ"การให้"
ขอบเขตในชีวิตมีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวัน เพราะขอบเขตจะเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองและช่วยจัดการกับความคาดหวังของคนอื่นที่มีกับเรา โดยขีดเส้นแบ่งเขตการเคารพและความรับผิดชอบจากทั้งสองฝ่าย ว่าจุดสิ้นสุดของเราอยู่ตรงไหนและจุดเริ่มต้นของคนอื่นอยู่ตรงไหน ด้วยการสื่อสารด้วยความใจเย็นและเห็นอกเห็นใจให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และพฤติกรรมที่เรายอมรับได้และยอมรับไม่ได้
เมื่อต่างฝ่ายเข้าใจวิธีการปฏิบัติต่อกันและกันด้วยการ
1) "เคารพ"กฎเกณฑ์ที่เราต่างมี และ
2) ต่างเข้าใจจุดเริ่มต้นที่ตนต้อง"รับผิดชอบ"ต่อการตัดสินใจทำ และจุดสิ้นสุดของการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ตามมา
"ความสบายใจ" คือคุณค่าทางจิตใจที่แต่ละฝ่ายจะได้รับกลับ และนั่นคือหน้าที่ของขอบเขตที่มีบทบาทต่อ”การให้” ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
ความสัมพันธ์ใดๆจะส่งผลดีกับชีวิตเราก็ต่อเมื่อเรารู้สึกถึงความมีอิสระที่เกิดขึ้นกับเรา โดยเข้าใจขอบเขตที่ช่วยกำหนดสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจเมื่อได้"ให้"กับคนอื่น
มี 3 การให้ที่สำคัญที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน คือ
1. การให้โอกาส (Giving Chances)
"ความผิดพลาดไม่ได้กําหนดความเป็นตัวเรา"
เราต่างทําผิดและพลาดได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เพราะไม่มีใครสมบูรณ์แบบ การให้โอกาสจึงเป็นการรับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ ที่เราทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ทุกขณะ เพื่อได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกระทำผิดซ้ำในอนาคต
โอกาสที่เราจะให้ใครสักคน ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เราจะให้โอกาสว่าสมควรกับการได้รับหรือไม่ เรามีขีดจำกัดหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับค่าที่เราให้ต่อคนนั้นๆ และความรับผิดชอบของคนที่ได้รับโอกาสนั้น ว่าพร้อมยินดีที่จะแก้ไขสถานการณ์หรือปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นจากโอกาสที่ได้รับหรือไม่
นอกจากจะให้โอกาสกับคนอื่นแล้ว เราควรให้โอกาสตัวเองบ้าง เพราะบางคนไม่ปล่อยยอมวางอดีต โทษตัวเองกับสิ่งร้ายที่ได้เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว ชีวิตจึงจมอยู่ในอดีต ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งสำคัญกับเวลา ณ ปัจจุบันได้
1
เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ทำพลาดเรื่องเดิม ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าได้ โดยการขีดเส้นระหว่างอดีตกับปัจจุบัน หรือระหว่างเรากับคนอื่น เพื่อจดจ่อกับปัจจุบันและเดินต่อไปข้างหน้า
2. การให้อภัย (Forgiveness)
"การให้อภัยเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากอดีต เพื่อให้เป็นอิสระจากพันธนาการแห่งความทุกข์"
การให้อภัย ไม่ได้หมายถึงแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่เพื่อหยุดทำร้ายจิตใจของเราเอง ด้วยการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความรู้สึกผิด ความทุกข์ ความโกรธแค้น ความผิดหวังที่เหนี่ยวรั้งชีวิตไว้กับการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต เพื่อให้เราได้จดจ่อกับเวลาปัจจุบันได้ดีขึ้น
 
การให้อภัย ไม่ได้หมายความว่าเราต้องลืมเรื่องที่ทำให้เราผิดหวังหรือเจ็บปวด เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถลืมอดีตได้ แต่เรากำลังเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่ทำร้ายจิตใจตัวเองหรือคนอื่น
1
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องเตือนใจและบอกความเป็นตัวเราได้ดี ถ้าเรามีพื้นที่ให้ตัวเองได้ยอมรับความเจ็บปวดนั้นๆ อาจช่วยให้เราเข้าใจคนที่ปฏิบัติกับเราได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการให้อภัยกับใครบางคนที่เป็นต้นเหตุของแผลเป็นในใจที่เราไม่สามารถลบได้
เราอาจให้อภัยโดยที่คนเหล่านั้นไม่จําเป็นต้องรู้ว่าเราได้ให้อภัยแล้ว เราให้อภัยด้วยการรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าเราแก้ไขทำอะไรไม่ได้ และสุดท้ายค่อยๆปล่อยคนเหล่านั้นออกจากชีวิต ปล่อยให้เราและเขาเป็นอิสระจากกัน
ถ้าให้หินหนึ่งก้อน คือ หนึ่งตัวแทนความคับแค้นขุ่นเคืองที่เราแบกอยู่บนบ่า เมื่อมีมากก็ยิ่งหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธคับแค้นที่มีต่อตัวเอง หรือต่อคนอื่น(ซึ่งไม่ได้รับรู้ความหนักที่เราแบกอยู่) หินเหล่านั้นจะคอยระบายพลังงานลบให้ชีวิตเรา ทำให้เป็นทุกข์ กระทบชีวิตโดยไม่รู้ตัว
การให้อภัยที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อคนอื่นแต่เพื่อตัวเราเอง เพื่อปลดปล่อยให้ตัวเองเป็นอิสระจากพันธนาการแห่งความคับแค้น เป็นการเพิ่มพื้นที่สำคัญในชีวิตให้กับคนสำคัญอื่นๆ เพื่อให้เราได้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีความสุข
3. การให้ความช่วยเหลือ (Helping Others)
"ดูแลตัวเองให้ไหว แล้วค่อยไปดูแลคนอื่น"
เคยรู้สึกเหมือนต้องคอยช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้คนใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า?
บางครั้ง เราให้การช่วยเหลืออาจไม่ได้มาจากความเต็มใจ แต่เราทำเพราะเรารู้สึกว่าเป็นภาระผูกพัน เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกผิดและความเห็นแก่ตัว แต่เราควรช่วยเพราะอยากช่วยด้วยใจจริง ไม่ใช่เพราะรู้สึกเป็นหน้าที่หรือเป็นภาระผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกลัวผลที่จะตามมา
คนที่มีขอบเขตในชีวิตที่ชัดเจนจะเข้าใจว่า
- ทั้งฝ่ายที่ให้และรับ จะไม่สามารถเติมเต็มทุกความต้องการที่แต่ละฝ่ายมีได้ 100% ทุกครั้งไป
- เข้าใจดีว่า เราต่างต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองและจะไม่โทษอีกฝ่ายถ้ามีสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังเกิดขึ้น
- ต่างเข้าใจว่าความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ได้เป็นเรื่องของการควบคุมชีวิตกันและกัน แต่เป็นเรื่องของทั้งสองฝ่ายที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้กันและกันเพื่อการเติบโตของทั้งสองฝ่าย
ก่อนที่เราจะตอบตกลงจะทำอะไรให้ใครในทันที เช่น เพื่อน คนรู้จัก หรือคนในครอบครัว เป็นต้น อาจพูดว่า 'ขอคิดดูก่อน' เป็นหนึ่งในเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ได้ เพื่อให้เวลาตัวเองได้คิดและพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการทำจริง ๆ - สอดคล้องตามค่าที่เราให้ หรือสามารถทำให้ได้หรือไม่ - ตามอิสรภาพทางชีวิตที่มี
สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องดูแลตัวเองก่อนที่จะดูแลคนอื่นได้ เพราะเราไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ ถ้าเราไม่พร้อมไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
"ราคาคือสิ่งที่เราจ่าย คุณค่าคือสิ่งที่เราได้รับ" เป็นวาทะของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้พูดถึงเรื่องของการลงทุนไว้ หมายความว่า ทุกครั้งที่เราจ่ายเงินซื้อของสักอย่าง เราต้องตระหนักเสมอว่าอะไรคือสิ่งที่เราได้รับ และให้คุณค่ากับเราอย่างไร ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร อย่าวัดสิ่งของที่”ราคา”แต่ให้วัดสิ่งของที่”คุณค่า”
ราคาที่เราจ่ายไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสิ่งที่ให้ค่า มีคุณภาพหรือถูกต้อง
ถ้าเรานำคำพูดของบัฟเฟตต์มาปรับใช้ในเรื่องของ"การให้" โดยหมั่นถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำให้คนอื่นให้คุณค่ากับเรายังไง และทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร อย่าวัดเพียงแค่ว่า เราต้องทำหรือต้องให้เพราะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนอื่น หรือเป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับสังคม
เพราะทุก"การให้"ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าหรือถูกต้องเสมอไป ทั้งต่อตัวเองและคนอื่น
5

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา