11 ก.ค. 2023 เวลา 21:08 • ไลฟ์สไตล์

สถิตและพลวัต

ในหลักวิชาโหราศาสตร์หรือพยากรณ์ศาสตร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของชนชาติภาษาใด หรืออารยธรรมใดในโลก ล้วนเต็มไปด้วยหลักวิชาที่หลากหลาย เพื่อจุดปะสงค์ในการตอบคำถามเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตของผู้คน แต่เนื่องจากสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างคนกับคน หรือคนกับสภาพแวดล้อมของสังคมโลกทั้งหมด
ซึ่งล้วนไม่มีความสัมพันธ์เชิงเดี่ยวแบบหนึ่งต่อหนึ่ง แต่เป็นสหสัมพันธ์ที่ผูกพันโยงใยกับแบบหนึ่งต่ออนันต์ทั้งสิ้น ผลที่ได้ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ความพยายามในการคิดค้นหลักวิชาทางโหราศาสตร์ขึ้นมา จำเป็นต้องหาทางตอบโจทย์ในเชิงสหสัมพันธ์ให้ได้ด้วย
ดังนั้น สิ่งที่นักโหราศาสตร์จะต้องคำนึงถึงก็คือ ผลกระทบจากสิ่งรอบข้างที่จะมีต่อเจ้าชะตาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผังดวงฤกษ์เกิด หรือสิ่งที่เจ้าชะตาเข้าไปมีความผูกพันอยู่ด้วยอย่างแน่นแฟ้น ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ รวมไปถึงธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ โดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าชะตาที่แปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
ดังนั้นการตรวจสอบทิศทางของชะตาชีวิตในทางโหราศาสตร์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะประมวลข้อมูลความเป็นไปได้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับแนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคตที่เหมาะสมที่สุด
สิ่งแรกที่นักโหราศาสตร์ หรือผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ศาสตร์แห่งการพยากรณ์ รวมไปทั้งผู้ที่ชอบปรึกษาหารือนักโหราศาสตร์ ควรที่จะทำความเข้าใจเป็นการเบื้องต้นไว้ก็คือ โหราศาสตร์มีขอบเขตความสามารถในการทำนายทายทักได้มากน้อยเพียงไหน และเหตุใดบางครั้งจึงดูเหมือนแม่นยำ แต่บางครั้งกลับผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งเหล่านี้จะมีคำอธิบายว่าอย่างไร นี่เป็นคำถามที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายต่อหลายคน คงกำลังสงสัยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน และบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวมามากต่อมากแล้วด้วย
เพื่อตอบคำถามนี้ ผู้เขียนก็จะต้องขอพูดถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอีกครั้งว่า สรรพสิ่งในจักรวาลนั้นเป็นสหสัมพันธ์ คือเป็นความสัมพันธ์เชิงซ้อน ดังนั้นการจะใช้โหราศาสตร์มาทำนายทายทักให้ได้อย่างถูกต้องมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตความสามารถของผู้ทำนายประการหนึ่งว่า สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจหลักวิชาโหราศาสตร์ได้มากน้อยเพียงไหน
แน่นอนว่าด้วยหลักแห่งปฏิสัมพันธ์อันหลากหลายดังกล่าว ผู้ที่ยิ่งรู้หลักวิชาของโหราศาสตร์มาก ก็จะยิ่งมีหลักการที่จะใช้ในการพิจารณาความสัมพันธ์เชิงซ้อนเหล่านั้นได้รอบด้านมากยิ่งขึ้นเป็นธรรมดา
ตัวของหลักวิชาเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะบางครั้งหลักวิชาที่มีอยู่ กลับไม่สามารถครอบคลุมขอบเขตของข้อมูลที่กว้างขวางพอจะใช้ในการพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถมองเห็นคำตอบที่สมบูรณ์พอ ที่จะอธิบายความสัมพันธ์อันหลากหลายทั้งหมดนั้นได้อย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้นักพยากรณ์นับแต่โบราณ เฝ้าเพียรพยายามแสวงหาและคิดค้นหลักวิชาและวิธีการที่จะตอบคำถามให้ครอบคลุมทุกปัจจัยแวดล้อมให้มากที่สุด จนทำให้เกิดเป็นสาขาวิชาของการพยากรณ์หรือโหราศาสตร์ที่หลากหลายมากมาย ดังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
และด้วยเงื่อนไขที่ว่านี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การพยากรณ์หรือโหราศาสตร์นั้น จะต้องเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเท่าที่จะหาได้มาประมวลรวมกันเข้า เพื่อทำการพิจารณาด้วยหลักวิชาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ แล้วค่อยทำการทอนคุณทอนโทษออกมาให้ชัดแจ้ง เพื่อหาให้ได้ว่า ผลลัพธ์สุดท้ายควรจะมีแนวโน้มไปในทางใด จะเป็นด้านบวกคือเป็นคุณต่อเจ้าชะตา หรือด้านลบที่เป็นโทษต่อเจ้าชะตา
ผลที่ได้จากการทอนคุณทอนโทษนี้เอง ที่จะทำให้ผลการพยากรณ์ที่ได้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ส่วนจะใกล้ไกลเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการรวบรวมข้อมูล และความเข้าใจในหลักวิชาของผู้ให้การพยากรณ์นั้นๆ
เพื่อที่จะทำการเข้าใจหลักวิชาการพยากรณ์หรือโหราศาสตร์ให้กระจ่างแจ้ง ท่านที่สนใจจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โหราศาสตร์นั้นถูกแบ่งอออกเป็นกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีหลักการอะไรบ้าง หลายท่านอาจจะมีคำตอบอยู่แล้วในใจ เพราะท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพนี้ หรือสนใจที่ศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์เหล่านี้เช่นเดียวกับตัวผู้เขียน
แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่า คงจะมีเพียงไม่กี่ท่านที่จะเดาใจผู้เขียนออก เพราะประเภทของโหราศาสตร์ที่ผู้เขียนกำลังจะพูดถึงนี้ ไม่ใช่การจำแนกวิธีการหรือหลักวิชาในการพยากรณ์ ประเภทของโหราศาสตร์สำหรับผู้เขียนไม่ได้หมายถึง การดูดวงด้วยวิธีการต่างๆ หรือการใช้ไพ่ในการทำนายทายทัก ยิ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพิจารณาชัยภูมิสถานที่
แต่ประเภทของโหราศาสตร์ที่ผู้เขียนจะพูดถึงนี้ จะเป็นภาพรวมใหญ่ของวิชาโหราศาสตร์ทั้งหมด เพราะมันกินความรวมทุกหลักวิชาในการพยากรณ์เข้าด้วยกัน เพื่อจำแนกแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ นั่นคือ โหราศาสตร์แบบสถิต (Static Astrology) และโหราศาสตร์แบบพลวัต (Dynamic Astrology)
แน่นอนว่าผู้เขียนมิใช่คนแรกที่ทำการแบ่งประเภทของโหราศาสตร์ดังกล่าวนี้ แต่เป็นข้อมูลของผู้รู้ในอดีต ที่ผู้เขียนเห็นด้วย และเชื่อว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบโจทย์เกี่ยวกับการพยากรณ์อย่างได้ผลทั้งหมด การเข้าใจประเภทของโหราศาสตร์ทั้งสองอย่างชัดแจ้งนั้น จะทำให้ท่านสามารถตอบคำถามของผู้รับการพยากรณ์ ได้อย่างถูกต้องสอดคล้องทั้งกาละและเทสะอย่างแท้จริง
หากผู้อ่านเป็นคนที่สนใจในเรื่องศาสตร์แห่งการพยากรณ์หรือโหราศาสตร์มานาน ท่านคงจะพบแล้วว่า มีหลักวิชาหลายอย่างในโหราศาสตร์ ที่ใช้ข้อมูลแบบเดียวกันในการคำนวณทุกครั้ง ก่อนจะตอบคำถามของผู้รับการพยากรณ์ จนทำให้รู้สึกเหมือนว่า เมื่อชีวิตมิได้หยุดนิ่งกับที่ และโลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
หากใช้ข้อมูลเริ่มต้นเหมือนเดิมในทุกครั้งแล้ว จะได้ผลการพยากรณ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับเหตุการณ์จริงได้อย่างไร ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนจะขอพูดถึงความหมายของโหราศาสตร์แบบสถิตเสียก่อน กล่าวคือ เป็นสาขาวิชาทางโหราศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลเริ่มต้นที่ตายตัว ในการคำนวณตามหลักวิชาทุกครั้ง เพื่อทำนายเหตุการณ์ในอนาคตต่อไป มิใช่หลักวิชาที่แปรผันไปตามสถานการณ์จริงของผู้ถาม
ตัวอย่างของโหราศาสตร์แบบสถิต ก็คือการทำนายดวงชะตาหลากหลายรูปแบบ โดยอิงอาศัย วัน เดือน ปี และเวลาเกิด หรือที่เรียกว่าเวลาตกฟาก มาเป็นข้อมูลในการคำนวณผังชะตา ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนยาวนานไปตลอดช่วงอายุขัย ผ่านการคำนวณแบบเป็นวงรอบไปเรื่อย แม้บางสายวิชาจะใช้ตำแหน่งที่เกิดเช่น เส้นรุ้ง (Latitude) เส้นแวง (Longitude) ของสถานที่เกิดเข้าไปประกอบร่วมในสูตรการคำนวณด้วยก็ตาม
ตัวอย่างของหลักวิชาที่เป็นโหราศาสตร์แบบสถิต อาทิเช่น ระบบเลขเจ็ดตัวหรือสัตตเลขศาสตร์ของไทย ระบบสี่คู่ราศีแปดอักษร หรือโป้ยยี่สี่เถียวของจีน หรือระบบยูเรเนียนของทางตะวันตก หลักวิชาเหล่านี้ล้วนใช้วันเวลาเกิดเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณทั้งสิ้น เพื่อให้ได้ผังชะตาออกมา แล้วทำการอ่านความหมายไปตามนั้น
คราวนี้ก็จะกลับมาที่คำถามข้างต้น โหราศาสตร์แบบสถิตจะใช้งานได้จริงหรือ เมื่อทั้งโลกและคนล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คำตอบก็คือ โหราศาสตร์แบบสถิตนี้ แม้จะใช้ข้อมูลเริ่มต้นเหมือนกัน แต่ก็ถือเป็นหลักวิชาที่แสดงให้เห็นภาพรวมของชะตาชีวิตได้ดีที่สุด เหมือนเป็นแผนที่ให้รู้ว่า ชะตาชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยฤกษ์เกิดนั้น มีความดีร้ายเป็นประการใด ถ้าจะพูดให้ถูกก็เหมือนเป็นการอ่านผลของกรรมในอดีตที่นำส่งมาให้ได้ฤกษ์และสถานที่เกิดดังกล่าว และจากข้อมูลนี้ก็สามารถนำไปเข้าสูตรคำนวณของแต่ละสายวิชา
เพื่อแจงผังชีวิตออกมาทั้งหมด การใช้โหราศาสตร์แบบสถิตนี้ จึงเหมาะที่จะใช้ดูในภาพรวมของชีวิต แต่ไม่ใช่ความเป็นจริงในชีวิตทั้งหมด เป็นเพียงแนวโน้มว่าตลอดทั้งชีวิต มีอะไรรอคอยอยู่บ้าง ทั้งดีและร้าย เหมือนแผนที่ที่ชี้ให้เห็นว่า ตลอดเส้นทางที่จะเดินทางไปนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร เช่น มีปัมป์น้ำมัน หรือร้านอาหารอยู่ตรงไหน หรือจุดไหนบ้างที่มีการจราจรแออัด ถนนชำรุด หรือทางขาด ไม่ควรเดินทางไป หรือควรใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น หากจำเป็นต้องไปจริงๆ
โหราศาสตร์อีกประเภทที่มีความสอดคล้องใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงของชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจกล่าวได้ว่าโหราศาสตร์แบบพลวัต ก็คือ โหราศาสตร์ที่อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาใช้ในการพยากรณ์ จึงทำให้วิชาโหราศาสตร์ประเภทนี้มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถปรับตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างต่อเนื่อง เท่าทันเหตุการณ์
ตัวอย่างของโหราศาสตร์ประเภทนี้ ก็คือ การทำนายทายทักด้วยการเสี่ยงทายประเภทต่างๆ ตั้งแต่ วิชาอี้จิงหรือหลักวิชาแห่งการเปลี่ยนแปลงของจีน ที่ได้แปรรูปมาเป็นวิชาป๊กก่วย และเซียมซี ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
การดูไพ่ชนิดต่างๆ ตั้งแต่ไพ่ยิบซีหรือไพ่ทาโร่ต์ ไปจนถึงการดูไพ่แบบธรรมดาทั่วไป ที่รู้จักกันในนามของหมอดูไพ่ป็อก ก็ถือเป็นโหราศาสตร์แบบพลวัตเช่นกัน เพราะใช้วิธีเสี่ยงทายหรือสุ่มเลือกไพ่ออกมาจากจำนวนไพ่ทั้งหมด แล้วให้ผู้พยากรณ์ทำการอ่านแปลความหมายของไพ่ที่เลือกออกมานั้น ส่วนจะอ่านได้อย่างถูกต้องเพียงใดก็ต้องขึ้นกับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่านไพ่แต่ละท่าน
การดูลายมือ และนรลักษณ์ศาสตร์หรือโหงวเฮ้งของจีน ก็พอจะจัดได้ว่าเป็นโหราศาสตร์แบบพลวัตชนิดหนึ่งเช่นกัน เพราะทั้งลายมือและรูปทรงของใบหน้า ก็ล้วนมีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ สรุปแล้วทุกสายวิชาของโหราศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลเริ่มต้นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ก็ล้วนถือเป็นโหราศาสตร์แบบพลวัตทั้งสิ้น แม้แต่ภูมิพยากรณ์หรือฮวงจุ้ย ก็ถือว่าเป็นโหราศาสตร์พลวัตเช่นกัน เพราะชัยภูมิโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นการอ่านรหัสนัยที่ซ่อนเร้นไว้ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
ดังนั้นถ้าจะใช้โหราศาสตร์ให้ได้ผลอย่างแท้จริงนั้น จึงจำเป็นต้องนำโหราศาสตร์ทั้งสองประเภทมาประสานใช้งานร่วมกัน โดยยังต้องอิงอาศัยหลักการทอนคุณทอนโทษเหมือนเดิม แม้แต่ในส่วนของโหราศาสตร์แบบสถิตเอง หากจะอ่านผังชะตาให้ถูกต้องแท้จริงนั้น ยิ่งผู้พยากรณ์มีความรู้ได้หลากหลายสาขาวิชามากเพียงใด และสามารถนำมาประมวลอ่านชะตาใดชะตาหนึ่ง ก่อนจะทอนคุณทอนโทษออกมา ก็ย่อมจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงความเป็นจริงเกี่ยวกับพื้นชะตาของผู้รับการพยากรณ์มากที่สุด
จากนั้นจึงนำข้อมูลทางด้านพลวัตมาร่วมประกอบการพิจารณาด้วย ก็จะยิ่งได้คำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากยิ่งขึ้น สรุปแล้วการใช้หลักพยากรณ์ร่วมแบบผสมผสานจากโหราศาสตร์ทั้งแบบสถิตและพลวัต จึงน่าจะเป็นวิธีการให้คำพยากรณ์ที่เหมาะสมที่สุด เพียงแต่อาจติดปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของการพยากรณ์ที่หลากหลาย และครอบคลุมประเภทของโหราศาสตร์ทั้งสอง
ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่าหาได้ยากยิ่ง เพราะแต่ละสายวิชานั้นต่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายมหาศาล จนทำให้กว่าจะมีผู้เรียนรู้จนเชี่ยวชาญจริงๆ ล้วนต้องใช้เวลาเนิ่นนาน ดังนั้นคนหนึ่งคนจึงยากที่จะเชี่ยวชาญในทุกสายวิชาทั้งหมดได้ในชั่วชีวิตเดียว
แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น ส่วนใหญ่แล้ววิชาโหราศาสตร์ของแต่ละอารยธรรมนั้น ก็มักจะมีทั้งสองประเภทนี้ควบคู่กันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น วิชาพยากรณ์ศาสตร์ของชาวจีน ก็จะมีวิชาคำนวณผังชะตาที่เป็นโหราศาสตร์แบบสถิต ขณะเดียวกันก็มีวิชาการดูนรลักษณ์หรือโหงวเฮ้ง และวิชาภูมิพยากรณ์หรือฮวงจุ้ย รวมไปถึงวิชาการเสี่ยงทายอย่างเซียมซี ป๊กก่วย ที่อิงพื้นฐานมาจากวิชาโบราณอย่างอี้จิง เป็นโหราศาสตร์แบบพลวัต ดังนั้นหากสามารถเรียนรู้เฉพาะของโหราศาสตร์ในอารยธรรมหรือชนชาติใดชนชาติหนึ่งก็ถือว่า น่าจะพอใช้งานได้แล้ว
แต่ถ้าสามารถเรียนรู้ศาสตร์ของอารยธรรมอื่นๆ เพื่อนำมาประกอบร่วมด้วย ก็จะยิ่งได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกัน และสามารถชดเชยกันได้ แน่นอนว่า ความสามารถในการเรียนรู้หรือความเข้าใจมีมากเพียงไหนก็จะยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงมากเพียงนั้น แต่แม้ว่าจะไม่สามารถเชี่ยวชาญอย่างที่สุด แต่ลำพังเพียงการมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในการพิจารณา ก็จะยิ่งทำให้การไตร่ตรองผลลัพธ์เป็นไปได้อย่างรอบครอบมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้โอกาสที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องก็จะมีมากขึ้นด้วย
มีอีกสิ่งหนึ่งที่นักพยากรณ์จะต้องรับฟังและตระหนักรู้ไว้ มิใช่เพียงเดินหน้าพยากรณ์ไปเรื่อยเปื่อยโดยมิได้สนใจผลลัพธ์ที่จะได้ โดยเฉพาะการพยากรณ์ปัจเจกบุคคลนั้น หากไม่เข้าใจหลักเหตุผลต่อไปนี้ โอกาสที่จะผิดพลาดไปจากคำพยากรณ์ยิ่งจะมีมาก เพราะเมื่อเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ตัวแปรที่เกี่ยวข้องจึงมีน้อย ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนค่าของตัวแปรดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงตามไป
ยกตัวอย่างเช่น มีคนๆ หนึ่งขยันเรียนและทบทวนหนังสือมาโดยตลอด เมื่อมาถามว่า จะสอบได้หรือไม่ เมื่อคำนวณทั้งโหราศาสตร์แบบสถิตและพลวัตเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้คำตอบว่า จากเหตุปัจจัยที่ผ่านมาเขาน่าจะสอบได้ แต่ปรากฏว่า เมื่อเขารู้คำพยากรณ์เช่นนั้น แล้วเกิดประมาท ไม่สนใจเรียน เลิกดูหนังสือ เพราะเชื่อมั่นว่าคำพยากรณ์ได้ยืนยันแล้วว่า เขาจะต้องสอบได้ และเมื่อเขาเริ่มเปลี่ยนเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น
ผลลัพธ์สุดท้ายจึงย่อมเปลี่ยนแปลง คือกลายเป็นสอบไม่ได้แทน และทำให้ไม่เป็นไปตามคำทำนาย นี่จึงเรียกว่า รู้อนาคตเปลี่ยนอนาคต ซึ่งความจริงแล้วแค่รู้อนาคตก็ต้องถือว่าเหตุปัจจัยได้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะเดิมทีจะต้องไม่รู้ ดังนั้นแค่รู้เพียงอย่างเดียวยังไม่ต้องลงมือทำอะไร เหตุปัจจัยนั้นก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผลที่ได้จึงอาจไม่เป็นไปตามที่รู้นั้น
บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า ถ้ารู้อนาคตแล้วจะได้รู้ว่า ควรจะปรับแก้อย่างไร เพื่อให้อนาคตดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจะขอตั้งคำถามย้อนกลับไปบ้างว่า แล้วท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ผลการปรับแก้จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเสมอ ยกตัวอย่างเช่น มีคนๆ หนึ่งโทรมาถามศูนย์ข่าวจราจรว่า เส้นทางที่ตนกำลังจะตรงไปนั้นมีสภาพการจราจรเป็นเช่นไร และหากศูนย์จราจรตอบมาว่า มีการปิดซ่อมถนนอยู่ไปไม่ได้ ผู้ถามรับทราบเช่นนั้นจึงไม่ตรงไปแต่เลี้ยวซ้ายแทน
ปรากฏว่ายิ่งติดหนักเพราะมีอุบัติเหตุร้ายแรงอยู่ข้างหน้า จากเรื่องที่ยกมานี้ ก็น่าจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นเป็นอย่างดี ดังนั้นถ้าจะต้องการรู้เส้นทางข้างหน้าที่จะเดินทางไป ก็ต้องคอยโทรถามอยู่ตลอดเวลา ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ต้องการรู้อนาคตเพื่อปรับแก้ จึงต้องคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา แต่การรู้อนาคตนั้นซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะแค่รับรู้ก็จะส่งผลให้อนาคตเปลี่ยนแปลงทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้อ่านก็อาจจะรู้สึกว่า ถ้าเช่นนั้นการรู้อนาคตก็ไม่มีประโยชน์ หากพิจารณาโดยผิวเผินก็ต้องบอกว่าใช่ เพียงแต่ถ้าท่านรู้จักวิชาโหราศาสตร์มากขึ้น ท่านจะพบว่า โหราศาสตร์มิใช่วิชาที่ว่าด้วยการอ่านอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างอนาคตให้เกิดขึ้นตามที่เราต้องการได้ด้วย
ส่วนจะสมตามความปรารถนามากน้อยเพียงใด ก็ต้องขึ้นกับความรู้ความเชี่ยวชาญในหลักวิชานั้นๆ และเหตุปัจจัยองค์ประกอบต่างๆ จะเอื้ออำนวยเพียงใดด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าจะใช้ได้อย่างเป็นสากลครอบจักรวาลเลย ก็คือคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ทำดีได้ดี ดังนั้นหากต้องการมีอนาคตที่ดี ก็จงทำดีในปัจจุบันไปเรื่อยๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สุดท้ายแล้วอนาคตทั้งหมดก็จะดีไปเอง
พูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องไม่ลืมอีกกรณีหนึ่งนั่นคือ การทำนายอนาคตในภาพรวม คือเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลไม่ใช่ปัจเจกชนเพียงลำพัง โอกาสเช่นนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงย่อมแสดงว่า คนในกลุ่มนั้นทั้งหมดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตขึ้น
เหมือนการผลักก้อนหินขนาดใหญ่ ย่อมต้องใช้คนจำนวนมากออกแรงร่วมกันจึงจะเคลื่อนก้อนหินนั้นได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของอนาคตจะยากหรือง่ายก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง เหมือนกับขนาดของก้อนหินดังกล่าว ยิ่งก้อนเล็กก็ยิ่งใช้แรงเล็กน้อยก็ผลักให้เคลื่อนที่ได้แล้ว
เมื่ออ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วทำไมกรณีที่มีการทำนายเรื่องเกี่ยวกับภัยพิบัติใหญ่ๆ หลายครั้งจึงมักจะผิดพลาดไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้ผู้เขียนจะไม่ตอบโดยตรง แต่จะขอตั้งเป็นคำถามไว้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่หลักวิชาในการอ่าน หรือสูตรในการคำนวณ รวมไปถึงผู้พยากรณ์ มีความผิดพลาดในตัวเอง
เพราะเหตุใดจึงถามเช่นนั้น ก็เพราะว่า ทุกครั้งที่มีเหตุวิบัติภัยเกิดขึ้นจนมีคนตายจำนวนมากนั้น ขอถามว่า ทำไมคนเหล่านั้นจึงต้องมาอยู่รวมกันและตายพร้อมกัน เหตุใดจึงเลี่ยงภัยพิบัติเหล่านั้นไปไม่ได้ ในทัศนะของผู้เขียนจึงขอบอกว่า เหตุการณ์ที่เป็นภาพรวมของกลุ่มบุคคลนั้นยังคงเปลี่ยนแปลงได้ยาก แม้จะสามารถมีวิชาที่อ่านอนาคตดังกล่าวได้ก็ตาม เพราะการจะแจ้งเตือนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเกิดความเชื่อถือเหมือนกันได้นั้น ก็ต้องบอกว่ายากมาก
เพราะไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับในเรื่องของการพยากรณ์เท่าเทียมกัน และแม้จะยอมรับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนมีแรงผลักสะท้อนที่มีนัยสำคัญพอจะเปลี่ยนเหตุการณ์ได้นั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่เหมือนเดิม เพราะยิ่งมีตัวแปรมากเพียงใด โอกาสที่จะเปลี่ยนค่าตัวแปรให้ได้ผลลัพธ์ไปในทางใดทางหนึ่ง ย่อมยากขึ้นเป็นเงาตามตัว
(สนทนาชะตากรรม ep.1 สถิตและพลวัต)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา