Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
12 ก.ค. 2023 เวลา 20:26 • ปรัชญา
ทำไมต้องใช้ชีวิต
ทุกคนที่เกิดมาในโลกมนุษย์ใบนี้ และยังหายใจได้อยู่ ก็ต้องบอกว่า ท่านได้มีชีวิตขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หนุ่มสาว หรือคนชรา ทั้งหญิงทั้งชาย ปฏิเสธไม่ได้เลย คำว่าชีวิตนี้เอง ที่ทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนอยู่กับการใช้ชีวิตนับแต่กำเนิดเกิดมาไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ทำไมต้องทำเช่นนั้น ชีวิตที่แท้คืออะไรกันแน่ หากชีวิตมีความหมายแค่ การลืมตาขึ้นมามองดูโลก แล้วก้อต้องดิ้นรนต่อสู้ในทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตดำเนินอยู่ได้
ถ้าเพียงมีนิยามตามนี้ มันจะมีความหมายอันใด ในเมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ ในทุกๆ ด้าน เกิดมาทำไมถ้าต้องเกิดมาเพื่อทุกข์ ไม่เกิดไม่ได้หรือ คำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในความรู้สึกของผู้เขียนมานานแสนนาน จนไม่สามารถอัดอั้นตันใจไว้ได้อีก จำต้องระบายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เผื่อว่าจะมีใครที่รู้สึกหรือมีคำถามเดียวกันนี้ และได้มีโอกาสเข้ามาอ่าน ก็อาจพอจะเป็นแนวทางให้ท่านตอบคำถามนี้ของตัวท่านเองได้
ปุจฉา:
เคยสงสัยบ้างไหม เราคือใคร ใครคือเรา บางครั้งเหมือนไม่ใช่ตัวเอง ต้องทำสิ่งต่างๆ เพราะหลงเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ คิดสับสน กังวล มีเหตุให้ทำไม่หยุด เช้าต้องตื่นนอน ต้องล้างหน้า ต้องแปรงฟัน ต้องกินข้าว ต้องทำงาน ต้อง..ต้อง..แล้วก็ต้อง ลองไม่ทำจะได้ไหม เราตกเป็นทาสของอะไรอยู่ ทาสแห่งความคิดหรือทาสแห่งชีวิต (บัดซบ)
คิดว่าต้องทำ คิดว่าต้องมี คิดว่าต้องเป็น คิดว่าต้องได้ ต้องคิดต้องทำอีกถึงเมื่อไหร่ถึงจะได้ไม่ต้องทำอะไรอีก พวกเราส่วนใหญ่ล้วนใช้ชีวิตบนกฎเกณฑ์ที่ต้องคิดที่ต้องทำมาตลอด เคยสงสัยตัวเองบ้างหรือไม่ เราถูกครอบงำจากอะไร ทำไมถึงอยากมี อยากเป็น อยากได้ บางครั้งชอบ บางครั้งไม่ชอบ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเกลียด มีใครบ้างที่สามารถเข้าใจตัวเองได้
วิสัชนา:
ถ้ายอมรับในสมมติ ก็ต้องทำตามกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสมมตินั้น คำว่าต้อง จึงมิเคยมีในโลกนี้หรือโลกไหนๆ หากไม่ยอมรับก็ไม่จำเป็นต้องทำ ไม่มีใครบังคับให้ใครทำอะไรได้ ไม่ว่าจะมีอิทธิหรือสิทธิอำนาจ (ที่ทางโลกเขาสมมติให้) มากมายสูงส่งเพียงใด ก็ย่อมไม่สามารถบังคับผู้ใดให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ หากคนผู้นั้นไม่ยินยอม แม้แต่มารที่มีอำนาจทั้งหลาย (ซึ่งโลกสมมติให้เช่นกัน และเลยพากันเกรงกลัว) ก็ยังทำลายได้แค่รูป ทำลายนามยังมิได้เลย เพราะนามเป็นบทบาทมาจากวิญญาณ
เมื่อทำลายวิญญาณไม่ได้ ก็ย่อมทำลายนามไม่ได้ เมื่อนามไม่ถูกทำลาย นามก่อเมื่อใดรูปย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น เพราะรูปก็เป็นผลพวงจากบทบาทของนาม อาทิเช่น เมื่อนามอยากไปเกิดในสวรรค์ ก็จะผลักดันให้รูปแสดงพฤติกรรมในการทำความดี เมื่อสิ้นจากภพปัจจุบันแล้ว รูปเดิมสิ้น นามที่สำเร็จความมุ่งมายแล้วก็จะไปก่อรูปใหม่คือ ร่างทิพย์หรือที่เรียกว่า เทพยาดา หรือ เทวดา ขึ้นในสวรรค์นั้น เรียกได้ว่า นามก่อรูปเกิด จริงๆ
คราวนี้เรามาดูกันว่า หากมารจะทำลายวิญญาณของเราหรือผู้ใดก็ตามได้หรือไม่ เมื่อวิญญาณมีมูลฐานแรกเริ่มมาจากอวิชชา หรือความไม่รู้ ดังนั้นหากมารจะทำลายวิญญาณเรา ก็ต้องไปทำลายอวิชชาของเราก่อน วิญญาณจึงจะดับได้ และถ้ามารมีอำนาจถึงเพียงนั้นจริง มารเองก็คงจะสามารถทำลายอวิชชาของตนจนหลุดพ้นไปจากโลกียะได้แล้ว
The soul is indestructible.
ด้วยเหตุนี้เอง จึงกล่าวว่า ไม่มีใครบีบบังคับใครได้ ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหนจริงๆ เพราะโลกียะก็ทำลายไม่ได้ ออกนอกโลกียะก็เสมอเท่าเทียมกัน ไม่มีใครทำลายใครได้ เพราะล้วนเป็นอมตะ ไม่มีการเกิดดับอีก เนื่องจาก ภายนอกโลกียะ สรรพสิ่งล้วนเป็นอสังขตะ คือ ปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้แปรเปลี่ยน เมื่อไร้เหตุแปรเปลี่ยนผลจึงย่อมไม่แปรปรวน และดำรงคงอยู่เช่นนั้นไปช่วยนิรันดร์
เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น ลองมาพิจารณาคำที่ว่า "ไม่มีใครทำให้ใครมืดหรือสว่างได้" เพราะถ้าทำได้ พระพุทธะทั้งหลายคงจะทำให้สรรพสัตว์สว่างไสวด้วยมหาปัญญา และหลุดพ้นไปจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ต้องมีผู้ใดมาหลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่เช่นนี้อีก
ด้วยเพราะธรรมทั้งหลายดำเนินอยู่บนอิสระภาพไม่มีใครบังคับใครได้ ทุกคนต้องโน้มธรรมนั้นเข้ามาหาตัว และประจักษ์แจ้งได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้พระพุทธะทั้งหลายจึงชี้แนะไม่ชี้นำ หรืออาจกล่าวได้ว่า ท่านจะชี้ทางออกให้เราเท่านั้น แต่ไม่บังคับให้ออก ใครจะอยู่หรือใครจะออก เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของแต่ละคน
ปุจฉา:
เคยถูกสอนมา เขาบอกว่า การดำรงชีวิตให้ดีก็ต้องมีสติ ยิ่งกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้ตลอดเวลายิ่งดี ไม่เข้าใจ แล้วถ้าไม่กำหนดสิ่งที่ทำก็ไม่ดีน่ะซิ แล้วถ้าต้องกำหนดจริง ก็ต้องถามต่อว่า จะต้องกำหนดไปอีกนานเท่าไหร่จึงจะได้ไม่ต้องกำหนด จะทำอย่างไรดี จริงๆ แล้วการมีสติมันน่าจะมีอยู่กับเราตลอดเวลาไม่ใช่หรือ ทำไมยังต้องกำหนดอีก มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจหรือเปล่า
วิสัชนา:
สติคือการตระหนักรู้ เป็นโลกียธรรม จึงต้องเกิดดับแปรปรวนไปตามกฏของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง คงสภาพตลอดไปไม่ได้ อนัตตา ไม่ใช่สิ่งที่จะยึดถือได้ตลอดไป ดังนั้นสติจึงต้องกำหนดขึ้นใหม่อยู่เรื่อยไป กำหนดเกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนไปตามสภาพก่อนจะดับไป แล้วก็ต้องวนไปกำหนดขึ้นใหม่
ผู้ที่ต้องการมีสติจึงต้องกำหนดไว้เรื่อยๆ เผลอเมื่อไร (ตามสภาวะแปรปรวนของใจ) ก็จะลืมสติ แล้วต้องกำหนดขึ้นใหม่ เรียกได้ว่า ไม่สิ้นสุด ตัวอย่างชัดเจนที่ยืนยันว่าสติเป็นโลกียธรรมก็คือ การมีสติเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้ สมมติว่า เราเอามือไปรนอยู่บนเปลวของเทียนจนรู้สึกแสบร้อน แล้วหากตั้งสติไว้ที่ความรู้สึกแสบร้อนนั้น ย่อมจะไม่สามารถทำให้หายจากอาการแสบร้อนนั้นได้อย่างแน่นอน ตราบใดที่ไม่เอามือออกห่างจากเปลวเทียนนั้น
สาเหตุก็เป็นเพราะว่า การมีสติรู้ตัวอยู่ แต่ไร้ปัญญาที่จะรู้ถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น ย่อมไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ จึงย่อมไม่พ้นทุกข์เป็นธรรมดา ดังนั้นสติจึงเป็นเพียงโลกียธรรม เพราะลำพังตัวมันเอง ไม่สามารถทำให้เราพ้นจากทุกข์ในโลกียะนี้ไปได้
Wisdom knows all things.
ขณะที่ปัญญาคือการประจักษ์แจ้ง เป็นโลกุตรธรรม เพราะเป็นธรรมที่ทำให้พ้นจากโลก หรือโลกียะได้ เพราะปัญญาทำให้รู้ถึงเหตุแห่งทุกข์และวิธีดับเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลายนั้น ดังนั้นเมื่อทุกข์มีในโลกียะ การพ้นทุกข์ย่อมหมายถึงการก้าวพ้นไปจากโลกียะโดยปริยาย และเมื่อพ้นโลก ก็ย่อมพ้นจากอำนาจครอบงำของไตรลักษณ์ จึงทำให้โลกุตระมีสภาวะที่ตรงข้ามกับโลกียะ คือ เป็นนิจจัง เที่ยงแท้คงที่ สุขขัง คงสภาพเช่นนั้นได้ตลอดไป อัตตา เป็นสิ่งที่ยึดถือไว้ได้
ด้วยเหตุนี้พระอริยะเจ้าที่เข้าถึงโลกุตรธรรมแล้วจึงไม่ย้อนกลับ เพราะได้พบกับความเที่ยงแท้แล้ว และย่อมจะไหลเลื่อนไปสู่ความสิ้นสุดแห่งธรรมทั้งหลาย หรือจะเรียกว่า นิพพาน ก็ไม่ผิดนัก ดังนั้นเมื่อปัญญาเป็นโลกุตรธรรม ปัญญาจึงไม่มีเกิดดับ เมื่อมีความเข้าใจในสภาวะธรรมตามจริงโดยครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้านแล้ว ความประจักษ์แจ้งย่อมคงอยู่เช่นนั้นตลอดไป
อุปมาดังคนเคยไปเที่ยวทะเลมา เมื่อมีผู้พูดถึงทะเล เขาผู้นั้นย่อมเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับทะเลที่ว่านั้น โดยไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมใดๆ ปัญญาจึงไม่ต้องกำหนดรู้ ขอเพียงเข้าใจก็จะคงอยู่เช่นนั้น รับรู้อยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงกลับอีก
ปุจฉา:
การใช้ชีวิตในโลกย่อมหนีไม่พ้นจากความทุกข์ ส่วนจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย ก็ล้วนอยู่ที่การให้ความสำคัญ บางคนอาจคิดว่า ทุกข์มากค่อยมาว่ากัน ถ้าทุกข์น้อยก็มองข้ามไป อย่าไปคิดมาก พอคิดอย่างนี้ก็เลยเกิดปัญหาใหม่ว่า ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยนั้น จะเอาอะไรมาวัด แต่ละคนก็อาจมีภูมิคุ้มกันต่อความทุกข์ไม่เท่ากัน
คนที่ทุกข์จนเริ่มชาชินก็อาจรู้สึกว่าไม่ทุกข์ (ความจริงมันทุกข์จนเป็นกิจวัตกลายเป็นปกติของชีวิตไปแล้ว) เหมือนคนยากจนที่หาใช้กินค่ำ อดบ้างอิ่มบ้างก็ไม่ค่อยไปใส่ใจ ตรงกันข้ามกับคนมีอันจะกิน เคยอิ่มทุกมื้อ พอต้องมาอดเข้า ก็อาจทนไม่ได้ ตีโพยตีพายกันไปตามประสา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า แท้จริงแล้วนิยามของความทุกข์นั้นคืออะไรกันแน่
วิสัชนา:
เพราะมีความหลงคือความไม่รู้ จึงเกิดความโลภหรือชอบ กับความโกรธหรือไม่ชอบ ขึ้น ความชอบและไม่ชอบนี้เองที่ทำให้ทุกชีวิตรู้สึกถึงว่าตนมีความทุกข์ (ความจริงจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกมันก็มีทุกข์อยู่แล้ว เมื่อความทุกข์ตามสภาวะก็คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นย่อมมีอยู่เป็นปกติ) เมื่อชอบก็ดิ้นรนที่จะแสวงหามาไว้ใกล้ตัว เมื่อไม่ชอบก็ดิ้นรนที่จะหลีกหนีหรือผลักดันไปให้ไกลจากตัว
แต่ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งตามหรือวิ่งหนี มันก็ล้วนทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยทั้งสิ้น ความเหนื่อยนี้เองที่เทียบได้กับความรู้สึกทุกข์ที่ว่า จึงกล่าวได้ว่า เพราะความชอบและไม่ชอบ จึงทำให้เราต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในชีวิต จากการที่ต้องเฝ้าวิ่งหนีและวิ่งตามอย่างไม่จบสิ้น
All life is just an illusion.
เมื่อไม่รู้ก็หลงเข้าไปคิดเอาว่า สิ่งนี้หรือคนผู้นี้ดีกับเรา เหมาะสมกับเรา (เพราะมันบังเอิญมาตรงกับสิ่งที่เราชอบอยู่) เราก็เลยเผลอกระโดดเข้าไปยึดถือ อยากอยู่ใกล้ไม่ห่างกาย เมื่อยังไม่ได้มาก็มุ่งมั่นแสวงหาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา จนบางคนไม่เลือกแม้แต่วิธีการ ไม่สนใจแม้กระทั่งจะต้องเหยียบย่ำผู้ใด หรือต้องทำให้ผู้ใดทุกข์ทรมานกายใจเพียงใด แต่เมื่อได้มา เพราะอนิจจังความแปรปรวนอันเป็นธรรมชาติภาวะปกติของโลก
เราจึงย่อมแปรเปลี่ยนได้ ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นก็สามารถเปลี่ยนได้เช่นกัน และเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรารู้สึกเบื่อไม่ชอบแล้ว หรือสิ่งนั้นหรือคนๆ นั้นได้เปลี่ยนไปจากภาพที่เราวาดหวังไว้ ความชอบก็ย่อมสามารถเปลี่ยนเป็นความไม่ชอบได้ จากนั้นก็จะเป็นการเริ่มต้นความเหน็ดเหนื่อยรอบใหม่ เปลี่ยนจากการวิ่งตามมาเป็นวิ่งหนีแทน
ปุจฉา:
ดูๆ ไปแล้วการใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งนี้ มันช่างไม่น่าอยู่เอาเสียเลย บางคนคิดเช่นนี้ เลยพลอยตัดสินใจคิดสั้นตัดช่องน้อยแต่พอตัว โดยการดับชีวิตตัวเองไป ด้วยหวังว่า ชีวิตคือความทุกข์ ถ้าสิ้นชีวิตก็คงจะสิ้นทุกข์ มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เคยมีคำกล่าวไว้ว่า อยู่เป็นคนอดอยาก ตายเป็นผีหิวโหย หากคำกล่าวนี้เป็นจริงขึ้นมา ตอนมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยความทุกข์ ตายแล้วจะพ้นทุกข์ไปได้อย่างไร
ดังนั้นขอบอกว่าอย่าเสี่ยงดีกว่า หลายคนอาจมีฐานะดีกว่าคนอื่น ทำให้เหมือนจะไม่รู้สึกทุกข์ และพลอยหลงคิดไปว่า ตัวเองพิเศษกว่าคนอื่น คงไม่ต้องเจอะเจอกับความทุกข์อย่างที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ความคิดทั้งหลายทั้งปวงที่ยกมานี้ จะช่วยให้ไม่รู้สึกทุกข์จริงหรือ
วิสัชนา:
คนที่มิได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน เมื่อตอนที่ยังไม่เกิดเรื่องกับตัว ก็มักจะคิดว่า เรื่องเลวร้ายเหล่านั้นคงไม่เกิดขึ้นกับเราและคนที่เรารัก กระทั่งเรื่องที่หวาดกลัวและไม่อยากให้เกิด หรืออาจเรียกได้ว่าสิ่งที่ไม่ชอบได้เกิดขึ้นกับตนหรือครอบครัวแล้ว ก็มักจะคิดไปว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้ต้องมาเกิดกับเราด้วย นี่คือปัญหาที่ทุกคนต้องประสพ ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกียะแห่งนี้
ต้องขอบอกว่า ความทุกข์นั้นไม่เลือกเฟ้นผู้ใด ในสายตาของความทุกข์ไม่มีผู้ใดมีความสำคัญโดดเด่นกว่าผู้ใด ดูได้จากบทบาทบางส่วนของความทุกข์ อันได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น มันไม่เคยเลือกที่จะเจาะจงเกิดกับผู้ใด หรือเจตนาจะงดเว้นให้ผู้ใด ตรงกันข้าม ความทุกข์นั้นจะสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกชีวิต อย่างไม่ว่างเว้น
Suffering doesn't choose anyone.
ทางเดียวที่เหลืออยู่จึงต้องออกไปจากอิทธิพลหรืออำนาจครอบงำของมัน และเมื่อความทุกข์ หรือการคงสภาพตลอดไปไม่ได้นั้น จะมีอยู่เฉพาะในโลกียะแห่งนี้เท่านั้น เพราะโลกียะเป็นสังขตะ กล่าวคือ สรรพสิ่งในโลกีย์ล้วนต้องถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัย (ตามแต่จะสมมติกันไป) เมื่อมีเหตุเป็นมูลรากก่อเกิด ดังนั้นเมื่อใดที่เหตุแปรเปลี่ยนผลก็จะแปรเปลี่ยนไปด้วย
และเหตุทั้งหลายในโลกียะก็ล้วนประกอบด้วยเหตุในเหตุที่ย่อยลงไปมาประกอบเข้าหากัน มิได้เป็นเนื้อเดียวกันหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นการแยกย่อยสลายตัวจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา จนกล่าวได้ว่า สรรพสิ่งในโลกียะไม่สามารถคงสภาพไปได้ตลอดกาล หรือเรียกได้ว่า โลกียธรรมมีสภาวะที่เป็นทุกข์ การจะพ้นทุกข์จึงต้องออกไปจากโลกียะเพียงสถานเดียว ดังคำถามที่ว่า "หากโลกียะอยู่อาศัยได้ เหตุใดพระพุทธะจึงมุ่งเน้นให้ออกหรือหลุดพ้นไปเพียงอย่างเดียว"
ปุจฉา:
หลายคนที่ยังไม่ยินยอมอาจพยายามที่จะมองหาวิธี หรือช่องทางที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกให้ได้ จึงอดที่จะคิดตามไม่ได้ว่า ยังพอจะมีหนทางดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้บ้างหรือไม่ หากจะยอมรับว่า โลกนี้มีความทุกข์เป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็น่าที่จะพอดิ้นรนหาทางใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ ส่วนคนที่รู้มากขึ้นอีกหน่อย ก็อาจอ้างเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการที่ว่า "มีในมัน ไม่มีในเรา" น่าจะช่วยให้อยู่ในโลกนี้โดยไม่ทุกข์
เมื่อคำว่า "มีในมัน" หมายถึงในโลกนี้มีตัณหาอุปาทานเป็นที่ตั้ง ก็รัก โลภ โกรธ หลงนั่นแหล่ะ เป็นธรรมชาติปกติ แปรปรวนอยู่อย่างนั้น ขณะที่ "ไม่มีในเรา" หมายถึงการไม่สนใจให้ความสำคัญกับตัณหาอุปาทานที่อยู่คู่โลก ไม่เข้าไปหลงใหลในวังวนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เลิกคิดปรุงแต่ง ยึดจริงจังในบทบาทที่มีที่เป็น ทำใจให้รู้ไว้ว่า เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เลิกยึดมั่นถือมั่น เพราะการยึดมั่นถือมั่นย่อมก่อเกิดภพชาตินับอนันต์ คำถามคือ ความเข้าใจเช่นนี้จะช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกโดยไม่ทุกข์ได้จริงหรือ
วิสัชนา:
เมื่อธรรมชาติแห่งท้องทะเล ย่อมมีพายุและคลื่นลมเป็นธรรมดา ทำให้ผู้ล่องเรืออยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นในห้วงสมุทรทั้งหลาย ย่อมหลีกไม่พ้นมรสุมที่ซัดส่ายเหล่านั้น วันใดที่ได้พบกับท้องฟ้าสดใส คลื่นลมสงบ คนเหล่านั้นก็มักจะทอดถอนใจและคิดว่า พวกเขายังสามารท่องเรือต่อไปได้ มีวันฟ้าหม่นก็ต้องมีวันฟ้าใสได้ ดังที่มักจะกล่าวกันว่า มีไม่ดีก็ต้องมีดี มีความทุกข์ก็ต้องมีความสุขได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
มีผู้ใดจะแน่ใจหรือรับประกันได้บ้างว่า ในเสี้ยวเวลาต่อไปฟ้าที่สดใสจะไม่เต็มเกลื่อนไปด้วยหมู่เมฆฝนที่คลึ้มดำ เมื่อพายุสามารถก่อตัวขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมหรือคาดการณ์เกี่ยวกับความแน่นอนของลมฟ้าอากาศได้ ก็ย่อมไม่อาจมั่นใจกับโลกียะ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้นักเดินเรือที่เชี่ยวชาญ จำต้องตั้งสติตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถพลั้งเผลอได้แม้แต่เสี้ยววินาที คำถามจึงมีว่า จะต้องตกอยู่ในสภาวะที่ตรึงเครียดเช่นนี้ไปได้นานเพียงใด และต้องทนอยู่อีกนานเพียงไหน
มีคำกล่าวว่า ความสำเร็จไม่มีในโลกียะ เหตุเพราะ ความสำเร็จในโลก ก็ไม่ต่างจากการที่เราดิ้นรนฟันฝ่าจนสามารถรอดพ้นออกมาจากพายุลูกหนึ่งได้ (ขณะที่คนอื่นล้มเหลวก็คือไม่อาจเอาตัวรอดมาได้) เพื่อที่จะไปพบเจอกับพายุลูกอื่นๆ แล้วมันจะมีประโยชน์อันใด เมื่อความสำเร็จที่ท่านชื่นชม เป็นเพียงการรอดพ้นจากมรสุมในชีวิตที่ท่านฝ่าฟันออกมาได้ เพื่อที่จะไปเจอกับปัญหาใหม่ๆ ที่จะถาโถมเข้ามาอย่างไม่รอรี จึงกล่าวไม่ได้ว่า มีผู้ใดประสบความสำเร็จ (แม้จะเป็นเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตั้งเป้าไว้)
Life is about sailing through storms.
เพราะเมื่อใดที่ท่านหยุดพักเพื่อชื่นชมกับความสำเร็จที่ท่าน (เข้าใจไปเอง) ว่ามาถึง แล้วเมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็พบว่า มีพายุลูกใหม่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาหา ทำให้ท่านจำต้องดิ้นรนฟันฝ่าต่อไป และต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น จึงกล่าวได้ว่า ไม่มีความสำเร็จ มีแต่ความไม่ล้มเหลว ตราบใดที่ท่านยังไม่ล้มเลิกที่จะดิ้นรน คำถามคือ ไม่เหนื่อยบ้างหรือ?
ความเข้าใจที่ว่า ธรรมชาติของท้องทะเลล้วนมีคลื่นลมเป็นธรรมดา ไม่มีทางหลีกพ้น ไม่ต่างจากโลกียะที่มีความเศร้าหมองหรือที่เรียกว่ากิเลสตัณหาเป็นปกติ ไม่มีใครหลีกพ้นเช่นกัน ความเข้าใจเช่นนี้จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากท่านไม่ประจักษ์แจ้งว่า จะต้องไปให้พ้นจากอำนาจครอบงำของมัน
แค่เพียงรู้หรือท่องจำได้ว่า "มีในมันไม่มีในเรานั้น" ยังไม่อาจทำให้เราหลุดพ้นไปได้ แต่ต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า โลกียะอยู่ไม่ได้ เพราะเต็มไปด้วยเภทภัยและความวุ่นวาย เมื่อนั้นคนผู้นั้นจึงย่อมจะหลีกหนีไปโดยไม่สนใจที่จะเหลียวหลังกลับมาอีกเลย
(ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน ep.1 ทำไมต้องใช้ชีวิต)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย