18 ก.ค. 2023 เวลา 19:35 • ปรัชญา

โลกแห่งการสมมติ

แท้จริงแล้วคำว่าโลกคืออะไรกันแน่ คนจำนวนมากมองดูรู้เห็นความเป็นไปของโลกอยู่ทุกวัน ทว่าเมื่อถามไถ่เข้าจริงๆ กลับไม่สามารถนิยามชี้ชัดลงไปได้ว่า ความหมายที่แท้ของโลกที่พวกเขาดำรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น มันหมายถึงอะไรกันแน่ คำตอบจึงมีหลากหลายแปรไปตามความรู้ความเห็นของแต่ละคน จนทำให้อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า จะเป็นเพราะความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับความหมายของโลกนี้หรือไม่
จึงทำให้สังคมโลกมีความวุ่นวายโกลาหนกันอยู่ ดังที่มีให้พบเห็นในปัจจุบัน เพราะการตีความคำว่าโลกแตกต่างกันไป จึงทำให้ประชาคมโลกไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขาดความกลมเกลียวเป็นหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า มุมมองที่ต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ต่างกัน และเพราะการเข้าใจไม่ตรงกันนี่เอง ที่ก่อปัญหามากมายขึ้นภายในโลก
ปุจฉา :
ถ้าบอกว่าโลกนี้ว่างเปล่า ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องแล้วโลกมันมีเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วมันว่างได้อย่างไร หรือหมายความว่าว่างจากการยึดถือ?
วิสัชนา :
การมองหาความจริงของโลก ไม่ต่างกับการมองเหรียญ เมื่อเหรียญมีสองด้านก็ต้องมองให้ครบ หากมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ก็ย่อมไม่เห็นความจริงของเหรียญนั้น โลกนี้ก็เช่นกัน แม้จะรู้ว่าโลกนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติไม่ใช่ความจริง แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าว่างเปล่าเพียงด้านเดียว ในเมื่อทุกสิ่งยังสามารถมองเห็นและจับต้องได้อยู่ ด้วยเหตุนี้ หากคิดเข้าใจสัจจะของโลก จึงควรทำความเข้าใจข้อความต่อไปนี้ก่อน กล่าวคือ "สรรพสิ่งว่างโดยสภาวะ แต่ไม่ว่างโดยอายตนะ"
เมื่อต้องมองดูโลก จึงพึงมองในสองสภาพดังกล่าว คือ หากว่าโดยสภาวะธรรมแล้ว ต้องถือว่าโลกนี้ว่างเปล่า เพราะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า อะไรคือโลก ยกตัวอย่างเช่น หากโลกประกอบขึ้นด้วยแผ่นดินและมหาสมุทร ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า แผ่นดินคือโลก หรือ มหาสมุทรเท่านั้นที่คือโลก จะเห็นได้ว่า เมื่อจะหาเข้าจริงคำว่าโลกก็มิได้มีตัวตนแท้จริงที่จับต้องได้
หากแต่เป็นเพียงนามบัญญัติที่ถูกสมมติขึ้นเท่านั้น และแม้แต่นามบัญญัติที่เรียกว่าโลกนี้ ก็ยังแตกต่างกันไปตามแต่ละภาษา สุดแล้วแต่จะบัญญัติกันไป ในขณะที่เมื่อเอาคำว่าโลก มาแยกแยะดูก็จะพบว่า เป็นเพียงการนำเอาพยัญชนะและสระมารวมเข้าด้วยกันเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วก็หาโลกจริงๆ ไม่เจอ
View the world as a series of sub-components.
ขณะที่ในอีกสภาพหนึ่ง โลกนั้นก็ยังปรากฏให้เห็นผ่านอยาตนะเครื่องรับรู้ หรือประสาทสัมผัสของผู้คน พวกเขาเหล่านั้นจึงย่อมกล่าวกันว่า โลกนี้มิได้ว่างเปล่า แม้จะยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ยังสามารถรับรู้ตามการเปลี่ยนแปลงนั้น ในมุมมองของพวกเขา โลกนี้จึงเหมือนมีอยู่จริง จับต้องได้จริง
ดังนั้นการจะถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปว่า โลกนี้ว่างเปล่าหรือมีอยู่ เพียงด้านใดด้านหนึ่งนั้น จึงย่อมไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะแท้จริงแล้วทุกสิ่งที่เป็นสมมติทั้งหลายล้วนมีสภาพที่เรียกว่า "มีแบบไม่มี" ทั้งสิ้น คือดูเหมือนว่ามีรับรู้ได้จับต้องได้ แต่เมื่อไล่เรียงเข้าไปในรายละเอียดกลับพบว่า ไม่สามารถหาตัวตนที่แท้จริงได้ดังที่ได้บรรยายไว้ข้างต้น
การมองหาความจริงของโลกจึงต้องมองทั้งสองด้านพร้อมเพรียงกัน คือไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่มี แต่ในขณะเดียวกันก็ตระหนักรู้ว่า การมีอยู่ของโลกนี้เป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้น คือ เป็นเพียงการตั้งนามบัญญัติขึ้นมาเรียกหา เพื่อนิยามสภาวะของสภาพที่มีสิ่งต่างๆ มารวมตัวกันขึ้นแบบชั่วคราว ซึ่งถ้าจะว่าตามตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น โลกก็เป็นเพียงการประกอบรวมกันเข้าของแผ่นดินและมหาสมุทร ดังนั้นความหมายที่แท้ของโลกในทีนี้
The world is just a fictitious thing.
ก็น่าจะหมายถึง สภาพการรวมตัวของแผ่นดินและมหาสมุทรนั่นเอง และด้วยหลักการเดียวกันนี้ แม้แผ่นดินและมหาสมุทรเอง แท้จริงก็ล้วนเป็นเพียงนามบัญญัติที่ถูกตั้งขึ้นเรียกหาสภาพการรวมตัวของธาตุดินและน้ำดุจเดียวกัน เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่สามารถหาตัวตนของแผ่นดินและมหาสมุทรได้ เพราะต่างก็เป็นเพียงชื่อเรียก การรวมตัวของดินและน้ำดังกล่าวเท่านั้น
จากที่สาธยายมาจะพบว่า ทุกสิ่งในโลกหรือแม้แต่ในจักรวาลเอง ก็เป็นเพียงนามบัญญัติทั้งสิ้น หาได้มีตัวตนอยู่แท้จริงไม่ ล้วนเป็นสิ่งที่ใช้เรียกสภาพการรวมตัวขึ้นของเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น และไม่ว่าจะไล่ละเอียดลงไปถึงอณูหรือปรมาณูที่เล็กย่อยเพียงใด ก็ไม่พ้นกฏเกณฑ์เดียวกันนี้ คือไม่มีสิ่งใดเลยที่มีตัวตนคงอยู่แท้จริง
นอกจากนามบัญญัติที่ใช้เรียกสภาพการรวมตัวเหล่านั้น และด้วยความที่หาตัวตนแท้จริงไม่ได้นี้ จึงกล่าวได้ว่า สรรพสิ่งล้วนมีความว่างเปล่าโดยสภาวะ แม้แต่การรับรู้โดยอายตนะ ก็ล้วนเป็นเพียงการสมมติขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเรื่องการเห็นภาพของสิ่งต่างๆ เมื่อไล่เรียงเข้าไปในรายละเอียดก็จะพบว่า สิ่งที่เห็นนั้นก็เป็นเพียงกลไกการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแสงที่ตกกระทบวัตถุ กับการทำงานของประสาทตาและการแปลสัญญาณภาพในสมอง
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หากปราศจากเหตุปัจจัยเหล่านี้แล้ว การเห็นภาพของสิ่งเหล่านั้นก็ล้วนไม่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปก็จะพบว่า สรรพสิ่งที่รับรู้โดยอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจ ก็ล้วนเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบสนองของการรับรู้ข้อมูลผ่านอายตนะเหล่านี้ทั้งสิ้น หากปราศจากอายตนะเหล่านี้แล้ว ก็คงไม่อาจยืนยันได้ว่า สรรพสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่
If there is fuel, there will be flames.
การตระหนักรู้แบบรอบด้านนี้เอง จึงจะทำให้ประจักษ์แจ้งในความจริงเหล่านั้นได้ และผลของการเข้าใจสภาวะที่แท้จริงของโลกอย่างครบถ้วนเช่นนี้ ก็ย่อมจะทำให้ผู้นั้นสามารถเพิกถอนความยึดถือใดๆ ในโลกได้โดยปริยาย เพราะประจักษ์แจ้งแล้วว่า สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นของที่ถูกสมมติขึ้นทั้งสิ้น หาได้มีสาระความจริงที่แท้แต่อย่างไร เมื่อเป็นสมมติจึงคงอยู่ได้ชั่วคราว ตราบเท่าที่เหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นนั้นจะยังหล่อเลี้ยงเติมต่ออยู่
เหมือนเปลวไฟที่จะลุกโชนอยู่ได้ก็ต่อเมื่อยังมีการเติมเชื้อไฟเข้าไปให้ เมื่อใดที่เชื้อเพลิงหมด ไฟก็ย่อมจะมอดดับไปเป็นธรรมดา สรรพสิ่งในโลกก็เป็นเช่นนั้น เมื่อทุกสิ่งล้วนเป็นเพียงการก่อตัวขึ้นขององค์ประกอบต่างๆ จึงย่อมไม่มีเนื้อแท้เป็นของตนเอง โลกนี้จึงย่อมจะแปรเปลี่ยนไปตามสมมติที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา
ปุจฉา :
หากจะบอกว่าเราไม่ควรมองโลกจากตาของเรา แต่ควรมองโลกในมุมมองที่เหมือนกับเป็นตาของโลกที่มองออกมายังตัวเรา ถูกต้องหรือไม่?
วิสัชนา :
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ขึ้นชื่อว่าการมองแล้วต้องผ่านที่ตาเท่านั้น โดยอาจหลงลืมกันไปว่า ผลของการมองก็เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลแบบหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นเพียงข้อมูลดิบเท่านั้น ยกตัวอย่างในตัวมนุษย์เอง การมีเพียงตาอย่างเดียวโดยไม่มีสมองช่วยแปรสัญญาณภาพ ก็ย่อมไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของการมองได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การเกิดมุมมองที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จะต้องเริ่มต้นและสิ้นสุดที่อายตนะใจ
โดยมีตาเป็นเครื่องมือในการรับรู้ข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ว่าเริ่มต้นก็คือ จะต้องมีมุมมองที่เปิดกว้างพร้อมจะรับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน ส่วนสิ้นสุดก็คือการนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำความเข้าใจจนเกิดความกระจ่างแจ้งสมบูรณ์ จึงเห็นได้ว่า การมองที่แท้จะเริ่มที่ใจและจบที่ใจ จนอาจกล่าวได้ว่า หากจะมองให้มองด้วยใจโดยตรง
ดังคำกล่าวที่ว่า "เลือกที่จะรู้ รู้ไม่หมด เลือกที่จะเห็น เห็นไม่ครบ" ข้อความนี้ได้บอกถึงข้อจำกัดการรู้เห็นของคนส่วนใหญ่ในโลก เนื่องจากในใจของผู้คนเหล่านั้นล้วนมีการแบ่งแยกออกเป็นคติและอคติ จึงส่งผลให้มุมมองที่เกิดขึ้น ล้วนแปรเปลี่ยนไปตามคติและอคติที่ตนดำรงอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นไปตามความชอบและไม่ชอบของแต่ละคนนั่นเอง และด้วยเหตุดังว่า จึงทำให้มุมมองของคนเหล่านั้นไม่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน
Choose to know, not know everything.
ส่งผลให้การทำความเข้าใจบนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จึงย่อมไม่สามารถเข้าใจความจริงในองค์รวมเป็นธรรมดา การมองโลกในลักษณะนี้จึงไม่สามารถทำให้เห็นความจริงที่แท้ได้ ไม่ว่าจะมองด้วยตาของเราหรือของโลก หรือแม้แต่ด้วยใจก็ตาม เพราะใจที่ไม่สามารถเปิดกว้าง ย่อมติดอยู่ในกรอบหรือขอบเขตของความชอบและไม่ชอบของตัวเอง
การจะมองให้เห็นความจริงใดๆ ในโลก จึงควรที่จะวางคติและอคติ หรือความชอบและไม่ชอบเอาไว้ก่อน แล้วเปิดใจให้กว้างออกรับรู้ข้อมูลทั้งหมดจากทุกทางเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รับทราบข่าวสารข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะถูกนำมาใช้ประกอบในการประมวลผลหรือทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้น และเมื่อได้ผลลัพธ์ที่สรุปสุดท้ายแล้ว ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งในทันที ควรที่จะทำการตรวจสอบผลลัพธ์เหล่านั้นอย่างถี่ถ้วนรอบด้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน
วิธีการง่ายๆ คือพยายามจับผิดคำตอบหรือผลลัพธ์เหล่านั้นในทุกวิถีทาง เพื่อแสวงหาข้อโต้แย้งให้ได้ กระทั่งไร้ข้อสงสัยใดๆ โดยสิ้นเชิง ท่านก็จะพบหรือประจักษ์แจ้งในความจริงของสิ่งๆ นั้นด้วยตัวท่านเอง เพราะทุกความจริงจะไม่ขัดแย้งในตัวเอง ดังคำกล่าวที่ว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย" สาเหตุก็เพราะว่า ความจริงทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์พร้อมในตัว ไม่สามารถตัดออกหรือเติมเข้าได้อีก มันจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลานานแสนนานเพียงใด
ปุจฉา :
การละเมิดสมมุติผู้อื่น หมายความว่าเราเข้าไปถือเอาเรื่องคนอื่นหรือสมมุติของเค้ามาเป็นจริงเป็นจังใช่หรือไม่ แต่มันไม่เหมือนกับเราเอาตนเองเข้าไปผูกพันกับเค้าอย่างไร?
วิสัชนา :
เพราะโลกเป็นสิ่งสมมติ เรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในโลก จึงหนีไม่พ้นที่จะเป็นเรื่องสมมติเช่นกัน และเพราะความเป็นสมมตินี้เอง จึงไม่ใช่ความจริง เมื่อไม่ใช่ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว สมมติทั้งหลายจึงย่อมสามารถแปรเปลี่ยนไปได้สารพัด สุดแล้วแต่ผู้ที่สมมติจะปรับเปลี่ยนสมมติของตนไป และเพราะเหตุที่คนทั้งหลายล้วนมีประสบการณ์ คติความเชื่อ และแง่คิดมุมมองที่แตกต่างกัน จึงทำให้เรื่องราวที่สมมติออกมา ก็ย่อมที่จะแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา
ดังนั้นการจะไปตัดสินว่า สมมติของใครถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว จึงไม่สามารถกระทำได้ เพราะมันแปรตามพื้นฐานความเชื่อและความชอบของแต่ละคน ความพยายามที่จะถกเถียงโต้แย้ง หรือแม้แต่ความคิดที่จะเข้าไปเอาชนะ เพื่อคุกคาม ครอบงำ หรือแปรเปลี่ยนสมมติของผู้อื่นนี้เอง ที่เรียกได้ว่า เป็นการละเมิดสมมติของกันและกัน
ซึ่งผลที่ได้ ก็ดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นความสับสนวุ่นวายไปทั่วทั้งโลก ทั้งรูปแบบของข้อพิพาทระหว่างบุคคล หรือกลุ่มคน จนอาจบานปลายไปจนถึงระดับของการใช้ความรุนแรง หรือสงครามฆ่าล้างกัน จากคำกล่าวที่ว่า "ดีชั่วไม่มีตัวกำหนด" กล่าวคือ ไม่สามารถหาหลักการมาตราฐานที่แท้จริง มากำหนดกะเกณฑ์ความดีความชั่วได้จริง สิ่งที่สังคมหนึ่งสมมติว่าดี ในสังคมอื่นอาจไม่เห็นด้วย จนอาจถึงขั้นสมมติว่าเป็นสิ่งไม่ดีไปก็มาก
Good or bad without criteria
ดังนั้นความพยายามที่จะตัดสินชี้ชัดลงไปตามคติความเชื่อของตนหรือพวกของตน แม้จะมีกำลังมากพอที่จะครอบงำหรือควบคุมบังคับผู้อื่นได้ แต่มันก็เป็นเพียงการทำให้เป็นไปตามสมมติของพวกตนเท่านั้น หาใช่ความจริงแท้ไม่ ความเข้าใจที่ว่า เรื่องราวในโลกล้วนเป็นเพียงสิ่งที่ผู้คนสมมติกันขึ้น แล้วไม่เข้าไปพยายามควบคุมบังคับผู้อื่นให้เชื่อตาม หรือเข้าไปก้าวก่ายวุ่นวายกับสมมติของผู้อื่น ถือคติต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างสมมติ ก็ย่อมที่จะทำให้โลกนี้เกิดความสุขสงบสันติได้มากขึ้น
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ ความหมายของการละเมิดสมมติผู้อื่น จึงเน้นไปในทางที่พยายามเอาสมมติของตนเข้าไปครอบงำหรือเปลี่ยนแปลงสมมติของผู้อื่นมากกว่า ในขณะที่การนำเอาสมมติของผู้อื่นมาถือเป็นจริงเป็นจังสำหรับตัวเอง กรณีนี้ไม่น่าจะนับเป็นการละเมิดสมมติผู้อื่น แต่อาจจะเป็นการละเมิดสมมติของตนมากกว่า เนื่องจาก เมื่อทุกคนก็ล้วนมีพื้นฐานความนึกคิดและประสบการณ์ชีวิตมาเป็นการเฉพาะ ไม่มีใครเหมือนใคร
จนอาจเรียกได้ว่า แต่ละคนล้วนมีสมมติพื้นฐานเป็นของตนเอง ดังนั้นความพยายามที่จะเอาสมมติของผู้อื่นมาเป็นของตน จึงย่อมจะเกิดความขัดแย้งกับสมมติพื้นฐานของตนไม่มากก็น้อย เช่นนี้จึงควรจะเรียกว่า เป็นการละเมิดสมมติของตน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นความพยายามที่จะปฏิเสธสมมติพื้นฐานของตนนั่นเอง
All relationships are just assumptions.
ดังนั้นเมื่อถามว่า การรับสมมติของผู้อื่นมาถือเป็นจริงจังต่างกับความผูกพันอย่างไร ก็ต้องบอกว่า มันเป็นผลพวงซึ่งกันและกัน เพราะความผูกพัน จึงทำให้เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตของผู้อื่น จนอาจกลายเป็นแรงผลักดันให้ต้องรับเอาสมมติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เพราะแรงเร้าของความผูกพันนี้เอง
บ่อยครั้งที่จะทำให้ผู้ที่หลงเข้าไปพัวพันกับผู้อื่น จำต้องปฏิเสธสมมติของตน เมื่อพบว่ามันขัดขวางการเข้าร่วมกับสมมติของผู้อื่น ซึ่งผลที่ได้ก็มักจะจบลงด้วยความขัดข้องไม่สะดวกใจ เพราะต้องฝืนทำไปในสิ่งที่มิใช่สมมติของตน ทำให้ขาดความเป็นอิสระ สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปโดยปริยาย แน่นอนว่า ในบางคนเมื่อเข้าไปผูกพันกับผู้อื่น และมีโอกาสครอบงำอยู่เหนือได้ ก็อาจจะพยายามนำสมมติของตนไปครอบงำผู้อื่นได้เช่นกัน
ด้วยกรณีทั้งสองนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า เป็นเพราะความผูกพันจึงทำให้เกิดการละเมิดสมมติซึ่งกันและกัน ทั้งการละเมิดสมมติของผู้อื่น และการละเมิดสมมติของตนเอง ซึ่งผลสุดท้ายย่อมลงเอยที่ความขัดแย้งเสมอ เพราะสมมติที่แตกต่างและเข้ากันไม่ได้ในที่สุด
จากเหตุดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ เมื่อโลกนี้ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องสมมติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้อาศัยอยู่จะไม่ล่วงละเมิดสมมติของกันและกัน แม้เราจะไม่พยายามไปล่วงละเมิดสมมติของผู้ใด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้อื่นมาล่วงละเมิดสมมติของเรา ท่านจึงอุปมาการอาศัยอยู่ในโลก ไม่ต่างจากผู้ที่อยู่ภายในห้องที่มีคนสูบบุหรี่อยู่ แม้ตนเองจะไม่สูบบุหรี่ คือ ไม่เป็นผู้ที่สร้างเหตุไปล่วงละเมิดสมมติของผู้อื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือการไม่สร้างควันบุหรี่ไปรบกวนผู้อื่นนั่นเอง
surrounded by smoke Must inhale smoke
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ยังอยู่ในห้องนั้น ก็ย่อมจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสร้างขึ้น เรียกได้ว่าต้องถูกล่วงละเมิดสมมติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ทางเดียวที่จะพ้นไปได้ก็คือ การออกไปจากห้องแห่งนี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระพุทธะจึงทรงชี้ทางให้เราออกจากโลกเพียงสถานเดียว ไม่ทรงสอนให้คงอยู่ในโลกหรือโลกียะแห่งนี้อีกต่อไป
ปุจฉา :
มีผู้กล่าวว่า อ่านมากเรียนมากย่อมเกิดความรู้ แต่เป็นเพียงความจำเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญา ความรู้จึงเป็นเหมือนฟืนที่เป็นเชื้อไฟให้ปัญญา หากความรู้ดีไฟคือปัญญาก็จะโชติช่วงเป็นปัญญาที่ดี และเมื่อปัญญาก่อเกิดก็ย่อมสามารถแยกแยะผิดถูกได้ คำถามคือ ความรู้ใช่เป็นเพียงความทรงจำหรือไม่? ปัญญาที่แท้ต่างจากความรู้อย่างไร? และสิ่งใดก่อเกิดสิ่งใด?
วิสัชนา :
เพื่อทำความเข้าใจระหว่างความรู้และปัญญา คงต้องมาไล่เรียงกลไกหรือกระบวนการเกิดของทั้งสองสิ่งก่อน โดยขอเริ่มต้นที่การรับรู้ หรือการรับข้อมูลผ่านเข้ามาทางอายตนะต่างๆ ไม่ว่า จะเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจ ผลการรับรู้นี้จะทำให้ได้ข้อมูลดิบมา กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการคัดสรรใดๆ เหมือนเป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเท่านั้น
จากนั้นจึงนำข้อมูลดิบเหล่านั้นมาทำการประมวลผลผ่านกระบวนการเรียนรู้ในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะทำการเรียบเรียงและจัดระเบียบข้อมูลดิบเหล่านั้นให้เป็นระบบ ในขั้นตอนนี้เองผลที่ได้จะเรียกว่าเป็นความรู้ หรือข้อมูลที่ผ่านการเรียนรู้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว จะเห็นได้ว่า ความรู้ ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทรงจำไว้เสมอไป เพราะอาจถูกบันทึกไว้ในสื่อต่างๆ ได้ด้วย เนื่องจากมันอาจมีปริมาณมากและซับซ้อนเกินกว่าจะทรงจำไว้ได้หมด
สรุปแล้วความรู้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นความจำทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปริมาณของข้อมูลที่เรียบเรียงขึ้นได้จะมีมากน้อยเพียงใด และความสามารถในการจดจำของผู้เรียนรู้จะมีศักยภาพเพียงไหน จะสามารถเก็บความรู้ทั้งหมดไว้ในความทรงจำได้หรือไม่
Every idea must be compared.
ในขั้นตอนต่อไป ความรู้ที่เรียบเรียงไว้ก็จะถูกนำไปสู่กระบวนการทำความเข้าใจ ผ่านการวิเคราะห์ใคร่ครวญ จนสามารถสรุปเป็นกฏเกณฑ์ที่แน่นอนบางประการ และเมื่อกฏเกณฑ์เหล่านั้นสามารถทำการพิสูจน์ได้อย่างเห็นผลชัดเจน ความรู้ที่ได้มานั้นจึงจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นสัจจะหรือความจริงแท้ ซึ่งสภาวะความประจักษ์แจ้งในความจริงที่ได้รับในท้ายสุดนี้เอง ที่เรียกได้ว่า เป็นปัญญา หรือธรรมญาณ โดยธรรมหมายถึงความจริง และญาณหมายถึงความรู้
สรุปแล้ว ปัญญา หรือธรรมญาณนี้ ก็มิได้มีอะไรพิเศษพิสดาร แต่เป็นเพียงความรู้ในความจริงนั่นเอง ดังนั้นระหว่างปัญญากับความรู้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นผลพวงสืบเนื่องกัน จากความรู้ทั่วไป ที่ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า สิ่งที่รู้นั้นเป็นความจริงหรือไม่ จนกลายมาเป็นปัญญา หรือความรู้ที่ชัดเจนในสัจจะหรือความจริงอันเที่ยงแท้แล้ว ดังที่ผู้รู้บางท่านได้สรุปไว้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ความรู้จากการเรียนรู้นั้นเป็นเพียงความรู้จริง ส่วนความรู้ที่เกิดจากปัญญานั้นคือความรู้แจ้ง
โดยความรู้จริงนั้นเป็นเพียงการรู้ตามข้อมูลที่เป็นจริง แต่อาจยังไม่สามารถทำความเข้าใจในความจริงเหล่านั้นอย่างแจ้งชัด ขณะที่ความรู้แจ้ง ก็คือความรู้จริงบวกกับความเข้าใจที่ชัดเจนในสิ่งที่ตนรู้ จนทำให้เกิดความกระจ่างแจ้ง หมดข้อสงสัยใดๆ ในความจริงเหล่านั้น ทำให้ความรู้แจ้งนี้เอง ที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ทั้งหลายสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์สิ้นเชิง ไม่มีสิ่งใดต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก ถือเป็นการเสร็จกิจอันพึงกระทำทั้งปวง
Pure wisdom without discrimination
ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปให้เห็นได้ว่า ปัญญาหรือความรู้แจ้งนั้น เป็นความรู้ที่ชัดเจนในความจริงที่ตนประจักษ์ และเพราะความจริงเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก จนอาจกล่าวได้ว่า ความจริงล้วนเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้อีก ดังนั้น ความจริงจึงย่อมข้ามพ้นไปจากทวิภาวะทั้งหลาย เช่น ความผิดความถูก ความชั่วความดี ความใช่และความไม่ใช่
ปัญญาที่รู้ความจริงจึงย่อมข้ามพ้นการแบ่งแยก เปรียบเทียบ และตัดสินในสิ่งเหล่านี้ไปได้โดยปริยาย ปัญญาจึงไม่ถูกแบ่งแยกเป็นปัญญาที่ถูกหรือผิด มีแต่ปัญญาที่เป็นความจริงเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่สอนให้มองโลกในแง่ดีหรือคติ และมองโลกในแง่ร้ายหรืออคติ แต่ให้มองในแง่ความเป็นจริงเพียงสถานเดียว คือมองให้เห็นว่า ความจริงแท้ของสิ่งที่มองอยู่นั้นคืออะไรกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น โลกียะแห่งนี้เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย มีแต่เภทภัย และทุกข์โทษไม่ว่างเว้น เมื่อความจริงของโลกมีแต่ความเลวร้าย มีแต่ความทุกข์ ความพยายามที่จะมองมันในแง่ดี คือมองหาความดีงามของมัน จึงไม่ต่างจากการเฝ้าหลอกตัวเองไปวันๆ เท่านั้น
(ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน ep.2 โลกแห่งการสมมติ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา