Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
10 ก.ย. 2023 เวลา 18:38 • ปรัชญา
นิยามของความว่าง
หลายคนเมื่อพูดถึงความว่าง ก็มักจะเข้าใจว่า เป็นการปฏิเสธในการมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหลาย โดยเข้าใจไปว่า หากสามารถปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงความว่างดังกล่าวนั้น โดยที่มิได้สะกิดใจลองหวนคิดดูสักครั้งว่า อะไรที่จะทำให้ตนรู้ว่า ตนได้เข้าถึงสภาวะที่เรียกว่าความว่างนั้นแล้ว
และแม้จะเข้าถึงได้จริง หากตัวรู้นี้ยังมีอยู่ แล้วจะเรียกว่า ว่างอย่างสิ้นเชิงได้อย่างไร อาจเป็นเพราะความไม่ตระหนักรู้อย่างรอบด้านดังที่ตั้งข้อสังเกตุมานี้หรือไม่ จึงทำให้แง่มุมเกี่ยวกับความว่างนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ทั่วไป จนดูเหมือนว่า ยิ่งนับวันจะยิ่งบานปลาย จนหาข้อสรุปลงตัวกันไม่ได้สักที
ปุจฉา :
โลกนี้คือสมมุติแล้วสิ่งที่เป็นจริงคือความว่าง แล้วความว่างนี้สามารถเข้าไปยึดถือได้หรือไม่ หรือความว่างคือปราศจากการยึดถือ และทุกสิ่งยุติลง ความว่างคือความว่างเท่านั้นเอง ที่สำคัญ ความว่างนั้นเที่ยงหรือไม่?
วิสัชนา :
เพราะโลกนี้เป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้น มันจึงมิใช่ความจริง และเพราะมิใช่ความจริง มันจึงเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อว่าโดยเนื้อแท้แล้ว โลกจึงไม่มีเนื้อแท้ที่เป็นแก่นสารสาระ เมื่อไร้แก่นจึงกล่าวได้ว่า มีสภาพที่ว่างเปล่า ดุจดังเงาแสงหรือหมอกควัน ที่มองเห็นได้แต่เข้าไปเกาะกุมยึดเหนี่ยวไว้ไม่ได้ กล่าวโดยสรุปแล้ว ความว่างเปล่าจึงไม่มีอะไรให้ยึดถือ แต่ความว่างเปล่าเป็นเพียงความจริงของโลกเท่านั้น
ขณะที่ความจริงสูงสุดจะข้ามพ้นไปทั้งความว่างและความไม่ว่าง คือไม่เห็นความสำคัญของสภาวะทั้งสอง ข้ามพ้นไปจากการครอบงำของสภาวะธรรมทั้งปวง จึงได้ชื่อว่า เป็นอิสระอย่างแท้จริง เมื่ออิสระย่อมเบิกบาน ไร้กังวล เพราะไม่มีสิ่งใดมาครอบงำจำกัด หรือพันธนาการให้ต้องอึดอัดเป็นวิตกกังวลอีก
The world is empty
ดังคำกล่าวที่ว่า "นิพพานัง ปรมังสุขขัง" ซึ่งหมายถึงนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง และ "นิพพานัง ปรมัง สูญญัง" หรือนิพพานเป็นความว่างอันยิ่ง ซึ่งเมื่อรวมความหมายของประโยคทั้งสองนี้เข้าด้วยกันแล้ว ก็อาจจะได้ความว่า "นิพพานเป็นสุขจากความว่างอันยิ่ง" โดยความว่างในที่นี้ ต้องเป็นความว่างจากความยึดถือในธรรมทั้งหลาย ทั้งโลกียธรรมและโลกุตระธรรม
กล่าวคือ พ้นไปจากการครอบงำของสรรพธรรมทั้งปวงแล้วอย่างสิ้นเชิง จึงจะเป็นอิสระและเบิกบานอย่างแท้จริง และความเบิกบานเป็นอิสระนี้เองที่หมายได้ถึงความสุขอันยิ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้พระพุทธะจึงทรงสรุปความไว้ให้ว่า "สัพเพสังขารา อนิจจา" กล่าวคือ สิ่งใดที่ถูกสมมติปรุงแต่งขึ้นย่อมไม่เที่ยง มีสภาพที่ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ซึ่งหมายถึงโลกียะนั่นเอง และ "สัพเพธัมมา อนัตตาติ" กล่าวคือ ธรรมทั้งหลายมิใช่สิ่งที่เป็นตัวตน อันควรที่จะเข้าไปยึดถือเป็นจริงจัง
ด้วยประโยคหลังนี้เอง ที่ทรงหมายถึง ความเป็นอิสระจากการยึดโยงในธรรมทั้งหลายนั้น เมื่อสิ้นความยึดโยงก็ย่อมไร้ความผูกพัน เมื่อสิ้นความผูกพัน ก็ย่อมไม่ถูกครอบงำด้วยพันธะภาระใดๆ อันจะเกิดจากความผูกพันนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความอิสระก็คือจุดสิ้นสุดของสรรพธรรมทั้งหลาย เพราะความอิสระมิใช่พ้นจากความทุกข์เท่านั้น แต่ยังพ้นจากความสุขด้วย และการไม่ติดอยู่กับทุกข์และสุขนี้เอง จึงเรียกว่า เข้าถึงพุทธะภาวะ หรือ ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่สมบูรณ์แท้
ต่อคำถามที่ว่า "ความว่างนั้นเที่ยงหรือไม่" ก็ต้องมาดูกันว่า "ว่างจริงหรือไม่" ถ้าว่างจริงในระดับนิพพาน ซึ่งหมายถึงความว่างอันยิ่ง หรือ สภาวะที่ว่างจากความยึดโยงในธรรมทั้งหลายนั้น ก็ต้องบอกว่า ความว่างในระดับนิพพานอันหมายถึงความอิสระนั้น จะข้ามพ้นไปทั้งความเที่ยงและไม่เที่ยง
เพราะความอิสระจะอยู่พ้นไปจากทั้งความทุกข์ หรือความคงสภาพไว้ไม่ได้ตลอดไป ซึ่งหมายถึงความไม่เที่ยงนั่นเอง และความสุข หรือความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงความเที่ยง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความว่างที่แท้นั้นจะเป็นสภาวะธรรมที่อยู่พ้นไปจากทั้งเรื่องของความเที่ยงและไม่เที่ยงดังกล่าว
Above of everything
เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น จึงต้องแยกแยะความว่าง กับ ความว่างเปล่า ออกจากกันก่อน ในขณะที่ความว่างเปล่านั้น เป็นสภาวะของความไร้แก่นสารสาระของโลก ความว่างเปล่านี้จึงหมายความได้ถึง สิ่งที่ไม่ใช่ความจริงนั่นเอง ดังนั้นความว่างเปล่าจึงเทียบเท่าได้กับความไม่เที่ยง จึงใช้อธิบายภาวะของสิ่งสมมติทั้งหลายที่มิใช่ความจริง ขณะที่ความว่างจะหมายถึงความอิสระ ไร้ความผูกพันยึดโยงในธรรมทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง
เพราะอิสระคือการไม่ให้ความสำคัญต่อสภาวะธรรมใดๆ หรืออาจกล่าวง่ายๆ ว่า ไม่ให้ความสนใจในธรรมทั้งหลายนั้น ไม่ว่าธรรมนั้นจะเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็ตาม ดังนั้นจึงกล่าวไม่ได้ว่า ความว่างนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เพราะผู้เข้าถึงความว่างหรืออิสระที่แท้แล้ว ย่อมหมดความสนใจในความเที่ยงหรือไม่เที่ยงทั้งหลายนั้นโดยปริยาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อาจมีคำถามต่อไปว่า แล้วแท้จริงความว่างนั้นคืออะไรกันแน่ ก็ต้องขอบอกว่า ความว่างที่แท้ ก็คือความเข้าใจที่กระจ่างชัดแล้วในสภาวะธรรมที่เรียกกันว่า "ตถาตา" กล่าวคือเป็นความเข้าใจที่ชัดแจ้งว่า "ธรรมทั้งหลายมีความเป็นมาและเป็นไปเช่นนั้นเอง ไม่มีธรรมใดวิเศษกว่าธรรมใด" และด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนเช่นนี้ จึงจะทำให้ไม่เข้าไปให้ความสำคัญต่อธรรมทั้งหลายนั้น กระทั่งสามารถเพิกถอนความยึดโยงในสรรพธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้อย่างสิ้นเชิง
เพราะผู้เข้าถึงความเข้าใจดังกล่าว ย่อมชัดเจนในจิตเดิมแห่งตนว่า สิ่งที่เป็นสมมติก็ย่อมจะแปรปรวนไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ขณะที่สิ่งที่เป็นสัจจะหรือความจริงก็ย่อมที่จะคงที่เที่ยงแท้อยู่เช่นนั้น และด้วยความเข้าใจนี้ จึงทำให้จิตเดิมนั้นไม่เข้าไปให้ความสำคัญต่อธรรมใดๆ ไม่ว่าจะเที่ยงหรือไม่เที่ยง แต่รู้และเข้าใจอยู่อย่างชัดแจ้ง เรียกว่า "รับรู้แต่ไม่รับไว้" หรือที่ใช้คำว่า "รู้สักแต่ว่ารู้" ก็ได้เช่นกัน
Acknowledge but do not accept.
จากเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเกิดประเด็นน่าสนใจตามมานั่นคือ เมื่อความว่างเป็นเพียงความเข้าใจที่ชัดแจ้งในสภาวะธรรมทั้งหลายตามจริง จนไม่มีแง่มุมใดของสภาวะเหล่านั้นให้ต้องทำความเข้าใจอีก ความว่างในที่นี้จึงมิได้หมายความถึง ความไม่มีอะไรเลย แต่แท้จริงแล้ว กลับเป็นความพร้อมที่จะมี หรือรู้ในความจริงทั้งหลายที่ปรากฏต่อหน้า ดังที่ผู้รู้ท่านได้อุปมา สภาวะของจิตเดิมที่เข้าถึงความว่างอันยิ่งนี้ว่า เป็นเหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด
ซึ่งปกติหากไม่มีอะไรมาปรากฏอยู่ต่อหน้า กระจกนั้นก็ย่อมจะว่างเปล่าไม่มีเงาสะท้อนใดๆ ปรากฏขึ้น ต่อเมื่อมีสิ่งมาอยู่ตรงหน้า กระจกนั้นจึงจะสะท้อนความจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้นให้เห็น ดังนั้นความว่างของกระจกจึงไม่ใช่ความไม่มีอะไร แต่เป็นความพร้อมที่จะสะท้อนสรรพสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าตามความเป็นจริงทุกประการ ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนที่สวยงามมายืนต่อหน้ากระจก
กระจกก็จะสะท้อนภาพความงามนั้นตามจริง โดยปราศจากการแต่งแต้มต่อเติมใดๆ ในกรณีเดียวกันหากคนที่ยืนอยู่หน้ากระจก เป็นคนอัปลักษณ์ กระจกก็จะสะท้อนความอัปลักษณ์นั้นตามจริงเช่นกัน และเมื่อใดที่คนทั้งสองนั้นเดินจากไป กระจกก็จะกลับไปว่างอย่างเก่า โดยไม่เก็บภาพใดๆ ไว้
The power of reflection
โดยสรุปแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า ความว่างแบบไม่มีอะไรเลยนั้น ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีจิตเดิมที่ทำหน้าที่รู้อยู่ถึงความว่างนั้น แม้แต่ในสภาพที่ไม่มีอะไรมาปรากฏต่อหน้า จนดูเหมือนว่างเปล่าโดยสิ้นเชิง แต่ถ้ายังมีผู้รู้ถึงความว่างนั้นอยู่ ก็ต้องถือว่ายังมิได้ว่างอย่างแท้จริง การทำความเข้าใจนิยามของความว่างในเชิงของการวิมุติหลุดพ้น จึงไม่ใช่การเข้าใจว่า ความว่างคือสภาวะที่ไร้สิ้นสรรพสิ่ง
ดังที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นเพียงความรู้แจ้งของจิตเดิม ที่สามารถเข้าใจสัจจะของสภาวะธรรมทั้งหลายตามจริง และสามารถเพิกถอนความยึคถือหรือการให้ความสำคัญในสภาวะธรรมเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง โดยการเพิกถอนนี้เองที่เรียกได้ว่า เป็นการวิมุติหลุดพ้น เพราะสามารถปลดปล่อยจิตเดิมของตนให้เป็นอิสระ ว่างจากความยึดโยงในสรรพธรรมทั้งหลาย จนเรียกได้ว่า สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้วนั่นเอง
ปุจฉา :
มีคำกล่าวว่า มนุษย์จะสละกิเลสได้โดยสละบ่อเกิดกิเลส สละสิ่งเย้ายวน เดินทางสายกลาง นำใจเข้าสู่แดนสงบ ไม่พบทุกข์ ไม่พบสุข ไร้กิเลสไร้กังวล ต้องการสอบถามว่าการเข้าใจว่าโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งสมมุติทำให้คลายทุกข์ได้มาก แต่จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร?
วิสัชนา :
หลายคนอาจยังเข้าใจอยู่เช่นนั้นว่า มนุษย์เรามีกิเลสจึงต้องพยายามขัดเกลากิเลสของตนให้หมดไป เมื่อหมดกิเลสแล้วจึงจะเรียกได้ว่า เข้าถึงความหลุดพ้น คำถามก็คือ แล้วจะต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะสามารถขัดเกลากิเลสให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง ก่อนจะตอบคำถามนี้ คงต้องพามาทำความเข้าใจข้อคิดประเด็นนี้ก่อน จากคำกล่าวที่ว่า "พลอยไม่สามารถเจียรไนให้เป็นเพชรได้"
สาเหตุก็เพราะพลอยมิใช่เพชร มันจึงไม่สามารถทำให้เป็นเพชรได้ ไม่ว่าจะมุ่งมั่นเฝ้าพากเพียรขัดเกลาเจียรไนมันเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม ฉันใดก็ฉันนั้น จิตของสรรพสัตว์ หากมิได้บริสุทธิ์สะอาดอยู่แต่เดิม ก็ย่อมไม่สามารถขัดเกลาให้เกิดความแจ่มจรัสเป็นประภัสสรดังที่ต้องการได้
A gem cannot become a diamond.
ดังนั้นจากแนวคิดที่พยายามเพียรหาว่าอะไรคือบ่อเกิดของกิเลส แล้วพยายามสละละทิ้งหรืออยู่ให้ห่างจากสิ่งนั้น แล้วก็เฝ้าพากเพียรค้นหาและระมัดระวังตัวในทุกย่างก้าว จนบ่อยครั้งที่จะกลายเป็นการเพิ่มความเคร่งเครียดให้แก่ชีวิตโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เมื่อไรจึงจะหมด หรือจะเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวนี้ลงได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยถามตัวเองว่า เมื่อตนยังต้องดำรงคงอยู่ในโลกแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยสิ่งเย้ายวน ที่เชื่อกันว่าเป็นมูลเหตุของกิเลส แล้วจะพ้นไปจากกิเลสได้อย่างไร
ไม่ต่างจากคนที่ตกอยู่ในบ่อโคลน แล้วพยายามล้างโคลนด้วยน้ำโคลน ก็จะพบว่า ไม่ว่าจะล้างยังไงก็ไม่มีวันสะอาดจนปราศจากโคลนติดตัวได้ ดังนั้นจากคำถามเกี่ยวกับแนวคิดการชำระล้างกิเลสดังกล่าวข้างต้น ที่ว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด ก็เชื่อว่าหากเป็นไปตามที่ว่ามาเรื่องคนตกอยู่ในบ่อโคลนนี้ ก็คงตอบได้คำเดียวว่า ไม่มีวันจบสิ้น แต่ถ้าจะถามว่า แล้วต้องทำอย่างไร คำตอบก็คงมีเพียงหนทางเดียวเช่นกันนั่นคือ ต้องขึ้นให้พ้นจากบ่อโคลนนั้นเพียงสถานเดียว
เมื่อโลกเปรียบได้ดังบ่อเกิดของกิเลส ดังนั้นหากต้องการหมดสิ้นจากกิเลส ทางเดียวก็คือ ต้องข้ามพ้นจากโลกนี้ไปให้ได้เท่านั้น โดยต้องเข้าใจว่า โลกในที่นี้มิใช่หมายถึงเพียงโลกมนุษย์นี้เท่านั้น แต่หมายถึงโลกียะทั้งหมด ดังนั้นการออกพ้นไปจากโลก จึงย่อมหมายถึงการข้ามพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในโลกียะทั้งหมดนี้โดยตรง หลายท่านอาจจะมีคำถามในใจต่อไปว่า
แล้วจะข้ามพ้นไปจากโลกียะนี้ได้อย่างไร ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ก็คงต้องหันมาทำความเข้าใจ สภาะธรรมที่แท้ของโลกกันก่อน กล่าวคือ เพราะโลกนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติหามีอะไรจริงจังไม่ มันจึงมิได้ต่างอะไรกับความฝัน ทิ่ผู้ไม่รู้ความจริง ได้แต่เฝ้าหลงละเมอเพ้อพกไปเองว่า มันเป็นความจริง
Just sleep and dream.
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็จะขอยกอุปมาเป็นนิทานเปรียบเทียบให้ลองทำความเข้าใจกันสักเรื่อง ความว่า สมมติมีคนผู้หนึ่งใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และนอนอยู่บนที่นอนที่สะอาดบนเตียงในบ้านของตน แต่คนผู้นี้ได้หลับไหลและฝันไปว่า ตนเองตกลงไปในบ่อโคลน จนเสื้อผ้าสกปรกเปรอะเปื้อนเต็มไปด้วยปรักโคลนเหล่านั้น เขาจึงมีความตกใจมาก ทั้งพยายามที่จะหาทางชำระล้างร่างกายและเสื้อผ้าของตนให้สะอาดปราศจากโคลน
แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร การล้างโคลนด้วยน้ำโคลนมันก็ย่อมที่จะไม่สามารถทำให้ตนสะอาดได้ กระทั่งมีคนมาสะกิดบอกเขาว่า เขาไม่ได้ตกบ่อโคลนจนเนื้อตัวสกปรกอย่างที่เข้าใจ แต่เพียงแค่ฝันไป แท้จริงแล้วเขาคือคนที่เนื้อตัวสะอาดหมดจด และหลับไหลอยู่บนที่นอนสะอาดในบ้านของตน เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้ว คนผู้นั้นก็เพียงลืมตาตื่นขึ้น เขาก็จะพบความจริงของตนที่ปราศจากซึ่งปรักโคลนทั้งหลายนั้น
จากนิทานที่ยกมานี้ ก็พอจะอุปมัยเปรียบเทียบได้ว่า คนผู้นั้นในสภาพที่สะอาดหมดจด ก็เปรียบดังจิตเดิมของสรรพสัตว์ ที่มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นประภัสสรอยู่ บ้านของเขาก็อาจเทียบได้กับอายตนะนิพพานที่อยู่ของเหล่าจิตเดิมทั้งหลาย ขณะที่ความฝันของคนผู้นั้นก็เทียบได้กับโลกหรือโลกียะ ส่วนโคลนก็อุปมาได้ดังกับกิเลสสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ความพยายามที่จะชำระล้างโคลน ก็เหมือนกับการมุ่งมั่นที่จะขจัดขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นไป ซึ่งจะไม่มีวันทำได้หากยังอยู่ในบ่อโคลนภายในความฝันนั้น
ผู้ที่มาสะกิดให้ระลึกรู้ก็ดุจดังพระพุทธะผู้ตื่นแล้วทั้งหลาย ความเข้าใจและการตื่นขึ้นของคนผู้นั้น ก็เปรียบดังการบรรลุธรรมจนสามารถข้ามพ้นออกจากโลกคือความฝันทั้งหลายนั้น และพบว่า แท้จริงตนเพียงแค่ฝันไป การหลุดพ้นจึงไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่า การลืมตาตื่นขึ้นโดยการประจักษ์แจ้งในธรรมชาติดั้งเดิมแห่งจิตตนที่ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เป็นปกติ เป็นเพชรแท้ที่ไม่ต้องเจียรไน มีน้ำอันงามและจรัสรัสมีคือปัญญาญาณความรู้แจ้ง อยู่เช่นนั้นเสมอมา
Dreaming of traveling far
คราวนี้เราจะลองปรับนิทานเรื่องเดิม โดยเปลี่ยนเนื้อหาไปในอีกแนวทางหนึ่ง แต่ยังคงเริ่มต้นที่การ สมมติว่าคนผู้หนึ่งนอนอยู่บนเตียงในบ้านของตน แล้วหลับฝันไปว่า ตัวเองหลงทางกลับบ้านไม่ถูก แล้วก็พยายามจะขวนขวายหาทางกลับบ้าน โดยที่ยังไม่รู้ว่าบ้านของตนอยู่ในทิศทางไหน จึงทำให้เขาไม่รู้ว่าเมื่อใดตนจึงจะกลับถึงบ้านได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงต้องวางแผนในการตระเตรียมเสบียงและข้าวของต่างๆ ที่จะต้องใช้ในระหว่างการเดินทางไกลที่เขาเข้าใจนั้น
กระทั่งต่อมามีคนมาสะกิดบอกเขาเช่นเดิมว่า เขาไม่ได้หลงทาง เพียงแต่ฝันไปเท่านั้น แท้จริงแล้วยังนอนอยู่บนเตียงในบ้านของตนโดยไม่ได้ไปไหนทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้ว เขาก็ตื่นขึ้น และพบว่าตนยังอยู่ในบ้านของตนจริงๆ หาได้หลงทางดังที่ฝันไปไม่ จึงทำให้เขาตระหนักรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เขาเสาะแสวงเป็นเสบียงไว้ในความฝันนั้นหามีความจำเป็นใดๆ ไม่
จากนิทานเรื่องนี้ หากใช้หลักการอุปมาเหมือนข้างต้น ก็จะได้ความว่า แท้จริงแล้วคนผู้นี้ก็เปรียบดังจิตเดิม ที่ดำรงคงอยู่ในนิพพานซึ่งเป็นเหมือนบ้านของตนเป็นปกติ แต่เพียงแค่หลับฝันไปว่า หลงทางพรัดพรากจากบ้านเท่านั้น เมื่อใดที่จิตเดิมสามารถตระหนักรู้ความจริง และตื่นขึ้นในธรรมชาติดั้งเดิมของตน ทุกอย่างก็จะถือเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีการเดินทาง ไม่ต้องเฝ้าพากเพียรบำเพ็ญสั่งสมบุญญาบารมีไว้เป็นเสบียงระหว่างทางอีกต่อไป
จึงเรียกได้ว่า ผู้ที่เข้าถึงพุทธะภาวะคือตื่นขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เสร็จกิจอันพึงกระทำทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง สรุปแล้วนิทานสองเรื่องนี้บอกอะไรกับเราบ้าง สิ่งหนึ่งที่น่าจะชัดเจนก็คือ การบรรลุธรรมที่หลายคนมุ่งมั่นแสวงหานั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการทำความเข้าใจในธรรมชาติแห่งจิตเดิมของตนเท่านั้น เมื่อใดที่ประจักษ์แจ้งแล้ว เหมือนคนที่ระลึกได้แล้วว่า "ตนเองเป็นคนที่กำลังนอนอยู่ ไม่ใช่คนที่กำลังฝันอยู่" เขาผู้นั้นก็ย่อมจะรู้ตัวเต็มที่และตื่นขึ้น
ซึ่งการตื่นนี้เองที่เรียกว่า พุทธะ อันหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วอย่างสมบูรณ์แท้ การบรรลุธรรมจึงมิได้มีกิจอันใดให้ต้องกระทำ ทั้งการเฝ้าขัดเกลากำจัดกิเลส และการสร้างสมบุญญาบารมีเพื่อการไปให้ถึงบ้านคือ พระนิพพาน เพราะแท้จริงแล้ว จิตเดิมของทุกคนล้วนบริสุทธิ์สะอาดไร้สิ่งเศร้าหมอง จึงไม่มีอะไรต้องชำระล้าง และสถิตสถาพรอยู่ในพระนิพพานเป็นปกติ จึงไม่ต้องมีการเดินทางใดๆ อีกต่อไป
Still know, no vacancy
ความจริงแล้วเรื่องราวที่สาธยายมานี้ ก็มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นคำสอนที่มีมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในพุทธศาสนนิกายเซ็นที่เน้นการบรรลุแบบฉับพลัน ที่เน้นเช่นนั้นก็เพราะความเข้าใจดังที่ยกมาบรรยายข้างต้น ขณะที่หลายท่านที่ไม่คุ้นเคยอาจจะยังยากยอมรับ สิ่งหนึ่งที่มักจะถามกันก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่ามีจิตเดิมอยู่ ในเรื่องนี้ความจริงแล้วก็มีหลักฐานพยานอยู่ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่ในวาระนี้ก็จะขอยกประเด็นให้เห็นเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งก่อน
เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่สนใจในพุทธศาสนปรัชญา ไม่ว่านิกายใด คงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า หน้าที่ของจิตก็คือการเป็นผู้รู้ ดังนั้นเมื่อพบแล้วว่า แท้จริงโลกหรือโลกียธรรมทั้งหลายล้วนเป็นสิ่งสมมติ ไม่สามารถหาเนื้อแท้ตัวตนที่แท้จริงได้ จนอาจกล่าวได้ว่า โลกเป็นเพียงความว่างเปล่า คำถามก็คือ ในเมื่อทุกสิ่งล้วนว่างเปล่า แล้วอะไรที่รู้ถึงความว่างเปล่านั้น และหากยังมีความรู้อยู่ ย่อมแสดงว่าต้องมีผู้รู้คงอยู่ และต้องเป็นผู้ที่อยู่เหนือไปจากความว่างเปล่าของโลก
ตัวผู้รู้นี้เองที่ถือได้ว่า เป็นผู้พ้นโลกอย่างแท้จริง เพราะในขณะที่โลกไร้แก่นสารมีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังมีผู้ที่รู้ถึงสภาวะที่แท้ของโลกดังกล่าว โดยไม่ถูกความแปรปรวนของโลกลบล้างหรือทำลายไป เพราะในทุกความเปลี่ยนแปลงของโลก ก็ยังมีผู้รับรู้ในทุกสภาวะที่ไม่เที่ยงแท้นั้น นั่นจะหมายความได้หรือไม่ว่า ไม่ว่าสรรพสิ่งในโลกจะเกิดดับไปมากน้อยเพียงใด แต่ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เกิดดับ และร่วมรับรู้ความเกิดดับของโลกนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในที่นี้ก็ขอเรียกสิ่งนั้นว่า จิตเดิม ไปพลางๆ
เมื่อพอจะเข้าใจว่า มีบางสิ่งที่อยู่เหนือความแปรปรวนของโลก และสิ่งนั้นมีหน้าที่เพียงการรับรู้ หรือที่เรียกว่า จิตเดิม หรือ ผู้รู้ ต่อไปการทำความเข้าใจในการบรรลุธรรมหรือการหลุดพ้นก็จะง่ายขึ้น เพราะเมื่อมีเพียงจิตเดิมที่เป็นผู้รู้ที่อยู่พ้นออกไปจากโลก ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การหลุดพ้นก็มีเพียงความรู้เท่านั้นที่ออกไป ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกที่จะสามารถออกไปจากโลกได้ ทั้งรูปนามวิญญาณ ที่เกิดขึ้นในโลก ก็ล้วนต้องดับอยู่ในโลกนี้
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็จะขอยกประเด็นสมมติเรื่องการหลับฝันมากล่าวซ้ำอีกครั้ง โดยคำถามมีอยู่ว่า "เมื่อเรานอนหลับและฝันไป มีอะไรเข้าไปในความฝันนั้นบ้าง และเมื่อเราตื่นขึ้น มีอะไรออกมาจากความฝันบ้าง" หากพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ไม่มีสิ่งใดเข้าหรือออกจากความฝันเลยนอกจากความรู้เท่านั้น เพราะเมื่อเราหลับและฝันไป เราก็มักจะเผลอหลงเข้าใจไปว่าทุกสิ่งที่ปรากฏในความฝันนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งความเข้าใจที่เราหลงคิดไปก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง
คือเผลอรู้ไปว่ามันเป็นเรื่องจริง แล้วเราก็ดำเนินกิจกรรมทั้งหลายในความฝันนั้นไปตามความรู้นั้น ต่อเมื่อเราตื่นขึ้น ก็จะเกิดความรู้ที่ชัดเจนขึ้นว่า ความรู้ในฝันนั้นเป็นเพียงความไม่รู้หรือความรู้ที่ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง จึงเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วมีเพียงความรู้เท่านั้นที่เข้าและออกจากความฝัน ฉันใดก็ฉันนั้น การวิมุติหลุดพ้นที่หลายคนเฝ้าแสวงหา ก็มีเพียงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามจริงเท่านั้นที่ออกไปพ้นจากโลก หาได้มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้ไม่
Awakening is liberation
คำถามต่อไปเมื่อมาถึงตรงนี้ ก็คงจะไม่น่าพ้นเรื่องที่ว่า แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความประจักษ์แจ้งชัดเจนในธรรมชาติดั้งเดิมของตนได้ คำตอบที่สมบูรณ์อาจจะยาวเกินกว่าจะสาธยายในที่นี้ เอาเป็นว่า ขอเพียงมีความตระหนักรู้อยู่ในใจเสมอว่า "เราคือคนที่นอนอยู่ มิใช่คนที่ฝันอยู่" ก็จะทำให้เรามีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า โลกนี้เป็นเพียงความฝัน และตัวตนที่เราดำรงอยู่นี้หาใช่ตัวตนที่แท้จริงไม่
ด้วยความรู้เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้ท่านสามารถปล่อยวางความยึดโยง และความคาดหวังกับสรรพสิ่งในโลกียะลงไปได้ตามส่วนแห่งความเข้าใจของแต่ละคน ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า มันจะทำให้ท่านไม่ต้องรู้สึกทุกข์หรือเหน็ดเหนื่อยเหมือนที่เคยเป็นอยู่เดิม
(ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน 3 นิยามของความว่าง)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประหนึ่งจะถึงฝั่งฝัน
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย