Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
13 ก.ค. 2023 เวลา 18:03 • บ้าน & สวน
โต๊ะวาสนาจักรพรรดิ
เป็นเคล็ดเกี่ยวกับฐานที่นั่งสำคัญ สำหรับผู้บริหาร ชื่อเคล็ดเต็มคือ ห้าวาสนาจักรพรรดิ หรือ อู่ตี้ฝู (五帝福) จัดเป็นเคล็ดขนาดใหญ่ เพราะต้องทำเป็นโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ ด้วยสัดส่วนที่เป็นมงคลเฉพาะ คือ ความกว้าง 63 cm อยู่ในส่วนของ คุณธรรม หรือ หงี (義) ตรงกับ กุ้ยจื่อ (貴子) ที่หมายถึง ลูกกตัญญู หรือ ลูกมีพรสวรรค์ ในที่นี้ก็หมายถึง การมีมีบริวารเลิศล้ำ ที่ซื่อสัตย์ภักดี ขณะที่ความหมายทางเลขศาสตร์ 63 หมายถึง มีความช่วยเหลือให้สำเร็จ
ความยาว 168 cm อยู่ในส่วนของ รากฐาน หรือ ปึ้ง (本) ตรงกับ เติงเคอ (登科) ที่หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง หรือ เลื่อนยศเพิ่มตำแหน่ง ในที่นี้หมายถึง ความอยู่เหนือผู้คน ขณะที่ความหมายทางเลขศาสตร์ 168 หมายถึง การเริ่มต้นพร้อมความช่วยเหลือจนได้รับสิ่งที่ต้องการ และ ความสูง 81 cm อยู่ในส่วนของ รากฐาน หรือ ปึ้ง (本) ตรงกับ ไฉจี้ (財至) ที่หมายถึง ร่ำรวยมหาศาล หรือ ฐานะมั่งคั่ง ในที่นี้หมายถึง บรรณาการมากล้น ขณะที่ความหมายทางเลขศาสตร์ 81 หมายถึง ได้รับโอกาสใหม่ๆ เสมอ
ในขณะที่ใช้ชื่อว่า ห้าจักรพรรดิ เพราะเป็นการผนวกเอาเคล็ด เหรียญห้าจักรพรรดิ หรือ อู่ตี้เฉียน (五帝錢) ซึ่งเป็นเหรียญจีน ที่มีสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ 5 องค์ ในยุคที่รุ่งเรืองช่วงต้นของราชวงศ์ชิง เพื่อเชื่อมโยงกับพลังโบราณ ในยุคของจักรพรรดิแต่ละองค์ อันประกอบด้วย จักรพรรดิซุ่นจื่อ (順治) จักรพรรดิคังซี (康熙) จักรพรรดิหย่งเจิ้ง (雍正) จักรพรรดิเฉียนตี้ (乾隆) และ จักรพรรดิเจี่ยชิ่ง (嘉慶) โดยมีประวัติ ที่เป็นเหตุการณ์เด่น ในแต่ละรัชสมัยของ จักรพรรดิแต่ละองค์ดังนี้
1.ซุ่นจื่อ เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ชิง แต่มักจะได้รับการนับถือเป็น ปฐมจักรพรรดิองค์แรก ของราชวงศ์ชิง เพราะเป็นองค์แรกที่ได้เข้าไปประทับ ในพระราชวังต้องห้าม ที่กรุงปักกิ่ง ทำให้ถือเป็นยุคสิ้นสุด ของราชวงศ์หมิงอย่างแท้จริง ถือได้ว่า เป็นยุคแห่งการสถาปนาราชวงศ์ชิง ขึ้นได้อย่างเป็นผลสำเร็จ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ พลังแห่งความสำเร็จ
2.คังซี เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง เป็นโอรสของซุ่นจื้อ ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่อายุ 8 ปี ในปี ค.ศ. 1661 ภายหลังการสวรรคตของบิดา คังซีถือเป็นจักรพรรดิ ที่มีปรีชาสามารถตั้งแต่ยังเยาว์วัย โดยโปรดการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาการต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ถือว่าเป็นยุคแห่งความเจริญ และความมั่นคงของราชวงศ์ชิงอย่างแท้จริง จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ พลังแห่งความมั่นคง
3.หย่งเจิ้ง เป็นโอรสลำดับที่ 4 ใน จักรพรรดิคังซี ได้รวบอำนาจ จัดสรรระบบภาษี การเงินการคลัง และขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง จนยังผลให้ประเทศจีนรุ่งเรือง และเป็นปึกแผ่น จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ พลังแห่งอำนาจ
4.เฉียนหลง เป็นโอรสในจักรพรรดิหย่งเจิ้ง และเป็นราชนัดดาองค์โปรดของจักรพรรดิคังซี เพราะมีความเฉลียวฉลาดมาแต่ยังเยาว์ ขึ้นครองราชย์ในขณะมีอายุได้ 25 ปี ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองมากมาย ให้กับประเทศจีนเป็นอย่างมาก ตลอดยุคสมัยที่ยาวนานกว่า 60 ปี จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ พลังแห่งความเจริญรุ่งเรือง
5.เจี่ยชิ่ง เป็นโอรสองค์ที่ 15 ของ จักรพรรดิเฉียนหลง ขึ้นครองราชย์เมื่ออายุได้ 37 ปี ภายหลังการสละราชสมบัติ ของจักรพรรดิเฉียนหลง เมื่อได้อำนาจเต็มแล้ว ได้รวบรวมขุนนางและบรรดาผู้ภักดี ช่วยกันกำจัดเหอเซิน ขุนนางกังฉิน ที่เคยเป็นคนสนิทของเฉียนหลง จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ พลังแห่ง ความสงบราบคาบ
รูปที่ 1 แสดงเหรียญจีนห้าจักรพรรดิราชวงศ์ชิง
จากรูปที่ 1 เป็นภาพของจักรพรรดิ ทั้ง 5 องค์ ของราชวงศ์ชิง พร้อมกับภาพของเหรียญจีน ทั้ง 5 รัชสมัย ด้วยเหตุนี้ เคล็ดเหรียญห้าจักรพรรดิ จึงเป็นการเชื่อมโยงกับพลังแห่งรัชสมัยทั้งห้า กล่าวคือ สำเร็จ มั่นคง อำนาจ รุ่งเรือง และ ราบคาบ ซึ่งเป็นพลังของจักรพรรดิ ซึ่งผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย จำเป็นต้องมีพลังครบถ้วนทั้งห้าประการดังกล่าว จึงจะดำรงความเป็นใหญ่ไว้ได้ ทำให้มีความเหมาะสม ที่จะนำมาเป็นเคล็ดสำหรับโต๊ะของผู้บริหารระดับสูง
เพื่อให้เพิ่มกำลังของเคล็ดโต้ะดังกล่าว ให้มีมากขึ้น จึงได้ผนวกรวมกับเคล็ด ห้าวาสนา หรือ โหงวฮก หรือ อู่ฝู (五蝠) หรือ ห้าค้างคาว เพราะคำว่า ค้างคาว ในภาษาจีน จะออกเสียงว่า ฮก หรือ ฝู (蝠) ที่ไปพ้องเสียงกับ คำว่า ฮก หรือ ฝู (福) ที่หมายถึง วาสนาบารมี ซึ่งจะใช้สัญลักษณ์เป็นรูปค้างคาวจีน 5 ตัว รายล้อมตัวอักษรฝู
ผลการผนวกจะได้ชื่อว่า เคล็ดห้าวาสนาจักรพรรดิ หรือ อู่ฝูหวางตี้ (五福皇帝) โดยฝังเหรียญจีน ทั้งห้ารัชกาลของจักรพรรดิทั้งห้า แห่งราชวงศ์ชิงดังกล่าว ไว้บนตัวค้างคาวทั้งห้าตัว โดยให้ตัวบนสุดเป็น ซุ่นจื่อ แล้วเวียนไปตามเข็มนาฬิกาตามลำดับคือ คังซี หย่งเจิ้ง เฉียนหลง และ เจี่ยชิ่ง
โดยความสมบูรณ์ของเคล็ดโต๊ะ ห้าวาสนาจักรพรรดิ จะต้องเป็นไปตามหลักการของ อาณาจักรปราณ หรือ ชี่กว๋อ (氣國) โดยขนาบด้วย ตู้บริวารซ้ายขวา คือ ซ้ายเป็นมังกรเขียว แทนด้วยสัญลักษณ์ของ ลายสลักมังกรท่ามกลางลายอนันตภาค เรียกว่า มังกรอนันตภาค หรือ ชิงหลงผานฉาง (青龍盘长) และขวาเป็นเสือขาว แทนด้วยสัญลักษณ์ของ ลายสลักเสือท่ามกลางลายอนันตภาค เรียกว่า พยัคฆอนันตภาค หรือ ไป๋หู่ผานฉาง (白虎盘长)
โดยติดอยู่ที่ตู้บริวาร ทั้งด้านซ้ายและขวาของ ลายสลักค้างคาวทั้งห้า รอบตัวอักษรฝู บนตู้ประธานดังกล่าว โดยลายสัญลักษณ์ทั้งสาม จะติดอยู่ทางด้านหน้าของโต๊ะ โดยตัวตู้ประธานจะยื่นยาวออกมาจากตู้บริวารทั้งสองด้วย ขณะที่ด้านใน คือ ด้านที่ติดกับผู้นั่ง ที่ตู้ประธานจะมีลิ้นชักใหญ่ 1 อัน
ส่วนตู้บริวารทั้งสอง ให้มีลิ้นชักอย่างน้อยฝั่งละ 1 อัน ที่เหลืออาจเป็นตู้แบบมีบานฝาปิดได้ หรือ จะทำเป็นลิ้นชักทั้งหมดฝั่งละ 3 อันก็ได้ ขณะที่ถ้าเป็นตู้แบบมีบานปิดเปิด ให้เปิดออกคนละด้าน กล่าวคือ ฝั่งมังกรเขียวให้ติดบานพับไว้ด้านซ้ายมือ และ ฝั่งเสือขาวให้ติดบานพับไว้ด้านขวามือ เพื่อให้เกิดลักษณะปีกโอบตามหลักชี่กว๋อดังกล่าว
รูปที่ 2 แสดงภาพโต๊ะห้าวาสนาจักรพรรดิ
จากรูปที่ 2 เป็นภาพจำลอง ของเคล็ดโต๊ะห้าวาสนาจักรพรรดิ กับ เคล็ดตู้อิง ที่มีชื่อว่า มหาคีรี-เทพพิทักษ์ หรือ ไท่ซัน-โฉวเว่ยเสิน (太山-守衛神) เพื่อให้ได้พลังแห่งหลังอิง ที่มั่นคง และ การปกป้องคุ้มครอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะขอขยายความเกี่ยวกับ เคล็ดตู้อิง มหาคีรี-เทพพิทักษ์ พอสังเขป คือ ภาพตรงกลางที่อยู่ในกรอบสีแดง (เพื่อเพิ่มพลังหยาง ให้กับรูปภาพ) เป็นภาพของมหาคีรี ที่อาจเป็นภาพวาดแบบจีน หรือ เป็นลายแกะสลักบนแผ่นไม้ แล้วลงสีตามภาพตัวอย่างในรูปที่ 2
โดยมีการตั้ง เคล็ดเต่ามังกร หรือ หลงเปีย (龍鳖) เพื่อเพิ่มกำลังของหลังอิงให้มีกำลังมากขึ้น เพราะในตำนานจะถือว่า เต่ามังกรเป็นสัตว์เทพ ที่ช่วยเจ้าแม่หนี่วา (女娲) ในการค้ำสวรรค์เอาไว้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นที่มาของ เต่าดำ หรือ เสวียนอู่ (玄武) ที่อยู่ทางทิศเหนือ โดยหันหัวเต่ามังกรไปทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นด้านพลังหยาง
รูปที่ 3 แสดงรูปปั้นเต่ามังกรและมังกรระเริงชล
ขณะที่ด้านซ้ายขวาของเต่ามังกร จะขนาบข้างด้วย เคล็ดคู่มังกรระเริงชล หรือ สุ่ยฮุ้ยหลง (水麾龍) โดยหันหัวมังกรทั้งสองด้านไปที่เต่ามังกร เพื่อช่วยเพิ่มพลังให้กับเคล็ดเต่ามังกร เนื่องจากทั้งเต่าและมังกร ล้วนเป็นสัตว์เทพที่มีธาตุน้ำเป็นกำลังสำคัญ ถัดขึ้นไปด้านบนชั้นที่สอง จะเป็นพลังพิทักษ์ปกป้องจากจตุรทิศ
โดยใช้เคล็ดจตุโลกบาล หรือ ซื่อต้าเทียนหวาง (四大天王) หรือที่ภาษาแต้จิ๋วเรียกกันว่า ซีไต่เทียนอ้วง ให้เทพประจำทิศเหนือ ที่เป็นธาตุน้ำ และ ตะวันตก ที่เป็นธาตุทอง ซึ่งเป็นพลังหยิน อยู่ทางด้านขวา และ เทพประจำทิศใต้ ที่เป็นธาตุไฟ และ ตะวันออก ที่เป็นธาตุไม้ ซึ่งเป็นพลังหยาง อยู่ทางด้านซ้าย
รูปที่ 4 แสดงภาพรูปหล่อโลหะจตุโลกบาล
จากรูปที่ 4 แสดงรูปปั้นซีไต่เทียนอ้วง โดยประกอบด้วย 1.ฉือกว๋อเทียนหวาง (持国天王) ประจำทิศตะวันออก ธาตุไม้ สัญลักษณ์คือ พิณจีน หรือ ผีผา 2.เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) ประจำทิศใต้ ธาตุไฟ สัญลักษณ์คือ กระบี่ 3.กว่างมู่เทียนหวาง (廣目天王) ประจำทิศตะวันตก ธาตุทอง สัญลักษณ์คือ มังกรแดง 4.ตัวเหวินเทียนหวาง (多聞天王) ประจำทิศเหนือ ธาตุน้ำ สัญลักษณ์คือ ร่ม (ดังแสดงในรูปที่ 3)
รูปที่ 5 แสดงรูปหล่อกษิติครรภกับอริยเมตตรัย
ถัดขึ้นไปด้านบนชั้นที่สาม ด้านขวามือจะเป็น พลังปกป้องคุ้มครองจากภูติผีปีศาจ หรือ สิ่งเร้นลับ ที่เป็นพลังหยิน โดยใช้เคล็ดกษิติครรภโพธิสัตว์ หรือ ต้าหยวนตี้ฉางผูซ่า (大願地藏菩薩) หรือ ที่รู้จักกันในนามของ ตี่จั่งอ้วงผ่อสัก หรือ ตี่จั่งหวางผูซ่า (地藏王菩薩) ดังแสดงในรูปที่ 5 ซ้ายมือ ถือเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากใน หมู่พุทธศาสนิกชน นิกายมหายาน
จากมหาปณิธานของท่าน ที่มีวจนะอันเลื่องลือไว้ว่า “เราไม่ลงนรก แล้วใครจะลงนรก” และด้วยโพธิวจนะนี้ ท่านจึงเน้นโปรดสรรพสัตว์ที่อยู่ในนรกภูมิเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นคติที่ทำให้ท่าน เป็นที่เลื่อมใสบูชา ของเหล่าภูติผีปีศาจ จึงมีการใช้รูปบูชาของท่าน มาเป็นเคล็ดในการกล่อมเกลาให้พลังหยินอันเร้นลับทั้งหลาย ตลอดทั้งเหล่าภูติผีปีศาจ กลับกลายเป็นพลังที่ดีแทน
ซึ่งจะต่างกับ เคล็ดเทพปราบมาร จงขุย (鍾馗) ที่ค่อนข้างจะเน้น การกำจัดหรือขับไล่ พลังหยินแห่งภูติผีทั้งหลายโดยตรง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อใช้ความรุนแรง ก็ย่อมได้รับความรุนแรงตอบ ดังนั้น หากเคล็ดจงขุยที่ใช้ มิได้รับการสร้างขึ้นอย่างถูกต้อง และมีพลังแรงกล้าเพียงพอ เมื่อใช้ต้านปะทะกับพลังร้ายเหล่านั้น ก็อาจรับไม่ได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนศร ทำให้พลังร้ายนั้นเร่งเร้าเข้ามาทำอันตราย ต่ออาคารสถานที่ได้มากขึ้น
ส่วนทางด้านซ้าย จะเป็นพลังปกป้อง จากการคุกคามของพลังหยาง อาทิเช่น พิฆาตจากชัยภูมิด้านหน้า เจตนามุ่งร้ายของผู้คน หรือ แม้แต่ พลังของดวงดาวที่จรเข้ามา ทั้ง ดาวจร ยามวัน เดือน และ ปี โดยใช้เคล็ดอริยเมตรัย หรือ หมีเล่อฝอ (弥勒佛) ดังแสดงในรูปที่ 5 ขวามือ หรือ ที่บ่อยครั้งจะรู้จักกันในนามของ พระสังกัจจายน์ หรือ พระยิ้ม ซึ่งปกติจะมีอยู่หลายปาง หรือ หลายรูปแบบ แต่ปางที่จะนำมาใช้ทำเคล็ดเทพพิทักษ์ดังกล่าวนี้ ต้องเป็นปางที่ไม่มีสัญลักษณ์ของทรัพย์สินเงินทอง เข้ามายุ่งเกี่ยว
ให้ใช้ปางที่นั่งชันเข่า ถือประคำ เท่านั้น โดยเฉพาะถ้าต้องตั้งประจัญกับประตูทางเข้า หรือ หน้าต่าง ต้องห้ามมีสัญลักษณ์ของเงินทองใดๆ แม้แต่ถุงสมบัติ เพราะตามหลักวิชาแล้ว การมีสัญลักษณ์เงินทองประจัญกับทางเข้า จะก่อเกิดบทบาทการฉกฉวยแย่งชิง ตามธรรมชาติของคนเรา เมื่อเห็นทรัพย์สินเงินทองมากองอยู่ต่อหน้า ย่อมยากจะหักห้ามใจ มิให้เข้าไปแย่งชิง เพื่อนำมาเป็นสมบัติของตนได้
ถัดไปชั้นบนสุด จะเป็นที่ตั้งสถิตของเคล็ดประธาน ของเทพพิทักษ์ทั้งหลาย โดยใช้เคล็ดโพธิสัตว์จักรพรรดิ หรือ ผู่ซาหวางตี้ (菩薩皇帝) โดยในที่นี้ เน้นให้ใช้ องค์โพธิสัตว์มหาสถานปราบต์ หรือ ต้าซื่อจี้ผูซา (大势至菩薩) หรือที่ในภาษาแต้จิ๋ว จะรู้จักกันในนาม ไต่ซี้จี่ผ่อสัก ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ทรงไว้ด้วยอำนาจฤทธิ์อันแก่กล้า ในเคล็ดเทพพิทักษ์ดังกล่าว จึงเหมาะที่จะใช้เป็นองค์ประธาน ที่ให้พลังในการปกป้องคุ้มครองรวบยอด เพื่อทำให้เคล็ดเทพพิทักษ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ และความสมบูรณ์พร้อมสูงสุด
(มิติทางเคล็ดอาถรรพ์ ep.3 โต๊ะวาสนาจักรพรรดิ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางเคล็ดอาถรรพ์
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย