Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
15 ก.ค. 2023 เวลา 20:26 • ศิลปะ & ออกแบบ
การสร้างเคล็ดวัตถุ
การทำเคล็ดวัตถุ ถือได้ว่า เป็นอีกวิชาสำคัญ หนึ่งในศาสตร์ตรีสัมพันธ์อันหลากหลาย เพราะเป็นส่วนประกอบที่จะใช้ในการปรับแก้ชะตาทั้งสาม ที่เรามักจะพูดถึงกัน คือ ชะตาฟ้า ชะตาดิน และ ชะตาคน เรียกได้ว่า สามารถนำเอาเคล็ดวัตถุ เข้าไปใช้งานได้ครบหมดทั้งสามชะตา และเพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้งมากขึ้น จากสิ่งที่ผู้เขียนกำลังพูดถึง ก็จะขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อย เกี่ยวกับ เคล็ดที่ใช้ในการปรับแก้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับชะตาทั้งสามดังกล่าว
ชะตาฟ้า มีเคล็ดวัตถุ เช่น โคมไฟรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการดึงดูด หรือ ชักนำปราณฟ้า ให้เข้ามาสถิตยังตำแหน่งที่ต้องการ ทั้งภายในอาคาร และ สถานที่ รวมไปถึงพวกเคล็ดที่อยู่ในรูป ของศาล หรือ รูปบูชา ต่างๆ ก็สามารถใช้ เหนี่ยวนำ หรือ สร้างปฏิสัมพันธ์กับปราณศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นปราณฟ้าประเภทหนึ่งได้เช่นกัน
ชะตาดิน ถือได้ว่า มีความหลากหลายของเคล็ดวัตถุได้มาก อาทิเช่น รูปภาพมงคลต่างๆ ที่สามารถใช้ช่วยกระตุ้นพลังปราณในตำแหน่งที่ติดตั้งรูปภาพไว้ ให้เปลี่ยนเป็นพลังปราณแห่งสิริมงคล หรือ เชื้อเชิญดึงดูด ให้พลังปราณมงคล เข้ามาสถิตอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวนั้น ในกรณีที่ต้องการกดข่ม พลังปราณที่ไม่ดี ก็สามารถใช้เคล็ดในการ แปรเปลี่ยน หันเห หรือ สลาย พลังปราณที่ไม่ดี หรือ เป็นอัปมงคล ทั้งหลายนั้น
ผู้เขียนไม่แนะนำให้ใช้ เคล็ดทำลาย เพราะต้องวัดกำลังของพลังปราณ ระหว่างปราณร้ายในพื้นที่ กับ ปราณดี ในเคล็ดวัตถุ ถ้าพลังปราณใดแรงกว่า ก็จะเป็นฝ่ายชนะ แต่เพราะเป็นการทำลาย จึงต้องเกิดการปะทะกันโดยตรง พลังปราณร้ายยิ่งรุนแรง ก็ยิ่งต้องใช้พลังปราณดีที่เข้มข้น และเมื่อพลังปราณทั้งสอง ต้องปะทะกัน ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อ สภาพแวดล้อมรอบด้าน โดยมิอาจเลี่ยง ซึ่งผลที่ได้ย่อมมิใช่ผลดี
ชะตาคน ก็มีรูปแบบของเคล็ดวัตถุ ที่หลากหลายไม่แพ้กัน แต่จะเป็นเคล็ดขนาดเล็ก ที่ใช้พกติดตัว เช่น พวกของประดับต่างๆ ขนาดใหญ่ขึ้นมาก็เป็นพวก เสื้อผ้าอาภรณ์ ที่ใช้สวมใส่ รวมไปถึง พวกวัตถุมงคล หรือ วัตถุพลัง ที่บางคนอาจเรียกเป็น เครื่องรางของขลัง ก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ควรเป็นเคล็ดวัตถุ ที่สร้างขึ้นด้วยพลังปราณที่ดี มีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่พวกที่ก่อขึ้นจากพลังปราณที่ไม่ดี เช่น พวกไสยดำ เพราะจะปลดปล่อยพลังปราณร้ายออกมา เป็นขั้วพลังหยิน ที่ไม่เป็นผลดีต่อพลังชีวิตของคนเป็น
จากที่กล่าวมา ท่านผู้อ่านคงจะเห็นภาพองค์รวม พอเป็นแนวคิด ใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเคล็ดวัตถุ ที่หนังสือเล่มนี้กำลังจะพูดถึงได้บ้าง เรื่องต่อไปที่จะบรรยายถึง จึงเป็นเรื่องขอบข่ายของสิ่ง ที่จะเรียกเป็นเคล็ดวัตถุ โดยตามหลักวิชา เคล็ดกำเนิดปราณ หรือ ฝูเซิงชี่ (符生氣) ซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสร้างเคล็ดวัตถุเป็นการเฉพาะ ที่ระบุไว้ว่า สรรพสิ่ง ถ้าผ่านการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน หรือ สรรสร้างขึ้น ให้ถูกต้อง และสอดคล้อง กับหลักวิชาของ กระแสพลังปราณที่เหมาะสม ล้วนสามารถใช้เป็นเคล็ดวัตถุได้ทั้งสิ้น
แม้แต่กระแสอากาศ น้ำ กลิ่น เสียง รวมทั้งต้นไม้และสัตว์ หลายคนอาจจะงงว่า สัตว์ หรือ แม้แต่คน สามารถทำเป็นเคล็ดวัตถุ ได้ด้วยหรือ ก็ต้องบอกว่าได้ เอาเรื่องของสัตว์ก่อน การเปลี่ยนสัตว์ให้เป็นเคล็ดวัตถุ ก็จะเริ่มตามหลักการ ลิ่วซู่เซิงชี่ (六素生氣) หรือ หกปัจจัยกำเนิดปราณ หรือบางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า วิชา ลิ่วซู่ หรือ ฉักกฐาน คือ ดูแลให้สัตว์ตัวนั้น มีความสะอาด เรียบร้อย เสริมด้วยการใส่เครื่องประดับให้ เช่น ปลอกคอ หรือ เสื้อผ้า
ก็จะทำให้สัตว์นั้น กลายเป็นเคล็ดวัตถุที่มีชีวิต ที่ในหลักวิชาเรียกกันว่า เคล็ดชีวะ หรือ ฝูมิ่ง (符命) ซึ่งถือได้ว่า เป็นหลักวิชาชั้นสูง ในการทำเคล็ดวัตถุเลยทีเดียว และเพราะสัตว์เคลื่อนที่ได้ เมื่อมีพลังปราณที่ดีติดตัว จึงย่อมช่วยกระจายพลังปราณมงคลเหล่านั้น ไปได้ทั่วทั้งอาคารและสถานที่ ในส่วนของ คน นั้นถือได้ว่า เป็นสุดยอดการทำเคล็ดวัตถุ เพราะคนเป็นผู้สร้างเคล็ดวัตถุ
ดังนั้น เมื่อสามารถทำคนให้เป็น เคล็ดชีวะ ก็จะครบวงจรการทำเคล็ดวัตถุ เพราะ ครบองค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 คือ สี่ปัจจัยกำเนิดเคล็ด หรือ ซื่อซู่เซินฝู (四素生符) เรียกสั้นๆ ว่า จตุฐาน หรือ ซื่อลู่ ประกอบด้วย ผู้สร้าง หรือ ช่วงเจ้า (创造), วัสดุ หรือ ไฉเลี่ยว (材料), สถานที่ หรือ ตี้เตี๋ยน (地点) และ วิธีการ หรือ ฟางฝ่า (方法) ที่ล้วนต้องเป็นแหล่งกำเนิดปราณที่ดีทั้งหมด
เมื่อ จตุฐาน หรือ สี่ปัจจัย นี้มาบรรจบพบกัน และให้กำเนิดเคล็ดวัตถุชิ้นใดขึ้น เคล็ดวัตถุนั้น ก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่า สมบูรณ์โดยกำเนิด หรือ เซียนเทียนเว่ย (先天位) ทำให้เป็นเคล็ดวัตถุที่มีความสมบูรณ์สูงสุด แต่การปรับเปลี่ยน คน ให้เป็น เคล็ดชีวะ นั้น จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า กรณีของสัตว์ แน่นอนว่า ตามหลักวิชา ลิ่วซู่ ล้วนต้องทำให้ครบ ทั้ง 4 องค์ประกอบดังกล่าว
โดยเฉพาะตัวคน จะต้องมีลิ่วซู่ ทั้งภายนอก คือ กาย และ ภายใน คือ ใจ หรือ ทัศนะ เพราะมีแต่คนที่มีทัศนะ และความเข้าใจอันถูกต้อง ถึงความสำคัญในการจัดทำ เคล็ดวัตถุ เท่านั้น จึงจะสามารถสร้างสรรค์ เคล็ดวัตถุ ที่สมบูรณ์พร้อมได้ ทั้งใน ส่วนของกายภาพ และ ปราณภาพ
อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านคงพอจะได้แนวทางแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถนำมาจัดทำเป็นเคล็ดวัตถุได้ทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า สรรพสิ่งในธรรมชาติ ของมิติโลกดวงนี้ ล้วนมีปัจจัยพื้นฐานมาจาก พลังปราณทั้งสิ้น เพราะปราณ เป็นตัวก่อเกิด วัตถุ หรือ อาจกล่าวได้ว่า เป็นปัจจัย หรือ องค์ประกอบพื้นฐาน ของวัตถุธาตุทุกชนิด ดังนั้นเมื่อ ศาสตร์ตรีสัมพันธ์ เป็นเรื่องราวของการบริหารจัดการพลังปราณ
จึงทำให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุม การปรับเปลี่ยนพลังปราณได้ทุกประเภท และเมื่อวัตถุธาตุทั้งหลาย ล้วนมีพลังปราณเป็นองค์ประกอบมูลฐาน จึงย่อมสามารถบริหารจัดการพลังปราณ ภายในวัตถุธาตุเหล่านั้น ได้ทั้งสิ้น และเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นเคล็ดวัตถุ ที่ให้กำเนิดแต่พลังปราณที่ดี (ความจริง จะให้กำเนิดพลังปราณที่ร้ายก็ได้ แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้)
ถ้าจะบรรยายต่อถึงการปรับเปลี่ยน สิ่งต่างๆ ให้กลายเป็น เคล็ดวัตถุ สำหรับการเกริ่นนำในอรัมภบทนี้ อาจจะกลายเป็นเนื้อหาที่เยิ่นเย้อเกินควร จึงขอยกไปบรรยายในการจัดทำเคล็ดวัตถุต่างๆ อีกที เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ และง่ายต่อการอธิบายความให้เข้าใจกันได้มากกว่า ในที่นี้จึงขอรวบรัดตัดตอนไปยังขั้นตอนต่อไป ในการจัดทำเคล็ดวัตถุ นั่นคือ การล้างพลังปราณ หรือ ชิงเจี๋ยชี่ (清洁氣) และ การประจุพลังปราณ หรือ เปาหานชี่ (包含氣)
โดยการล้าง ก็คือ การชำระล้าง เพื่อขจัดปัดเป่า พลังปราณที่ไม่ดี ให้ออกไปจาก จตุฐาน ดังกล่าว เพื่อให้ได้ เคล็ดวัตถุที่ปราศจากพลังปราณที่ไม่ดี แต่เพื่อความสมบูรณ์พร้อมยิ่งขึ้น ก็ควรทำการล้างพลังตัวเคล็ดวัตถุที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำเอาไปประจุพลังปราณที่ดี หรือ ปราณมงคล เข้าไว้ในเคล็ดวัตถุเหล่านั้น ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว ควรจะจัดทำแยกออกจากกัน คือ ล้างพลังขั้นหนึ่ง และ ประจุพลังอีกขั้นหนึ่ง
โดยตามหลักวิชาฝูเซิงชี่ดังกล่าว จะแบ่ง ห้องฐาน (Chamber) หรือ ฝานเจียน (房间) ออกเป็น 2 สภาพ คือ ห้องฐานชำระ หรือ ชิงเจี๋ยฝาน (清洁房) กับ ห้องฐานบระจุ หรือ เปาหานฝาน (包含房) โดย ห้องฐานชำระ จะแตกต่างกันไป ตามกรรมวิธีในการชำระล้างพลังปราณ จึงมีได้ทั้ง การชำระแบบปิด หรือ ชิงเจี๋ยปี้ (清洁閉) และ การชำระแบบเปิด หรือ ชิงเจี๋ยไค (清洁開) โดย การแบบปิดนั้น จะเป็นการปิดกั้นรอบด้าน มีแค่ประตูทางเข้าออก
ขณะที่แบบเปิด อาจเปิดเฉพาะเพดานด้านบน (บางส่วน ไม่ทั้งหมด) ในกรณีต้องใช้พลังของสุริยันจันทรา หรือ อาจเปิดช่องที่ผนัง มากน้อยตามแต่กรณี เพื่อรับแสง และ กระแสอากาศ กล่าวโดยสรุป ก็คือ ห้องฐานทั้งสองกรณี ล้วนต้องมีผนังปิดโดยรอบเช่นกัน เพื่อกักพลังปราณเอาไว้ ไม่ให้แตกกระจาย การเปิดช่อง ก็เป็นเพียงช่องทางให้กระแสพลังปราณ จากธรรมชาติ ที่ต้องการใช้ในการชำระล้าง เคลื่อนผ่านเข้าออกได้เท่านั้น
ส่วนหลักการที่พอจะบอกได้ คือ กรณีการชำระแบบปิด อาจใช้พลังปราณของควันธูปหรือกำยาน และ พลังปราณของบรรดาหินรัตนชาติ หรือ อัญมณี ต่างๆ เพื่อช่วยให้พลังปราณมีความเข้มข้น อบอวลอยู่ภายในห้องฐาน ทำการชำระล้างพลังปราณ ที่ไม่ดีของเคล็ดวัตถุนั้นๆ จึงต้องปิดทึบหมดดังกล่าว ขณะที่ การชำระแบบเปิด อาจต้องใช้พลังปราณจากแสงสุริยัน และ จันทรา เพื่อสลายพลังปราณกระแสขั้วตรงกันข้าม หรือแม้แต่กระแสลม ที่พัดผ่าน
เพื่อขจัดปัดเป่าพลังปราณ ที่ยังติดอยู่ตามพื้นผิว หรือ ที่ซึมซาบออกมา จากตัวเคล็ดวัตถุให้หมดสิ้นไป จึงต้องเปิดโล่งบางส่วน ด้วยเหตุนี้ สภาพของห้องฐาน สำหรับการชำระล้าง จึงอาจมีสภาพเหมือน คลังเก็บสินค้า ซึ่งต้องจัดทำให้ถูกต้อง ตามหลักของ ลิ่วซู่ ทุกประการ ส่วนจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเพียงใด ก็ขึ้นกับจำนวนเคล็ดวัตถุที่จะจัดเก็บ เพื่อทำการชำระล้าง
รวมไปถึง เคล็ดวัตถุ ทั้งที่มนุษย์จัดทำขึ้น หรือ ที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งใช้ทำหน้าที่ชำระล้าง เคล็ดวัตถุเป้าหมาย ถ้ามีจำนวนเคล็ดทั้งสองส่วนมาก ห้องฐานก็คงต้องมีขนาดใหญ่และกว้างขวางเพียงพอ ไม่ควรให้เกิดความแออัดยัดเยียด เพราะจะผิดหลักข้อที่ 3 ของลิ่วซู่ คือ ความสะดวก หรือ อันเว่ย (安慰)
ส่วนห้องฐานสำหรับการประจุพลังปราณนั้น จะมีรายละเอียดที่มากกว่า และต้องอาศัยความประณีต พิถีพิถัน เป็นอย่างสูง แต่ก็ต้องใช้รูปแบบปิดทึบ หรือ เปาหานปี้ (包含閉) เท่านั้น เพราะตามกฏข้อที่หนึ่งของ หลักซานกง (三功) ในคัมภีร์หทัยจักรพรรดิ คือ ควบคุม หรือ คงจี้ (控制) ซึ่งจะต้องคุมสภาวะสภาพทั้งหมดเอาไว้ให้ได้
เพราะการประจุ ถือเป็นการกำหนดทั้ง โครงสร้าง หรือ เจี๋ยโก้ว (结构) และ กระบวนวิธี หรือ เซิ่นฝ่า (算法) ของพลังปราณ ที่จะประจุเข้าไว้ในเคล็ดวัตถุเหล่านั้น จนบางครั้งอาจเรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า เป็นการโปรแกรม (Programming) ก็ไม่ผิดนัก
การจัดทำ ห้องฐานประจุพลังปราณ ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว นอกจากอาศัยหลัก ลิ่วซู่ แล้ว องค์ประกอบอื่น ก็จะเป็นตามขอบเขต ความรอบรู้ของผู้จัดทำ ว่าจะมีความรู้หรือหลักวิชามากน้อยเพียงใด ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ จะมี เคล็ดวัตถุแม่บท หรือ เคล็ดประธาน ที่ในหลักวิชาฝูเซิงชี่ เรียกว่า จู่ฝู (主符) จะมีพลังปราณ หรือ ให้กำเนิดพลังปราณ ได้มากน้อยเพียงใด สำหรับในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่าง ห้องฐานประจุ ของทาง สำนักหทัยเมฆา ให้ท่านผู้อ่าน พอจะเป็นไอเดียกัน
รูปที่ 1 แสดงห้องฐานประจุของสำนักหทัยเมฆา
จากรูปที่ 1 เป็นห้องฐานประจุพลังปราณ ของทางสำนักหทัยเมฆา เป็นการจัดแบบ ห้าชั้นฟ้า หรือ ปัญจสวรรค์ ที่ในหลักวิชาเรียกว่า อู่เทียนเฉิง (五天層) กล่าวคือ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ตามธาตุภาวะแห่งสวรรค์ทั้ง 5 หรือ อู่เทียนเสิน (五天神) ประกอบด้วย 1.วัชระธาตุ หรือ จั้วฉีเสิน (钻石神), 2.ชีวะธาตุ หรือ เซินหัวเสิน (生活神), 3.รัตนะธาตุ หรือ จี้ต้าเสิน (极大神), 4.สิทธิยะธาตุ หรือ เฉียนลี่เสิน (权利神) และ 5.ภาคียะธาตุ หรือ เซ่อชวีเสิน (社區神)
โดย วัชระธาตุ จัดเป็นองค์ประธาน อยู่ชั้นบนสุด แทนด้วย รูปบูชาของ พระยูไล ที่คนจีนเรียก หรูไหลฝอ (如来佛) ซึ่งเป็นองค์แทนพุทธะทั้งหมด พร้อมด้วย รัสมีเปลวแสงแห่งความรู้แจ้ง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งเดียวของ วัชระธาตุ ดังกล่าว,
ชีวะธาตุ อยู่ในชั้นที่ 2 รองลงมา แทนด้วย พุทธะตรีกาย หรือ ซันเป้าฝู (三寳佛) ประกอบด้วย พระไภสัชคุรุฯ หรือ เย่าซือฝอ (药师佛), พระศากยมุนี หรือ ซีเจ้าโหมวหนีฝอ (释迦牟尼佛) และ พระอมิตาภะ หรือ เออหมีโถฝอ (阿彌陀佛) โดย ชีวะธาตุ ประกอบด้วย ตรีปัจจัย ที่หล่อเลี้ยงชีวิต คือ เภสัช ภัตตา และ อารมณ์ ซึ่ง เภสัช แทนด้วยพระไภสัชคุรุฯ (ถือถ้วยยา), ภัตตา แทนด้วย พระศากยมนี (ถือบาตร) และ อารมณ์ แทนด้วย พระอมิตาภะ (ถือดอกบัว)
รัตนะธาตุ อยู่ในชั้นที่ 3 รองลงมา แทนด้วย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ กวนซียินผูซา (觀世音菩薩) และ พระโพธิสัตว์มหาสถานปราบต์ หรือ ต้าซื่อจี้ผูซา (大势至菩薩) โดย รัตนะธาตุ ประกอบด้วย อิทธิ และ ปัญญา ซึ่ง อิทธิแทนด้วย พระมหาสถานปราบต์ ผู้มีอำนาจอิทธิอันสูงส่ง และ ปัญญา แทนด้วย พระอวโลกิเตศวร ผู้มีปัญญาณอันแก่กล้า,
สิทธิยะธาตุ อยู่ในชั้นที่ 4 รองลงมา แทนด้วย พระโพธิสัตว์สมันตภัทร หรือ ผู่เสียงผูซา (普贤菩薩) และ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี หรือ เหวินซูผูซา (文殊菩薩) โดย สิทธิยะธาตุ ประกอบด้วย อหังการ (ความทรนง) แทนด้วย พระสมันตภัทร ทรงไอยรา และ สีหนาท (ความหาญกล้า) แทนด้วย พระมัญชุศรี ทรงสิงห์
และท้ายสุด ภาคียะธาตุ อยู่ในชั้นที่ 5 ล่างสุด แทนด้วย พระโพธิสัตว์กษิติครรภ์ หรือ ตี้จั้งหวางผูซา (地藏王菩薩), พระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร หรือ เชียนโส่วกวนซียินผูซา (千手觀世音菩薩) และ พระโพธิสัตว์เมตไตย หรือ หมีเล่อผูซา (彌勒菩薩) โดย ภาคียะธาตุ ประกอบด้วย ช่วยเหลือ แทนด้วยพระกษิติครรภ์, ปกป้อง แทนด้วยพระกวนอิมพันกร และ ดูแล แทนด้วย พระเมตไตย
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดรหัสโลกุตระ เอาไว้ที่ขนาดหน้าตักของ รูปบูชาแต่ละองค์ด้วย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 องค์ประธานยูไล ใช้หน้าตักกว้าง 43 ซม. หมายถึง สิ้นสุดแล้วสำเร็จ, กลุ่ม 2 พุทธะตรีกาย ใช้หน้าตัก 36 ซม. หมายถึง สำเร็จแล้วช่วยเหลือ และ กลุ่ม 3 พระโพธิสัตว์ทั้งหมด ใช้หน้าตัก 28 ซม. หมายถึง ช่วยได้ไม่จบสิ้น
นอกจากรูปบูชา องค์แทน ปัญจธาตุภาวะแห่งสวรรค์ ทั้งหมดแล้ว ยังมีของประดับอื่นๆ อีก อาทิเช่น เจกันดอกไม้, โคมดอกบัว, โคมประทีป และ กล่องใส่เคล็ดวัตถุมงคล เสริมพลัง อีกจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่เป็นสิริมงคล และผ่านการประจุพลังปราณ อย่างต่อเนื่อง โดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณของสำนัก
จากที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า หลักวิชาในการจัดทำเคล็ดวัตถุ ทั้งหลายนั้น มีความลึกซึ้งพิสดาร มากเกินกว่าจะบรรยายได้หมด ภายในเนื้อที่อันจำกัดนี้ ซึ่งนอกจากหลักการทางกายภาพ ที่บอกเล่ามานี้ ยังมี หลักวิชาทางจิตอีก ซึ่งถือได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญในการประจุพลังปราณ ทั้งในส่วนของ ผังโครงสร้าง และ กระบวนวิธี ที่จะเป็นตัวกำหนดขั้นตอนการทำงาน ของกลไกพลังย่อย
ที่ประจุไว้ภายในเคล็ดวัตถุแต่ละชิ้น ซึ่งสามารถกำหนดให้มี โครงสร้าง และ ขั้นตอน แตกต่างกันไป ขึ้นกับวัตถุประสงค์ และ หน้าที่ ของเคล็ดวัตถุ แต่ละชิ้นนั้น ดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำเอาไว้ในคำนำ ในเรื่องของการ ซ้อนญาณ วางผัง ตั้งเครื่อง ซึ่งในทางหลักวิชา ฝูเซิงชี่ เรียกว่า ตี่เจี้ยกงลู่ (疊加功率) หรือ การซ้อนพลัง
โดยการ ซ้อนญาณ เป็นการกำหนดข้อมูลทั้งหมด ที่ต้องการประจุใส่เคล็ดวัตถุ, วางผัง เป็นการนำเอาข้อมูลที่ประจุไว้ มาทำการเขียนเป็นผังงาน เพื่อกำหนดหน้าที่ให้แก่กลไกย่อยทั้งหมด และ ตั้งเครื่อง ก็เป็นการนำเอาผังงานที่ได้ และกลไกย่อย มาประกอบให้เป็นเครื่อง และท้ายสุดคือ การเดินเครื่อง หรือ สั่งให้ทำงาน ซึ่งกลไกพลังทั้งหมด ก็จะหมุนเวียนทำงานไปตลอด เพื่อปรับเปลี่ยนปราณภาวะ ทั้ง การกดข่ม และ กระตุ้น ในตำแหน่งที่ตั้งของเคล็ดวัตถุนั้นๆ
รวมไปถึงจะกำหนดขอบข่าย หรือ ปริมณฑล ที่พลังปราณจากเคล็ดวัตถุชิ้นนั้น จะแผ่ขยายกำลังไปถึง และนี่ก็คือเรื่องราวของ การจัดทำเคล็ดวัตถุโดยสังเขป ซึ่งผู้เขียนเพียงต้องการบอกเล่าให้ได้รับรู้กันว่า การทำเคล็ดวัตถุ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ที่สามารถทำได้กันทั่วไป จำเป็นต้องอาศัยผู้รู้ และผู้ชำนาญการ ในหลักวิชาสำคัญต่างๆ อย่างแตกฉานถ่องแท้ จึงจะสามารถจัดสร้างเคล็ดวัตถุที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการใช้งานได้อย่างแท้จริง
(มิติทางเคล็ดอาถรรพ์ ep.4 การสร้างเคล็ดวัตถุ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางเคล็ดอาถรรพ์
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย