14 ก.ค. 2023 เวลา 12:24 • ธุรกิจ

Well-Being Welfare

อนาคตการทำงานในปี ค.ศ. 2030 จะให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพนักงานมากขึ้น งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานกับประสิทธิภาพการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ และการรักษาบุคลากรไว้ในองค์กร องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพนักงานมักดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูง สวัสดิการพนักงานจึงกลายเป็นปัจจัยอันดับแรกที่ผู้สมัคร 44% พิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจเลือกงาน
ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้การทำงานทางไกลหรือการเข้าสถานที่ทำงานแบบผสม (Hybrid) กลายเป็นเรื่องปกติในหลายองค์กร อย่างไรก็ตาม การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมีโอกาสนำไปสู่ภาวะเครียดและซึมเศร้า หลายองค์กรจึงเริ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้พนักงานควบคู่ไปกับการปรับนโยบายการเข้าใช้สถานที่ทำงานและวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะสมกับลักษณะงานและองค์กร
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสวัสดิการเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงานก็เป็นความท้าทายทางการเงินขององค์กรเช่นเดียวกัน และในปัจจุบัน มีพนักงานเพียง 5% เท่านั้นที่ลงความเห็นว่าองค์กรของตนเองสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านสวัสดิการของพวกเขาได้
ไม่เพียงแต่พนักงานหรือองค์กรเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการเพิ่มขึ้น เพราะมีแนวโน้มชัดเจนว่าสังคมและนักลงทุนกำลังมองสวัสดิการของพนักงานเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG)
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- องค์กรในอนาคตให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะด้านร่างกาย จิตใจ และการเงินของพนักงานมากขึ้นผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น แผนดูแลสุขภาพ โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee assistance program: EAP) ประกันสุขภาพจิต โปรแกรมสุขภาวะ เป็นต้น เพื่อสร้างองค์กรที่พนักงานมีสุขภาพดี มีส่วนร่วมกับองค์กร และสามารถทำงานได้ดี
- บริการสุขภาพจิตในองค์กรจะกลายเป็นหนึ่งในงานที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
- การผลักดันให้ประกันสุขภาพจิตมีความครอบคลุมและเทียบเท่าประกันสุขภาพกายจะเป็นข้อเรียกร้องสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาวะของพนักงานในอนาคต
Source: McKinsey
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWork #WellBeing #MQDC
โฆษณา