2 ส.ค. 2023 เวลา 12:52 • ท่องเที่ยว
โตเกียว

ออกไปแตะขอบฟ้าให้ราเมงที่ญี่ปุ่นเยียวยา EP1: ชีวิตต้องเลือก

ครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปที่ประเทศญี่ปุ่น คือช่วงปี 2018 ซึ่งในตอนนั้น ผมยังเป็นเพียงคนที่แค่ชอบทานอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยวและราเมง ยังไม่ได้มีความสนใจที่จะเจาะลึกจริงจังในรายละเอียดของราเมงแบบในช่วง 3-4 ปีหลังอย่างที่รีวิวแบบเจาะลึกลงในเพจ"ราเมงจะเยียวยาทุกสิ่ง"ครับ แม้ในการเที่ยวญี่ปุ่นครั้งนั้นจะได้ทานราเมงที่อร่อย แต่ก็เป็นการทานแบบทั่วไปที่ไม่ได้สนใจในรายละเอียดใดๆอยู่ดี
Wa Dining Seino ที่ห้าง Kintetsu Wakayama ปลายปี 2017
ส่วนในช่วงปีหลังๆที่ได้มาทำเพจและเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง แม้จะได้ทานราเมงดีๆมากมาย มีความเข้าใจในสิ่งต่างๆเกี่ยวกับ"ราเมง"มากขึ้น แต่ในทางหนึ่งก็เป็นเหมือนการเรียนรู้แบบ"ไม่สุด"ครับ เข้าใจโครงสร้างและภาพประมาณหนึ่ง แต่ก็เป็นเหมือนการศึกษาผ่านตำราแต่ไม่เคยได้ไปเยือนที่แหล่งกำเนิดจริง ลักษณะรสชาติที่ได้สัมผัสก็อาจจะเป็นแบบที่ถูกปรับให้เข้ากับคนไทยแล้ว ไม่ได้เห็นภาพแบบชัดเจนในแบบของต้นตำรับแบบที่คนญี่ปุ่นทาน ไม่ได้รับรู้อย่างที่ควรจะรู้ครับ
บางส่วนของราเมงในไทยที่ทานแล้วเขียนลงเพจ"ราเมงจะเยียวยาทุกสิ่ง"
ดังนั้น ในตอนที่ได้เห็นพี่โจแห่ง Shindo Ramen, พี่ดิว ศุภสิทธิ์, พี่ปิ๊ปโป้ เปรมวิชช์ และทีมงานของ Sauce ยกซด ยกพลไปถ่ายทำ "Sauce ยกซด in Japan" มันจึงเป็นการจุดไฟให้ผมรื้อแผนและหาจังหวะกลับไปที่ญี่ปุ่นอีกสักครั้งเป็นอย่างน้อยเพื่อทานราเมงที่ทำแบบญี่ปุ่นจริงๆบ้าง
ภาพโปรโมทรายการ Sauce ยกซด in Japan ที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจของทริปนี้ครับ
แต่เนื่องจากโตเกียวน่าจะเป็นเมืองที่มีร้านราเมงเยอะที่สุดในโลก และในทุกๆปีก็จะมีร้านเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ มีการจัดอันดับจัดเรทกันทุกปี แม้แต่ร้านเดิมมาทานทุกปีรสชาติก็อาจจะเปลี่ยนไปถูกพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆด้วย
ดังนั้น จะเรียกว่าเป็นปัญหาโลกแตกของการเลือกร้านที่จะไปก็คงไม่เกินความจริงนัก ดังที่หลายคนเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตมันต้องเลือก..."
นอกจากรสชาติของราเมงที่คาดหวัง รวมถึงดีกรีของแต่ละร้านแล้ว ปัจจัยสำคัญที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ"เวลาทำการ"ครับ เรียกได้ว่ามีหมดทุกแบบทั้งแบบเปิดทั้งวัน เปิดสองรอบกลางวันเย็น หรือบางร้านเปิดแค่รอบกลางวันอย่างเดียว หมดแล้วหมดเลย ถ้าจะวางแผนให้ใน 9 วันเก็บได้เยอะที่สุด เท่ากับว่าจะต้องผิดแผนน้อยมากเพราะผิดวันเดียวแล้วอาจจะไม่ได้ทานอีกเลย
ตัวอย่างตารางทำการของร้าน Muginae ซึ่งจะแจ้งผ่านทาง Twitter และหน้าร้านก่อนขึ้นเดือนใหม่
แล้วเมื่อมามองดูที่รายการ Sauce ยกซด ที่ On Air กันไป ก็ไม่ได้เดินทางกันง่าย ที่สำคัญคือหลายๆร้านก็ใช้การขับรถไป สำหรับคนที่ไม่ได้ทำใบขับขี่สากลไว้อย่างผมนี่แทบจะตัดไปได้เลย แผนเบื้องต้นในหัวก็คือ จะไม่ไปร้านที่ไกลจากตัวเมืองมากเกินไปด้วย เพราะมันจะเสียเวลาและทำให้เก็บจำนวนร้านได้ไม่มากตามที่ตั้งใจ
โชคยังเข้าข้างครับ ที่หลังจาก Sauce ลงคลิปเรียบร้อย พี่ปิ๊ปโป้ก็ได้เขียน Post ลงใน Facebook ส่วนตัวเป็นการแนะนำถึง 43 ร้านราเมงในโตเกียวและละแวกใกล้เคียงที่แกเคยไปทานมาแล้วและน่าสนใจ ซึ่งมีทั้งที่อยู่และไม่อยู่ใน Sauce ยกซด ถือว่าเป็น Guideline เบื้องต้นที่ทรงคุณค่ามากๆ (แปะ link ไว้ให้ด้านล่างนะครับ)
แต่ชื่อร้านอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ไปทานได้ครับ รายละเอียดอื่นๆต้องมา และถูกเอามาวางเทียบกันให้เห็นด้วยเพื่อการตัดสินใจ จึงได้เกิดเป็น 2 ส่วนที่จะพาให้เราสามารถวางแผนชีวิตได้ตลอดทริป คือ หมุดบน Google Maps เพื่อดูตำแหน่งและโซนของร้าน และ Excel ที่จะ visualize ข้อมูลทั้งหมดเพื่อประกอบการตัดสินใจครับ
ภาพคร่าวๆของ Google Maps หลังจากปักหมุดร้านและ Save ไว้ใน List
First Draft ของ Tokyo Ramen Wishlist ที่ผมใช้ใน Trip นี้ โดยเน้นไปที่วันเวลาเปิดทำการ และตำแหน่งที่ตั้ง
หลังจากที่เอาข้อมูลมาดูอย่างละเอียด ก็เลยเริ่มแบ่ง Tier ในการพิจารณาดังนี้ครับ (เป็นการจัดลำดับส่วนตัวในขณะนั้น ไม่ได้เป็นการบอกว่าตัดสินใจถูกสำหรับทุกคนเสมอไปครับ)
  • 1.
    ร้านที่เปิดแค่ช่วงกลางวันอย่างเดียว และต้องไปต่อคิวหน้าร้าน จะหยิบมาพิจารณาเป็นลำดับแรก
  • 2.
    ร้านที่เปิดสองช่วง กลางวันและเย็น และต้องไปรอคิว จะหยิบมาพิจารณาว่ามีร้านไหนที่ละแวกไม่ไกลจากร้านในข้อ 1 เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินทางมาก ก็จะเอาร้านเหล่านี้ไปหย่อนไว้ในช่วงเย็น
  • 3.
    อย่าลืมพิจารณาวันหยุดของแต่ละร้าน ซึ่งมักจะประกาศที่ Social Media ของร้านนั้นๆ มีโอกาสที่จะเจอทั้งเหมือนและไม่เหมือนเดือนก่อนหน้า
  • 4.
    ถ้าหลุดจากเงื่อนไขเหล่านี้ ค่อยเอาร้านที่เหลือมา fill-in ตามเวลา
สำหรับเที่ยวบิน ผมจองได้เป็น Flight เช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม และบินกลับในช่วงบ่ายของวันที่ 14 กรกฎาคมครับ รวมระยะเวลาได้เป็น 0.5+8+0.5 = 9 วันโดยประมาณ ซึ่ง เหตุผลเบื้องหลังนอกจากราคาตั๋วที่ถูกเพราะเป็น low cost อีกเหตุผลหนึ่งคือเผื่อเวลาไว้ให้เกิน 1 สัปดาห์เล็กน้อย จะได้มีเวลาที่ยืดหยุ่นพอจะปรับแผนหน้างานหรือไปทำอย่างอื่นได้ครับ
หลังจากที่เอาไฟลท์บินกับตารางรวบรวมร้านมาประมวลผลด้วยกันอยู่พักหนึ่ง ก็ได้เป็นแผนแรกมาครับ ภาพรวมจะเน้น Shoyu Ramen แต่ก็ผสมไปด้วยหลากหลายสไตล์ทั้ง Shio Ramen, Tsukemen
รายชื่อร้านที่คิดว่าจะไปแบบระบุวัน รวมถึงร้านที่สำรองไว้เผื่อจะแทรกเข้าไปที่วันใดวันหนึ่งได้
หลังจากที่ได้ร้านที่คิดว่าจะไปแล้ว ผมก็เอาแผนนี้ไปปรึกษากับพี่โจครับ ซึ่งพี่โจก็ได้ให้ guideline สำคัญหลายจุด โดยเฉพาะกับการเลือกร้านครับ ว่า
จะเลือกไปเก็บหลากหลายแบบจัดทัวร์ หรือจะไปเพื่อเจาะลึกให้เข้าใจแต่ละแนวไปเลย?
พี่โจ Shindo Ramen
ยังไม่ทันไปก็เบิกเนตรไปหนึ่งแล้วครับ
นอกจากนี้พี่โจยังช่วยปรับบางร้านเข้า/ออกจากแผน ว่าร้านไหนที่ควรไปมากๆ หรือร้านไหนที่ไม่จำเป็นต้องไปก็ได้ครับ ถือว่าเป็น comment ทรงคุณค่าสำหรับผมเลยทีเดียว ซึ่งในรายชื่อของร้านที่เอาเข้า พี่โจเองก็ได้ย้ำมาครับว่า "ลองจอง Iida Shoten ดูนะ ถึงจะยาก แต่ถ้าจองได้ก็ควรไปลอง แล้วก็เตรียมปรับแผนเผื่อไว้ด้วย เพราะมันกินเวลาไปเกินครึ่งวันแน่ๆ"
หน้าร้าน Iida Shoten
สำหรับท่านที่ไม่ทราบหรือยังไม่ได้ดู Sauce ยกซด in Japan ใน EP สุดท้าย ร้าน Iida Shoten เป็นร้านที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านราเมงที่อยู่อันดับ 1 ของญี่ปุ่นมานับ 10 ปีครับ เรียกได้ว่าเป็นยอดเขา เป็นสุดทางของ Shoyu Ramen ในปัจจุบันที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ซึ่งจะต้องจองผ่านเว็บ Omakase.in ในทุกๆวันอังคารเป็นรายสัปดาห์เท่านั้น
หมายความว่า ก่อนที่ผมจะบินในเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม วันที่ 4 ผมจะลองกดแข่งกับประชาชนทั่วญี่ปุ่น (และทั่วโลก) และถ้าจองได้ ก็จะต้องมีการปรับแพลนที่เคยวางไว้แทบจะทันที
ปรับแผนล่วงหน้ารอไปเลยสิครับ หาวันไหนขยับๆแล้วเว้น slot ว่างไว้ เผื่อได้ (ฮา)
แผนล่าสุดที่ปรับก่อนจะจอง Iida Shoten
แล้วหลังจากนั้น ค่อยมาลุ้นกันครับว่า ถ้าจอง Iida Shoten ได้ จะต้องเอาไปแทนร้านไหน แล้วปรับแผนต่อยังไง จะโดนผลกระทบเป็นลูกโซ่หรือไม่... (โปรดติดตามใน EP ต่อไป)
โฆษณา