20 ก.ค. 2023 เวลา 22:03 • ไลฟ์สไตล์

เทศกาลสาร์ทจีน

เทศกาลสาร์ทจีน หรือ จงหยวนเจี่ย (中元節) ปกติจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เพราะเป็นกึ่งเดือนจึงมักจะเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า ชีเยี่ยป้าน (七月半) หรือในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า ฉิกง่วยปั่ว ที่เรียกว่า จงหยวน นั้นเป็นการเรียกแบบเต๋า เพราะเป็นวันคล้ายวันเกิดของเทพจงหยวนของเต๋า ขณะที่แนวพุทธจีนจะเรียกว่า อวี๋หลานเผินเจี๋ย (盂兰盆節)
ถือเป็นหนึ่งใน 4 เทศกาลที่บูชาบรรพบุรุษของจีน ที่เหลืออีกสามเทศกาล คือ เทศกาลส่งท้ายปีเก่า หรือ ซูฉีเจี๋ย (除夕節) เทศกาลเช็งเม้ง หรือ ชิงหมิงเจี๋ย (清明節) และเทศกาลฉงหยาง หรือ ฉงหยางเจี๋ย (重阳節)
โดยเทพจงหยวน ถูกยกให้เป็นเทพประจำเทศกาลสารทจีน ชื่อเต็มว่า ตี้กวนต้าตี้ (地官大帝) ซึ่งเป็นเทพผู้เป็นใหญ่แห่งดิน มีหน้าที่ดูแลภูเขา เจ้าที่ประจำเมือง เทพที่ดูแลมนุษย์ รวมทั้งตรวจโชคเคราะห์ และบัญชีดีชั่วของมนุษย์ พร้อมให้อภัยโทษแก่มนุษย์ผู้รู้ถูกผิด เชื่อกันว่า ท่านจะลงมาในโลกในวันสาร์ทจีนดังกล่าว แต่ที่เรียกเป็นเทพจงหยวน
ก็เนื่องมาจาก ท่านเป็นหนึ่งในเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสาม คือ เทพแห่งฟ้า หรือ เทียนกวนต้าตี้ (天官大帝) เทพแห่งดิน และ เทพแห่งน้ำ หรือ สุ่ยกวนต้าตี้ (水官大帝) และเพราะท่านอยู่ตรงกลาง (ดังแสดงในรูปที่ 14-1) จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า จงหยวนต้าตี้ (中元大帝) คือ เทพผู้เป็นใหญ่ที่ใจกลาง โดยเทพแห่งฟ้าจะเกิดวัน 15 ค่ำ เดือน 1 เทพดินเกิดวัน 15 ค่ำ เดือน 7 และ เทพน้ำเกิดวัน 15 ค่ำ เดือน 10
รูปที่ 1 แสดงภาพเทพฟ้า ดิน และ น้ำ (SOURCE : TALK.MTHAI.COM)
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า ท่านเทพจงหยวน ยังเป็นประธานการทำพิธีไหว้วิญญาณไร้ญาติ เล่ากันว่า ท่านจะไปเจรจากับราชาเหล่าภุติผีวิญญาณ ให้ช่วยควบคุมดูแลบริวารมิให้มาทำร้ายมนุษย์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณของท่านเทพจงหยวน ผู้คนจึงพากันถือศีลกินเจ และทำพิธีเซ่นสรวงบูชาท่าน ในยามจื้อ (子) ซึ่งเป็นยามแรกของวัน 15 ค่ำ เดือน 7 ตรงกับเวลา 23.00 น.ของวัน 14 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงเวลา 1.00 น.ของวัน 15 ค่ำ เดือน 7 ดังกล่าว
แต่ในปัจจุบันใช้วิธีไหว้ตี่จู้ ในบ้านของแต่ละคนแทน โดยถือหลักที่ว่า เทพเจ้าที่ทั้งหลายล้วนอยู่ใน สังกัดของเทพจงหยวน ผู้เป็นใหญ่แห่งดินทั้งสิ้น พร้อมกับทำพิธีเซ่นไหว้บรรพชน เพื่อขอให้ท่านเทพได้ให้อภัยโทษ ทั้งตนเองและวิญญาณบรรพชน
แต่ถ้าจะให้สื่อถึงความหมาย ของเทศกาลสาร์ทจีนอย่างแท้จริง ก็จะเรียกว่า เทศกาลวิญญาณ (Ghost Festival or Spirit Festival) หรือ กุ่ยเจี๋ย (鬼節) เพราะเชื่อกันว่า เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิด เพื่อให้วิญญาณทั้งหลาย ออกมารับผลกุศลจากผู้คนที่เซ่นไหว้ หรือ ทำบุญอุทิศให้ จึงถือเป็นเทศกาลหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นวันที่ชาวจีน จะแสดงความกตัญญู ต่อบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้ นอกจากนั้นยังประกอบพิธีบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีไม่มีญาติด้วย รวมทั้งพิธีบุญเทกระจาด เพื่อแจกของให้แก่ผู้ยากไร้ทั้งหลาย
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเรียกเดือน 7 ของจีนนี้ว่า เป็นเดือนผี เพราะช่วงเวลาของเทศกาลจริงๆ จะเริ่มต้นตั้งแต่วัน 1 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งถือเป็นวันเปิดประตูยมโลก เพื่อให้เหล่าวิญญาณทั้งหลาย ทั้งที่เป็นวิญญาณบรรพชน หรือ วิญญาณไร้ญาติ เตรียมตัวออกไปรับการเซ่นไหว้ ทั้งจากลูกหลาน และ ผู้คนทั่วไปที่ร่วมเซ่นไหว้วิญญาณทั่วไป ในวัน 15 ค่ำ เดือน 7 และทยอยคืนสู่ยมโลก
จนถึงวัน 30 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งเป็นวันปิดประตูยมโลก ในบางท้องถิ่นที่ทำพิธีเคร่งครัด จะมีการจัดไหว้ทั้งต้นเดือน กลางเดือน และปลายเดือนด้วย แต่ที่เรียกว่า วันสาร์ทจีน อาจเป็นเฉพาะคนไทย เพราะใกล้วันสาร์ทไทย หรือ อาจเป็นเพราะยังอยู่ในช่วงต้นของฤดูสาร์ท หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ของจีนด้วย
ในอดีตถือเป็นเทศกาลที่ใหญ่มาก มีความสำคัญทั้งในลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา และ เต๋า เดิมทีแพร่หลายกันมากในจีนตอนใต้ ตั้งแต่มณฑล หูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง กวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ทั้งในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ แม้ปัจจุบันจะลดความสำคัญลงไปไม่น้อย แต่ในไทยยังถือเป็นเทศกาลจีน ที่สำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากตรุษจีน
สำหรับตำนานที่เกี่ยวกับสาร์ทจีน โดยหลักๆ แล้วจะมีอยู่ 2 ตำนานด้วยกัน โดยตำนานที่ 1 จะพูดถึง เทพยมบาล หรือ จวี๋หลอเทียนจือ (閰羅天子) ที่คนแต้จิ๋วรู้จักกันในนาม เงี่ยมล่ออ้วง หรือ จวี๋หลอหวาง (閰羅王) จะทำการตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ในวันสาร์ทจีนนี้ เพื่อส่งวิญญาณที่ดีไปสวรรค์ และ ส่งวิญญาณร้ายไปนรก
เมื่อชาวมนุษย์รับรู้ จึงรู้สึกสงสารวิญญาณที่ตกนรก จึงพร้อมใจกันทำบุญกุศล เพื่ออุทิศให้แก่วิญญาณเหล่านั้น ท่านเทพยมบาลจึงได้อนุญาติ ให้เปิดประตูนรก เพื่อให้เหล่าวิญญาณออกมารับผลบุญกุศลดังกล่าว พร้อมรับของเซ่นไหว้
ขณะที่ตำนานที่ 2 จะอิงมาในแนวปรัชญาของศาสนาพุทธ โดยกล่าวถึง เรื่องราวของ มู่เหลียนช่วยแม่ หรือ มู่เหลียนจิ่วหมู่ (目連救母) ความว่า มู่เหลียน (ที่รู้จักกันในนาม พระโมคคัลลานะ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระศากยมุนีพุทธเจ้า) ในคติจีน ก่อนออกบวชท่านเป็นคนที่เคร่งครัดในศาสนา ในเทศกาลกินเจปีหนึ่ง ท่านได้ชวนเหล่ามิตรสหาย ผู้ถือศีลกินเจ มาร่วมกินอาหารเจที่บ้านของท่าน โดยตั้งใจจะให้แม่ของท่านได้บุญกุศลด้วย โดยการปรุงอาหารเจเลี้ยงทุกคนที่มา
ทว่าแม่ของมู่เหลียน กลับเป็นคนใจบาป เกิดความไม่พอใจต่อคนที่มา จึงใช้น้ำมันหมูผสมลงในอาหารเจที่ปรุงด้วย ด้วยผลบาปอกุศลที่ทำในครั้งนั้น เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว แม่ของมู่เหลียนจึงต้องตกนรก ในขุมที่ 8 ซึ่งอยู่ลึกสุด เป็นขุมที่เหล่าวิญญาณต้องอดอยากยากแค้น ไม่มีอาหารให้กิน ต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส จากความหิวโหยอยู่ตลอดเวลา หลังจากมู่เหลียนได้ออกบวช ในพุทธศาสนาและบรรลุธรรมแล้ว จึงได้ลงไปสู่นรกขุมดังกล่าว เพื่อพบกับแม่ของตน
เมื่อเห็นแม่อดอยาก จึงปาฏิหาริย์เม็ดข้าวให้กิน ก็ปรากฏมีเหล่าวิญญาณภูติผีมารุมกันแย่งกิน ขณะที่แม่ของมู่เหลียน แม้แย่งข้าวไปกินได้ ก็กลับกลายเป็นไฟแผดเผาปากของนาง มู่เหลียนจึงไปร้องขอต่อยมบาล เพื่อรับโทษแทนแม่ของตน แต่ยมบาลไม่อาจอนุญาติได้ เพราะกฏของกรรม ใครทำใครรับ รับแทนกันไม่ได้ พระพุทธองค์รับรู้จึงได้ประทาน คัมภีร์ศักดิสิทธิ์ ชื่อ อิ๋วหลันเผิน (盂蘭盆) ให้มู่เหลียนสวด
เพื่อเรียกระดมเหล่าเซียน มาร่วมกันช่วยให้วิญญาณผู้หิวโหยทั้งหลาย โดยเฉพาะแม่ของมู่เหลียน ให้สามารถกินอาหารบรรเทาความหิวโหยได้ จากนั้นมา มู่เหลียนก็จะสวดคัมภีร์ดังกล่าว พร้อมของเซ่นไหว้ ให้แก่เหล่าวิญญาณ ในเดือน 7 ที่ประตูนรกเปิด ต่อมาผู้คนทั้งหลายที่ทราบเรื่องราวเหล่านี้ จึงพากันกระทำตามมู่เหลียน จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลสาร์ทจีนดังกล่าว
การจัดของไหว้ในวันสาร์ทจีน จึงต้องจัดเป็น 3 ชุด กล่าวคือ ชุดที่ 1 ไหว้เจ้าที่หรือตี่จู้ ในตอนเช้า แทนการบูชาเทพจงหยวน ชุดที่ 2 ไหว้บรรพชน ในช่วงเที่ยง และ ชุดที่ 3 ไหว้วิญญาณไร้ญาติ ที่ชาวจีนเรียกว่า ฮ้อเฮียตี๋ หรือ เห่าซวงตี้ (好兄弟) เหมือนเป็นการนับญาติ เพื่อสร้างมิตรไมตรีต่อวิญญาณไร้ญาติเหล่านั้น โดยเรียกพวกเขาเป็น พี่น้องที่ดี
นอกจากของเซ่นไหว้แล้ว ในสมัยก่อนที่เป็นสังคมเกษตร จะมีการนำเอา กิ่งธัญพืช 5 อย่าง มี ข้าว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และ ถั่ว มาผูกรวมเป็นพู่ แล้วผูกไว้เหนือประตูหน้าบ้าน โดยถือเป็นตัวแทนม้า เพื่อให้บรรพบุรุษได้ขี่ม้ากลับ หลังพิธีเซ่นไหว้เรียบร้อยแล้ว โดยเรียกพู่ดังกล่าวว่า อู่กูซู่จื่อ (五穀蘇子) หรือ พู่ธัญพืช 5 ชนิด
รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างของเซ่นไหว้ (SOURCE : PANTIP.COM)
ของที่ใช้เซ่นไหว้หลักๆ มีของคาว 3 อย่าง เรียกว่า ซาแซ หรือ ซันเซิน (三生) หรือ 5 อย่าง เรียกว่า โหง่วแซ หรือ อู่เซิน (五生) อาทิเช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา และ ของหวาน 3 หรือ 5 อย่างเช่นกัน มี ขนมเทียน ขนมเข่ง (รูปที่ 3B) ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้อื่นๆ ตามแต่ใจชอบ ไม่มีข้อจำกัด
แต่ในโบราณจะมีขนมที่ใช้ไหว้ในเทศกาลสาร์ทจีนโดยตรง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือ อู๋ปิ่ง (五餅) ประกอบด้วย ปัง (ทึงปัง ทำจากถั่วกับน้ำตาล) เปี้ย (หนึ่งเปี้ย ทำจากแป้งและไข่) หมี่ (หมี่เท้า ทำจากแป้งใส่ไส้ถั่วเหลือง เรียกว่า เต่าซา) มั่ว (ทึกกี่ ทำจากข้าวพอง) กี (ทึงกี ทำจากน้ำตาล เป็นเส้นยาว) รูปที่ 3A
รูปที่ 3 แสดงโหงวเปี้ย ขนมเข่ง ขนมเทียน
สำหรับรายละเอียดของชุดเซ่นไหว้ ในการไหว้ทั้งสาม นอกจากของคาวที่เป็นซาแซหรือโหง่วแซแล้ว พอจะขยายความได้ดังนี้ 1.การไหว้เจ้าที่หรือตี่จู้ ยังมีขนมหวาน เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย ขนมเทียน และ ขนมเข่ง (ให้ใช้ตะเกียบจุ่มสีแดงใส่อาหาร แล้วมาแต้มด้านบนตรงกลางขนมเข่ง เพื่อเพิ่มสิริมงคล) พร้อมด้วย ผลไม้ น้ำชา ให้จัดไหว้ไว้ด้านหน้าศาลตี่จู้ภายในบ้าน 2.การไหว้บรรพชน
ต้องเพิ่มอาหารคาวหวานที่บรรพบุรุษชอบด้วย ควรมีน้ำแกงแบบใส วางข้างชามใส่ข้าว เท่ากับจำนวนบรรพบุรุษ ที่ต้องการเส้นไหว้ พร้อมด้วย ขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้ น้ำชา ให้ตั้งโต๊ะไหว้ไว้ด้านหน้าศาลบรรพชน หรือป้ายวิญญาณของบรรพบุรุษ 3.การไหว้วิญญาณไร้ญาติ เพิ่มอาหารคาวหวาน ผลไม้ โดยเฉพาะเผือกนึ่งผ่าซีก เส้นหมี่ น้ำชา และควรจัดไหว้ไว้นอกบ้าน บางที่อาจมีการจุดไฟขี้ไต้วางไว้ที่พื้นสองข้างของเซ่นไหว้ เป็นเหมือนสัญญาณ บอกให้เหล่าวิญญาณไร้ญาติรู้ว่า มีการเซ่นไหว้อยู่ในบริเวณดังกล่าว
เนื่องจากไฟจากขี้ไต้จะถือเป็นไฟหยิน ที่มีทั้งเปลวและควันสีดำ คล้ายกับเปลวไฟวิญญาณ นอกจากของเซ่นไหว้ดังกล่าวแล้ว ยังมีพวกกระดาษกระดาษทอง ที่เป็นเหมือนของบรรณาการ ประกอบด้วย หงึ่งเตี๋ย อ่วงแซจี๊ (ใบผ่านทาง) กุยหนั่งฮู้ (ยันต์ผู้เป็นใหญ่ ไว้เชิญเทพ) กิมเตี้ยว (ทองแท่ง) โดยทั้งหมดให้ใส่ไว้ในอ่วงป้อ (กระทง) รวมทั้งพวกของกงเต็ก เช่น ธนบัตร ของไช้ต่างๆ (เสื้อ รองเท้า ...) ที่ทำด้วยกระดาษ เพื่อจะเผาไปได้หลังไหว้เสร็จ
รูปที่ 4 แสดงกระดาษเงินกระดาษทอง (SOURCE : THAISMESCENTER.COM)
นอกจากพิธีเซ่นไหว้ดังที่กล่าวมา ในเทศกาลสาร์ทจีน ยังมีพิธีการลอยกระทง และการเล่นโคมดอกบัว โดยการลอยกระทงลงน้ำนี้ กระทำเพื่อรำลึกถึงญาติพี่น้อง หรือ บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ในบางท้องที่ก็อาจมีแนวคิดด้านอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย อาทิเช่น ในย่านแม่น้ำแยงซีเกียงตอนใต้ หรือ เจียงหนาน (江南) มักจะให้คนป่วยไปลอยกระทงเพื่อปลดปล่อยให้ความป่วยไข้ ลอยหายไปกับสายน้ำ และหายจากโรคภัยที่เป็นอยู่ มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ
โดยเฉพาะภายในกรุงปักกิ่ง เมื่อถึงเทศกาลจงหยวน จะมีความสนุกสนานคึกคักเป็นพิเศษ นอกจากจะมีการจัดพิธีเซ่นไหว้ ตามบ้านเรือนแล้ว ตามวัดวาอาราม ทั้งพุทธและเต๋า ก็จะมีพิธีสวดมนต์ทำบุญกัน บางวัดก็จะมีการทำพิธี เผาเรือ หรือ เส้าฝ่าฉวน (烧法船) โดยมีคติว่า ให้เรือนี้ขนข้าวของเครื่องใช้ไปให้วิญญาณบรรพชน โดยจะทำเป็นรูปเรือกระดาษลำใหญ่ไว้หน้าวัด เมื่อเสร็จพิธีก็เผาอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ ขณะที่ตามโรงงิ้วก็มักจะเล่นงิ้วเรื่อง มู่เหลี่ยนช่วยแม่ หรือ มู่เหลียนจิ่วหมู่ (目莲救母) ที่มีเนื้อหาส่งเสริมความกตัญญูรู้คุณ
ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจรรยาอันดี ให้แก่อนุชนรุ่นหลังอีกต่อหนึ่ง กระทั่งเย็นย่ำก็จะไปลอยกระทงกัน ตัวกระทงอาจทำจาก ใบบัวมาปักเทียนไว้ตรงกลาง หรือ ฟักทองแกะสลัก คว้านไส้ออก และจุดโคมไว้ข้างใน รวมทั้งกระทงที่ประดับด้วยกระดาษหลากสีสัน พร้อมตกแต่งอย่างสวยงาม เมื่อฟ้ามืดย่ำค่ำก็จะมีการถือ โคมดอกบัว หรือ เหลียนฮวาเติง (莲花灯) ที่ทำด้วยกระดาษสีหรือผ้าไหม สว่างไสวไปทั่ว โดยเฉพาะพวกเด็กๆ ที่ชอบถือโคมวิ่งไล่กันไป ตามท้องถนนอย่างสนุกสนาน
รูปที่ 5 แสดงการลอยกระทงและโคมดอกบัว
กล่าวโดยสรุแล้ว เทศกาลสาร์ทจีน ถือได้ว่า เป็นเทศกาล ที่มีจุดมุ่งหมาย ในการส่งเสริมคุณธรรมให้แก่ผู้คน ให้ลูกหลานไม่ลืมบรรพชน เน้นความกตัญญูรู้คุณ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความรักใคร่ปรองดองกันภายในครอบครัวด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่กระทำกิจกรรมในวันสาร์ทจีน จึงพึงระลึกถึงจุดประสงค์อันดีงาม ที่แฝงไว้ด้วยคติแง่คิด ของเทศกาลดังกล่าวไว้ด้วย
(มิติทางวัฒนธรรม ep.1 เทศกาลสาร์ทจีน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา