17 ก.ย. 2023 เวลา 10:21 • ประวัติศาสตร์

เทศกาลจันทรา

เทศกาลจันทรา หรือ เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Moon Festival) เป็นอีกเทศกาลของจีน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจีน ประมาณช่วงปลายเดือนกันยายน หรือ ต้นเดือนตุลาคม บางที่ก็เรียกว่า เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง (Mid-Autumn Festival) หรือ 中秋節 (จงชิวเจี๋ย) เดิมทีถือเป็นเทศกาลที่จัดขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว และยังถือเป็นวันสำคัญ ที่สมาชิกในครอบครัวจะได้มาพบปะกันพร้อมหน้าอีกวันหนึ่ง แม้ผู้อยู่ห่างไกล ไม่อาจกลับมาหาครอบครัว ก็จะส่งใจผ่านดวงจันทร์ เพื่อแสดงความรักความคิดถึงระหว่างกัน
บทนำ
(Introduction)
เทศกาลจันทรา ถือเป็นวันหยุดที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในวัฒนธรรมจีน โดยมีความนิยมพอๆ กับวันตรุษจีน ประวัติความเป็นมาของเทศกาลจันทรา ย้อนกลับไปได้กว่า 3,000 ปี จัดขึ้นในวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน (Chinese lunisolar calendar) โดยมีพระจันทร์เต็มดวงในเวลากลางคืน ตรงกับประมาณ กลางเดือนกันยายน ถึง ต้นเดือนตุลาคม ของปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ในวันนี้ ชาวจีนเชื่อว่าดวงจันทร์มีขนาดที่สว่างที่สุดและเต็มดวงที่สุด ซึ่งตรงกับฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง
การจัดโต๊ะพิธีไหวะพระจันทร์ (ref.1)
ในคืนวันเทศกาล จะมีการตั้งโต๊ะไหว้พระจันทร์ พร้อมงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ มีการถือและจัดแสดงโคมไฟทุกขนาดและรูปทรง ซึ่งเป็นสัญญาณสัญลักษณ์ที่ส่องสว่างเส้นทาง ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความโชคดีของผู้คน ขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncakes) เป็นขนมที่อุดมไปด้วยถั่วหวาน ไข่แดง เนื้อ หรือเม็ดบัว มักรับประทานกันในช่วงเทศกาลนี้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ มีพื้นฐานมาจากตำนานของฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ในตำนานจีน
โคมประทีปในคืนวันงานเทศกาลจันทรา (ref.2)
ในปัจจุบัน หลายประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลอง เป็นประเพณีใหญ่ ในตอนกลางคืน นอกการจัดพิธีไหว้ดวงจันทร์แล้ว ยังมีการประดับประดาโคมไฟจนสว่างไสวไปทั่ว เป็นการเพิ่มสีสันให้ยามค่ำคืน บางแห่งก็มีการเชิดมังกร ไปตามท้องถนน มีผู้คนมาร่วมชมดูแน่นขนัดทั้งสองฟากข้าง กลายเป็นงานเทศกาลใหญ่ ที่สนุกสนานครึกครื้น
ประวัติความเป็นมา
(Background history)
ตามบันทึกโบราณของ โจวหลี่ ระบุว่า จีนเริ่มไหว้พระจันทร์ ในราชวงศ์ถัง โดยมีเรื่องเกี่ยวกับตำนาน ถังหมิงหวง (唐明皇) ประพาสดวงจันทร์ (唐明皇) โดยถังหมิงหวงเป็นฮ่องเต้จีน แห่งราชวงศ์ถัง มีอีกนามหนึ่งว่า ถังเสวียนจง (唐玄宗) มีเรื่องเล่าว่า ในค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 8 ปีหนึ่ง ฮ่องเต้ถังหมิงหวง ได้นอนหลับและฝันไปว่า ได้ลอยขึ้นไปยังพระราชวังบนดวงจันทร์
และได้พบเห็น เทพธิดาแห่งดวงจันทร์กำลังร่ายรำอย่างงดงาม เป็นที่เคลิบเคลิ้มตราตึ่งใจยิ่งนัก ภายหลังตื่นขึ้น จึงจัดให้นางสนม แต่งตัวเลียนแบบ และฝึกฝนให้ร่ายรำเหมือน เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ที่ได้พบเห็นมาในความฝัน จากนั้นมาในวันนี้ของทุกปี ก็ได้จัดให้มีพิธีไหว้ดวงจันทร์ พร้อมการร่ายรำของเหล่านางสนม
ภาพการชมจันทร์ของคนชั้นสูง (ref.3)
ส่วนอีกตำนานหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีน ได้เล่าไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์หยวน (元朝: หยวนเฉา) ของชาวมองโกล ที่ปกครองจีนในขณะนั้น มีการกดขี่ข่มเหงชาวฮั่น (汉: ฮั่น) จนเป็นเหตุให้มีการก่อกบฎขึ้น นำโดย จูหยวนจาง โดยแอบส่งสาส์นถึงกัน ผ่านกระดาษที่ยัดไส้ไว้ในขนม ที่ใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์
ความว่า “ยามสามคืนนี้ ให้ทุกบ้านฆ่าทหารมองโกลให้หมด” พิเคราะห์จากเนื้อหาแล้ว ตำนานเรื่องนี้ ไม่น่าจะเป็นที่มาของ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะมีเทศกาลอยู่แล้วขณะจะก่อการ บางทีอาจจะเป็นต้นตำนานของ ขนมไหว้พระจันทร์ มากกว่า
ตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อ
(legend of Chang'e)
ขณะที่ต้นตำนาน การไหว้พระจันทร์ ที่เป็นที่นิยมและเชื่อถือกันมาก ก็คือ ตำนานรักของ โฮ่วอี่ (后羿) กับ ฉางเอ๋อ (嫦娥) โดยมีเรื่องเล่าว่า ในยุคบรรพกาล ช่วงเริ่มแรกกำเนิดโลก เง็กเซียนฮ่องเต้ (玉上皇帝: เย่ซ่างหวางตี้) ได้สั่งให้ เทพบุตรองค์หนึ่ง ลงไปจุติในโลกมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์
เทพบุตรนั้นก็ลงไปเกิดในหมู่บ้านชาวนา เป็นชายมีนามว่า โฮ่วอี้ ในขณะเดียวกัน เทพธิดาที่เป็นชายาของเทพบุตรนั้น ด้วยความรักจึงขอลงมาจุติเป็น หญิงชาวนาในหมู่บ้านเดียวกัน นาม ฉางเอ๋อ แล้วทั้งสองก็ได้แต่งงานอยู่กินกันในหมู่บ้านนั้น อย่างมีความสุข
ต่อมาโอรสของเง็กเซียน ทั้งสิบองค์ ได้ซุกซนเล่นสนุก แข่งขันกันส่องแสงสว่างลงมายังโลก ทำให้กลายเป็น ดวงอาทิตย์ถึงสิบดวง ส่งผลให้โลกมนุษย์เดือดร้อนหนัก เกิดเป็นความร้อนระอุ แห้งแล้ง จนกลายเป็นทุกขภิกขภัย ผู้คนอดอยากเดือดร้อนแสนสาหัสไปทั่ว โฮ่วอี้เห็นเช่นนั้น จึงได้ส่งกระแสจิตวิงวอนร้องขอ ไม่ให้ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกันทั้งสิบดวง
แต่กลับไม่ได้รับการสนองตอบในทันที ทำให้โฮ่วอี้จำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง และด้วยความเป็นเทพมาจุติ โฮ่วอี้จึงมีความสามารถพิเศษในการยิงธนุ เขาจึงคว้าเกาทัณฑ์พร้อมศรคู่ใจ ขึ้นสู่ยอดเขาคุนหลุน และยิงสอยตะวัน ตกล่วงไปถึง 9 ดวง คงเหลือไว้เพียงดวงเดียว
ภาพโหวอี้ (后羿) ยิงศรใส่ดวงอาทิตย์ (ref.4)
ความนี้ได้ทราบถึงเง็กเซียน จึงพิโรธมาก ที่โฮ่วอี้ด่วนใจร้อน ใช้วิธีรุนแรงสังหารโอรสทั้ง 9 ของตน มีกล่าวกับโฮ่วอี้ว่า “เมื่อเจ้ารักมวลมนุษย์มากนัก ก็จงอยู่ร่วมกับผู้คนเหล่านั้น ผู้ไร้ความอมนตะเถิด” ด้วยคำสาปของเง็กเซียน จึงทำให้โฮ่วอี้ต้องหมดสิ้นความเป็นเทพ ไม่อาจหวน คืนสู่สรวงสวรรค์ ต้องอยู่เป็นมนุษย์เช่นนั้น ขณะที่ฉางเอ๋อ ผู้เป็นภรรยา ก็เลือกที่จะอยู่ร่วมรับ ชะตากรรมกับสามีสุดที่รัก ในโลกมนุษย์เช่นกัน
ต่อมาวันหนึ่ง โฮ่วอี่ได้ขึ้นสู่ภูเขาคุนลุ้นอีกครั้ง เพื่อพบกับมิตรสหายผู้บำเพ็ญธรรม และได้พบกับ เจ้าแม่ซีหวางหมู่ (西王母) หรือ ที่ชาวจีนรู้จักกันในนาม “ฮองเฮาตะวันตก” จึงได้ขอให้เจ้าแม่ช่วยตน ได้กลับคืนไปเป็นเทพในสวรรค์ เจ้าแม่สงสารจึงให้ยาเม็ดอายุวัฒนะมา 1 เม็ด แต่โฮ่วอี้อยากให้ภรรยาตนได้กลับไปเป็นเทพธิดาด้วย เจ้าแม่จึงชี้แนะให้ทั้งคู่สร้างบุญบารมี ไปอีก 12 เดือน
ทั้งสองก็ตั้งใจบำเพ็ญธรรมอย่างเคร่งครัด พอครบตามกำหนด เจ้าแม่ก็ได้ประธานยาให้อีก 1 เม็ด ทั้งสองสามีภรรยาก็ดีใจมาก และได้มอบยาให้ฉางเอ๋อเก็บรักษาไว้ เพื่อจะเอาไว้กินเมื่อใกล้ถึงอายุขัย จะได้กลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ไปเป็นเทพเหมือนเดิมพร้อมกัน
เหตุการณ์ก็ดำเนินมาด้วยดี กระทั่งครั้งหนึ่ง ผิงเหมิง ศิษย์ที่มาเรียนวิชายิงธนูกับโฮ่วอี้ ได้รับรู้เรื่องยาอายุวัฒนะ และเกิดความโลภอยากได้ยานั้น จึงวางแผนตอนโฮ่วอี้จะพาคณะศิษย์ออกไปยิงธนูล่าสัตว์ในป่า ได้ออกอุบายว่า ตนป่วยไม่สามารถไปได้ กระทั่งทุกคนไปแล้ว ก็ลอบเข้าไปใช้ดาบข่มขู่ให้ฉางเอ๋อ มอบยาอายุวัฒนะให้ตน ฉางเอ๋อก็จำยอมตาม ได้ขอให้ผิงเหมิง เปิดหน้าต่างให้แสงสว่าง แล้วนำบันไดมาพาด ปีนขึ้นไปหยิบยาที่เก็บไว้บนชั้นเพดาน
ภาพฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ (ref.2)
ทว่าเมื่อได้ยาแล้ว ฉางเอ๋อก็กลืนกินไปทั้งสองเม็ด เพราะไม่ต้องการให้ผิงเหมิงผู้หยาบช้าได้ยาไป แล้วกระโดดออกไปทางช่องหน้าต่างที่เปิดไว้ ด้วยอำนาจแห่งโอสถทิพย์ ร่างฉางเอ๋อจึ้งกลับกลายเป็นเทพธิดา ล่องลอยขึ้นสู่สรวงสวรรค์ แต่นางยังอาลัยในตัวโฮ่วอี้ ผู้เป็นสามี จึงคงอยู่ที่ดวงจันทร์ เพื่อจะได้อยู่ใกล้โลกมนุษย์ ที่สามีของตนอาศัยอยู่ โฮ่วอี้กลับมารู้ความ ก็เสียใจอาลัยรักในตัวภรรยา ขณะที่ผิงเหมิงได้หลบหนีไปไกลแล้ว
กระทั่งมาถึงคืนวันเพ็ญ เดือน 8 โฮ่วอี้ได้มายืนมองดวงจันทร์ ด้วยความคิดถึงภรรยา จนปรากฏเห็นร่างของ ฉางเอ๋อ ให้เห็น ชาวบ้านทั่วไปก็พบเห็นด้วย จึงพากันตั้งโต๊ะพิธีกราบไหว้ เทพธิดาฉางเอ๋อ บนดวงจันทร์นั้นเป็นต้นมา โดยหนุ่มสาวที่รู้เรื่องความรักในตำนาน ก็พากันซาบซึ้งตรึงใจ พากันอธิษฐานขอให้ความรักของพวกตนมั่นคงยืนยาว จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาจนปัจจุบัน
ตำนานเทพกระต่าย
(Legend of the Rabbit God)
ในตำนานของฉางเอ๋อแห่งดวงจันทร์นี้ ยังมีตำนานพ่วงมาอีกเรื่องหนึ่ง ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีไหว้พระจันทร์ ในประเทศจีนหลายท้องที่ โดยเป็นเรื่องของ กระต่ายหยกแห่งวังจันทรา ที่เป็นบริวารของฉางเอ๋อ ช่วยบดยาอยู่ในวังจันทรานั้น โดยมีต้นตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งในโลกมนุษย์มีโรคระบาดรุนแรง ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก ฉางเอ๋อจึงให้เทพกระต่าย ลงมาช่วยเหลือชาวมนุษย์ โดยปรากฏกายเป็นหญิงสาว ตระเวณรักษาโรคให้ผู้คน จนโรคระบาดสิ้นสุด
และเพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น จึงมีพาหนะสำหรับขี่ ซึ่งมีหลายคติความเชื่อ บอกเล่ากันไว้ว่าเป็น ม้า กวาง สิงห์โต กระทั่ง เสือศิลปินยุคหลังต่อมา จึงได้มีการสร้างรูปปั้นของเทพกระต่าย ทรงสัตว์พาหนะแตกต่างกันไป จนในปัจจุบันก็มีการทำออกมาจำหน่าย เพื่อใช้ในวันไหว้พระจันทร์ เป็นการรำลึกถึงคุณความดีของกระต่ายหยกอีกทางหนึ่ง ในบันทึก เยียนจิง (燕京) ชื่อเรียกปักกิ่งในอดีต ได้ระบว่า ผู้คนได้นำเอาดินเหลืองมาปั้นเป็นรูป เทพกระต่าย ออกจำหน่ายในเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วย
รูปปั้นเทพกระต่าย ถู่เหย (兔儿爷)
ส่วนต้นตำนานของเทพกระต่ายนั้น ก็มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่ที่น่าสนใจ จะเป็นเรื่องของ เทพสามองค์ ได้แปลงกายเป็นคนชรา ลงมายังโลกมนุษย์ และได้ไปขออาหารจากสัตว์ทั้งสาม คือ จิ้งจอก ลิง และ กระต่าย (อาจจะเป็นการทดสอบจิตใจบางประการ) จิ้งจอกกับลิงก็ไปหาอาหารมามอบให้ได้
ขณะที่กระต่ายไม่มีอาหารจะให้ จึงกล่าวว่า “เราไม่มีของให้พวกท่านกิน จงกินเนื้อของเราแทนเถิด” ว่าแล้วก็กระโจนเข้ากองไฟ เพื่อเป็นอาหารให้เทพทั้งสามนั้น ด้วยความซาบซึ้งในจิตใจของกระต่าย จึงส่งให้ไปจุติอยู่ที่วังจันทรา เป็นบริวารของฉางเอ๋อ ส่วนที่ว่า เทพทั้งสามนั้นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับฉางเอ๋อ มิได้บอกเล่าไว้
พิธีไหว้พระจันทร์
(Moon worship ceremony)
ในส่วนพิธีการไหว้นั้น จะกระทำกันตอนย่ำค่ำ เมื่อดวงจันทร์ขึ้นเด่นบนฟากฟ้าแล้ว โดยจะทำพิธีกันที่ ลานหน้าบ้าน หรือ บนดาดฟ้า ตั้งโต๊ะพิธี ทำซุ้มต้นอ้อย ของบูชาจะมี ธูปเทียน กระดาษเงิน-ทอง โคมไฟและของเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ขนมไหว้พระจันทร์ เช่น ขนมโก๋, ขนมเปียะ ผลไม้
อาหารเจแห้ง 5 อย่าง เช่น วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้ น้ำชา ธูปมังกร 1 ดอก เทียนแดง 1 คู่ บางที่อาจมีการจัดไหว้เจ้าในบ้านช่วงเช้า และไหว้บรรพชนช่วงสาย ของที่จัดไหว้ก็ทำเหมือนปกติ เพียงแต่จะเพิ่มขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncake) เข้าไปด้วย
ขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncake)
โดยขนมไหว้พระจันทร์ มีสัณฐานกลม คล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวดใส่ไส้ แล้วนำไปกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายมงคล นำไปอบ และเคลือบผิวด้วยน้ำเชื่อม มีไส้ต่างๆ หลากหลาย อาทิเช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, ถั่ว, พุทราจีน แต่ปัจจุบันมีการใส่ กุนเชียง, ไข่เค็ม, หมูแฮม, หมูแดง, หมูหยอง เพิ่มเข้าไปด้วย
ตำนานจันทราโพธิสัตว์
(Legend of Moon-Bodhisattva)
นอกจากตำนานการไหว้พระจันทร์ ที่กล่าวมา ตามคตินิยมทั่วไปแล้ว ผู้เขียนยังเคยได้ยินอีกตำนานหนึ่ง จากผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ และเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับชาวพุทธ โดยเฉพาะมหายาน โดยท่านบอกเล่าว่า ในโบราณสืบต่อกันมา ยังมีเรื่องเล่าว่า ในดินแดนที่มนุษย์ มีความละเอียดพอที่จะพบเห็นเหล่าเทพได้ ยังมีเทพจันทรา ผู้ดูแลปราณพลังหยินแห่งราตรีกาล ตรงข้ามกับเทพสุริยัน ผู้ดูแลปราณพลังหยางในทิวากาล
เทพจันทราท่านนี้ เป็นเทพบุตรที่มีความเจ้าชู้เป็นนิสัย ชอบที่จะไปวุ่นวายกับเทพธิดา ผู้เป็นบุตรีหรือภรรยาของเทพอื่นๆ ทั่วไป จนเป็นที่รังเกียจของเหล่าเทพ กระทั่งพร้อมใจกันลงทัณฑ์ ไม่คบหาพูดคุยกับเทพจันทรา ทั้งยังไม่ยินยอมให้เข้าสมาคมกับเหล่าเทพด้วย ส่งผลให้เทพจันทราเริ่มรู้สำนึกในความผิดของตน ครั้งหนึ่งมีการประชุมเทวสภา เพื่อฟังธรรมจากพระโพธิสัวต์อวโลกิเตศวร
เทพจันทราก็ไม่ได้รับฉันทานุมัติให้เข้าร่วม จึงได้แต่นั่งรออยู่ที่ภายนอกเพียงลำพัง เมื่อพระโพธิสัตว์ ได้ประภานิรมิตรมาถึง พบเห็นเทพจันทรา พิจาราดูแล้ว ก็ทราบถึงวาระใจที่สำนึกผิดอย่างแท้จริง จึงมีมหากรุณาจะช่วยเหลือ ได้เข้าไปหา เทพจันทราก็รีบลุกขึ้นแสดงนมัสการต่อองค์ท่าน
รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า “เราจะช่วยท่านสักครั้ง จงเนรมิตกายเป็นปิ่น เราจะปักมวยผมเข้าสู่เทวสภา” เทพจันทราได้ยินก็มีความยินดีมาก แต่ด้วยสำนึกอันบริสุทธิ์ จึงมีดำริว่า เราจะขึ้นไปอยู่บนมวยผมขององค์โพธิสัตว์ได้อย่างไร ไม่เป็นการสมควรเลย แต่เมื่อองค์ท่านมีดำริเช่นนี้แล้ว จึงนิรมิตรกายเป็นเพียง ปิ่นจันทร์เสี้ยว เพื่อให้มีขนาดเล็กที่สุด พระโพธิสัตว์ เห็นเช่นนั้นก็ทราบถึง ความอ่อนน้อมตนด้วยสัมมาคารวะ ของเทพจันทรา จึงปักปิ่นนั้นกับมวยผม แล้วเข้าสู่เทวสภา
เมื่อเหล่าเทพเห็นองค์โพธิสัตว์ ออกหน้าไกล่เกลี่ยเช่นนี้ และได้เห็นถึงเทวธรรมอันดีงาม ที่เทพจันราทรงไว้ จึงพร้อมใจกันให้อภัยต้อนรับเทพจันทราเข้าสู่เทวสภาเหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้ ทุกวันนี้ของทุกปี เทพจันทราจึงทำพิธีบรวงสรวงบูชาองค์โพธิสัตว์
เมื่อเหล่ามนุษย์มาพบเห็น จึงไถ่ถามจนทราบความกระจ่าง ก็พากันชื่นชมยินดี และซาบซึ้งในมหากรุณาแห่งองค์โพธิสัตว์ จึงพากันทำพิธีบรวงสรวงบูชาองค์ท่านตามไปด้วย และเมื่อมหาชนพากันพร้อมใจบูชาองค์ท่าน พระโพธิสัตว์จึงถือเป็นวาระอันเป็นมงคล ได้ประทานพรแก่เหล่าชนผู้ทำการสัการะบูชานั้น
พิธีบูชาโพธิสัตว์
(Bodhisattva worship ceremony)
ไม่ว่าตำนานนี้จะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้เห็นอีกมิติมุมมองหนึ่งของเทศกาลไหว้พระจันทร์ ดังจะได้พบกเห็นร่องรอยการตั้งรูปบูชาของพระโพธสัตว์กวนอิม ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บนโต๊ะพิธีด้วย ในที่นี้จึงจะขอเพิ่มรายละเอียดพิธีในการบูชาพระโพธิสัตว์ไว้ ในที่นี้ด้วย เผื่อผู้ใดศรัทธาจะนำไปปฏิบัติบำเพ็ญ ก็น่าจะเป็นสิริมงคลต่อท่านและครอบครัวได้
เริ่มต้นจากการใช้รหัสดอกไม้ ให้ใช้บัวสัตตบุต (บัวแดง) แทนปัญญา พับเป็นดอกกุหลาบ แทนมหากรุณา จัดใส่เจกันคู่ ข้างละ 10 ดอก แทนองค์โพธิสัตว์และปางทั้ง 19 ของบูชาใช้ ผลไม้ 6 สี คือ ขาว เขียว เหลือง ฟ้า แดง ม่วง ซึ่งเป็นสีประจำอักขระ โอม มา นี ปา เม ฮง อันเป็นสัจจะวาจา ประจำ องค์อวโลกิเตศวร โดยตรง ผลไม้จัดใส่ถาดบัวสวรรค์ (ถ้ามี)
พร้อมเทียนขาวใหญ่ 1 คู่ เป็นประธาน แทนความบริสุทธิ์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย มีเทียนเล็กอีก 6 สีเป็นบริวาร ผู้เป็นประธานปักธูป 20 ดอก คนที่เหลือปักแค่ 3 ดอก เป็นคติคำรบสาม คือ เบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องสูง และ กิริยาสาม คือ กาย วาจา ใจ ห้ามใช้ธูปมังกร เพราะเป็นพลังหยาง ถ้ามีธูปหงษ์ หรือ ธุปที่มีตัวอักษรถ้อยคำมงคล
ก็ใช้ได้
การไหว้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ref.1)
จัดขนมไหว้พระจันทร์ (เลือกที่ไม่มีไส้เป็นเนื้อสัตว์) ให้จัดเรียงเป็นวงกลม 6 ชิ้นไว้รายรอบ 1 ชิ้น (ที่ควรจะใหญ่กว่า) ไว้ตรงกลาง ตัดกระดาษแดง เป็นอัขระ ฮรี (hrih ཧྲི༔) ที่หมายถึง หทัยพุทธะ วางไว้บนขนมตรงกลาง วางทับด้วยขนมโก๋สีเหลือง ปักด้วยยอดทับทิมบนขนมโก๋นั้น แต่อย่าให้ทะลุไปถึงตัวอักขระกระดาษดังกล่าว
ของบูชาที่เหลือก็ใช้ อาหารเจแห้ง 6 อย่าง อาจเพิ่มขนมไหว้พระจันทร์อื่นอีก 6 อย่าง (มีไส้เนื้อสัตว์หรือไม่ก็ได้) เครื่องสำอางสตรี 6 อย่าง เพื่อแสดงถึงปราณพลังหยินของจันทรา และขอประธานพลังแห่งสิริมงคล เมื่อนำไปใช้ ถ้วยน้ำชาปากกลม ใส่น้ำชาสีเข้ม 6 ถ้วย (สีเข้มแทนพลังพยิน) ให้จัดไหว้ในยาม อิ้ว (17.00-19.00 น.) เพราะยังเป็นเดือน 8 ราศีอิ้วอยู่ ผู้เป็นประธานกล่าวคำอธิษฐาน (ที่เหลือจะกล่าวตามก็ได้)
ความว่า “ข้าฯ ขอน้อมนมัสการบูชา แด่องค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ขอได้โปรดดลบันดาลให้ข้าฯ ...(สิ่งที่ต้องการ)... ด้วยเทอญฯ ตามด้วยโองการกำกับ ความว่า “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้มีวัชระเนตร คือมหาปัญญาอันกระจ่าง เฝ้าทัศนาสรรพสัตว์ไม่ว่างเว้น มีอนันตกร คือมหากรุณาอันไพศาล พร้อมฉุดรั้งสรรพสัตว์จากห้วงทุกข์ มีสิริรังสี คือมหาวิสุทธิ์อันเรืองรอง คอยส่องนำสรรพสัตว์คืนสู่ฟากฝั่ง ด้วยอำนาจแห่งสัจจะวาจานี้ ขอให้คำอธิษฐานของ ข้าฯ จงสำฤทธิ์ผลในกาลบัดเดี๋ยวนี้เทอญ โอม มา นี ปา เม ฮง (9 จบ)
บทสรุป
(Conclusion)
ส่วนสำคัญของการเฉลิมฉลองเทศกาลจันทรา คือการบูชาพระจันทร์ (Moon worship) ชาวจีนโบราณเชื่อว่าดวงจันทร์มีส่วนสัมพันธ์กับน้ำ ทำให้มีการเชื่อมโยงแนวคิดนี้กับการมีประจำเดือนของผู้หญิง (menstruation of women) โดยเรียกสิ่งนี้ว่า น้ำประจำเดือน (monthly water) ตัวอย่างเช่น ชาวจ้วง (Zhuang people) มีนิทานโบราณที่ว่า ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นคู่สามีภรรยา และดวงดาวเป็นลูกของพวกเขา
เมื่อดวงจันทร์ตั้งท้องจะกลม และกลายเป็นพระจันทร์เสี้ยวหลังจากคลอดบุตร ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงนิยมสักการะและถวายเครื่องบูชาแก่ดวงจันทร์ในเย็นวันเทศกาล ในบางพื้นที่ของจีน ยังคงมีธรรมเนียมที่ ผู้ชายไม่บูชาพระจันทร์และผู้หญิงไม่บูชาแด่เทพแห่งครัว (men do not worship the moon and the women do not offer sacrifices to the kitchen gods.)
ในประเทศจีน เทศกาลจันทราเป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาพบกันของครอบครัว และในวันนี้ ทุกครอบครัวจะได้ร่วมกันชื่นชมพระจันทร์ในตอนเย็น เนื่องจากเป็นวันที่ 15 ของเดือนที่ 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง
(มิติทางวัฒนธรรม ep.2 เทศกาลจันทรา)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา