29 ก.ค. 2023 เวลา 12:09 • ประวัติศาสตร์

อีกกี่ปีก็จะรอ ย้อนรอย ‘เบลเยียม’

ชาติที่ ‘ไร้รัฐบาล’ ยาวนานที่สุดในโลก
หากพูดถึงภาพความเป็นประชาธิปไตยก็ต้องมี ‘การเลือกตั้ง’
เป็นหนึ่งในองค์ประกอบเพราะกระบวนการสำคัญในการเลือก ‘ผู้แทน’ ของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ
อันเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (Representative Democracy)
เบลเยียม ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนกับไทยเราไม่มีผิดเพี้ยน
2
หากแต่ความน่าสนใจของเบลเยียมคือหลังเลือกตั้งกว่าจะได้รัฐบาลต้องใช้เวลานานจนถึงขั้นถูกบันทึกลงในกินเนสส์บุ๊กว่าเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งยาวนานที่สุดในโลกใช้เวลาไปถึง 541 วันในปี 2010 และล่าสุดในปี 2019 เบลเยียมได้ทำลายสถิติตัวเองอีกครั้งกับการจัดตั้งรัฐบาลใช้เวลาไปกว่า 652 วัน!
.
และด้วยเรื่องราวน่าสนใจนี้เอง จึงเป็นที่มาของบทความ Bnomics ในวันนี้กับ ‘เบลเยียม’ ประเทศที่แสนห่างไกลแต่การเมืองช่างคล้ายกับไทยเรา
2
⭐ รู้จัก ‘เบลเยียม’ ฉบับย่อ
ว่ากันว่าคำว่า เบลเยียม (Belgium) มาจากชื่อชนเผ่าเบลแจ (Belgae) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีการอยู่อาศัยบริเวณกอล (Gaul) ช่วงก่อนศตวรรษที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าชื่อนี้ได้มาจากรากศัพท์ภาษาเคลต์ดั้งเดิมคือคำว่า belg และ bolg
1
ชนเผ่าเบลแจมีภาษาและวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นในบริเวณกอลอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เผ่าเบลแจยังถูกตระหนักในฐานะเผ่าที่มีความแข็งแกร่งและกล้าหาญที่สุด เพราะรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรมันอย่างจูเลียส
ซีซาร์ยังต้องใช้เวลากว่า 4 ปีที่จะพิชิตอาณาจักรแห่งนี้ได้ ถึงกระนั้น เผ่าเบลแจไม่สามารถยอมรับว่าเขตแดนของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของโรมัน มีการก่อปฏิวัติขึ้นนำโดย Ambiorix แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ในที่สุด
1
หลังจักรวรรดิโรมันล่มสลายเข้าสู่ยุคกลาง ดินแดนบริเวณเบลเยียมปัจจุบันถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จนถึงศตวรรษที่ 11-12 ดินแดนหลายแห่งเริ่มแยกตัวออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยที่ไม่ค่อยดีนัก จึงเป็นโอกาสให้ชาวฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในดินแดนนี้
แต่หากพูดถึงการเกิดขึ้นของประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 เบลเยียมถูกปกครองภายใต้เนเธอร์แลนด์ และด้วยความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรม
จึงนำไปสู่การปฏิวัติเบลเยียมปี 1830 และประกาศเอกราชโดยแรกเริ่มใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ภายหลังจึงมีการเพิ่มภาษาดัตช์และเยอรมันให้เป็นภาษาราชการร่วมด้วย และมีการเลือกสมเด็จพระเจ้าเลโอเปลด์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1831 ถือเป็นวันชาติของเบลเยียมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2
แม้จะตั้งรัฐเอกราชของตนได้ แต่ต้องยอมรับว่าประชากรเบลเยียมมี ‘ความแตกต่างทางภาษา’ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญและละเอียดอ่อน เห็นได้จากการกำหนดให้มีภาษาราชการถึง 3 ภาษาได้แก่ ดัตช์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีการปรับรูปแบบรัฐให้เป็นสหพันธรัฐ (Federation) โดยแบ่งเป็น 3 ภาคการปกครอง ดังนี้
  • 1.
    ภาคปกครองเฟลมมิช (Flemish Region) ใช้ภาษาดัตช์ มีประชากรราว 6-7 ล้านคน มีกรุงบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวงของภาคและประเทศ
  • 2.
    ภาคปกครองวาลูน (Walloon Region) ใช้ภาษาฝรั่งเศส ประชากรราว 3-4 ล้านคน เมืองหลวงอยู่ที่เมืองนามูร (Namur)
  • 3.
    ภาคปกครองบรัสเซลส์ (Brussels-Capital Region) มีพลเมืองราว 1-2 ล้านคน
2
นอกจากนี้ ยังแบ่งออกมาเป็น 3 เขตชุมชนตามภาษาพูดอีกด้วย ได้แก่ เขตชุมชนเฟลมมิช เขตชุมชนฝรั่งเศส และเขตชุมชนที่พูดภาษาเยอรมัน
และความแตกต่างทางภาษานี้เองจึงนำไปสู่การสร้างสถิติการเลือกตั้งอันยาวนานของเบลเยียม
⭐ เบลเยียมขึ้นแท่นชาติที่ ‘ไร้รัฐบาล’ ยาวนานที่สุดในโลก
เบลเยียมเคยอยู่ในช่วงรัฐที่ไร้รัฐบาลยาวนานที่สุดในโลกคือ 541 วันหลังการเลือกตั้งวันที่ 13 มิถุนายน ปี 2010 จนถูกบันทึกใน Guinness World Records ซึ่งทำลายสถิติก่อนหน้าอย่างอิรักไปอย่างราบคาบซึ่งใช้เวลาเพียง 289 วัน
เกิดอะไรขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2010? สาเหตุมาจากพรรคการเมือง 2 ฝั่งที่แบ่งแยกความแตกต่างทางภาษาอย่างกลุ่ม Flemish (พูดภาษาดัตช์) และ กลุ่ม Francophones (ภาษาฝรั่งเศส) ที่ไม่สามารถร่วมรัฐบาลได้ด้วยความขัดแย้งทางนโยบาย
เนื่องจากฝั่ง Flemish ต้องการที่จะกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น
ในขณะที่ฝั่ง Francophones ต่อต้านการกระจายอำนาจเพราะจะส่งผลต่อความมั่งคั่งของงบประมาณจากส่วนกลาง และอีกข้อขัดแย้งสำคัญคือการถกเถียงเรื่อง ‘เขตเลือกตั้ง Brussels-Halle-Vilvoorde (BHV)’
เขตพื้นที่ BHV มีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะมีประชากรที่พูดทั้งภาษาดัตช์และฝรั่งเศส จึงมีสิทธิเลือกผู้แทนจากพรรคสองฝั่งทั้ง Flemish และ Francophone นั่นหมายความว่าประชาชนที่พูดภาษาดัตช์ (Flemish) ก็สามารถเลือกผู้แทนฝั่งตรงข้ามที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) ได้เช่นกัน
ซึ่งนี่เป็นความกังวลของพรรคการเมืองฝั่ง Flemish เพราะเขต BHV ส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยนักการเมืองที่พูดภาษาฝรั่งเศส จึงมีการเสนอให้ แบ่งแยก BHV ออกเป็นสองส่วนในขณะที่ Francophones ต้องการให้รวมไว้เช่นเดิม
ความขัดแย้งนี้ยุติลงในเดือนตุลาคม 2011 (หลังการเลือกตั้ง 18 เดือน) ผ่านตัวแทนกลางที่ถูกแต่งตั้งโดยกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ภายใต้ข้อตกลงผีเสื้อ (the Butterfly Agreement) ที่ระบุให้ภูมิภาค Brussel เป็นเขตการเลือกตั้งและตุลาการที่เป็นอิสระ และพื้นที่ Halle-Vilvoorde อยู่ภายใต้การปกครองของฝั่ง Flemish
1
⭐ ชาวเบลเยียมผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างไรในช่วงไร้รัฐบาล?
‘แม้ไม่มีรัฐบาลกลางก็อยู่ได้’ นี่คือสถานการณ์ของเบลเยียมในตอนนั้น อันเป็นผลมาจากระบบการปกครองแบบกระจายอำนาจอย่างมากเพราะมีทั้งรัฐบาลส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นที่ยังคงบริหารประเทศต่อไปได้แม้ไม่มีรัฐบาลกลาง
1
ในส่วนของระบบราชการ ข้าราชส่วนใหญ่ไม่ฝักใฝ่และเลือกข้างทางการเมืองจึงทำให้การบริการประชาชนยังดำเนินต่อได้แม้จะมีความขัดแย้งในรัฐบาลกลาง
นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ถือเป็นศูนย์กลางที่ยึดโยงเบลเยียมเข้าไว้ด้วยกัน โดยกษัตริย์อัลแบร์ที่ 2 ทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่สามารถชี้ขาดความเป็นเอกภาพให้แก่ชาติเบลเยียม เห็นได้จากการส่งตัวแทนเจรจาหลายครั้งเพื่อหาข้อยุติอย่างสันติระหว่างสองกลุ่มและก็ประสบผลสำเร็จในครานั้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวเบลเยียมก็มองวิกฤตเหล่านี้ด้วยความขำขันท่ามกลางวิกฤต เช่น การแจกเบียร์และเฟรนช์ฟรายส์ฟรีเพื่อเฉลิมฉลองสภาวะไร้รัฐบาลกลางที่ทำลายสถิติของเบลเยียมในทุก ๆ ครั้ง เรียกได้ว่าไม่สะทกสะท้านแล้วกระมัง
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา