Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
30 ก.ค. 2023 เวลา 10:18 • ปรัชญา
สร้างเหตุผสมสาน
ในสังคมปัจจุบันมีกิจกรรมหนึ่ง ที่ต้องยอมรับว่าได้รับความนิยมไม่น้อย นั่นคือเรื่องของการแก้กรรม ซึ่งได้ก่อให้เกิดประเด็นข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้าง ระหว่างผู้ที่ศรัทธา และผู้ที่ไม่เชื่อว่าจะทำได้จริง ผู้เขียนจึงคิดว่า ไหนๆ ก็เขียนเรื่องกลไกของกฏแห่งกรรมทั้งที ก็ไม่ควรที่จะละเลยประเด็นดังกล่าวนี้ จึงตัดสินใจหยิบยกมาเขียนเล่าสู่กันฟัง ในเชิงวิเคราะห์ตามหลักการเหตุผล และข้อเท็จจริง
หากถามตัวผู้เขียนตรงๆ ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือว่าคิดว่าทำได้หรือทำไม่ได้นั้น ก็คงต้องตอบในนามของทัศนะส่วนตัวว่า กรรมนั้นแก้ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่กระทำลงไปแล้ว จึงต้องรอผลของกรรมมาตอบสนอง ช้าเร็วขึ้นกับเจตนา แต่มีกรรมบางอย่างที่เป็นกรรมเล็กกรรมน้อย พวกนี้มีวงรอบในการส่งผลที่ค่อนข้างตายตัว เมื่อถึงเวลาส่งผลแล้ว มีเหตุอันไม่สามารถส่งผลได้ เช่น หาตัวผู้รับไม่เจอ ก็จะเป็นเหมือนการอโหสิกรรม คือหมดกำลังไปเอง ไม่ต้องเข้าไปแก้ไขแต่อย่างไร
บทนำ
(Introduction)
เมื่อกล่าวเช่นนี้ เลยไปสร้างคำถามให้เกิดกับตัวผู้อ่านอีกว่า แล้วกรณีไหนจึงจะเรียกว่า ผู้รับไม่อยู่รับหรือหาตัวผู้รับผลไม่เจอ ที่เห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีของท่านที่สามารถเจริญสมาธิจนเข้าถึงระดับของรูปฌาณขึ้นไป และได้ไปเกิดอยู่ในชั้นพรหมที่มีอายุยืนนาน ดังนั้นกรรมเล็กกรรมน้อยต่างๆ ที่เคยกระทำไว้เมื่อตามมาส่งผล ย่อมหาตัวผู้รับสนองผลกรรมไม่เจอ
เพราะท่านขึ้นไปเป็นพรหมอยู่ กรรมนั้นจึงค่อยอ่อนกำลังและสลายหายไปเอง ตามหลักของไตรลักษณ์ คราวนี้ก็เลยเกิดคำถามต่อว่า แล้วทำไมผู้เกิดในชั้นพรหมจึงไม่ต้องรับสนองผลกรรม ก็ต้องบอกว่า กรรมซึ่งแบ่งเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ บุญและบาปนั่นเอง ซึ่งจะมีบทบาทได้ก็เฉพาะสัตว์ที่เกิดอยู่ในภพภูมิที่บุญและบาปเหล่านี้ยังปรุงแต่งหรือมีอิทธิพลอยู่
ซึ่งก็คือ กามภพ อันแบ่งได้เป็นสวรรค์ มนุษย์ และอบายภูมิ โดยสวรรค์ก็เป็นปุญญาภิสังขาร หรือปรุงแต่งด้วยบุญ ขณะที่อบายภูมิก็เป็นอปุญญาภิสังขาร หรือปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ไม่ใช่บุญ ก็คือบาปนั่นเอง ส่วนมนุษย์นั้นท่านถือเป็นภพกลางๆ ที่ปรุงแต่งได้ทั้งบุญและบาป
Create a mix of causes
คราวนี้เรามาดูชั้นพรหมบ้าง ภพภูมิของพรหมนี้จะแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ รูปภพ และอรูปภพ โดยรูปภพนั้นจะปรุงแต่งด้วยรูปฌาณ หรือที่เรียกว่า เนญชาภิสังขาร ขณะที่อรูปภพก็จะปรุงแต่งด้วยอรูปฌาณ หรือ อเนญชาภิสังขาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ชั้นพรหมทั้งสองระดับนี้ ล้วนอยู่พ้นออกไปจากอำนาจการปรุงแต่งของบุญและบาป คือไม่มีบุญและบาปเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เป็นเรื่องรูปและอรูปฌาณแทน ด้วยเหตุนี้พรหมทั้งหลาย จึงเหมือนได้รับข้อยกเว้นชั่วคราว
ตราบใดที่ยังเป็นพรหมอยู่ก็จะไม่มีผลกรรมใดๆ ตามขึ้นไปสนองได้เลย เพราะกรรมทั้งหลายล้วนมาจากบุญและบาปทั้งสิ้น แต่ถ้าจะถามว่า แล้วถ้าทำกรรมใหญ่ๆ เข้าล่ะ ก็ต้องบอกว่า ต่ำลงมากว่าครุกรรม หรืออนันตริยกรรมทั้งห้าประการ มี การฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต และทำให้พระภิกษุสงฆ์แตกแยก ไม่กระทำสังฆกรรมร่วมกัน ยกเว้นห้าข้อนี้แล้ว ก็มีสิทธิ์เป็นอโหสิกรรมได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะท่านที่ขึ้นไปอยู่ในชั้นอรูปพรหมที่มีอายุยืนยาวนานเป็นพิเศษ
อุปมาแห่งกรรม
(Parable of karma)
เมื่อพูดถึงเรื่องกรรมใหญ่กรรมน้อย ก็เลยนึกถึงข้ออุปมาที่โบราณท่านเปรียบเปรยไว้อย่างแยบคาย กล่าวคือ ท่านเปรียบไว้ว่า กรรมชั่วนี้เหมือนสุนัขล่าเนื้อ ที่จะคอยวิ่งไล่ตามกัดผู้กระทำกรรมตลอดเวลา กรรมที่ใหญ่ก็เหมือนสุนัขตัวใหญ่ที่มีกำลังมาก วิ่งได้เร็ว และยาวนาน ขณะที่กรรมเล็กก็จะเหมือนสุนัขตัวที่มีขนาดเล็กลงไปตามลำดับ และก็จะมีกำลังน้อย วิ่งช้า ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็จะหมดแรงที่จะไล่ตามแล้ว
ดังนั้นเมื่อผู้ใดกระทำกรรมใดกรรมหนึ่งขึ้น ก็ให้จินตนาการว่า ได้เกิดสุนัขตัวหนึ่งที่กำลังวิ่งไล่กวดคนผู้นั้นมา หากคนผู้นั้นไม่ได้ทำบุญกุศลหรือกรรมดีใดๆ ไม่ช้าก็จะถูกสุนัขตัวนั้นตามทันและกัดเข้าให้ นั่นก็คือการสนองผลของอกุศลดังกล่าว
Parable of karma
ส่วนกรรมดีนี้ท่านเปรียบว่าเหมือนพาหนะที่พาเราหนีจากสุนัขเหล่านั้น ดังที่ยกมาข้างต้นว่า หากผู้ที่ทำกรรมชั่วนั้น และกำลังถูกสุนัขไล่ตามมา แต่เขากลับใจหันมาบำเพ็ญบุญกุศล ถ้าเป็นบุญแบบธรรมดาทั่วไป ก็เหมือนกับการเดินหรือวิ่งหนีสุนัขตัวนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีขาของตนเป็นพาหนะพาหนีนั่นเอง ดังนั้นสุนัขตัวเล็กที่มีกำลังน้อย ก็อาจวิ่งไม่ทัน และหมดแรงตายไปเสียก่อน จึงถือเป็นอโหสิกรรมไปโดยปริยาย
แต่สุนัขตัวที่ใหญ่ขึ้นมาและยังพอจะมีกำลังไล่กวดทัน ก็อาจกัดเข้าให้ได้อีก แต่ถ้าคนผู้นั้นเริ่มรักษาศีล พวกเขาก็จะเหมือนคนที่ขี่จักรยานจนไปถึงรถยนต์ระดับต่างๆ หนีห่างจากสุนัขล่าเนื้อฝูงนั้น ทำให้สุนัขที่กำลังน้อยกว่า ย่อมหมดกำลังสาบสูญไป แต่ที่ตัวใหญ่กำลังมากก็ยังสามารถไล่กวดมาได้ คนขี่จักรยานก็เหมือนคนที่เกิดเป็นมนุษย์ ขณะที่คนขี่รถยนต์ก็เปรียบเหมือนคนที่ไปเกิดเป็นเหล่าเทพยดาบนสรวงสวรรค์นั่นเอง
การลดแรงวิบากกรรม
(Reduction of karma)
ขณะที่คนที่ปฏิบัติสมาธิจนเข้าถึงรูปฌาณขึ้นไป คนเหล่านี้ก็เหมือนคนที่ขึ้นไปอยู่บนเครื่องบินลอยอยู่บนอากาศ พวกสุนัขก็ได้แต่วิ่งไล่อยู่บนพื้นโลก มันจึงหาพวกเขาไม่พบ แต่วันใดที่เครื่องบินเชื้อเพลิงหมด หรือฌาณเสื่อม ก็ย่อมที่จะต้องจุติลงมายังกามภพ เมื่อนั้นหากยังเหลือสุนัขตัวใหญ่ที่มีกำลังอยู่ มันก็จะไล่ตามกัดคนผู้นั้นต่อ วนเวียนอยู่เช่นนี้ จนกว่าคนผู้นั้นจะสามารถวิมุติหลุดพ้นไปจากโลกียะแห่งนี้ได้ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นพวกเขาก็จะอุปมาเหมือนคนที่ขึ้นยานอวกาศออกไปจากโลกโดยไม่หวนกลับมาอีก
เหล่าสุนัขก็จะไล่ตามอยู่แต่ในโลกนี้ และค่อยสิ้นกำลังไปทีละตัว ตามอำนาจแห่งพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในประเด็นนี้มีแง่มุมให้คิดอยู่บางประการ คือ กรรมทั้งหลายที่ตกค้างอยู่นี้ หากยังไม่สิ้นกำลังเมื่อรวมตัวกันมากเข้า ก็อาจเป็นส่วนที่จะไปช่วยขยายกำลังของสหกรรมที่เป็นภัยภิบัติทั้งหลาย ให้มีกำลังแรงมากขึ้น อุปมาให้กรรมที่ตกค้างนั้นเป็นเหมือนอากาศที่ร้อนแห้ง และสหกรรมที่มีผู้สร้างขึ้น คือการที่มีคนไปจุดไฟเผาไม้ในป่า เมื่ออากาศร้อนและแห้งย่อมสามารถส่งผลให้ไฟนั้นลุกลามรุนแรงได้
Reduction of karma
ผู้เขียนจึงมาคิดว่า จะเป็นเพราะเหตุผลนี้หรือไม่ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ที่เป็นพระอรหันต์ผู้มีภพชาติอันสิ้นแล้วนั้น ท่านจึงยินยอมรับผลกรรมของตนเสีย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผลกรรมหรือสุนัขล่าเนื้อเหล่านั้นไม่สามารถตามหาตัวท่านได้ เพราะท่านได้ออกพ้นไปจากโลกนี้แล้ว แต่เพื่อไม่ให้ผลกรรมตกค้างเหล่านั้น ไปมีส่วนขยายความรุนแรงให้แก่กรรมของสัตว์ในโลกียะ ท่านจึงรับไว้ เพื่อให้กรรมนั้นสลายไปเพราะได้ส่งผลเรียบร้อย
ตัวอย่างที่เห็นชัด ก็คือ พระพุทธองค์เองที่ทรงกระทำเป็นเยี่ยงอย่าง ถัดมาก็คงเป็นกรณีของพระโมคคัลลานะ ที่โจรมาตามหาท่านถึงเจ็ดครั้งเจ็ดคราก็ไม่พบ จนท่านต้องยินยอมรับ โจรนั้นจึงสามารถเข้าไปทำร้ายท่านได้ เป็นการสนองผลกรรมโดยสิ้นเชิง นี่จึงเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ที่พระอริยะทั้งหลายมีต่อสรรพสัตว์ แน่นอนว่า มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งต่อปวงสัตว์
แต่พระอรหันต์ทั่วไป แม้จะไม่มีธรรมจิตอันเป็นกรุณาดุจดังพระพุทธองค์ แต่ก็ทรงมัชฌิมญาณอันประเสริฐ รู้ความควรไม่ควร คือรู้ว่าสิ่งใดควรกระทำ และสิ่งใดมิควรกระทำ เมื่อทรงพิจารณาแล้วว่า การรับกรรมโดยที่จิตของท่านก็มิได้เดือดร้อนด้วย แต่จะช่วยให้สรรพสัตว์ทุกข์น้อยลง ท่านก็ย่อมดำเนินตามมัชฌิมานั้นเป็นธรรมดา
การบรรเทาผลกรรม
(Alleviation of retribution)
บรรยายมาถึงตรงนี้ ก็คงจะพอช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองของท่านผู้อ่านให้เพิ่มขยายขึ้น จากมุมมองเดิมๆ ที่อาจจะเคยอ่านเจอหรือรับรู้มา ส่วนท่านที่มีความเข้าใจเป็นอันดีอยู่แล้ว ก็ถือเสียว่าเป็นการย้ำเน้นกันให้เชื่อมั่นมากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง คืออย่างน้อยก็ยังมีผู้เขียนคนหนึ่งที่มีคติความเห็นสอดคล้องกับท่าน เมื่อกล่าวถึงการสนองผลและอโหสิกรรมแล้ว ต่อไปก็จะมาพูดถึงเหตุที่มาของหัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้ว่า สร้างเหตุผสมผสาน นั้นหมายถึงสิ่งใด
ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ต้องการบอกต่อท่านผู้อ่านว่า บุญกับบาปนั้นไม่สามารถลบล้างได้ เมื่อทำไปแล้วก็ได้แต่รอรับผลแต่เพียงสถานเดียว นอกเหนือจะหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ชั้นพรหมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งก็ต้องบอกว่า ไม่เพียงกรรมไม่ดีเท่านั้นที่เป็นอโหสิ แม้กรรมดีก็จะเป็นอโหสิเช่นกัน เพราะตามหาตัวผู้สนองผลไม่เจอ แต่ตอนนี้เราจะพักเรื่องของพรหมไว้ก่อน แล้วกลับมาพูดกันถึงเรื่องราวในกามภพคือสวรรค์ มนุษย์ และอบาย ที่ยังต้องตกอยู่ในอำนาจการปรุงแต่งของบุญและบาปดังกล่าว
Alleviation of retribution
เมื่อบุญและบาปลบล้างไม่ได้ ดังนั้นการแก้กรรมจะถือว่าทำไม่ได้เลยใช่หรือไม่ หากถามกันตรงๆ เช่นนี้ ผู้เขียนก็ต้องขอตอบว่า แก้โดยตรงไม่ได้ แต่ทำให้บรรเทาเบาบางลงได้ โดยการสร้างเหตุปัจจัยตรงกันข้ามให้ส่งผลในเวลาเดียวกัน อุปมาบุญเหมือนน้ำเย็น และบาปเหมือนน้ำร้อน เมื่อขยันหมั่นเติมน้ำเย็นคือบุญลงไปในชีวิตมากๆ
เมื่อผลของบาปคือน้ำร้อนเติมลงมา ก็จะทำให้น้ำนั้นอุ่นไม่ถึงกับร้อนลวกเหมือนโดนน้ำร้อนอย่างเดียว ส่วนว่าจะอุ่นหรือร้อนเย็นเพียงใด ก็ขึ้นกับปริมาณของผลกรรมหรือน้ำร้อนน้ำเย็นนั้นๆ ที่ส่งผลอยู่ อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ ที่พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ ละชั่ว และกระทำแต่ความดี ส่วนใครที่เบื่อเรื่องของบุญบาปกรรมเวรแล้ว ก็รีบทำใจให้บริสุทธิ์แล้วหลุดพ้นไปเสีย ก็ไม่ว่ากัน
ปัจจัยขั้วตรงข้าม
(Opposite polarity factor)
มีอีกอุปมาหนึ่งที่น่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เกี่ยวกับการสร้างเหตุผสมผสานนี้ก็คือ กรณีของคนที่มุ่งทำแต่บุญคือความดีนั้น ท่านเปรียบเหมือนคนที่ขยันขันแข็งทำมาหากิน และเก็บหอมลอมริบเอาไว้ สมมติว่า เขาสามารถเก็บเงินเก็บทองไว้ได้มูลค่าเป็นแสน แต่เมื่อวิบากกรรมฝ่ายอกุศลมาส่งผลทำให้เขาต้องเสียเงินหนึ่งพันบาท และเข้าก็ได้เสียเงินนั้นไปจริง คำถามคือว่า เขาจะทุกข์ร้อนหรือไม่ คำตอบก็คือ ถ้าไม่ใช่คนตระหนี่ถี่เหนียวจริงๆ ก็คงไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใดๆ
เพราะไม่ต่างจากคนมีเงินร้อยหนึ่งแล้วทำหายไปบาทหนึ่งนั่นเอง ซึ่งต้องถือว่าน้อยมาก นี่คือตัวอย่างของบุญและบาปที่ชัดเจน ทั้งสองส่วนนั้นไม่ข้องเกี่ยวกัน ต่างคนต่างส่งผล เพียงแต่หากท่านสามารถสร้างเหตุปัจจัยฝั่งตรงข้ามได้มากพอ เมื่อผลของอีกฝ่ายมาสนองก็ย่อมไม่รู้สึกผิดปกติแต่อย่างไร จนอาจถึงขั้นที่ไม่มีผลจนเป็นนัยสำคัญในความรู้สึกเลยทีเดียว
Opposite polarity factor
ด้วยหลักการสร้างเหตุผสมผสานนี้เอง ก็สุดแล้วแต่ว่า ท่านจะเรียกว่าเป็นการแก้กรรมหรือไม่ สำหรับตัวผู้เขียนเองไม่ประสงค์จะเรียกเช่นนั้น เพราะมันจะไปขัดกับหลักของกฏแห่งกรรม และคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งผู้เขียนยังมีความเห็นสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ว่าผู้ใดทำกรรมใดไว้ย่อมต้องได้รับสนองผลของกรรมนั้น
และถ้าจะมีวิธีแก้กรรมได้จริง พระพุทธองค์ก็คงจะบัญญัติคำสอนในเรื่องนี้เอาไว้แล้วแต่ต้น และคงจะไม่มีพุทธภาษิตหลายบท อาทิเช่น “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก” ที่แปลว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” หรือ “กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จะ ปาปกัง” ที่แปลว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
การเลื่อนผลกรรม
(Postponement of karma)
เรื่องสุดท้ายที่จะพูดถึงในเรื่องของการแก้กรรมนี้ ก็คือ เรื่องที่หลายคนพยายามจะกล่าวขวัญถึงในเชิงชื่นชม และมองว่าเป็นการเสียสละ นั่นคือ การที่มีการกล่าวอ้างว่ามีผู้ทรงคุณพิเศษหรืออภิญญา ได้ทุ่มเทในการเลื่อนกรรมหรือภัยพิบัติอันเป็นวิบากกรรมที่จะส่งผลต่อโลกให้ถอยห่างออกไป
ผู้เขียนฟังเรื่องนี้แล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นมาสองเรื่องว่า การเลื่อนกรรมกระทำได้จริงหรือ และหากทำได้สมควรกระทำหรือไม่ สำหรับในคำถามแรกนั้นหากกระทำได้จริง ก็ต้องถามต่อว่า แล้วได้ทำให้กรรมที่เลื่อนออกไป หายไปด้วยหรือไม่ หรือเพียงแต่เลื่อนมันออกไปเท่านั้น เพราะถ้าไม่สามารถลบล้างได้ ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องส่งผลต่อ แล้วถึงตอนนั้นหากผู้ที่ทำการเลื่อนไม่อยู่ จะเกิดอะไรขึ้น
Postponement of karma
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ ผู้เขียนจะลองยกตัวอย่างขึ้นมาพิจารณากันดู สมมติว่า มีคนพบว่าอาคารหลังหนึ่งมีความสูงสิบชั้นเกิดการแตกร้าวขึ้นที่ชั้นห้า จึงทำการสร้างสิ่งไปค้ำยันไว้ จนดูเหมือนว่าจะสามารถรองรับน้ำหนักของตึกไว้ได้ และคนก็ยังเข้าอยู่อาศัยกันต่อไป แน่นอนว่า นานเข้าอาจหลงลืมไปว่าตึกนี้เคยร้าว เลยทำการเพิ่มน้ำหนักใหม่ๆ เข้าไปอีก
จนปรากฏว่าสิ่งที่ค้ำยันนั้นรับน้ำหนักไม่ได้ อาการร้าวเกิดให้เห็นอีก จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม คือสร้างสิ่งค้ำยันเพิ่มขึ้น และถ้าทำวนเวียนอยู่เช่นนี้ โดยไม่ได้มีการเอาน้ำหนักเก่าออก แต่ยังเพิ่มน้ำหนักใหม่เข้าไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดหากสิ่งค้ำยันนั้นไม่สามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป และผู้ที่ทำการค้ำยันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ตึกหรืออาคารหลังนั้นก็ย่อมจะถล่มลงมา ทั้งน้ำหนักเก่าของตัวอาคารและน้ำหนักใหม่ที่เพิ่มเข้าไป
จนก่อให้เกิดปัญหาวิบัติภัยที่ร้ายแรงกว่าตอนต้นที่ร้าวเพียงชั้นห้า ถ้ามีการย้ายคนออกแล้วทำการซ่อมแซมหรือทุบทิ้งสร้างใหม่ทั้งหมด มันอาจจะเกิดความเสียหายเพียงแค่ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายลงไป แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตเหมือนกรณีที่ยกมา
ก่อกวนสมดุลย์กรรม
(Disturbing the balance of karma)
ดังนั้นจากตัวอย่างข้างต้น ผู้เขียนจึงค่อนข้างเป็นกังวลว่า หากการเลื่อนกรรมออกไปด้วยกรรมวิธีพิเศษใดๆ ก็ตาม แต่ไม่สามารถทำลายล้างกรรมเหล่านั้นได้ มันจะไม่ต่างจากอาคารดังกล่าว เพราะเป็นเพียงการเลื่อนออกไป แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่า คำทำนายหรือคำเตือนเหล่านั้นผิดไม่เคยเป็นจริง สุดท้ายก็จะประมาท ร่วมกันประกอบกรรมอันเลวร้าย ที่ไม่ต่างกับความประมาทของคนที่ลืมเรื่องอาคารร้าว แล้วพากันขนของเข้าไปเพิ่มน้ำหนักให้ตัวอาคาร
สุดท้ายแล้วแทนที่จะเกิดภัยพิบัติเพียงเล็กน้อย ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตที่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นปริมาณมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องมาถึงคำถามที่สองว่า สมควรกระทำหรือไม่ สมมติว่ามีผู้ทรงคุณวิเศษที่สามารถกระทำได้ ท่านจะกระทำหรือไม่ แม้ท่านจะสามารถเลื่อนกรรมออกไปจนพ้นจากช่วงอายุของตน แล้วคิดว่าเราพ้นแล้ว จากนั้นจะไปถล่มทลายหนักหนาเช่นใดกับคนรุ่นต่อไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องห่วงกังวลอีกเช่นนั้นหรือ
Disturbing the balance of karma
ในส่วนตัวผู้เขียนนั้น กลับมองว่า การเลื่อนกรรมนั้นคงกระทำได้ยาก และมีแต่จะเป็นการก่อกวนสมดุลย์ของกฏแห่งกรรมตามปกติ แม้ว่าจะมีคนที่มีกำลังที่จะกระทำได้ก็ตาม การทรงคุณวิเศษเหนือกว่าคนธรรมดานั้น มิได้หมายความว่าท่านจะทำอะไรก็ได้โดยปราศจากกรรม แม้ท่านจะทำในสภาวะของผู้ทรงฌาณที่พ้นจากบุญและบาป แต่หากผลของการกระทำของท่านเป็นกรรมที่ร้ายแรง มันก็คือสุนัขตัวใหญ่ที่มีกำลังและจะรอคอยงับท่านในทุกเมื่อ
หากท่านต้องพ้นจากสภาวะยกเว้นดังกล่าว แล้วกลับมาเดินดินตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งบุญและบาป จึงไม่สมควรกระทำ ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ โดยการสร้างเหตุปัจจัยทางกุศลมารองรับให้มากไว้จะดีกว่า ตามหลักการสร้างเหตุผสมสานดังกล่าว คือมุ่งเน้นสอนให้คนทำความดีให้มากพอที่จะรองรับวิบัติภัยที่จะเกิดขึ้น ถ้ากำลังของบุญเพียงพอจริง คนเหล่านั้นก็จะรอดพ้นได้ แม้จะเกิดเรื่องดังกล่าวก็ตาม เหมือนอุปมาเรื่องคนมีกรรมต้องเสียทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น
บทสรุป
(Conclusion)
ที่ผู้เขียนกล้าที่จะยืนยันเช่นนี้ ก็เพราะมั่นใจว่า วิบากกรรมนั้นลบล้างไมได้ เพราะฉะนั้นการเลื่อนกรรมออกไป แม้ทำได้ก็ไม่ควรทำ เพราะมีแต่จะทำให้สมดุลย์ระบบโดยรวมของกรรมปั่นป่วน เพราะมีวิบากกรรมที่รอส่งผลอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา สมมติว่าท่านเลื่อนไปเกิดไปซ้อนกับกรรมใหม่ที่ต้องส่งผลโดยมีกำลังแรงเท่ากัน มันก็จะทำให้การเลื่อนในครั้งต่อไปยากยิ่งขึ้น
เพราะเป็นการปัดออกไปมิใช่เก็บทิ้ง ไม่ช้าก็จะไม่สามารถเลื่อนได้อีกเมื่อกรรมรวมเหล่านั้นมีกำลังแรงจนเกินกว่าจะเลื่อนได้ และเมื่อมันส่งผลในคราเดียวจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการเลื่อนกรรมของท่านจึงย่อมไม่เกิดผลดีใดๆ เพราะมันกลายเป็นการทำร้ายคนที่หนักหนาสาหัสมากกว่าการช่วยคนที่ผ่านมาเสียอีก ท้ายสุดนี้ผู้เขียนก็ยังยืนกรานว่า กรรมนั้นลบล้างไม่ได้ เพราะถ้าลบล้างได้ พระพุทธองค์ผู้มีพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ ก็คงจะลบล้างให้พวกเราจนหมดสิ้นแล้ว
กล่าวโดยสรุป เรื่องของกรรม ตามคติของพุทธศาสนา ค่อนข้างจะยืนยันแน่นอนว่า ลบล้างไม่ได้ ดังปรากฏอยู่ในคำสอน ในหลายกาลหลายวาระ โดยเฉพาะหลักธรรมที่เน้นให้พุทธบริษัท สมควรพิจารณาอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ทุกวัน นั่นคือ อภิณหปัจจเวกขณ์ ซึ่งมีข้อธรรมท้ายๆ ที่เกี่ยวกับกรรมโดยเฉพาะ กล่าวคือ “กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท” แปลว่า “เรามีกรรมเป็นของๆ ตน เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
ถัดไป “กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ” แปลว่า “เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์” ถัดไป “กัมมะปะฏิสะระโน ยัง กัมมัง กะริสสามิ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาโท ภะวิสสามิ” แปลว่า “เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นกรรมดีก็ตาม เป็นกรรมชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น”
(กลไกกลกรรม ep,4 สร้างเหตุผสมสาน)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กลไกกลกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย