30 ก.ค. 2023 เวลา 12:08 • ประวัติศาสตร์

José de San Martín : นายพลอาร์เจนตินาผู้เป็นที่รักยิ่งของอเมริกาใต้

“ผู้ปลดปล่อย” เป็นคำนิยามที่ใช้เรียกผู้นำในการประกาศอิสรภาพของฝั่งอเมริกาใต้จากการครอบครองของอาณานิคมสเปน โดยถ้าจะกล่าวถึงวีรบุรุษแห่งละตินอเมริกาแล้ว คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึง “ซิมอน โบลิวาร์” (Simón Bolívar) ผู้ปลดปล่อยโคลอมเบีย, เวเนซุเอลา, เอกวาดอร์, ปานามา, เปรู, และโบลิเวีย
แต่ในเครือข่ายของการประกาศอิสรภาพละตินอเมริกานั้นไม่ได้มีเพียงแค่ตอนเหนือของทวีปเพียงอย่างเดียว
หากแต่ทางตอนใต้เอง ก็ยังมีผู้ปลดปล่อยอีกคนหนึ่งที่เป็นวีรบุรุษของหลาย ๆ ประเทศทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้
แต่กลับไม่ถูกพูดถึงมากนัก เขาคนนั้นคือ โฮเซ่ เด ซาน มาร์ติน (José de San Martín) ผู้นำทหารแห่งอาร์เจนตินา, หนึ่งในบิดาผู้สถาปนาชิลี, และผู้พิทักษ์แห่งเปรู
📌 ทหารเด็กผู้ใช้ชีวิตท่ามกลางสงคราม
ซานมาร์ติน ได้ออกมาลืมตาดูโลกในปี 1778 โดยเป็นบุตรชายของเจ้าเมืองยาเปยู ซึ่งได้ถูกสั่งให้พลัดถิ่นจากสเปนให้มาตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมเพื่อปกครองชนพื้นเมืองเดิม จากนั้นเขาได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในบัวโนสไอเรส
ก่อนที่จะย้ายกลับสเปนและศึกษาในเมืองมาลากา แต่ก็เรียนไม่จบและได้เข้าไปเรียนโรงเรียนนายร้อยที่แคว้นมูร์เชีย ในวัยเพียง 11 ปี
ตลอดชีวิตการเป็นทหารในสเปนของซานมาร์ติน เขาได้เข้าร่วมในสมรภูมิต่าง ๆ ของสเปนในภูมิภาคแอฟริกาเหนือด้วยวัยเพียง 13 ปีและได้เลื่อนยศเป็นร้อยตรีในวัย 15 ก่อนที่จะไปเป็นทหารเรือในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส
1
เขามีส่วนร่วมในสงครามมากมายตั้งแต่วัยรุ่นจนกระทั่งมาประจำการที่กาดิช และเริ่มซึมซับกระแสการตื่นรู้จากยุคเรืองปัญญาในสเปนที่ได้รับแนวคิดเรื่องเสรีภาพจากฝรั่งเศส
1
ในช่วงเวลานั้น การที่คุณแสดงออกซึ่งความสนใจในแนวคิดของฝรั่งเศส อาจจะทำให้ถูกรุมประชาทัณฑ์ได้ โดยได้มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อนแล้วในเหตุการณ์ม็อบกรุงมาดริด ซานมาร์ตินจึงได้ออกจากราชการทหารในสเปนก่อนที่จะย้ายกลับมาที่อเมริกาใต้ สถานที่ที่เขาจะใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในการปลดปล่อยอาร์เจนตินาให้แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากสเปน
1
📌 สมัชชาอัศวินแห่งตรรกะ
หลังจากที่ซานมาร์ตินก้าวท้าวเหยียบดินแดนบัวโนสไอเรส ซึ่งอยู่ในช่วงต้นของการปฏิวัติอาร์เจนตินา เขาก็ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำกองทหารม้า และเขากับผู้นำกองทหารอาร์เจนตินาอีกสองคนก็ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสมัชชาอัศวินแห่งตรรกะ (Rational knights) เพื่อเป็นสาขาย่อยของเครือข่ายอิสรภาพละตินอเมริกา
โดยสมัชชานี้ได้ก่อการปฏิวัติเดือนตุลาในปี 1812 เพื่อจัดตั้งคณะสามผู้นำที่สองขึ้นมาเพื่อให้การปฏิวัติเป็นไปได้อย่างอิสระมากขึ้น และได้เข้าร่วมในสมรภูมิรบหลายครั้ง โดยในยุทธการที่ซานลอเรนโซ ซานมาร์ตินได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกฟันเข้าที่ใบหน้าและถูกยิง แต่โชคดีที่รอดมาได้
📌 ผู้ปลดแอกอาร์เจนตินา
ในปี 1813 เพลงชาติอาร์เจนตินาก็ได้ถูกประพันธ์ขึ้นโดยภรรยาของซานมาร์ติน ซานมาร์ตินได้มีบทบาทในกองทัพอาร์เจนติน่ามาเป็นเวลานานหลายปี และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมรภูมิรบหลายสมรภูมิ อีกทั้งยังมีอิทธิพลเหนือสภาทูคูมันที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา
จนกระทั่งในวันที่ 6 เดือนกรกฏาคมปี 1816 คำประกาศอิสรภาพอาร์เจนตินาที่ถูกร่างโดยสภาทูคูมันก็ถูกลงรายชื่อโดยผู้แทนจากเมืองต่าง ๆ ทั่วอาณานิคมสหมลรัฐ และได้เปลี่ยนชื่อจากอาณานิคมสหมลรัฐเป็นสหมลรัฐแห่งริโอเดลาปลาตา (Provincias Unidas del Río de la Plata)
โดยในตอนแรกมีแผนที่จะยกให้ลูกหลานของราชวงศ์อินคาเดิมขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ก็ถูกคัดค้านไป นอกจากนี้ซานมาร์ตินยังมีผลงานอีกมากมายอย่างการเลิกทาส โดยในเริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเกณฑ์กำลังทหาร โดยนโยบายทางการทหารต่าง ๆ ของซานมาร์ตินนั้นก็เป็นที่ยอมรับและยกย่องให้เป็นนักการทหารคนสำคัญอีกคนหนึ่งของอาร์เจนตินาเลยทีเดียว
📌 กองกำลังแห่งเทือกเขาแอนดีส
ภารกิจการปลดปล่อยละตินอเมริกาไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะกองกำลังของฝ่ายผู้ภักดีต่อสเปนเองก็ยังปักหลักอยู่ในกรุงลิมาของเปรู
ซานมาร์ตินจึงคิดแผนการในการทอนกำลังสเปนโดยการข้ามเทือกเขาแอนดีสในปี 1817 เพื่อทำการช่วยเหลือบิดาแห่งชิลี และสมาชิกสมัชชาอัศวินแห่งตรรกะสาขาชิลีอย่าง เบอร์นาโด โอฮิกกินส์ (Bernado O’Higgins) ในการปราบปรามกองกำลังสเปนในกรุงซานตีอาโกในอาณานิคมชิลี
โดยหลังจากการขับไล่สเปนออกจากกรุงซานตีอาโกสำเร็จ ซานมาร์ตินก็ได้มอบหมายหน้าที่ในชิลีทั้งหมดให้โอฮิกกินส์จัดการ
และนำมาสู่การประกาศอิสรภาพชิลีในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1818 และเกิดยุทธการยิบย่อยอีกหลายครั้งซึ่งสร้างความเสียหายให้กับสเปนเป็นอย่างมากจนกระทั่งมาถึงโค้งสุดท้ายของการปลดปล่อยละตินอเมริกา
📌 ผู้พิทักษ์แห่งเปรู
กองกำลังสเปนในเปรูนั้นมีมากกว่ากองกำลังของซานมาร์ตินหลายเท่าตัว ซานมาร์ตินจึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ปลดปล่อยแห่งอเมริกาใต้ตอนเหนืออย่างโบลิวาร์ด้วย ซึ่งซานมาร์ตินเป็นฝ่ายเขียนจดหมายไปขอความร่วมมือด้วยตนเอง และได้เกิดการปิดล้อมเปรูขึ้นมา
การปิดล้อมเปรูนำมาซึ่งการเจรจาสงบศึกของฝ่ายสเปนโดยในท้ายที่สุดสเปนก็ยอมถอนกำลังออกจากอเมริกาใต้แต่โดยดีทำให้ซานมาร์ตินประกาศอิสรภาพให้แก่เปรูอย่างเป็นทางการพร้อมกับเป็นจุดสิ้นสุดของอาณานิคมสเปนในอเมริกา โดยคุณงามความดีของซานมาร์ตินในการปลดปล่อยเปรูนี้ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้พิทักษ์แห่งเปรู”
1
พร้อมกับฉายาพ่วงท้ายอีกมากมายเช่น “นักรบแห่งอิสรภาพ”, “จอมทัพแห่งเปรู”, “ผู้สถาปนาอิสรภาพแห่งเปรู” โดยเป็นผู้นำของเปรูคนแรกก่อนที่จะมีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนแรกในปี 1823 ซึ่งมีผลงานในหลาย ๆ ด้าน
ทั้งการมอบสิทธิพลเมืองให้แก่ชนพื้นเมือง และประกาศเลือกทาสแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป รวมไปถึงการยกเลิกศาลศาสนาและมอบเสรีภาพในการพูดอย่างเต็มที่
1
ซานมาร์ตินได้กลายมาเป็นวีรบุรษผู้กอบกู้เปรู และกลายเป็นผู้ปกครองอีกคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และเป็นที่รักยิ่งของประชาชนอีกด้วย
📌 ชีวิตของวีรบุรุษหลังการปลดปล่อยละตินอเมริกา
หลังจากเกษียณจากอาชีพทหาร และอาศัยอยู่ในเมืองกูโย อาร์เจนตินา ท่ามกลางไฟสงครามกลางเมืองของชิลีที่กำลังโชติช่วง สำหรับวีรบุรุษกองทัพผู้นี้เลือกที่จะวางตัวอยู่ตรงกลางและไม่ไปข้องเกี่ยวกับฝ่ายใด หลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิต
เขาก็เดินทางไปยังกรุงบัวโนสไอเรสเพื่อพาลูกสาวของเขาไปหาความสงบในชีวิตที่ยุโรป โดยได้ลงหลักอยู่ที่กรุงบรัซเซล ประเทศเบลเยี่ยมจนกระทั่งลูกสาวของเขาสำเร็จการศึกษาจึงได้เดินทางกลับมายังอาร์เจนตินา
ซึ่งสถานการณ์การเมืองภายในกำลังรุนแรง ซานมาร์ตินได้รับการเสนอให้เป็นประธานาธิบดีแต่ก็ปฏิเสธไปพร้อมกับเดินทางไปเบลเยี่ยมก่อนที่จะย้ายมาปารีสในช่วงปฏิวัติเบลเยี่ยมในปี 1830 ซานมาร์ตินยังคงพยายามที่จะเข้าร่วมกองทัพต่าง ๆ อยู่หลายครั้งแต่ก็โดนปฏิเสธเนื่องจากอายุที่มากแล้ว
เขาใช้ชีวิตวาระสุดท้ายอยู่ที่ตอนเหนือของฝรั่งเศสพร้อมด้วยปัญหาสุขภาพและดวงตาที่เลือนลาง เขาเสียชีวิตในปี 1850
หลังจากฟังข่าวชัยชนะของอาร์เจนตินาเหนือข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ร่างของซานมาร์ตินถูกฝังอย่างเรียบง่ายในฝรั่งเศสก่อนที่จะถูกย้ายมายังกรุงบัวโนสไอเรสในปี 1880 โดยสร้างสุสานของเขาขึ้นมาอย่างโอ่อ่าในมหาวิหารแห่งบัวโนสไอเรสให้สมเกียรติในฐานะผู้สร้างคุณูปการสำคัญต่ออาร์เจนตินา
📌 ในท้ายที่สุดแล้ว ซานมาร์ตินก็ได้รับการยกย่องจากชาวอาร์เจนตินาให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ
อนุสรณ์ของเขาถูกตั้งขึ้นในหลาย ๆ ที่ของอาร์เจนตินาและเมืองหลวงของประเทศชิลีและเปรูซึ่งเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างชาติเหล่านั้นขึ้นมา นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนักการทหารและนักการเมืองคนสำคัญของอเมริกาใต้ที่ปรากฏเกียรติไปทั่วทั้งทวีปเลยทีเดียว และเป็นบุรุษผู้เป็นที่รักของประชาชนในหลากหลายยุคสมัยจวบจนปัจจุบัน
References :
โฆษณา