23 ก.ค. 2023 เวลา 12:26 • ประวัติศาสตร์

Charles Rogier : ตำนานนายกรัฐมนตรี ยอดวีรบุรุษแห่งเบลเยี่ยม

นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมและคลื่นการปฏิวัติน้อยใหญ่ต่อยุโรป โดยเกิดการปฏิวัติครั้งที่ 2 ขึ้นมาในปี 1830 ซึ่งส่งผลให้เกิดการปฏิวัติในหลายประเทศยุโรปทั้งอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส
แต่ที่สำเร็จจริง ๆ มีอยู่ 2 ที่คือ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยมที่ปลีกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จภายใต้การนำของเนติบัณฑิตผู้หนึ่งนาม Charles Rogier
กำเนิดวีรบุรุษแห่งเบลเยี่ยม
Charles Rogier ลืมตาออกมาดูโลกในเดือนสิงหาคมปี 1800 ในแซงต์ กูอองตินทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อเขาอายุได้ 12 ปีก็ต้องสูญเสียบิดาไปจากการบุกรัสเซียของนโปเลียนที่ทำให้บิดาของเขาต้องหนาวตายในดินแดนที่ไกลบ้านและอ้างว้าง
หลังการเสียชีวิตของบิดา Rogier ก็ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในลีเฌของเบลเยี่ยมซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เมื่อ Rogier โตขึ้นเขาก็ได้ศึกษาวิชากฏหมายและสอบเข้าเป็นเนติบัณฑิตได้สำเร็จ โดยเขาได้ทำงานเป็นทนายความและนักหนังสือพิมพ์ในเวลาเดียวกัน
การเมืองของเบลเยี่ยมกับเนเธอร์แลนด์
การเมืองภายในของเบลเยี่ยมกับเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้วมาตั้งแต่สมัยยุคทองของดัตช์ที่ประกาศอิสรภาพจากสเปน ก็มีการกดขี่กันกลุ่ม Low countries ไม่ให้มาแย่งฐานลูกค้าของดัตช์ ต่อมาภายหลังสงครามนโปเลียน สภาเวียนนาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ควบรวมกลุ่ม Low Countries ไปอยู่กับเนเธอร์แลนด์เสียอย่างนั้น
ในแง่ศาสนาเองก็เช่นกัน กลุ่มแคว้นทางตอนเหนือหรือเนเธอร์แลนด์ก็ได้รับเอาศาสนาคริสต์นิกายกัลแวงมาตั้งแต่สมัยปฏิรูปศาสนา ในขณะที่กลุ่ม Low countries ซึ่งเป็นชาว Wallonia กับ Flemish นั้นนับถือนิกายคาทอลิกเป็นหลักทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกมาเป็นทุนเดิม แต่แล้วทางการดัตช์ก็ได้ใช้อำนาจในการกลืนวัฒนธรรมเบลเยี่ยมผ่านการบังคับให้ใช้ภาษาดัตช์และไม่ใยดีคาทอลิก
Charles Rogier ที่ได้ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็รู้สึกได้ถึงความแปลกแยกนี้และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวสารและแนวคิดต่าง ๆ มาโดยตลอด ในปี 1830 เขาจึงได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการก่อกบฏต่อต้านการปกครองของดัตช์
คืนค่ำในโรงโอเปร่
ในเดือนสิงหาคมหลังจากที่ Rogier ฉลองงานวันเกิดอายุ 30 ไปหมาด ๆ ก็เป็นวันเกิดของพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์ โดยฝ่ายปฏิวัติก็มีการจัดแสดงโอเปร่าอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงบรัสเซลล์ ให้กับกษัตริย์ของพวกเขาในท้องเรื่องหญิงหูหนวกแห่งปอร์ตีชี ที่เล่าเรื่องการกบฏของชาวประมงชาวเนเปิ้ลส์ต่อราชวงศ์สเปน
ซึ่งละครโอเปร่านี้ก็ได้ปลุกใจฝ่ายปฏิวัติ ผู้ชมจำนวนไม่น้อยเดินออกจากโรงละครเพื่อไปเข้าร่วมกับกลุ่มปฏิวัติที่ได้ตั้งขบวนเพื่อประท้วง และได้ยึดที่ทำการของเนเธอร์แลนด์หลายแห่งพร้อมกับโบกชูธงเบลเยี่ยมที่เพิ่งถูกคิดค้นชูไสวไปทั่วท้องถนน และต้อนรับการมาเยือนของกองทหารม้าควบคุมฝูงชนที่นำโดยมกุฏราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์
ข่าวของค่ำคืนโอเปร่าก็ไปถึงหูของ Rogier เขาได้นำกองอาสาติดอาวุธจากลีเฌจำนวนเกือบ 300 คนเพื่อเคลื่อนพลเข้าเมืองหลวงโดยทันที และได้พบกับมกุฏราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์พร้อมเสนอคำร้องขอให้แบ่งแยกดินแดนเพื่อความสันติ และก็เกิดการปะทะกันระหว่างชาวเบลเยี่ยมกับทหารดัตช์หลายครั้ง
ซึ่งในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยอิสรภาพของเบลเยี่ยมในวันที่ 21 กรกฎาคม พร้อมกับการสถาปนาพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเบลเยี่ยม
รัฐมนตรีแกร่งแห่งเบลเยี่ยม
ภายหลังจากการสถาปนาพระเจ้าเลโอโปลด์แล้ว Rogier ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำเมืองอันเวิร์ป และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะลาออกมาหลังจากดำรงตำแหน่งได้ 4 ปีเนื่องจากไปห้ามการต่อสู้ของรัฐมนตรีสองคนเป็นเหตุให้เขาถูกยิงเข้าแก้มและได้รับบาดเจ็บสาหัส
กระทั่งในปี 1840 Rogier ก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและได้เสนอแผนการปฏิรูประบบการศึกษาในเบลเยี่ยมเสียใหม่แต่ก็ได้รับการปฏิเสธหลายครั้ง
กระทั่งในปี 1847 Rogier ก็ได้ตั้งสภาและเป็นปีแรกที่เขาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของเบลเยี่ยม นอกจากนี้ Rogier ยังวางแผนที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประเทศด้วย โดยการพยายามรื้อฟื้นการค้าฝ้ายลินินในภูมิภาคเฟลมิช ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ของ Rogier ที่ประสบความสำเร็จมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันรัฐบาลจากคลื่นปฏิวัติซึ่งจะมาอีกระรอกในปี 1848 ซึ่งในขณะนั้น เบลเยี่ยมก็เริ่มมีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ก่อตั้งโดยคาร์ล มากซ์ แล้ว ทำให้ Rogier ตัดสินใจขับไล่มากซ์ออกไปจากเบลเยี่ยม
อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญของ Rogier คือการส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของภาษา โดย Rogier มองว่าเบลเยี่ยมเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น เฟลมิช ลักเซมเบิร์ก และวัลโลเนีย ซึ่งมีผู้พูดภาษาฝรั่งเศสมากกว่า
จึงตัดสินใจส่งเสริมให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการได้ ในขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็สร้างความขุ่นเคืองใจให้กลุ่มผู้พูดภาษาเยอรมันบ้าง
Rogier เกษียณตัวออกจากสภาในปี 1852 แต่ก็ไม่วายถูกดึงตัวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี 1857 ซึ่งคราวนี้กินระยะเวลายาวนานกว่าสิบปีเลยทีเดียว โดยในสมัยที่สองนี้ Rogier ก็ได้ออกนโยบายมากมายเช่นการซ่อมแซมป้อมปราการเพื่อเตรียมรับมือเผื่อฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์ร่วมมือกันตีเบลเยี่ยมคืน
รวมไปถึงการแต่งเนื้อร้องเพลงชาติของเบลเยี่ยมอย่าง La Brabançonne อีกด้วย รวมไปถึงการพัฒนาให้เบลเยี่ยมกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในยุโรป
งานฉลองของรัฐบุรุษ และปีสุดท้ายของวีรบุรุษแห่งเบลเยี่ยม.
Rogier ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตกับพี่สะใภ้ของเขาที่มาอยู่ด้วยหลังจากที่ Rogier สูญเสียพี่ ๆ ของเขาไป เขายังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปีที่ 50 ของการประกาศอิสรภาพเบลเยี่ยม ประเทศที่เขาลงมือลงแรงก่อร่างสร้างขึ้นมากับเพื่อน ๆ นักปฏิวัติคนอื่นที่เคยก่อตั้งสภาแห่งชาติมาด้วยกัน ที่สังขารของพวกเขาก็เริ่มโรยราจนเหลือเพียง 18 คนเท่านั้น ซึ่ง Rogier ก็ได้รับการยกย่องและให้รางวัลในฐานะรัฐบุรุษหลายต่อหลายครั้ง
ซึ่งในวันครบรอบ 50 ปีนี้เองก็มีขบวนแห่แหน รวมถึงขบวนสวนสนามที่หน้าบ้านของ Rogier เพื่อเป็นเกียรติและตอบแทนคุณูปการต่าง ๆ ที่ Rogier ทำเพื่อประเทศชาติ ชายผู้นี้เป็นที่นับหน้าถือตาถึงระดับที่กษัตริย์แห่งเบลเยี่ยมยังต้องมาหาถึงหน้าบ้านของเขาในวันเฉลิมฉลอง
5 ปีหลังจากงานฉลองอิสรภาพครบ 5 ทศวรรษ เรื่องราวชีวิตของวีรบุรุษผู้ประกาศอิสรภาพของเบลเยี่ยมก็มาถึงจุดสิ้นสุด Rogier เสียชีวิตลงในวันที่ 27 พฤษภาคม 1885 ความตายของเขานำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจไปทั่วทั้งเบลเยี่ยม
ร่างไร้วิญญาณของเขาถูกจัดแสดงเอาไว้ที่ศาลากลางเมืองบรัสเซลล์เป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้ประชาชนได้มาร่ำลาก่อนที่เขาจะถูกพาไปทำพิธีฝังศพที่สุสานเมืองบรัชเซลล์ ที่ซึ่งจะถูกสร้างเป็นสุสานใหญ่เหนือหลุมศพของเขา
อันจะถูกรังสรรค์และออกแบบโดยสถาปนิกสายอาร์ตนูโวอย่าง พอล ฮังการ์ และตั้งอยู่อย่างสง่างามจนถึงทุกวันนี้ในฐานะอนุสรณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกที่ดีที่สุด พัฒนาชาติมากที่สุด และประชาชนรักมากที่สุดอีกคนหนึ่งของเบลเยี่ยม
References :
โฆษณา