31 ก.ค. 2023 เวลา 14:46 • ประวัติศาสตร์

Richard Feynman กับ Manhattan Project ตอนที่ 5: นักมายากลทางคณิตศาสตร์

ในขณะที่ชีวิตของ Richard Feynman กำลังยุ่งเหยิงจากสุขภาพของ Arline ที่แย่ลงเรื่อย ๆ จากโรควัณโรคนั้น บางครั้งเขาก็ใช้เวลาในการทุ่มให้กับงาน เพื่อจะได้ลืมปัญหาดังกล่าว
ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่อายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมโครงการ แต่งานวิจัยด้านทฤษฎีฟิสิกส์ก็มีผลกับความคืบหน้าของโครงการเป็นอย่างมาก
จุดแข็งของเขาก็คือ ความสามารถในการเข้าใจอะไรได้อย่างถ่องแท้ และสามารถที่จะเข้าใจสิ่งนั้น ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องยึดตัวเองเข้ากับกรอบ และกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ใด ๆ บ่อยครั้งเขาจึงมีวิธีการแก้ไขปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ต่าง ๆ ที่เขาคิดขึ้นเอง ทำให้เขาเหมือนมีทางลัดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ซึ่งในตรงนี้ J Gleck ผู้แต่งหนังสือ Genius : The Life and Science of Richard Feynman (New York, 1992) ได้กล่าวของ Richard Feynman ไว้ว่า
This was Richard Feynman nearing the crest of his powers. At twenty-three ... there was no physicist on earth who could match his exuberant command over the native materials of theoretical science. It was not just a facility at mathematics (though it had become clear ... that the mathematical machinery emerging from the Wheeler-Feynman collaboration was beyond Wheeler's own ability).
Feynman seemed to possess a frightening ease with the substance behind the equations, like Einstein at the same age, like the Soviet physicist Lev Landau - but few others.
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของเขาตั้งแต่อายุยังน้อย
ในโครงการต่าง ๆ ที่เขาลงมือทำในระหว่างอยู่ที่ Los Alamos นั้น เรียกได้ว่าน่าสนใจ และดูมั่ว ๆ ชอบกล แต่โครงการเหล่านี้กลับนำพาให้เขาค้นพบอะไรหลาย ๆ อย่างที่มีประโยชน์กับ Manhattan Project ไม่ว่าจะเป็น
- การพยายามวัดจำนวนนิวตรอน เพื่อใช้ในการหาจุดที่เกิดมวลวิกฤต (critical mass) รวมไปถึงคำพูดของเขาที่เรียกการทดลองของ Slotin ที่พยายามหาจุดที่เกิดมวลวิกฤต ว่าเป็นการสะกิดหางมังกร
- การดูแลโครงการ Water Boiler ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการทดสอบ และวัดขนาดของปฏิกิริยาลูกโซ่ เพื่อหาว่า ระบบเข้าใกล้สภาวะวิกฤต​ (criticality) เพียงใด
- หลังจากนั้น เขาได้รับมอบหมายให้ไปดูแลห้องแล็บที่ Oak Ridge เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับการดูแลจัดเก็บวัตถุกัมมันตรังสี และกากกัมมันตรังสีไม่ให้เข้าสู่สภาวะวิกฤตโดยไม่ตั้งใจ
- และหนึ่งในงานที่สำคัญที่สุด คือ การคิดค้นสูตรต่าง ๆ รวมถึง Bethe–Feynman formula ที่ใช้ในการประมาณแรงระเบิดของระเบิดปรมาณู
ซึ่งจุดเด่นของเขาก็คือความสามารถในการคำนวณตัวเลขต่าง ๆ ในหัวของเขา จนได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงมาก โดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณในกระดาษ จนสามารถตอบคำถามคนรอบข้างได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บ และดูแลสารกัมมันตรังสี และทำหน้าที่เป็นเหมือนเส้นบาง ๆ ที่แยกระหว่างคนที่ทำงานในโครงการหลายพันคนกับอุบัติเหตุทางปรมาณู
และเขาเองนี่แหล่ะ กลายเป็นคนเดียวที่กล้าดูระเบิดปรมาณูในการทดลอง Trinity Test ด้วยตาเปล่า หลังกระจกรถ ในขณะที่คนอื่นดูผ่านแว่น และฟิลม์กรองแสง เพราะเขารู้ดีว่าอันตรายของระเบิดปรมาณูมาจากแสง Ultraviolet เสียมากกว่าแสงที่มองเห็นได้
Murray Gell-Mann เพื่อนร่วมงานของเขาที่ Cal Tech ในเวลาต่อมา ได้พูดถึงเขาว่า วิธีการแก้ปัญหาของเขาไม่เหมือนใครที่เขารู้จัก วิธีการแก้ปัญหาของเขาก็คือ การเขียนปัญหาลงไป แล้วคิดให้หนัก หลับตา เอากำปั้นแปะหัว แล้วก็เขียนคำตอบออกมา
ส่วน Mark Kac เพื่อนร่วมงานของเขาที่ Cornell ก็ได้บอกว่า ในโลกนี้มีอัจฉริยะอยู่สองแบบ คือ แบบธรรมดา และแบบนักมายากล แบบแรกคือ แบบที่เราได้เคยเห็นกันและประทับใจในความชาญฉลาด แต่แบบที่สองก็คือ แบบที่ถึงแม้เขาจะอธิบายให้เราเข้าใจได้แล้วว่าทำได้อย่างไร แต่เราก็ยังอดสงสัย และเกินที่จะจินตนาการว่าเขาคิดออกมาได้ยังไง ซึ่ง Richard Feynman เป็นนักมายากลที่เก่งเหนืออัจฉริยะทั้งมวล
และความสามารถในการประมาณการการคำนวณ ก็คงเป็นมรดกที่เขาส่งต่อความสามารถชิ้นนี้ให้กับนักวิศวกรในปัจจุบันที่มักใช้ π ≈ 3 ในการคำนวณต่าง ๆ
อ้างอิง "

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา