1 ส.ค. 2023 เวลา 05:59 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[สปอยล์]​ Oppenheimer: ประสบการณ์การดูหนังที่อิ่มเอมที่สุดในรอบหลายปี 10/10!!!

[ช่วงต้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน ใครดูแล้วข้ามไปอ่านพาร์ทสปอยล์หลังอีโมจิ 🚨 ได้เลย เป็นส่วนที่ผู้เขียนตีความหนังในมุมมองของผู้เขียนเอง ใครมีมุมมองอื่นมาร่วมแชร์กันได้]
และแล้วหนังแห่งปีที่ใครหลาย ๆ คนรอคอยก็เข้าโรงฉายสู่สายตาประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสู่สายตาเหล่าบรรดาสาวกคริสโตเฟอร์ โนแลนทุกหมู่เหล่า
โดยไม่มีใครคาดคิดกระแสของหนังเรื่องนี้มาแรงกว่าเดิมเพราะการเข้าโรงแบบชนช้างของ Oppenheimer และ Barbie จนเกิดเป็นมีม Barbenheimer เอาเข้าจริงแล้วต้นเหตุแห่งการชนช้างครั้งนี้เกิดจากการย้ายค่ายของผู้กำกับโนแลนเอง เดิมทีเขาเป็นผู้กำกับที่ภักดีกับ Warner Bros. มาช้านาน จนกระทั่งมีเหตุไม่ลงรอยกับการ Streaming หนังผ่าน HBO Max ของ Warner Bros. (เป็นที่รู้กันว่าโนแลนชอบบอกว่าหนังมันควรต้องดูในโรง)
สุดท้ายโนแลนเลยทิ้งค่ายเดิมมาร่วมงานกับ Universal Studio ในการสร้าง Oppenheimer ทางค่ายเก่าเลยแก้เผ็ดด้วยการส่ง Barbie มาเข้าชนกัน แต่ใครจะไปคิดว่าศึกแก้แค้นนี้ได้กลายเป็นโฆษณาแบบออร์แกนิคไปซะได้
อย่างไรก็ตามแต่วันนี้จะขอมารีวิวแค่ Oppenheimer ก่อน ถึงแม้ว่าเราจะดู Barbie ก่อน Oppenheimer เสียด้วยซ้ำ ส่วนรีวิว Barbie ขอเป็นโอกาสหน้า อยากรีวิวทั้งสองเรื่องเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กระแส Barbenheimer นี้
เชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของโนแลนกันแล้ว หรือถ้าไม่รู้จักอย่างน้อยก็อาจจะเคยผ่านตาผลงานของแกมาบ้าง ตามความเข้าใจของเราชื่อโนแลนเริ่มแพร่หลายในไทยช่วงที่ Interstellar เข้าโรงเมื่อปี 2014 (ปีเดียวกับที่ลุงคนหนึ่งเดบิวต์เพลง... Interstellar มันเก่าขนาดนั้นแล้วหรอเนี่ย) แต่แน่นอนว่าก่อยหน้า Interstellar ตัวโนแลนก็ได้ฝากผลงานขึ้นหิ้งไว้มากมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Dark Knight Trilogy, Inception, The Prestige และ Memento (ส่วนหลังจากนั้นก็มี Dunkirk กับ Tenet)
เอกลักษณ์เฉพาะตัวอันลือลั่นของโนแลนก็คือการเล่าเรื่องด้วยลำดับพิศดาร กลับไปกลับมา กระโดดไปกระโดดมา ซ้อนไปซ้อนมา กับความที่พระเอกมักมีเมียที่ตายก่อนเสมอ (อันนี้แซวเล่นนะครับ 55) หรือบางคนอาจจะจำผลงานของแกได้จากความอลังการงานสร้าง ความเป็น Blockbuster แบบแหวกแนว แต่เอาเข้าจริงก่อนหน้าที่โนแลนจะดังหนังที่แกสร้างก็ไม่ได้อลังการเท่าไหร่ ความอลังการในหนังโนแลนน่าจะเริ่มต้นขึ้นที่ The Dark Knight (ก่อนหน้านั้นมี Following, Memento, Insomnia, Batman Begins และ The Prestige)
แนวหนังที่โนแลนสร้างแทบทั้งหมดจะเป็นแนวแอคชั่นระทึกขวัญหรือไซไฟที่เป็นเรื่องแต่ง มีเพียง Dunkirk อยู่เรื่องเดียวที่เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์สงครามโลก แต่ตัวเนื้อเรื่องของหนังเองก็เป็นเรื่องแต่ง ดังนั้น Oppenheimer จึงเป็นหนังโนแลนที่น่าสนใจ ด้วยความที่เป็นหนังชีวประวัติเรื่องแรกของเขา ก่อนได้ดูหนังเรื่องนี้มั่นใจว่าคนที่คุ้นชินกับผลงานของโนแลนคงได้แต่นึกสงสัยว่าแกจะมาไม้ไหน จะเล่าเรื่องท่ายากยังไงกับหนังแนวนี้?
ในขณะเดียวกันก็อาจมีคนแคลงใจกับท่ายากของแกเพราะ Tenet หนังเรื่องก่อนหน้านี้ ท่ายากครั้งนั้นของแกมันไม่ค่อยกลมกล่อมเท่าใดนัก
แต่เราจะขออุบตรงนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะถึงโซนสปอยล์
อีกเรื่องที่คนพูดถึงกันมากเกี่ยวกับ Oppenheimer ก็คือการที่มันควรดูในโรง IMAX ด้วยความที่หนังถูกถ่ายด้วยกล้อง IMAX 70mm และเป็นหนังเรื่องแรกที่ใช้ฟิล์ม IMAX ขาวดำ รวมถึงคุณภาพเสียงที่ดีกว่าในโรง IMAX และอะไรต่าง ๆ
ส่วนตัวเราไม่คิดว่ามันเป็นอะไรที่ "จำเป็น" ขนาดนั้น ด้วยความที่เป็นคนเสพเนื้อเรื่องของหนังมากกว่า และเชื่อว่าการดูหนังไม่ควรมีอุปสรรคอะไรมากมาย (ทั้งเรื่องราคาและสถานที่) ดูตามสะดวก ใครจะรอดูในสตรีมมิ่งก็ได้ หรือจะดูในโรงธรรมดา หรือจะดู IMAX ก็ตามแต่สะดวก ตัวผู้เขียนเองก็ดูในโรงธรรมดา ๆ นี่แหละ (ส่วนตัวยังไงก็ยังชอบการดูในโรงมากกว่าบนสตรีมมิ่งน่ะนะ ชอบความอลังการ 55)
ต้องบอกเลยว่าถึงแม้จะดูในโรงธรรมดา งานภาพและเสียงก็ยังคงจุใจเต็มที่แน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของเพลงประกอบที่คลอไปทั้งเรื่องอย่างทรงพลัง ลงตัวตามจังหวะอารมณ์มาก ๆ (โดยเฉพาะฉากระเบิดอันลือลั่น)
ผู้เขียนจะไม่ขอลงรายละเอียดมากในส่วนนี้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีความรู้ในด้านนี้ บอกได้แค่ว่าต้องไปลองประสบการณ์นี้จริง ๆ
ในด้านการแสดงก็คงไม่ต้องพูดมากด้วยเช่นกัน เพราะในความรู้สึกของผู้เขียนนี่คือหนังโนแลนที่การแสดงดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา! (หมายถึงโดยรวมทั้งหมดน่ะนะ ถ้าส่วนบุคคลก็ยังมีโจ๊กเกอร์ของ Heath Ledger มาค้ำบัลลังอยู่) นักแสดงทุกคนเข้าถึงบทบาทมาก ๆ แม้จะมีตัวละครเยอะจนจำไม่หวาดไม่ไหว แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงอิมแพ็คของแต่ละตัวละคร
แถมยังเรียกได้ว่าเป็นหนังที่รวมทัพนักแสดงมาเยอะมาก ๆ หลายคนคือดีกรีออสการ์ด้วย (บางคนเข้ามาไม่กี่นาที 55) Cillian Murphy, Robert Downy Jr., Emiley Blunt, Florence Pugh, Matt Damon, Rami Malik, Casey Affleck, Kenneth Branagh, Jason Clarke และที่หลาย ๆ คนอาจไม่ทันสังเกต Gary Oldman ในตำนาน (กอร์ดอนใน The Dark Knight และซีเรียส แบล็คใน Harry Potter) กับบทประธานาธิบดี Truman
สิ่งที่ผู้เขียนอยากรีวิวมากที่สุดคือเนื้อเรื่องและการเล่าเริ่องของหนังเรื่องนี้ ขอเริ่มจากเรื่องย่อแบบไม่สปอยล์ก่อน ส่วนการวิเคราะห์แบบสปอยล์ยับอยู่ด้านล่าง
เมื่อพูดถึงระเบิดนิวเคลียร์ชื่อหนึ่งที่คนมักนึกถึงก่อนย่อมเป็น Einstein กับสมการ E=mc^2 อันโด่งดัง แต่อันที่จริงแล้วแม้ทฤษฎีของเขาจะเป็นรากฐาน แต่ตัว Einstein ไม่ได้มีส่วนในการสร้างระเบิด หากแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนที่อาจไม่ได้โด่งดังเท่าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการระเบิดนิวเคลียร์ คนผู้นั้นก็คือ J. Robert Oppenheimer
Oppenheimer เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิวที่ไปศึกษาร่ำเรียนวิทยาศาสตร์ที่ยุโรป เขาได้นำเอาทฤษฎีควอนตัมจากทางยุโรปมาเผยแพร่ในอเมริกา ที่ซึ่งในขณะนั้นยังมองไม่เห็นความสำคัญของควอนตัมกันนัก หากแต่ควอนตัมไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขานำกลับมา เขายังรับเอาความคิดฝ่ายซ้ายกลับมาด้วย และความสัมพันธ์กับคนจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตของเขานั่นเองที่ย้อนกลับมาเป็นข้อแคลงใจของสหรัฐภายหลังสงครามโลกว่าตัวเขาเป็นสายลับ
แม้ในช่วงสงครามเขาจะลงความเห็นว่าอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอาวุธที่หยุดยั้งทุกสงคราม เพราะจะไม่มีใครกล้ารบกันอีก กล่าวคือนิวเคลียร์คือปีศาจที่จำเป็น แต่คน ๆ หนึ่งจะสามารถแบกรับความรู้สึกผิดที่ได้มอบมันให้แก้มวลมนุษยชาติได้หรือไม่? นั่นคือหนึ่งในคำถามที่หนังเรื่องนี้ถามเราซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ
ประวัติย่อ ๆ ข้างต้นน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะถ้าบังเอิญไปรู้บางส่วนมากไปอาจสูญเสียอรรถรสในการดูไปบ้าง 55 (ผู้เขียนดันไปฟังประวัติเขามาก่อนดูแล้วรู้สึกพลาดไปนิด 55)
โดยชีวประวัติที่ตัวนำมาอ้างอิงนั้นมาจากหนังสือรางวัล Pulitzer ชื่อ American Prometheus ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่า Oppenhiemer คือ Prometheus ทึ่มอบไฟให้กับมนุษย์ จึงต้องรับโทษทัณฑ์จากสวรรค์ ดังที่ตัวหนังเองก็ได้นำมาโควตไว้ก่อนเริ่มเรื่อง
บางคนอาจกลัวว่าหนังเรื่องนี้มีเรื่องวิทยาศาสตร์เยอะและอาจดูไม่เข้าใจ แต่เรามองว่าไม่เลยครับ หนังเรื่องนี้มีวิทยาศาสตร์มาเป็นกับแกล้มเสียมากกว่า หนังมันเน้นหนักไปที่การเมืองและประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นมากกว่า แต่ทุก ๆ ส่วนก็ไม่ได้จำเป็นต้องปูพื้นไปก่อนดูหรอกครับ เข้าไปดูได้เลยแหละ ไม่ต้องกลัวเรื่องหนังมันเลือกคนดูหรืออะไรหรอก เรามองทุกคนน่าจะติดตามหนังได้จนจบ แล้วถ้าอยากรู้อะไรเพิ่มก็ค่อยหาเพิ่มหลังดู
ส่วนใครที่รู้เรื่องพวกนี้มาอยู่แล้วบ้าง พอมาดูอาจจะอินมากกว่าเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นเกล็ดประวัติศาสตร์สงคราม, การ cameo ของเหล่านักวิทยาศาสตร์มากหน้าหลายตา (ยังไม่สปอยล์ละกันว่ามีใครอีกนอกจาก Einstein ที่โผล่ตั้งแต่ในตัวอย่าง) และยิ่งถ้าใครอินการเมือง ก็น่าจะยิ่งอินเรื่องนี้ไปอีก (ช่วงนี้คนไทยกำลังอินการเมืองหนักด้วยสิ)
แม้ตลอดความยาวตลอด 3 ชั่วโมงของหนัง แทบจะมีแต่บทสนทนาที่เต็มไปด้วยข้อมูล แต่เรากลับแทบไม่รู้สึกเบื่อเลยแม้แต่น้อย ยกเว้นก็เพียงแต่ช่วงต้น ๆ ของชั่วโมงที่ 3 ที่เราแอบรู้สึกว่าอารมณ์มันดรอปลง แต่ไม่นานนักตัวหนังก็ดึงความสนใจของเรากลับเข้าไปได้
ช่วงต้นหนังจุดความสนใจของเราได้ในทันที แต่นั้นอาจจะเพราะเรารู้ประวัติคร่าว ๆ มาก่อนแล้ว รวมถึงความอินในเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองของตัวเราเองด้วย จึงไม่อาจตอบแทนทุกคนได้ว่าจะจุดติดเร็วแบบเราไหม (คนที่นั่งดูข้าง เราในโรงคืออยู่ ๆ ก็ลุกออกไปตอนต้นชั่วโมงที่สาม แล้วไม่กลับเข้ามาเลย อาจเป็นตัวอย่างนึงของคนที่ไม่อิน 55 รึเราไปทำอะไรให้เขารำคาญรึเปล่าหว่า)
ดังนั้นถ้าถามว่าหนังเรื่องนี้ไม่เกรงใจคนดูจริงไหม? ก็อาจมีบ้างจริง ๆ เพราะการปูเรื่องของหนังคือการโยนผู้ชมเข้าไปกลางเรื่องเลย ให้ผู้ชมพยายามประติดประต่อเอง แต่เราคิดว่าประวัติย่อ ๆ ที่เขียนไว้ข้างบน น่าจะช่วยให้เข้าไปดูแล้วต่อติดได้ไม่มากก็น้อย
ยังไงก็ขอย้ำอีกครั้งถ้าใครอยากดูก็ไม่ต้องไปกลัวมันครับ เข้าไปดูเลย 555 อะไรที่ยังไม่เก็ทก็ข้าม ๆ ไปก่อน แต่ถ้าดูแล้วไม่ชอบไม่อิน ไม่เข้าใจเลย ก็ไม้ต้องน้อยใจหรอกครับ ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบหนังเรื่องนี้ และไม่ได้มีใครบังคับให้คุณชอบ คุณไม่จำเป็นต้องชอบมันเพียงเพราะคนจำนวนมากยกย่องมัน หรือถ้าคุณไม่ได้รู้สึกอยากดู จะไม่เข้าไปดูก็ไม่แปลกเช่นกัน
หลังจากนี้จะเริ่มสปอยล์แล้ว แต่ขอสรุปสั้น ๆ ไว้ตรงนี้ว่า ถ้าวัดตามความชอบส่วนตัว Oppenheimer นั้นไม่ใช่หนังโนแลนอันดับหนึ่งในใจเรา [Top 5 ตามลำดับ ณ ตอนนี้คือ The Prestige, Memento, Oppenheimer, Inception, Interstellar] ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราชอบท่าทางการเล่าในหนังรุ่นแรก ๆ ของโนแลน แต่ถ้าวัดกันในเชิงพลังของหนังที่ทำให้เรารู้สึกระหว่างดูและความกลมกล่อมลงตัวแล้ว เราเชื่อว่า Oppenheimer ก็คือหนังของโนแลนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในตอนนี้ และมันคือหนังที่เรามอบ 10 คะแนนเต็มให้ได้อย่างเต็มปาก
ดูจบแล้วต้องถามโนแลนว่า "What's next?"
เราต่างทราบ โลกนี้ไม่มีวันเหมือนเก่า
บางคนหัวร่อ บางคนร่ำไห้ หากส่วนมากยังคงเงียบงัน
ผมนึกถึงโศลกหนึ่งจากคัมภีร์ภควัตคีตาของฮินดู
วิษณุพยายามเกลี่ยกล่อมอรชุนให้เขารับภาระนี้
เพื่อให้ดูน่ายำเกรง วิษณุสำแดงกายในร่างหลายกรแล้วกล่าว
'บัดนี้ข้าได้กลายเป็นความตาย ผู้ทำลายซึ่งโลกา'
ผมเชื่อว่าเราต่างมีความคิดนี้ผุดเข้ามาในหัว
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
J. Robert Oppenheimer
[🚨ต่อจากนี้จะมีสปอยล์] ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าผู้เขียนเป็นสาวกโนแลนคนหนึ่ง ดังนั้นรีวิวนี้อาจมีความลำเอียงไม่มากก็น้อย การตีความทั้งหมดในที่นี้เป็นมุมมองส่วนตัว และผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีหนังที่ดีหรือแย่อย่างเป็นสากล ไม่จำเป็นเลยที่คนดูทุกคนจะต้องรักหนังเรื่องนี้ ทุกอย่างขึ้นกับการตีความและประสบการณ์ส่วนบุคคล ดังนั้นถ้าคุณเห็นต่าง จงกล้าที่จะแสดงมันออกมา
อีกประเด็นหนึ่งที่เราอย่างกล่าวถึงก่อนไปต่อก็คือ สำหรับเราหนังชีวประวัติ ไม่เท่ากับสารคดีชีวประวัติ พูดอีกอย่างนึงก็คือหนังชีวประวัติไม่จำเป็นต้องเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะผู้สร้างก็มีธงในใจว่าเขาต้องการสะท้อนเรื่องราวของบุคคลคนนี้ออกมาเพื่อเล่าประเด็นอะไร หลาย ๆ ฉากก็เป็นการใส่เข้ามาเพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ผู้สร้างต้องการจะเล่าเท่านั้น
สำหรับใครที่ไปดูมาแล้ว หรือใครที่ได้ยินเสียงเล่าอ้างมาบ้างแล้ว จะทราบว่าหนังเรื่อง Oppenheimer ที่แม้จะเป็นหนังชีวประวัติ แต่โนแลนก็เลือกที่จะเล่าเรื่องแบบท่ายาก มีฉากที่เป็นสี Fission กับฉากที่เป็นขาวดำ Fusion เล่าสลับกันไปมา บางคนมองว่าการสลับสีเป็นตัวระบุ timeline
ช่วงต้นเรื่องเราก็คิดแบบนั้นเช่นกัน แต่ก็พยายามหาคำตอบว่าแล้วทำไมกันนะ หนังเรื่องนี้ถึงต้องเล่าแบบไม่เป็นเส้นตรงแบบนี้ แต่แล้วเราก็เริ่มสังเกตว่าในเส้นรื่องสีกับเส้นเรื่องขาวดำมันเริ่มมีฉากร่วมกันขึ้นมา เราเลยเริ่มตระหนักว่าเส้นแบ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่อง timeline
สำหรับใครที่เคยดู Memento คงไม่มีทางลืมไปได้แน่ว่าโนแลนเลือกใช้ฉากสีเล่าเรื่องถอยกลับ และฉากขาวดำเล่าเรื่องไปข้างหน้า และคนดูจะได้กุญแจในการเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดในขมวดปมสุดท้ายของเรื่องที่ฉากสีกับฉากขาวดำมาบรรจบกัน ถ้ามองว่าตอนจบคือปัจจุบัน ฉากสีก็คืออนาคตที่ค่อย ๆ ถอยกลับมา ส่วนฉากขาวดำคืออดีตที่ค่อย ๆ เดินไปข้างหน้า
ถ้าเช่นนั้นแล้วกุญแจในการตีความ Oppenheimer ถูกเปิดเผยออกมาตอนไหนล่ะ? อะไรกันแน่ที่เป็นเส้นแบ่ง? และอะไรกันแน่คือจุดประสงค์ของการเล่าเริ่องแบบนี้?
สิ่งนึงที่คนดูทุกคนคงสังเกตเห็นแน่ ๆ ก็คือช่วงต้นเรื่องหนังได้ทิ้งปมบทสนทนาระหว่าง Oppenheimer และ Einstein เอาไว้ ทั้งสองพูดอะไรกัน? และทำไมมันถึงทำให้ Einstein หัวเสีย? ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกเฉลย (รึเปล่านะ?) ในฉากสุดท้าย เรามองว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการเล่าเรื่องแบบสลับสีกับขาวดำที่จะกล่าวถึงต่อไป
ถ้าเราบอกว่าจริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้มีการเล่ากระโดดเวลาไปมาเลยคุณจะเชื่อหรือไม่? หนังมันแทบจะเป็นเส้นตรงเลยต่างหาก เป็นเส้นตรงสองเส้นที่คู่ขนานที่ไม่ได้บรรจบกันแบบใน Memento โดยตัวหนังได้ชี้เบาะแสนั้นเอาไว้ตั้งแต่เริ่มเรื่องที่มีข้อความขึ้นมาว่า Fission กับ Fusion แล้ว
เบาะแสนั้นก็คือทั้งสองเส้นเรื่องเริ่มเรื่องราวด้วยการให้ตัวละครสองตัว Oppenheimer ในฉากสี และ Strauss ในฉากขาวดำ และเรื่องราวส่วนที่เหลือนั้นก็คือคำให้การณ์ของ Oppenheimer ระหว่างพิจารณาคดี และเรื่องเล่าที่ Strauss เล่าให้ผู้ช่วยของตนฟัง ซึ่งการตัดต่อระหว่างฉากของผู้เล่ากับเรื่องเล่าไม่ได้แสดงให้ผู้ชมเห็นชัดเจนว่ามันคือเรื่องเล่าก็เพื่อหลอกลวงคนดูไปจนถึงตอนจบ
เรื่องราวของ Oppenheimer อาจจะย้อนไปไกลหน่อย นั่นคือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่เขาจะเข้าโครงการระเบิดนิเคลียร์ แต่เริ่องราวของ Strauss เริ่มต้นที่การพบกันครั้งแรกของเขากับ Oppenheimer ตอนที่ Oppenheimer จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการ Institute of Advance Study ที่มหาวิทยาลัย Princeton (ศูนย์วิจัยที่ทรงเกียรติที่สุดของอเมริกา)
ซึ่งก็คือฉากที่ Oppenheimer ได้ไปคุยกับ Einstein นั่นเอง ดังนั้นฉากนี้ถูกเล่าครั้งแรกในสีขาวดำ ก็คือมุมมองของ Strauss ที่ไม่ได้ยินบทสนทนาดังกล่าว
ฉากที่หนังเริ่มแง้มชัด ๆ ในคนดูเห็นประเด็นนี้ก็คือตอนท้ายที่ผู้ช่วยรู้แล้วว่า Strauss คือคนที่อยู่เบื้องหลังการส่งประวัติทางการเมืองของ Oppenheimer ให้กับ FBI
เราจะเห็นถึงอคติของตัว Strauss ต่อ Oppenheimer ที่ถูกย้ำด้วยความคิดที่ว่า Einstein ไม่สบหน้าตนหลังจากคุยกับ Oppenheimer และเรื่องนั้นมันฝังใจเขาอยู่ ถึงตอนนี้ผู้ช่วยของเขาโต้กลับว่า คุณไม่ได้ยินบทสนทนานั้นด้วยซ้ำ คุณแค่มโนไปเอง ทั้งสองคนอาจจะพูดถึงเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าตัวคุณหลายเท่าก็ได้ จากนั้นหนังจึงได้เล่าฉากการพบกันนั้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นฉากสี และบทสนทนาอันพรั่นพรึงของทั้งสองจึงได้ถูกเปิดเผยออกมา
การเล่าเรื่องแบบตัดสลับเช่นนั้เองที่ทำให้โนแลนสามารถวางฉากการพบกันของ Oppenheimer และ Einstein ซึ่งนับเป็นฉากสำคัญที่สุดของหนังไว้ทั้งตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่องได้ และใช้มันในฐานะปมปริศนา, ตัวเฉลยแนวทางในการเล่าเรื่อง และ(เมื่อรวมกับอีกฉากที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองพบกัน มันก็ยังทำหน้าที่เป็น)ตัวส่งข้อความสุดท้ายอันทรงพลัง ในเวลาเดียวกัน
1
ฉากที่ผู้ช่วยโต้กลับนั้นเองที่ทำให้เราถึงบางอ้อว่าการแฝงตัวมาในคราบเป็นหนังชีวประวัติทำให้เราเผลอเชื่อว่าเรื่องทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงมาตลอด แต่ไม่ใช่เลยเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องเล่าผ่านมุมมองของคนสองคนที่อาจมีอคติ เรื่องเล่าสองชุดที่ไม่ได้สอดคล้องต้องกันทั้งหมด แน่นอนว่าเรื่องของ Strauss มีอคติ แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่าเรื่องเล่าของ Oppenheimer ในฉากสีไม่มีอคติ?
[อย่างที่บอก เรามองว่าหนังชีวประวัติไม่จำเป็นต้องบอกเล่าข้อเท็จจริงทั้งหมด และผู้สร้างเลือกแนวทางที่จะเล่าเพิ่อนำเสนอได้ ซึ่งเราเห็นได้ค่อนข้างชัดว่าโนแลนไม่ได้ต้องการให้มันเป็นสารคดีชีวิตเลยจริง ๆ สังเกตได้ว่าตอนจบไม่มีการไล่ประวัติชีวิตหลังจากเหตุการณ์ในหนังแบบที่หนังชีวประวัติมักทำกัน]
ณ ตอนนั้นเองที่เรารู้สึกว่าเราคงต้องดูหนังเรื่องนี้อีกรอบ เพื่อกลับไปมองความต่างกันระหว่างเรื่องเล่าสองชุด (แต่ยังไม่ได้ไปน่ะนะ) ณ ตอนนั้นเองที่เราตระหนักว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังแนวราโชมอน
[Rachomon: ภาพยนตร์ญี่ปุ่นของอาคิระ คุโรซาวะ ที่สร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน เป็นเรื่องราวการสืบเหตุฆาตกรรมกลางป่าในยุคซามูไร ที่พยานแต่ละปาก รวมถึงหมอผีที่ให้ผู้ตายมาเข้าทรง ต่างให้การณ์กันไปคนละทิศละทาง ทุกเรื่องล้วนจริงพอ ๆ กับที่ลวง และผู้ชมจะไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ไทยเคยเอามาทำเป็นเวอร์ชั่นล้านนาในชื่อ อุโมงค์ผาเมือง]
หนังแนวราโชมอนที่ใช้สีในการแยกชุดความจริงแต่ละชุดนั้นเคยมีมาก่อนแล้ว (แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องราโชมอนต้นฉบับที่เป็นหนังขาวดำ 55) นั่นก็คือหนังจีนของผู้กำกับจางอี้โม่ว เรื่อง Hero ซึ่งเรื่องนั้นคือใช้หลากสีสันมาก ๆ ดังนั้นการเล่นฉากสีกับฉากขาวดำของ Oppenheimer จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก (แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีสัญญะอะไรแฝงอยู่อีกไหม)
ในทำนองเดียวกันหนังชีวประวัติที่ใช้แนวราโชมอนก็เคยมีมาก่อนแล้ว นั่นคือแอนิเมชันประวัติแวนโก๊ะเรื่อง Loving Vincent แต่เรื่องนั้นคนดูจะรู้แต่ต้นว่ามันคือหนังราโชมอน เพราะว่าเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครที่กลับไปสืบเรื่องราวชีวิตของแวนโก๊ะจากปากคำของคนที่ใกล้ชิดแวนโก๊ะในช่วงบ้้นปลาย
สิ่งที่ทำให้ Oppenheimer แหวกจากหนังราโชมอนทั่ว ๆ ไปก็คือมันไม่เปิดเผยตัวว่าตัวเองเป็นหนังราโชมอนจนถึงตอนท้าย มันเรียกร้องให้ผู้ชมต้องกลับมาดูมันอีกรอบหนึ่ง เพื่อดูมันในอีกกรอบความคิดหนึ่ง
เมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อน ๆ ของโนแลน ในแง่หนึ่งมันคล้าย Memento ที่ให้กุญแจในการตีความหนังในตอนท้าย อีกแง่หนึ่งก็คล้าย The Prestige ที่เรื่องราวเป็นการเล่าย้อนกลับไปของสองตัวละคร
และเมื่อเรามองว่าเรื่องฝั่ง Oppenheimer นั้นเป็นคำให้การณ์ในห้องพิจารณาคดีห้องเล็ก ๆ ห้องนั้น เราเลยคิดว่าท้ายที่สุดแล้วหนังมันอาจจะสื่อว่าผู้ชมไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ชม แต่เป็นคณะลูกขุนที่กำลังฟังคำให้การณ์ (หลังจากที่คราวก่อนพิจารณาโดยไม่มีลูกขุน) และหนังเรื่องนี้ก็คือการที่ Oppenheimer ต้องมาเปลือยชีวิตตนเองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหวังอภัยโทษจากทุก ๆ คน
[เอาเข้าจริงแอบมีความคล้ายกับพล็อตนวนิยายเรื่องคนนอกของอัลแบร์ การ์มูร์อยู่ไม่น้อย]
หากไม่นับฉากบทสนทนาริมสระ (แหนะ ๆ อย่าคิดไปเรื่องอื่นล่ะ) Einstein ปรากฏตัวในอีกฉากหนึ่ง นั่นคือฉากที่ Oppenheimer เอาสมการความเป็นไปได้ที่ระเบิดจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่อนันต์ที่จะทำลายโลกทั้งใบ มาให้ Einstein ช่วยคำนวณ
เข้าใจว่าตามประวัติ Einstein ไม่น่าใช่คนที่ชอบคำนวณนัก Einstien เป็นคนเสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่ก่อนที่มันจะสมบูรณ์เขาเอาเรื่องนี้ไปพูดในงานสัมนา ปรากฏว่ามีนักคณิตศาสตร์คนดัง David Hilbert เอาไปคิดต่อจนสำเร็จก่อน Einstein เสียอีก แต่ Hilbert ยกความดีความชอบให้ Einstein ทั้งหมด จึงค่อนข้างเป็นไปได้ว่าฉากการพบกันทั้งสองครั้งนี้เป็นเรื่องแต่งที่หนังเติมเข้ามาเพื่อส่งข้อความสุดท้ายที่ว่าแม้ปฏิกิริยาลูกโซ่ของระเบิดจะไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางสังคมที่อาจทำลายล้างโลกได้เกิดขึ้นแล้ว
ในฉากที่ Oppenheimer เอาสมการไปให้นั้น Einstein กำลังเดินทอดน่องกับเพื่อนซี้ในสวนที่ Princeton ตัวละครที่โผล่มาแวบเดียวนี้เป็นตัวละครที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คนผู้นี้คือนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่นามว่า Kurt Gödel
Gödel เป็นนักคณิตศาสตร์สายตรรกศาสตร์ที่สนใจศึกษาโครงสร้างทางคณิตศาสตร์อย่างมาก ซึ่งในหนังก็แซวจุดนี้โดยให้แกพูดว่า "ต้นไม้คือโครงสร้างที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุด" ถึงแม้ว่า Gödel จะไม่ใช้สายทฤษฎีกราฟ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหนังคงล้อคำว่า Trees กับกราฟต้นไม้ในทฤษฎีกราฟ
ในหนัง Einstein แซวว่า Gödel กลัวนาซีวางยาในอาหาร ซึ่งเอาเข้าจริงมันคือเรื่องน่าเศนฝร้าอย่างนึงของอัจฉริยะผู้นี้ เพราะเขามีอาการหวาดระแวงจนไม่กล้ากินอาหารใดก็ตามยกเว้นที่ภรรยาทำ ตอนหลังภรรยาเขาป่วย สุดท้ายเขาเลยขาดสสรอาหารจนเสียชีวิต
ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าต้องเขียนถึง Gödel ไว้สักหน่อยก็เพราะว่าไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นเขาในหนังเรื่องนี้เลย และนั่นมันทำให้เราเศร้า 😢
ปล. การเขียนรีวิวแบบตัวอักษรเรียงเป็นตับเช่นนี้ หาใช้การล้อเลียนหนัง 3 ชั่วโมงที่เอาแต่พูดรัว ๆ ไม่
ปล. 2 ใครอ่านจบ ขอคารวะ 555 ตอนพิมพ์ก็พิมพ์ซะเพลินเชียวนะครับแหม๋
ปล. 3 ฉากนึงที่แอบหลุดขำคือตอนที่บอกว่ามีเมิองเป้าหมายที่เป็นไปได้อยู่ 12 เมืองก่อนที่จู่ ๆ ก็เปลี่ยนใจเป็น 11 ตอนแรกนึกว่าหนังจะปล่อยให้ค้างคาไว้เป็น Easter Egg สำหรับคนบังเอิญรู้เกร็ดนี้อย่างเรา 555 แต่สรุปหนังก็เฉลยออกมาโต้ง ๆ ว่าแกตัดเกียวโต ออกเพราะชื่นชมในความสวยงามที่เคยสัมผัสระหว่างดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ซึ่งก็ดีแล้ว ถ้าเกียวโตโดนระเบิดคงไม่เหลือมรดกโลกมาให้เราเห็น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา