20 ส.ค. 2023 เวลา 00:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[สปอยล์] Myth & Horror of Glorified Hype: ความรู้สึกหลังการดู Oppenheimer รอบสอง

สร้างหนังสงครามอย่างไร โดยไม่อวยสงคราม
สร้างหนังชีวประวัติอย่างไร โดยไม่อวยตัวบุคคล
เขียนรีวิวหนังที่ชอบอย่างไร โดยไม่อวยตัวหนังและผู้กำกับ
It's paradoxical, but yet it is.
"ใช่ มันย้อนแย้ง แต่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง"
[คำพูดของ Oppenheimer ในหนัง หลังจากอธิบายว่าสำหรับฟิสิกส์ควอนตัม อนุภาคเป็นคลื่น และคลื่นก็เป็นอนุภาค]
ในรีวิว Oppenheimer ครั้งแรกของผู้เขียน เราได้บอกไว้ว่าสำหรับตัวเราแล้วภาพตยนตร์ชีวประวัติหรือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเสมอไป ไม่เช่นนั้นแล้วมันคงไม่ต่างอะไรกับสารคดี นี่ยังไม่รวมถึงจุดที่ว่าแม้แต่สารคดีเองก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราควรมองว่าเป็นข้อเท็จจริงเสมอเสียด้วยซ้ำ
เรามักจะได้ยินคำว่า "ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ" ในความหมายที่ว่าผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของตนเองโดยลำเอียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตน แต่ที่จริงประวัติศาสตร์ฉบับผู้แพ้ก็มีอยู่เช่นกัน และประวัติศาสตร์ฉบับผู้แพ้เองก็คงมีความลำเอียงอยู่เช่นกัน
เมื่อเรามองว่าประวัติศาสตร์มีได้หลายฉบับ และแต่ละฉบับมีจุดประสงค์ของการเขียน มีการมองโลกด้วยเลนส์ที่ต่างกัน มีการตีความที่ต่างกัน ในแง่นี้เราจะยอมรับได้ว่าแม้ประวัติศาสตร์จะเต็มไปด้วยหลักฐานและข้อเท็จจริง มันก็ยังถูกแฝงมาด้วยสิ่งอื่นอีกมาก และเราไม่อาจเชื่อประวัติศาสตร์ฉบับใดฉบับหนึ่งได้โดยสนิทใจ เราต้องทำความเข้าใจบริบทที่ประวัติศาสตร์ฉบับนั้น ๆ ถูกเขียนขึ้นมาด้วย
ในทำนองเดียวกัน สารคดีทั้งในแบบงานเขียนและแบบภาพยนตร์ ผู้สร้างชิ้นงานย่อมมีธงในใจ มีเป้าหมายว่าตนต้องการนำเสนอแง่มุมใด มีการคัดเลือกข้อเท็จจริงที่จะนำมาเล่า และละทิ้งบางส่วนที่ไม่ต้องการกล่าวถึง ดังนั้นถึงแม้ว่าสารคดีคือสื่อที่นำเสนอข้อเท็จจริง เราก็ยังไม่ควรปักใจเชื่อมันเต็ม ๆ เสียทีเดียว
ทีนี้สำหรับภาพยนตร์อันเป็นสื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงส่วนหนึ่ง และเพื่อสื่อสารข้อความที่ผู้สร้างต้องการอีกส่วนหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์แนวชีวประวัติหรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ผู้สร้างย่อมมีอิสระที่จะบิด เสริมเติม หรือคัดเลือก เหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสิ่งที่ตนเองต้องการมากยิ่งกว่าสารคดีเสียอีก
สำหรับเรื่อง Oppenheimer เราลงความเห็นไว้ในการรีวิวครั้งแรกว่าที่จริงเรื่องทั้งหมดมันเป็นเพียงแค่เรื่องเล่า ฉากขาวดำเป็นเรื่องเล่าฉบับ Strauss ที่มีอคติต่อตัว Oppenheimer ในขณะที่ฉากสีคือเรื่องเล่าฉบับ Oppenheimer ที่กำลังเล่าในห้องพิจารณาคดี ในแง่นี้เรื่องเล่าของ Oppenheimer เองก็อาจไม่ใช่ความจริงไปเสียทั้งหมด แต่มีอาจอคติที่เข้าข้างตนเองเพื่อให้ผู้พิพากษาเเห็นใจตน
[ถ้าสงสัยว่าทำไมเราถึงตีความแบบนั้น สามารถย้อนกลับไปอ่านพาร์ทสปอยล์ของรีวิวแรกได้]
เมื่อมองในแง่นี้เราไม่อาจรู้เลยว่าจริง ๆ Oppenheimer เป็นคนอย่างไร? เขาเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่? หรือเขาเพียงแค่ต้องการให้คนอื่นมองเขาเช่นนั้น? เราไม่อาจรู้เลย และตัวหนังก็เหมือนจะไม่ได้ต้องการที่จะให้คำตอบนั้นแก่เราด้วย
ส่วนตัวเรามองว่าข้อความหลักที่หนังเรื่องนี่ต้องการจะสื่อสารกับผู้ชมคือเรื่องความโหดร้ายของสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านเรื่องราวของ Oppenheimer ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในการสร้างมัน ไม่ใช่เรื่องราวของ Oppenheimer และไม่ใช่หนังที่ต้องการอวยตัว Oppenheimer เลยแม้แต่น้อย
ตอนที่เราดู Oppenheimer รอบแรก เราเข้าไปในโรงด้วยมุมมองที่ว่าเราจะมาดูเรื่องราวของ Oppenheimer แต่พอดูมาจนถึงตอนท้ายที่เราตระหนักว่าเรื่องทั้งหมดในหนังอาจเป็นเพียงแค่เรื่องเล่า เราจึงคิดได้ว่าเราน่าจะพลาดรายละเอียดหลาย ๆ อย่างไปและทำให้เราอยากเข้าไปดูมันอีกรอบหนึ่งด้วยมุมมองและการตีความอีกแบบหนึ่ง
อีกสาเหตุหนึ่งที่เราอยากเข้าไปดูอีกรอบก็คือเราอยากลองไปดูโรง IMAX 70mm หลังจากการดูโรงธรรมดาในรอบแรก เพราะเราอยากรู้ว่ามันจะต่างกันไหม หลาย ๆ คนพูดว่าหนังเรื่องนี้ควรดูในโรง และถ้าเป็นไปได้ก็ดูในโรงที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรง IMAX 70mm เพื่อที่จะได้ดูมันในแบบที่ผู้กำกับสร้างขึ้นมาให้คุณดู แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย
เรามองว่าภาพยนตร์หรืองานศิลปะใด ๆ คือสื่อชนิดหนึ่ง ผู้สร้างอาจจะมีธงในใจว่าเขาจะนำเสนอสิ่งนี้ในแบบนี้ แต่เมื่อสื่อถูกปล่อยออกไปแล้ว เรามองว่าความหมายและการตีความในแบบของผู้สร้างไม่จำเป็นต้องติดตามตัวผลงานออกมาด้วย ตัวผลงานก็คือตัวผลงาน ไม่ได้มีความหมายในตัว แล้วพอเมื่อตัวผลงานออกสู่สายตาผู้เสพแล้ว ผู้เสพผลงานนั้นย่อมมองมันผ่านเลนส์ของตัวเอง และตีความในแบบของตัวเอง โดยสิ่งที่ได้รับอาจจะไม่ได้เหมือนกับที่ผู้สร้างต้องการเลยก็ได้ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดเลย นั่นไม่ได้แปลว่าคุณดูหนังไม่เป็น
คุณมีสิทธิ์ที่จะชอบ ไม่ชอบ ดูรู้เรื่อง ดูไม่รู้เรื่อง สามารถพูดมันออกมาตรง ๆ โดยไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย ใครที่เข้าไปดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากเห็นความอลังการของระเบิด เราก็ว่าไม่ผิดอะไร (ซึ่งสำหรับตัวเรา เราว่าหนังไม่ต้องการให้มันอลังการ เพราะหนังเป็นแนวต่อต้านสงครามและระเบิด) หรือใครที่เข้าไปดูเพื่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เฉย ๆ โดยไม่ตีความอะไร เราก็ว่าไม่ผิดเลย
การตีความในแบบของผู้เขียนดังทีกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงการตีความผ่านเลนส์ของเรา และคนอื่นอาจจะไม่ได้รู้สึกเช่นนี้เลยก็ได้ และเราจะไม่ขอเคลมเลยแม้แต่น้อยว่าการตีความแบบนี้คือสิ่งที่ Nolan ต้องการจะสื่อ
Myth and Horror of Glorified Hype คืออีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้ ช่วงที่ผ่านมา Barbenheimer กลายเป็น Hype ครั้งยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือการที่คนที่เข้าไปดูหนังทั้งสองเรื่องนี้แล้วไม่อิน ไม่กล้าที่จะพูดอย่างเต็มปากว่าไม่ชอบ หรือว่าไม่สนุก สำหรับเรื่อง Barbie บางคนบอกว่าพวกที่ดูแล้วมันอินมันคือพวกชายแท้ ในขณะที่คนที่ไม่อินกับ Oppenheimer อาจกลัวจะถูกมองว่าเป็นคนดูหนังไม่เป็นบ้าง หรือไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่รู้วิทยาศาสตร์บ้าง
นั่นแหละครับความน่าสะพรึงของปรากฎการณ์ Hype... ความไม่เท่าเทียมของอำนาจในการแสดงออกที่ควบคู่ไปกับการตามกระแสและจิตวิทยาหมู่
[Hype การที่สาธารณชนตื่นเต้นกับบางสิ่งอย่างรุนแรง อันอาจเกิดจากการบอกต่อ หรือการโฆษณา]
ใช่เราอินกับ Oppenheimer มาก และเราก็ยอมรับว่าตนเป็นติ่ง Nolan คนนึง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ชอบนักคือการบอกว่าคนที่จะดูหนัง Nolan เข้าใจได้ต้องดูหนังเป็น ต้องรู้นู่นนี่ และไม่อินกับการใส่คำนำหน้า "เสด็จพ่อ" ให้กับ Nolan เลย เพราะทั้งหมดนั้นมันคือการสร้างชนชั้นในการชมภาพยนตร์ขึ้นมา
ลองคิดถึงเรื่องหนึ่งในสังคมไทย สิ่งที่ยึดกุมจิตใจคนไทยจำนวนมากมานานหลายปี ในขณะที่กลุ่มคนที่ไม่อินกับสิ่งนี้ได้แต่ปิดปากเงียบดูสิ นั่นแหละความน่าสะพรึงของปรากฏการณ์ Hype... มันคือการที่คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจชอบธรรมมากกว่าและผลักดันให้คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่กล้าที่จะแสดงหรือแม้แต่ยอมรับความคิดของตน
หรือแม้แต่สถานการณ์การเมืองตอนนี้ที่ดูเหมือนผู้สนับสนุนก้าวไกลคือคนที่กล้าเสียงดังอย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่เลือกพรรคอื่นอาจจะไม่ค่อยกล้าออกตัวแรงเสียเท่าไหร่ เราไม่ได้บอกว่าการกระทำของผู้สนับสนุนก้าวไกลเป็นเรื่องผิดหรอกนะ หรือไม่ได้ต้องการด้อยค่าอะไรใคร เราเองก็เลือกก้าวไกล แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจปฎิเสธได้ก็คือปรากฎการณ์นี้มันก็คือ Hype แบบหนึ่ง
[ถ้าเราไม่ได้เลือกก้าวไกล เราจะกล้าพิมพ์แบบนี้ไหมนะ? นั่นเองก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ในอีกแง่หนึ่งถ้าเราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้ เราจะมาพิมพ์รีวิวแบบนี้ไหมนะ?]
แน่นอนว่าการเมืองไทยยังมีความไม่เท่าเทียมในเชิงอำนาจอยู่มาก แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับคนที่เลือกก้าวไกลที่จะไปด้อยค่าเสียงที่เลือกพรรคสองลุง ภูมิใจไทย หรือแม้แต่เพื่อไทย ทุกเสียงของประชาชนยังควรที่จะมีค่าเสมอกัน
การ Hype เรื่องโรง IMAX และ IMAX 70mm ก็เช่นกัน เราเคารพความคิดนะสำหรับคนที่บอกว่ามันดีกว่าโรงธรรมดามาก แต่เราไม่อินกับการบอกว่าควรจะต้องไปดูใน IMAX และสำหรับตัวเราที่ได้ไปลองมาทั้ง 70mm และโรงธรรมดา เราขอพูดตรง ๆ ว่าเราไม่ได้รู้สึกแตกต่างเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราเสพเนื้อเรื่องของหนังมากกว่างานภาพก็เป็นได้
เราไม่ใช่นักวิจารณ์ที่มีหลักการ ไม่เคยเรียนรู้วิชาใด ๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่นั้นทำให้เราหมดสิทธิ์ในการวิจารณ์ไหม? เราไม่ได้ไม่ยอมรับในศาสตร์แห่งการผลิตและวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่เรามองว่าศาสตร์เหล่านี้มันถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนหนึ่ง และถูกสร้างเป็นมาตรฐาน ทั้งการตีความสัญลักษณ์ การหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในหนัง การให้คะแนนหรือรางวัลต่าง ๆ ท้ายที่สุดแล้วสำหรับคนดูแต่ละคน การจะชอบไม่ชอบ มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวล้วน ๆ
จากคนโหวต 361,000 คนบนเว็บ IMDb ตอนนี้ Oppenheimer ได้คะแนนอยู่ที่ 8.6 ซึ่งเป็นคะแนนจากฝั่งผู้ชม สิ่งนี้สามารถยืนยันว่ามันเป็นหนังที่ "ดี" อย่างเป็นสากลได้หรือไม่นะ เราก็ยังคงตอบว่า "ไม่" อยู่ดี แน่นอนว่าเราก็เป็นคนนึงที่ดูคะแนนพวกนี้ก่อนไปดูหนัง แต่เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งยืนยันว่ามันจะเป็นหนังที่ดี หรือคุณต้องชอบหนังเรื่องนั้น ที่จริงดีหรือไม่ดีล้วนเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ต่างจากชอบหรือไม่ชอบ
อันที่จริงหนังที่ Hype กันมาก ๆ ก็อาจจะส่งผลทางจิตวิทยาให้คนกดคะแนนสูง ๆ ให้ นี่ยังไม่รวมถึงการที่ Voter ของ IMDb ส่วนมากน่าจะเป็นคนอเมริกาเสียด้วย ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้วมันไม่ใช่คะแนนที่มีความ Universal ใด ๆ เลย
สุดท้ายแล้วเราไม่มีทางรู้หรอกว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องหนึ่งหากเราไม่ได้ดูมัน เหมือน ๆ กับที่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าแมวของชโรดิงเจอร์ตายหรือไม่ตาย หากเราไม่ได้เปิดกล่องเพื่อสังเกตมัน
[แมวของชโรดิงเจอร์ Schrödinger's cat หรือ Schrödinger's paradox เป็นการทดลองทางความคิดที่ใช้อธิบายแนวคิดทางควอนตัมฟิสิกส์ ที่ว่าการสังเกตปรากฎการณ์หนึ่ง ๆ ส่งผลกระทบต่อตัวปรากฎการณ์เองด้วย ซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าถ้าเราเอาแมวตัวหนึ่งใส่ไว้ในกล่องปิดที่มีกลไกยาพิษที่มีโอกาสทำงาน 50/50 หากเรายังไม่เปิดกล่องออกมา แมวตัวนั้นย่อมทั้งเป็นและตายเท่า ๆ กัน เราไม่มีทางรู้เลยจนกว่าจะสังเกตมัน]
ก่อนหน้า Barbenheimer หนังเรื่องนึงที่ Hype กันมาก ๆ ก็คือ Avatar: The Way of Water ซึ่งตัวผู้เขียนไม่อินเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าคนจำนวนมากจะชมกันอย่างล้นหลาม
แล้วเรื่อง Hype นี่มันเกี่ยวอะไรกับหนัง Oppenheimer อย่างนั้นหรือ? สำหรับเรามันเกี่ยวอย่างมากเลย มันมีอยู่ฉากหนึ่งของหนังที่เมื่อดูครั้งแรกเรารู้สึกว่ามันทั้งสยองและทรงพลัง เมื่อเข้าไปดูครั้งที่สองเรายิ่งรู้สึกหนักเข้าไปอีก ผสมกับความรู้สึกเศร้าและอัดอั้นอย่างน่าประหลาด
ฉากนั้นก็คือฉากที่ Oppenheimer กำลังกล่าวสุนทรพจน์หลังการยิงระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น
มันมีเสียงที่เราได้ยินมาตลอดทั้งเรื่อง (เอาเข้าจริงก็ตั้งแต่ตัวอย่างหนัง) มันคือเสียงรัวของอะไรบางอย่างที่ตัวหนังจะมาเฉลยในฉากนี้ว่ามันคือเสียงของการกระทืบเท้าโดยพร้อมเพรียงของบรรดาคนที่ฟังสุนทรพจน์
นั่นแหละคือความน่าสะพรึงของ Hype สำหรับเราเสียงกระทืบเท้านั้นคือเสียงที่สยองขวัญเป็นที่สุด มันน่าสยองขวัญเสียยิ่งกว่าภาพหลอนที่ Oppenheimer เห็นคนในห้องประชุมนั้นถูกระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก
เมื่อคนจำนวนมากกำลังดีใจโดยพร้อมเพรียงกับชัยชนะในสงคราม อันเป็นผลมาจากผลงานของตน เมื่อคนจำนวนมากต่างเห็นว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ถึงกระนั้นก็มีบางคนที่ยืนอาเจียนอยู่นอกห้องประชุม รวมถึงตัว Oppenheimer ที่รู้สึกหลอนกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ใช่ เราไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากสหรัฐไม่ได้ปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ใส่ญี่ปุ่น เราไม่มีทางรู้เลยว่าสงครามจะคลี่คลายไปในทางไหน? สำหรับคนในช่วงเวลาก่อนการปล่อยระเบิด สภานการณ์ตอนนั้นก็คงไม่ต่างกับแมวของชโรดิงเจอร์ ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จนกว่ามันจะเกิดขึ้น
บางคนมองว่าถึงครั้งนั้นไม่มีการใช้นิวเคลียร์ใส่ญี่ปุ่น ในเมื่อระเบิดนิวเคลียร์ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มันย่อมต้องถูกลองใช้กับเมืองใดสักเมืองหนึ่งในที่สุดอยู่ดี "พวกเขาจะไม่กลัว จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจ และพวกเขาจะไม่มีวันเข้าใจจนกว่าพวกเขาจะได้ใช้มัน" นั่นคือประโยคจากหนังที่แสดงถึงทัศนคติของ Oppenheimer ที่ว่าระเบิดปรมาณูนี้จะเป็นอาวุธที่หยุดทุกสงคราม เพราะเมื่อผู้คนได้เห็นประสิทธิภาพของมัน พวกเขาจะไม่มีทางกล้าก่อสงครามอีก
การยิงระเบิดนิวเคลียร์ครั้งนั้นชอบธรรมหรือไม่? บางคนว่าญี่ปุ่นกำลังจะยอมแพ้แล้ว บางคนบอกว่านางาซากิคือการยิงที่เกินจำเป็น (ในหนังมีฉากที่ถกเถียงถึงแผนการยิงว่าต้องยิงสองครั้งเพื่อให้ญี่ปุ่นตระหนักว่าอเมริกาสามารถยิงได้เรื่อย ๆ) บางคนบอกว่าสหรัฐจำเป็นต้องยิงเพื่อให้คนในชาติรู้สึกว่าเงินภาษีที่ลงไปกับการพัฒนาระเบิดไม่สูญเปล่า ท้ายที่สุดก็เป็นการยากที่จะตอบ และเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าหากเป็นเราในสถานการณ์นั้น เราจะตัดสินใจอย่างไร
ทั้งหมดที่กล่าวนี้ผู้เขียนไม่ได้ต้องการบอกว่าอเมริกาทำสิ่งที่ถูกต้อง เราในฐานะคนปัจจุบันได้เพียงแต่ยอมรับความจริงว่าการยิงครั้งนั้นได้เกิดขึ้น และเรียนรู้จากมัน โดยไม่ไปยกย่องหรือด่าทออย่างสุดโต่ง
ภายหลังสงคราม แต่่ละชาติจดจำเรื่องราวแตกตต่างกันไป หลายประเทศจดจำการกระทำอันเลวร้ายของญี่ปุ่น การข่มขืนที่นานกิงและหญิงบำเรอทหารในเอเชียหลายประเทศอย่างจีนและเกาหลี การสร้างทางรถไฟมรณะที่กาญจนบุรี สำหรับญี่ปุ่นเอง ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้ในวิชาประวัติศาสตร์ชาติตนเสียเท่าไหร่ และหลาย ๆ ชาติยังคงเรียกร้องคำขอโทษที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมกล่าว
แน่นอนว่าความโหดร้ายเกิดขึ้นระหว่างสงคราม แต่การเลือกที่จะเล่าสิ่งเหล่านี้ เป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชนะและการยิงระเบิดนิวเคลียร์หรือไม่? ระหว่างสงครามเองในอเมริการก็มีการสร้าง propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อที่ลดทอนความเป็นคนของประเทศศัตรู เพื่อสร้างความคิดให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะทหาร ว่าตนมีความชอบธรรมในการสังหาร และสิ่งเหล่านี้เองก็คงเป็นเหตุให้เกิดการ Hype ของชัยชนะในหมู่คนอเมริกาที่ฟังข่าวการยิงระเบิดนิวเคลียร์ในตอนนั้น จนหลงลืมถึงชีวิตของคนญี่ปุ่นที่ถูกระเบิด
นั่นเองที่ทำให้เรารู้สึกสะพรึงกับฉากและเสียงการกระทืบเท้าโดยพร้อมเพรียงนั้น มันสะท้อนหลอนลึกลงในใจของเรา และทำให้เรารู้สึกอัดอั้นอย่างอธิบายไม่ถูก
ระหว่างสงครามเย็นอเมริกาก็ก่ออาชญากรรมสงครามไว้ไม่น้อย ในเวียดนาม เกาหลี คำถามคือทำไมเรื่องราวเหล่านี้ดูไม่ได้ถูกเน้นย้ำเท่ากับความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่น เพราะอเมริกายอมรับความผิดของตนมากกว่าญี่ปุ่นงั้นหรือ? หรือเพราะมันไม่ได้รุนแรงเท่า? หรือที่จริงเป็นเพียงเพราะประวัติศาสตร์มองว่าผลสุดท้ายของสงครามเย็นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม? นั่นเองก็เป็นสิ่งที่น่าคิดประการหนึ่ง
ประเทศไทยก็ดูจะมีความทรงจำต่อสงครามโลกในแบบของตนเอง เราไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าตนเข้าร่วมฝั่งญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันภาพจำเกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นของคนไทยคือความรักโรแมนติกของโกโบริและอังศุมาลิน นวนิยายและละครเรื่องคู่กรรมถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อลบภาพจำอันโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นหรือไม่? นั่นก็เป็นอีกประการหนึ่งที่น่าขบคิด
ประวัติศาสตร์ไม่เคยใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอดีต มันเป็นเพียงเรื่องเล่า (narrative) ผ่านมุมมองที่ต่างกันของผู้เขียน ที่อ้างอิงจากเศษซากแห่งหลักฐานที่หลงเหลือมา ปัญหาคือบ่อยครั้งตรรกะของตัวเรา และการศึกษา มักพยายามทำให้เราเชื่อว่าความจริงมันมีเพียงหนึ่งเดียว ปัจจุบันคนเริ่มปฏิเสธเรื่องเล่าหลักของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมไทย แต่ในขณะเดียวกันบางคนก็ปฏิเสธมันด้วยความเชื่อที่ว่ามันเป็นเรื่องโกหกและยังมีประวัติศาสตร์ชุดที่เป็นจริงอีกชุดหนึ่งอยู่
เราไม่คิดว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเป็นเรื่องโกหก มันเป็นเพียงการตีความแบบหนึ่งที่ผู้เขียน เขียนมันขึ้นเพื่อให้มันรับใช้สังคมยุคหนึ่ง เราไม่เชื่อว่ามีประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงหนึ่งเดียวอยู่ การตีความแต่ละแบบล้วนเป็นจริงในกรอบของตัวเอง สิ่งที่น่ากลัวจึงมิใช่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม แต่คือการที่เรื่องเล่าชุดหนึ่งมีอำนาจเหนือเรื่องเล่าชุดอื่น ๆ ทั้งหมด มันคือเผด็จการเชิงประวัติศาสตร์ เราเชื่อในการดำรงอยู่ร่วมกันของทุก ๆ เรื่องเล่า ไม่ว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นจะขัดแย้งกันเพียงใดก็ตาม
[ซึ่งเราได้อิทธิพลทางความคิดแบบนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ธงชัย วินิจกุล ที่ถึงแม้เขาจะต่อว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม แต่ก็ต่อว่าเพียงเพราะมันเป็นเรื่องเล่าที่มีอำนาจมากเกินไป มากกว่าที่จะต่อว่าเพราะมันเป็นเรื่องโกหก]
กลับมาที่เรื่องเล่าของหนัง Oppenheimer เรื่องเล่า 2 เรื่อง โดย Strauss และโดย Oppenheimer เรื่องเล่าไหนกันแน่ที่เป็นเรื่องจริง? หรือทั้งคู่เป็นเรื่องจริงที่ขัดแย้งกัน? แต่นั่นมันเป็นไปได้หรือ?
It's paradoxical, but yet it is.
"ใช่ มันย้อนแย้ง แต่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง"
เราว่ามันเป็นไปได้ Strauss ไม่ได้โกหกหรอก เขาแค่เล่าเรื่องจริงในมุมมองของเขาเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับที่ Oppenheimer เล่าเรื่องจริงในมุมมองของตน
เราในฐานะคนดูได้เพียงแต่มองกล่องบรรจุแมวของชโรดิงเจอร์ที่ปิดอยู่
การเข้าไปดู Oppenheimer เป็นรอบที่สอง ด้วยมุมมองการตีความแบบที่เราคิดได้หลังการดูรอบแรกจบทำให้เราสังเกตเห็นรายละเอียดบางจุดที่พลาดไปในการดูครั้งแรก เช่น เรื่องราวในโทนขาวดำ ตัว Oppenheimer จะดูแสดงอารมณ์ความรู้สึกน้อยกว่าเรื่องเล่าในโทนสี
อีกสิ่งหนึ่งที่เราสังเกตคือการแฝงเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์มาในการเล่าเรื่อง อย่างเรื่องของ Strauss กับ Oppenheimer อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ยังมีฉากที่ Oppenheimer ฉีดไซยาไนด์ใส่แอปเปิ้ล (เข้าใจว่ามีคนเล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้จริง ๆ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่) แล้วกังวลถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น สุดท้ายเขาไปหยุดเอาไว้ทัน ซึ่งก็ทิ้งให้เราสงสัยว่าหากเขาไปหยุดเอาไว้ไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น?
อีกฉากนึงก็คือตอนที่ Oppenheimer ได้ข่าวการเสียชีวิตของ Jean Tatlock คนรักของเขา เราจะได้เห็นภาพมโนของ Oppenheimer ว่า Jean Tatlock เสียชีวิตอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว Oppenheimer ไม่รู้ มโนภาพนั้นมันจึงเป็นเพียงความน่าจะเป็น ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามโนภาพของ Oppenheimer มีสองแบบ แบบนึงคือ Jean ฆ่าตัวตาย ส่วนอีกแบบคือ Jean ถูกคนกดน้ำตาย ซึ่งมโนภาพแบบหลังคงเกิดมาจากความกลัวหลังจากที่ได้รู้ว่ามีตนได้เจอกับทหารคนหนึ่งที่มีประวัติทรมานสมาชิกคอมมิวนิสต์
การสร้าง A-Bomb ของสหรัฐด้วยความไม่รู้และกลัวว่าเยอรมันจะสร้างได้ก่อน การสร้าง H-Bomb ของสหรัฐด้วยความไม่รู้และกลัวว่าโซเวียตจะสร้างได้ก่อน และท้ายที่สุดการปล่อยให้ผู้ชมต้องเสียวสันหลังกับความไม่แน่นนอนของอนาคต ด้วยคำกล่าวของ Oppenheimer ที่ว่า "ผมคิดว่าเราได้เริ่มปฏิริยาลูกโซ่ล้างโลกนั่นไปแล้ว"
ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอ (หรืออย่างน้อยก็ภายใต้เลนส์ที่ผู้เขียนมอง) ความเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินความจริงของสิ่งต่าง ๆ โดยเด็ดขาด เมื่อเราตัดสินความจริงของเรื่อง ๆ หนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งก็ถูกละเลยไป
หลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์กบอกเราว่า ยิ่งเราตรวจวัดความเร็วของอนุภาคได้แม่นยำเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสูญเสียความแม่นยำในการตรวจวัดตำแหน่งของอนุภาคนั้น...
เมื่อเราเห็นสิ่งหนึ่งชัดเจนขึ้น อีกสิ่งหนึ่งก็พร่าเลือนไปเสีย
เมื่อเราเห็นความชอบธรรมของการชนะสงคราม ความสูญเสียของสงครามก็พร่าเลือนไปเสีย
It's paradoxical, but yet it is. ชีวิตมันก็เป็นเช่นนั้นเอง
วิถี (เต๋า) ที่สามารถอธิบายได้ มิใช่วิถึที่จีรัง
นามที่สามารถให้นามได้ มิใช่นามนิรันดร์
สิ่งไร้นาม คือบ่อเกิดฟ้าดิน
สิ่งที่ถูกให้นาม คือมารดาแห่งสิ่งสร้าง
ดังนั้นจงละทิ้งมุมมองเพื่อเข้าถึงวิถี
แต่จงใช้มุมมองเพื่อสังเกตการเผยตัวของมัน
ทั้งสองคือหนึ่งเดียว หากถูกแบ่งแยกโดยนาม
เต๋าเต๋อจิง โดย เล่าจื๊อ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา