7 มี.ค. เวลา 01:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Dune Part 2 อำนาจ คำพยากรณ์ และการควบคุม

"ไม่ต้องกังวลเรื่องแจกันนะ"
นีโอหันหลังไปจึงชนเข้ากับแจกันดอกไม้
ฉากสำคัญฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ที่ชวนให้เราตั้งคำถามว่าหากผู้พยากรณ์ไม่ได้เตือนนีโอเรื่องแจกัน เขาก็คงไม่ได้หันไปชนมัน เป็นเหมือนการหยอกล้อตำนานกรีกที่ตัวละครมักพยายามกระทำบางสิ่งเพื่อหลีกหนีคำพยากรเพียงเพื่อจะพบว่ามันนำเขาไปสู่คำพยากรณ์นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โครงเรื่องลักษณะนี้มีให้เห็นในเรื่องเล่ามากมายหลายยุคสมัย แม้แต่ในนิยายหรือหนังวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่อง 12 Monkeys หรือ Predestination ที่เราจะเห็นตัวละครเอกพยายามย้อนอดีตไปเพื่อแก้ไขบางสิ่งเพียงเพื่อจะพบว่าตนเองกลับไปเพื่อเติมเต็มอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้วต่างหาก
แฮร์รี่ พอตเตอร์ นีโอ หรือแม้แต่ไอรอนแมน ต่างก็เป็น The One หรือ "ผู้ถูกเลือก" ในเรื่องราวของตนเอง คำถามคือแล้วผู้ถูกเลือกมีสิทธิ์ไหมคะ พวกเขามีสิทธิ์ที่จะเลือกเส้นทางของตัวเองหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วเรายังจะอยากเป็นผู้ถูกเลือกแบบตัวเอกเหล่านี้หรือไม่ แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วเราจะได้กลายเป็นตำนาน กลายเป็นวีรบุรุษ
เป็นที่น่าตั้งคำถามอีกเช่นกันว่าถ้าหากชะตากำหนดมาเช่นนั้นแล้ว เราจะยังควรยกย่องพวกเขาหรือไม่ เพราะพวกเขากระทำลงไปโดยไม่ได้เลือกเองเสียด้วยซ้ำ
ความคิดเรื่องชะตาฟ้าลิขิต โชคชะตาที่ไม่อาจเลี่ยงเช่นนี้ แม้จะฟังดูเหมือนชุดความคิดทางศาสนาแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตรรกะคิดแบบวิทยาศาสตร์ยุคหนึ่งก็ไม่อาจพาตัวเองพ้นไปจากชุดความคิดนี้ มิหนำซ้ำยังเข้าไปตอกย้ำมันยิ่งขึ้นไปอีก
ชุดความคิดนี้มีชื่อเรียกว่า determinism (ขอไม่ใช้คำไทย เพราะคำไทยใช้แล้วก็ต้องแปลอีกทอดอยู่ดี) ที่มองว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีตทั้งหมดที่มาก่อนหน้ามัน และการเลือก/ตัดสินใจใด ๆ ในปัจจุบันนั้นแม้จะดูเหมือนเราเลือกด้วยเจตจำนงอิสระของตน แต่ที่จริงแล้วเราถูกทุกสิ่งในอดีตบังคับให้เราเลือกเช่นนั้นต่างหาก ในแง่นี้ถ้าเรารู้อดีตทั้งหมด รู้ค่าของตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราย่อมมองเห็นอนาคต
เหมือนกับที่นักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลวงโคจรของดาวในอดีตเพื่อคำนวณวิถีโคจรของมันในอนาคต
สำหรับท่านผู้อ่าน "ทำไมคุณถึงกดเข้ามาอ่านบทความชิ้นนี้ มันเป็นเพราะเจตจำนงอิสระของคุณหรือไม่ หรือเป็นเพราะคุณชอบดูหนัง คุณได้ไปดูเรื่อง Dune มาแล้ว และ blockdit ของคุณจดจำได้ว่าคุณชอบอะไรแนวนี้ แล้วอัลกอริทึมเลยยิงโพสต์นี้ไปขึ้นฟีดของคุณ"
แนวคิดแบบ determinism นี้เองก็เป็นที่มาของชุดความคิดที่ว่ามนุษย์ถูกกำหนดโดยยีนของเขาแล้ว ซึ่งนำมาซึ่งความคิดแนวเหยียดชนชาติที่รุนแรงยิ่งกว่าเก่า
Dune ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Denis Villeneuve ที่เล่นกับประเด็น เขาได้เล่นกับมันมาแล้วในเรื่อง Arrival ซึ่งตัวละครเอกของเรื่องสามารถเห็นอนาคตของตัวเอง แต่ก็ยังเลือกให้อนาคตนั้นเกิดขึ้น (หรืออันที่จริงแล้วเธอไม่ทีสิทธิ์เลือกกันแน่)
คำถามที่ควรถามอีกเช่นกันก็คือบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดสำคัญ ๆ ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก เอาเข้าจริงแล้วพวกเขาคิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตนเอง หรือที่จริงแล้วผลงานของพวกเขาเป็นเพียงผลผลิตของสังคมที่ห้อมล้อม ยังมิต้องกล่าวถึงว่าเรื่องราวของคนเหล่านี้บ่อยครั้งถูกย้ำให้ดูสำคัญยิ่งขึ้นโดยคนรุ่นหลังที่เลือกหยิบมันมาเขียนเป็นประวัติศาสตร์
ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะยังควรยกย่องบุคคลสำคัญเหล่านี้อีกหรือไม่
การเมืองคือเรื่องของการควบคุมคน แม้ว่าจะเป็นการเมืองแบยเสรีนิยม มันก็มิอาจไม่มีเรื่องของการควบคุมคน และความคิดของคน บ่อยครั้งแม้เราจะเชื่อในเรื่องความเสรีมากเพียงใด เราก็ยังตกหลุมพรางของการอยากให้คนอื่นคิดเหมือนเรา เราอยากให้คนในสังคมวาดฝันอนาคตของประเทศชาติในอย่างที่เราวาดฝัน นั่นเพราะเราไม่อาจสร้างสังคมในฝันนั้นขึ้นมาได้โดยไม่ควบคุมให้คนอื่นเชื่ออย่างเรา
มันคือหลุมพรางที่ไม่ว่าผู้ใดก็คงไม่อาจก้าวพ้น เสรี-ควบคุม สุดท้ายแล้วคือสิ่งเดียวกันจากคนละมุมมองเพียงเท่านั้น
กษัตริย์ไม่มีทางมีอำนาจได้ หากไม่มีการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของตนและตระกูลของตน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบุญ หรือผู้เป็นองตารของเทพ ประชาธิปไตยไม่มีทางยั่งยืนได้ หากไม่มีการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ รัฐ และรัฐธรรมนูญ ซึ่งการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์นี้มาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ อนุสาวรีย์ หรือโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)
ในที่ที่ยังมีคนไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ ยังมองว่ามีประชาชนที่มีความรู้ไม่มากพอ ประชาธิปไตยย่อมมิอาจเติบโตได้
เคยมีข่าวเรื่องประเทศในยุโรปที่ถกเถียงกันเรื่องการแบนการสวมใส่ฮิจาบของนักเรียนหญิงมุสลิม ด้วยเห็นว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คำถามที่น่าสนใจคือการไปห้ามคนอื่นสวมใส่ในสิ่งที่พวกเธอเชื่อนั้นเองก็นับว่าเป็นการไปละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือไม่
Dune คือหนังที่ชวนให้เราต้องมาขบคิดประเด็นเรื่อง เสรี-ควบคุมในหลากหลายระดับ และตั้งคำถามกับความชอบธรรมของตัวเราเอง
เรามักตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ ต่อความชอบธรรมของผู้อื่น แต่แล้วเราเองในฐานะผู้ไม่มีอำนาจ เราเคยตั้งคำถามกับความชอบธรรมของตัวเราเองหรือไม่ ความชอบธรรมที่ต้องการให้ผู้อื่นคิดหรือเชื่ออย่างตน เราในฐานะผู้ไม่เห็นชอบต่อเผด็จการ เคยมองเห็นความเป็นเผด็จการในตัวเราเองหรือไม่
[จากนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของ Dune]
เรื่องราวของ Dune เป็นเรื่องราวของสังคมมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายโลกยุคกลาง มีตระกูลที่เป็นใหญ่ มีการใช้การแต่งงานเพื่อดองญาติสร้างพันธมิตร แต่เบื้องลึกลงไปแล้วมีบางสิ่งที่คอยชักไยการผสมเผ่าพันธุ์ของตระกูลเหล่านี้อยู่อย่างลับ ๆ สิ่งนั้นก็คือสมาคมแม่ชีเบเนเจเซริท (เบเนเจ๊สลิ่ม หยอกเล่นนะครับ)
เหล่าแม่ชีแห่งเบเนเจเซริทสามารถรับรู้ถึงอดีตที่ฝังมาในพันธุกรรมของบรรพสตรีทั้งหมดของตน ในโลกแบบ determinism เมื่อรู้อดีตย่อมรู้อนาคต หากแต่อดีตที่พวกนางรับรู้นั้นแหว่งวิ่น ขาดอดีตของบรรพบุรุษ การผสมสายเลือดข้ามไปมา ยิ่งหลากหลายยิ่งทำให้ลูกมองเห็นอดีตจากหลายสายมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้ภาพอนาคตชัดเจนยิ่งขึ้น
เป้าหมายของเบเนเจเซริทคือการให้กำเนิดบุตรชายที่สามารถเข้าถึงอดีตของทั้งบรรพบุรุษและบรรพสตรี เพื่อเห็นภาพอดีตที่ครอบคลุม และเพื่อให้เห็นภาพอนาคตที่กระจ่าง เพิ่อที่เขาจะได้ควบคุมสังคมมนุษย์ทั้งปวง
เขาผู้นี้คือควิซาค ฮาเดอแรค หรือในความเชื่อของชาวเฟรเมนใต้ "ลิซาน อัลไกอิบ"-สรรพเสียงจากโลกอื่น ความเชื่อที่ถูกฝังรากโดย propaganda ของเหล่าแม่ชีแห่งเบเนเจเซริท
หากเราสามารถเห็นอนาคต เราจะนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่ "ดีกว่า" ได้หรือไม่ แต่แล้ว "ดีกว่า" ในที่นี้คือดีกว่าของใคร ใครเป็นผู้กำหนด เราจะมั่นใจในความเป็นฮีโร่หรือความดีย์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้จริง ๆ หรือ หากหมอแปลกชี้ให้เห็นทางออกเพียง "ทางเดียว" จากทุกความเป็นไปได้ของอนาคต เราจะควรเชื่อหมอแปลกหรือไม่
Dune เผยให้เห็นว่าพอลไม่ใช่ฮีโร่ในคำทำนายตามขนบของเรื่องแนวนี้ (หากย้อนกลับไปมองเรื่อง Harry Potter ก็น่าตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยกับความเป็นฮีโร่ของแฮร์รี่และดัมเบิลดอร์ เอาเข้าจริงแล้วดัมเบิลดอร์ต่างอะไรกับเบเนเจเซริทที่ควบคุมแฮร์รี่ให้เดินไปตามแผนของตนอยู่เบื้องหลัง ความเป็นยอดพ่อมดมอบความชอบธรรมให้ดัมเบิลดอร์กระทำเช่นนั้นได้อย่างนั้นหรือ)
ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นว่าแม้แต่โชคชะตาของผู้หยั่งรู้อนาคตยังอาจถูกควบคุมโดยเบเนเจเซริทขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง การตัดสินใจของพอลที่จะแต่งงานกับบุตรีของพระจักรพรรดิ อันที่จริงแล้วเป็นไปตามแผนของเบเนเจเซริท หรือเป็นเพราะการตัดสินใจของตัวเขาเอง
ใน Dune Part 1 เรารู้จักชาวเฟรเมนจากเพียงมุมมองของคนภายนอกอย่างพอล ผู้รู้จักชาวเฟรเมนผ่านหนังสือที่อ่านอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่พอลรู้และสิ่งที่เรารู้จากการดู ก็เป็นเพียง stereotype ของชาวเฟรเมนที่ชาวจักรวรรดิเข้าใจ แต่ใน Part 2 นี้เราได้เข้าไปทำความรู้จักเฟรเมนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และได้เห็นความแตกต่างภายในกลุ่มเฟรเมนด้วยกันเอง
ชาวใต้เชื่อในศาสนาและคำทำนาย เป็นพวกรากฐานนิยม (fundamentalist หรือที่บางครั้งคนไทยใช้คำว่ากลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่) ต่างก็เฝ้ารอลิซาน อัลไกอิบผู้จะมาปลดแอกชาวเฟรเมน (fremen) ให้เป็นอิสระ (free) อย่างแท้จริง ในขณะที่ชาวเหนือมองความเชื่อนี้คือสิ่งที่จักรวรรดิใช้เพื่อควบคุมชาวเฟรเมน และการเชื่อในมันจะทำให้เราไม่สามารถมีอิสระที่แท้จริงได้
บางคนอาจมองว่า Dune ตั้งคำถามต่อความเชื่อทางศาสนา แต่เรากลับไม่มองอย่างนั้น เรามองว่ามันตั้งคำถามต่อทุกสิ่งที่มีอำนาจในการควบคุมมากเกินไปจนแทบเบ็ดเสร็จเผด็จการ พอลมีอำนาจในการควบคุมชาวเฟรเมนใต้ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเห็นอดีตและอนาคต แต่เพราะความเชื่อของชาวเฟรเมนใต้ที่ถูกวางรากโดยเบเนเจเซริทและโหมขึ้นโดยเจสสิกา แม่ของพอล
ความเชื่อในโลกที่ดีกว่าของตัวเรา เอาเข้าจริงแล้วแตกต่างจากความเชื่อทางศาสนามากเพียงไหน ความเชื่อของเราบีบบังคับผู้อื่นอยู่หรือไม่ ในขณะเดียวกันความเชิ่อที่เรายึดถือถูกใครควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่งหรือไม่
ความเชื่อ ศรัทรา ศาสนา อุดมการณ์ ท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีผิดถูก เราเพียงแต่จำเป็นต้องตั้งคำถามกับมันอยู่เสมอ ไม่เพียงต่อความเชื่อของผู้อื่น แต่ต่อความเชื่อของเราเองด้วย และเราก็ควรระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราเชื่อไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุด พึงระลึกอยู่เสมอว่าบ่อยครั้งเราก็ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งที่เราคิดว่าเราต่อต้านเสียเอง
เราอยากได้สังคมที่เป็นทุนนิยมน้อยกว่านี้ แต่เราก็ยังอยากได้บางสิ่งเพียงเพราะ "ของมันต้องมี" เราบ่นเรื่อง Beauty Standard แต่ก็ยังอยากสวยหล่อแบบดารา ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอก สุดท้ายเราก็ไม่อาจต่อต้านสิ่งใดได้ หากเราไม่ได้รับอิทธิพลของสิ่งนั้นมา
ทั้งหมดข้างบนนี้ก็คือสิ่งที่เราอยากชวนคิด ชวนตั้งคำถามหลังจากได้ดู Dune Part 2 แต่เราจะไม่ให้คะแนนหนังเรื่องนี้ จะไม่ชี้ชวน จะไม่พูดว่ามันดี/ไม่ดี ควรดู/ไม่ควรดู เพราะการทำเช่นนั้นมันก็คือการที่เราไปพยายามควบคุมความคิดของท่านผู้อ่าน [อันที่จริงโพสต์นี้เองก็คงส่งผล (หรือควบคุม) ความคิดของผู้ที่มาอ่านไม่มากก็น้อยอยู่ดี]
ในแง่ของการแสดง เราชอบการแสดงของทุกคนในเรื่องนี้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น พอล, ชานิ, เจสสิกา, เฟย์ด-รอธา, สติลการ์ ฉากที่พอลโอบรับอำนาจของตนเองและใช้มันควบคุมผู้อื่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เหลือจะเชื่อมาก ๆ แต่มันกลับดูเรียบเนียนไปกับเรื่องอย่างน่าประหลาด, เจสสิกาที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากผู้เป็นแม่จนกลายเป็นพระแม่, ชานิตัวละครหญิงแกร่งผู้เชื่อมั่นในอิสรภาพเหนือความรัก, สติลการ์ผู้เชื่อมั่นในคำทำนาย (มีความคล้ายมอร์เฟียสจาก The Matrix), และเฟร์ดตัวละครที่มีความคู่ขนานกับพอลในหลาย ๆ เรื่อง
เอาเข้าจริงเป็นเรื่องแรกเลยที่ทำให้เราอินกับการแสดงของ Timothee Chalamet, Zendaya และ Rebecca Fergusen คือเรื่องอื่น (รวมถึง Dune Part 1) ไม่เคยส่งพลังของการแสดงให้สามคนนี้มากถึงขนาดนี้
[แอบคิดชื่อไทย (แบบขำ ๆ ไม่ pc) ให้ตัวละครในหนังเล่น ๆ 555 พอล-โพธิ์, ชานิ-ชนินนทร์, เจสสิกา-เฉดสีกา, เฟย์ดรอธา-เยดรอท่า, สติลการ์-สติกล้า, ชาไอฮูลูด-ชายหูรูด, แรบบาน-ร้าบาน, ไอรูลาน-ไอ่รูบาน]
ในเชิงงานภาพและเสียง เราก็ชอบมาก ส่วนตัวรู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในโลกทะเลทราย แถมโรงหนังคือเปิดเสียงกระหึ่มจนที่นั่งสั่นอย่างกับเรานั่งอยู่บนยานแมงปอในเรื่อง 555 ผนวกกับการไม่ได้กินน้ำระหว่างดูหนังเกือบ 3 ชั่วโมงยังทำให้เราคอแห้งราวกับอยู่กลางทะเลทราย 555
สุดท้ายนี้คงขอสัญญาว่าจะไปอ่านฉบับหนังสือให้จบ ดองมันไว้นานเหลือเกินแล้ว มีฉบับแปลเก่าที่ซื้อจากร้านมือสองมาตั้งแต่ก่อนโปรเจคหนัง Part 1 จะเกิดเสียด้วยซ้ำ 555
AS WRITTEN!
Stilgar ผู้คลั่งรัก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา