7 มี.ค. เวลา 03:15 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

แมนสรวง-ประวัติศาสตร์ในเปลือกของเรื่องเล่า

ประเด็นหนึ่งที่มักเป็นที่ถกเถียงกันก็คือหนัง/นิยายอิงประวัติศาสตร์ รวมถึงแนวชีวประวัติ จำเป็นต้องถูกต้องตามประวัติศาสตร์ขนาดไหน แต่ก่อนจะถามคำถามนั้น เราก็ต้องตั้งคำถามขึ้นไปอีกชั้นว่าแล้วประวัติศาสตร์นั้นมีความถูกต้องเป็นจริงมากขนาดไหน
ในยุคที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกตั้งคำถาม ประวัติศาสตร์กระแสรองได้เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ประวัติศาสตร์ฉบับไหนกันแน่ที่เป็นจริง ฉบับไหนกันแน่ที่โกหก จริง ๆ แล้วอดีตเป็นอย่างไรกันแน่
สำหรับเราแล้วนี้คือคำถามที่ไม่มีทางรู้คำตอบได้ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในอดีต ประวัติศาสตร์กระแสต่าง ๆ ก็เพียงเป็นการตีความจากหลักฐานที่มี การตีความย่อมมีมุมมองที่ต่างกัน ไม้เพียงเท่านั้นผู้บันทึกในอดีตแต่ละคนก็บันทึกด้วยมุมมองที่ต่างกัน เมื่อตีความหลักฐานก็ต้องย้อนกลับไปตีความจุดประสงค์ของผู้สร้างหลักฐานอีกขั้นหนึ่ง
นี่เองก็เหมือนฉากตามสืบการตายของขุนสุทินของตัวละครทั้งสาม เขม ฉัตร และว่านในแมนสรวง
เกิดอะไรขึ้นในคืนนั้น คืนที่ขุนสุทินตายในแมนสรวง ตัวละครหนึ่งเล่าเรื่องนี้ผ่านภาพที่ตนเห็นจากเงาสะท้อนในง้าว เปรียบเหมือนประวัติศาสตร์ที่อิงจากข้อเขียนของคนในอดีตที่ผู้เขียนเองก็มีกรอบการมองของตน
ประวัติศาสตร์เองก็เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เรื่องที่เลือกมาเล่า เรื่องที่เลือกจะไม่เล่า บางครั้งโดยจงใจ บางครั้งโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจะเป็นอะไรไปเล่าหากหนัง/นิยายอิงประวัติศาสตร์จะสอดแทรกความแฟนตาซีเข้าไปเสียบ้าง ความเป็นหนัง/นิยายของมันก็บอกอยู่แล้วว่ามันคือเรื่องเล่าเรื่องแต่ง อันที่จริงยังดีเสียกว่าประวัติศาสตร์ในหลักสูตร ที่รัฐอ้างว่าเป็นความเป็นจริงเสียอีก อย่างน้อยผู้เสพก็มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะเชื่อส่วนไหนของเรื่อง
ผู้ใดควบคุมประวัติศาสตร์ ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมอนาคต ผู้นั้นควบคุมปัจจุบัน
1984 จอร์จ ออร์เวลล์
เราเองไม่รู้หรอกว่าประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องแม้นสรวงนี้เป็นจริงหรือถูกต้องมากน้อยเพียงไร สถานที่ต่าง ๆ ในอดีตนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร อันที่จริงก็คงไม่มีใครรู้ได้จริง ๆ สมัยนั้นแม้จะมีกบ้องถ่ายรูปเข้ามาแล้วแต่ก็ยังไม่แพร่หลาย แม้แต่หน้าตารัชกาลที่สามก็ไม่มีการถ่ายเอาไว้ ดังนั้นรูปที่เราเห็นกันทุกวันนี้อันที่จริงแล้วก็คงเกิดจากจินตนาการไม่มากก็น้อย
ความคลุมเครือของยุคสมัยนี้เองที่ทำให้ศิลปินมีอิสระที่จะจินตนาการภาพสังคมยุคนั้น และใส่ความแฟนตาซีสีฉูดฉาดเข้าไป ไม่ว่าจะในเรื่องสถานที่ เครื่องแต่งกาย การแสดงต่าง ๆ จินตนาการเหล่านี้ไม่เพียงแต่สวยงามน่าสนใจ แต่ยังแฝง narrative ในตัวของมันอีกด้วย
ตัวละครจำนวนมากในแมนสรวงแต่งตัวตามเชื้อชาติของตัวเอง คนจีนแต่งชุดจีน ไว้ผมเปีย ฝรั่งใส่ชุดสูท ฯลฯ ตัวละครอย่างฮ้งที่แม้เป็นคนจีนแต่ก็เกิดและโตในไทย ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น จึงไม่ไว้ผมเปีย และสวมเสื้อที่ออกไปทางฝรั่ง จนเมื่อต้องรับหัวโขนความเป็นจีนในสมาคมตั้วเหี่ย เขาจึงใส่เสื้อผ้าแบบจีน
คนในยุคสมัยนั้นคงไม่ได้แต่งตัวตามเชื้อชาติอย่างเด่นชัดแบบที่หนังเรื่องนี้แสดงออกมา การเลือกใช้เสื้อผ้าในการเล่าเรื่องคงเป็น creative choice ของทางผู้สร้างเสียมากกว่า ซึ่งมันก็เข้ากันดีกับความเป็นละครเวทีของตัวหนัง
บางคนมองว่าการแสดงในหนังเรื่องแมนสรวงมีความโอเวอร์อยู่ไม่น้อย แต่ในข้อนี้เรากลับมองว่ามันเป็นความจงใจหนึ่งของผู้สร้างที่อยากให้หนังมีความเป็นละครเวที อาจจะเพื่อแสดงถึงความเป็นโรงละครของตัวแมนสรวงนั่นเอง
เป็นเมื่อก่อนเราคงรู้สึกขัดใจกับความเวอร์เหนือจริงเหล่านี้อยู่บ้าง แต่หลังจากที่เราเจอยูทูปเบอร์รีวิวหนังท่านหนึ่งกล่าวว่า "ให้ดูหนังโดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่หนังแสดงออกมาคือความจงใจของผู้สร้าง แล้ววิเคราะห์ว่าทำไมผู้สร้างถึงจงใจทำแบบนั้น" (ในที่นี้รวมถึงความซีจีลอย ความตัดต่อไม่เนียน ฯลฯ) เราก็ดูหนังด้วยมุมมองใหม่และค้นพบสุนทรียะในการดูหนังแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
การมองเช่นนี้ทำให้เราตัดสินตัวหนังน้อยลง และเปิดใจให้กับมันมากขึ้น (โดยเฉพาะกับการดูหนังไทยที่เมื่อก่อนเราไม่อิน) แถมยังสนุกกับการได้มโนจุดประสงค์ของผู้สร้างอักด้วย
ด้วยกรอบคิดเช่นนี้ เราจึงไม่ขอให้คะแนน หรือบอกว่าแมนสรวงดี/ไม่ดี ควรดู/ไม่ควรดู แต่เราจะขอมาชวนคุยถึงประเด็นที่เราขบคิดหลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้
โดยรวมแล้วแมนสรวงเป็นหนังที่เราชอบ ด้วยความที่มันสอดใส่ประวัติศาสตร์มาแบบไม่พูดตรง ๆ ไม่ได้ชี้นำให้รักชาติ ไม่ได้พยายามโปรโมตความเป็นไทย น่าสนใจว่ามีบางคนก็มองว่าควรใส่เรื่องการรำไทยให้มากกว่านี้เพื่อให้หนังเป็น soft power ส่งออกความเป็นไทย แต่เรากลับมองว่าการไม่พูดนี่แหละคือสิ่งที่ดี ลองคิดดูสิว่าหนัง Hollywood ไม่เคยต้องมานั่งเล่าวัฒนธรรมของคนขาวเลย หนังไทยก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งเล่าถึงความเป็นไทย เพราะพอเล่ามันทำให้คนดูรู้สึกถึงความจงใจนั้น
การไม่เล่าแล้วแสดงให้เห็นต่างหากที่จะทำให้คนดูรู้สึกว่ามันน่าค้นหา ยิ่งสมัยนี้ข้อมูลเบื้องต้นก็หาได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว
[จากนี้จะมีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของแมนสรวง]
ประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าโดยไม่เอ่ยนามในเรื่องแมนสรวง คือเรื่องราวของการสะสมอำนาจของขุนนางเพื่อหนุนเชื้อพระวงศ์บางคนให้ได้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ถ้าหากเลือกถูกฝ่ายก็คงได้ตำแหน่งดี ๆ ในแผ่นดินหน้า เรื่องราวเช่นนี้คงเกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน เพียงแต่ช่วงปลายรัชกาลที่สามคงเป็นช่วงเวลาที่เรื่องราวนี้เด่นชัดที่สุดในยุครัตนโกสินทร์
รัชกาลที่สองทรงไม่แต่งตั้งรัชทายาท รัชกาลที่สามไม่ใช่บุตรของราชินีในรัชกาลที่สอง หากแต่มีวัยวุฒิและชำนาญทางการค้าจึงได้รับเลือกจากสำนักราชวังให้สืบราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้รัชทายาทตัวจริงตามลำดับขั้นอย่างเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่สี่) จึงยังมิได้ขึ้นครองราชย์ จนเมื่อจะสิ้นรัชกาลที่สาม รัชกาลที่สามเองก็ทรงไม่แต่งตั้งรัชทายาท บ้างว่าพระองค์คิดว่าตนไม่ใช่ผู้สืบทอดโดยชอบธรรม
ในขณะเดียวกันพระอนุชาของเจ้าฟ้ามงกุฎอย่างพระปิ่นเกล้าก็มีขุมกำลังไม่น้อย เหล่าขุนนางในวังจึงเลือกข้างกันว่าตนจะหนุนฝ่ายไหน เผื่อว่าพนันถูกข้างจะได้ผลประโยชน์เข้าตน
แน่นอนว่าแมนสรวงไม่ได้เอ่ยชื่อเจ้าฟ้ามงกุฎและพระปิ่นเกล้า ซึ่งก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจ ส่วนนึงคือการพยายามเล่าถึงสิ่งที่เอ่ยออกมาตรง ๆ ไม่ได้ เลยเล่าออกมาแบบไม่บอกชื่อ ซึ่งมันก็ทำให้ผู้ชมอย่างเรานั่งคิดตามว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน แล้วตอนจบหนังถึงเฉลยด้วยประโยคที่ว่า
วันนี้ถึงแม้นฟ้าจะยังไม่เปลี่ยน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเรือจะหันหัวไปทิศทางใด
พระยาบดีศร
"รัชกาลยังไม่เปลี่ยน แต่ชัดเจนแล้วว่าใครจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป" โดยสรุปแล้วพระยาบดีศร เจ้านายของเขมและว่าน ก็คือฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎ ส่วนพระยาวิเชียรเดชแห่งกรมท่าคือฝ่ายพระปิ่นเกล้า ในขณะที่ขุนสุทินพ่อของฉัตรคือคนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกฝั่งไหน จึงเซ็นสัญญาขายอาวุธให้กับทั้งสองฝั่ง ทำให้เอกสารซื้อขายมีสองฉบับต่างกันแค่ชื่อคนรับ เอกสารนี้จึงสำคัญกับทั้งสองฝ่ายเพราะแต่ละฝ่ายต้องการปิดเรื่องของตน และโจมตีฝ่ายตรงข้าม
ที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายก็ประนีประนอมกัน คงเปรียบเหมือนการที่รัชกาลที่สี่แต่งตั้งพระปิ่นเกล้าขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่สอง
นอกจากประเด็นนี้แล้วหนังยังสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เราเองตอนดูก็ไม่รู้ แต่ไปหาข้อมูลเพิ่มภายหลัง อย่างเรื่องคดีตั้วเหี่ย (คำนี้แปลว่าพี่ชายคนโต ไม่ได้หมายถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง คนจีนแต่ละกลุ่มก็คงมีตั้วเหี่ยของตัวเอง แล้วก็ไม่เกี่ยวกับตัวเหี้ยด้วย 555) ที่แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) ซึ่งคงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ว่านสูญเสียน้องไปและโกรธแค้นคนจีน หรือเกร็ดเริ่องครูละครจากในวังออกมาสอนอยู่นอกวังเพราะการเปลี่ยนรัชกาลจากรัชกาลที่สองที่ชื่นชอบกวีและการละครมาเป็นระชกาลที่สาม
สิ่งที่เราชอบอย่างนึงคือหนังเรื่องนี้เป็นหนังพีเรียดไทยที่ไม่โบ้ยความชั่วร้ายไปให้ชาวต่างชาติ ตั้วเหี่ยหรือชาวจีนในเรื่องไม่ใช่กบฎ (แต่ก็ไม่ได้ขาวสะอาด มีนายเตียงที่ใฝ่สูง และมีเรื่องคดีเก่าก่อนที่แปดริ้ว) ปมปัญหาในเรื่องคือปมปัญหาภายในของคนไทยด้วยกันเอง การเมืองแห่งอำนาจของคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งต่างจากหนังประวัติศาสตร์ชาตินิยม อย่างตำนานสมเด็จพระนเรศวรที่มีตัวร้ายคือหงสา หรือบุพเพสันนิวาส 2 ที่สุดท้ายแล้วตัวร้ายคือฝรั่ง ราวกับว่าคนไทยทั้งหลายรักชาติกันทั้งสิ้น
อันที่จริงแล้วแมนสรวงอาจจะเป็นหนังที่สร้างมาตอบโต้กับบุพเพสันนิวาส 2 ก็เป็นได้ ความที่ทั้งสองเรื่องอยู่ในสมัยรัชกาลที่สามด้วยกันทั้งคู่ แล้วก็มีประเด็นเรื่องการซื้อขายอาวุธเพื่อก่อกบฎ
มีคนเอาเรื่องการจับมือกันในตอนจบของขุนนางทั้งสองไปเปรียบกับสถานการณ์การเมืองช่วงที่หนังเข้าฉายโรงว่ามันช่างตรงกันเสียนี่กระไร ท้ายที่สุดไพร่ก็เป็นเพียงแค่หมากในเกมการเมืองของชนชั้นนำ และการเมืองไทยก็ได้เพียงแต่วนอยู่ในวังวนนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มันก็คงจริงแหละ และมันก็คงไม่ได้แค่จริงเฉพาะในประเทศไทยเสียด้วยกระมัง แต่สุดท้ายเราก็คงต้องก้าวต่อไป แต่สิ่งนึงที่เราอยากเห็น ณ ตอนนี้ก็คือการที่ประชาชนอย่างเรา ๆ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนควรจะพยายามคุยกันให้มากขึ้น อย่าไปแปะป้ายว่าคนนั้นคนนี้เป็นแดง เป็นส้ม เป็นสลิ่ม แม้ฝั่งประชาธิปไตยจะบอกว่าตนยินดีรับฟัง แต่สลิ่มไม่เปิดใจ ก็ขอให้ลองนึกดูบ้างว่าฝั่งนั้นเขาก็คิดเหมือนที่เราคิดนั่นแหละ
ปริศนาหนึ่งที่หนังไม่ได้เฉลยให้กับผู้ชมก็คือ จริง ๆ แล้วมือสังหารชาวจีนตอนต้นเรื่องที่ส่งให้เขมกับว่านต้องเข้ามาพัวพันเรื่องแมนสรวงนั้นคือใคร อันที่จริงแล้วมันเป็นการจัดฉาก หรืออันที่จริงแล้วเขมกับว่านโกหก เราย่อมไม่อาจตัดข้อสงสัยข้อหลังนี้ออกไปได้ เพราะที่สุดแล้วมันไม่ได้มีพยาน และสิ่งที่หนังแสดงให้เราเห็นก็อาจเป็นเพียงปากคำของเขมและว่านก็เป็นได้ ถ้ามองในมุมนี้การที่เขมยิงว่านในตอนท้ายก็อาจจะมีแรงขับอื่นอยู่ด้วยก็เป็นได้
โดยสรุป แมนสรวงเป็นหนังไทยพีเรียดที่เราชอบทีเดียว ถึงแม้จะมีบางส่วนที่เรารู้สึกขัด ๆ ไปบ้าง เช่นการแสดงของตัวละครฮ้ง ฉากแฟรชแบ็คเล่าอดีตที่แทรกเข้ามาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หรือการไขคดีที่อาจจะดูเรียบ ๆ ไปหน่อย การปูเรื่องของว่านที่ดูจะไม่แน่นพอ เรื่องช่วงต้นที่มีความเอื่อย ๆ แต่โดยรวมแล้วมันก็เป็นหนังที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองและเล่าเรื่องอิงประวัติศาสตร์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ปล. เราตามมาดูเรื่องนี้ส่วนนึงก็เพราะประเด็นการเมืองนี่แหละ อีกทั้งก็ตามมาเพราะคุณนักรบ มูลมานัสเป็นผู้ออกแบบศิลป์ให้หนัง เราไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นของมาย-อาโปมาก่อน 555 อย่างไรก็ดีฉากชักว่าวคือสุดอยู่นะ 555 เห็นว่าเรื่องนี้จะขยายไปเป็นซีรีย์วายเรื่องชายด้วย น่าติดตาม ๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา