2 ส.ค. 2023 เวลา 09:39 • ท่องเที่ยว
จอร์เจีย

“เที่ยวด้วย ได้เงินด้วย” จากการเป็น Digital Nomad | EP.2

เมื่อโควิดทำให้เราทั้งสองคนได้มาเป็น Digital Nomad
จาก EP ที่แล้วโมได้บอกนิยามของ Digital Nomad ไปคร่าวๆและเล่าประวัติสั้นๆของโมก่อนที่จะมาเป็น Digital Nomad ว่าเป็นมายังไง EP นี้จะมาขยายความและทำความเข้าใจการเป็น Digital Nomad มากขึ้น รวมถึงเล่าต่อว่าโมเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad ได้ยังไง ถ้าใครที่อยากทำงานออนไลน์และได้เที่ยวไปด้วย ต้องห้ามพลาดเลยนะ
“Digital Nomad” ไม่ใช่อาชีพอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิด มันเป็นเพียงคำที่ใช้เรียกวิถีการใช้ชีวิตของคนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มักจะย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ และหาเลี้ยงชีพด้วยการหารายได้ทางออนไลน์
โดยแบ่งเป็น 4 ช่องทางหลักๆ คือ
1. E-commerce เช่น Dropshipping, Online Marketing Agency, ขายคอร์สออนไลน์ โดยรายได้จะมาจากการขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์
2. Content Creator หรือ Influencer คือทำคอนเทนท์ลงโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วได้รับรายได้จากแพลตฟอร์มนั้นๆ หรือจากสปอนเซอร์ หรือค่าคอมมิชชั่นจากการขายสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่า Affiliate (ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมใน Tiktok ตอนนี้เลย)
3. Online Freelancer คือการรับงานที่ลูกค้าจ้างเป็นครั้งๆไปแบบงาน Part-time ทำงานและส่งงานทางออนไลน์ จบโปรเจคก็รับเงินค่าจ้าง เช่น กราฟฟิกดีไซน์เนอร์, นักตัดต่อวิดิโอ, ครูสอนภาษาทางออนไลน์
4. Remote Work คือการทำงานประจำแต่ทำแบบระยะไกล ทำงานผ่านทางออนไลน์ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ทำในช่วงโควิด และตอนนี้หลายบริษัทก็เริ่มอนุญาตให้ทำงานระยะไกลได้มากขึ้นแล้ว
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วถ้าคนที่ทำงาน 1 ใน 4 แบบนี้ก็ถือว่าเป็น Digital Nomad แล้วใช่ไหม? คำตอบคือ อาจจะยังไม่ใช่
เพราะคนที่จะเรียกได้ว่ามีวิถีชีวิตแบบ Digital Nomad คือต้อง “เร่ร่อน” ด้วย
2
ภาพจาก creativeboom.com
อย่างตอนที่โมเริ่มต้นทำช่อง YouTube และ Dropshipping โมก็ยังอยู่แต่ที่บ้าน และทำงานประจำกับธุรกิจของที่บ้านไปด้วย โดยยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้เร่ร่อนย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เลยยังไม่ถือว่าใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad มีแค่การไปเที่ยวเป็นครั้งคราว ทริป 3 วัน 7 วัน เต็มที่ไม่เกิน 1 เดือน โดยจองโรงแรมหรือ Airbnb นอนแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป
ฉะนั้น การที่จะเรียกได้ว่าเป็น Digital Nomad นอกจากทำงานออนไลน์แล้ว มักจะมีการย้ายถิ่นฐานหรือที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆ ตามเมืองหรือประเทศต่างๆ โดยเฉลี่ยประมาณ 1-6 เดือน
2
ซึ่งถ้าต่ำกว่า 1 เดือน อาจจะเรียกได้ว่ายังเป็นการท่องเที่ยวแบบชั่วคราว หรือแบบ "Tourist" ที่มาพักผ่อนช่วง Holiday หรือ Vacation มากกว่า
แต่ถ้าปักหลักอยู่ต่างแดนนานๆเป็นปี อาจจะเข้าข่ายเป็น “Expat” หรือคนต่างด้าวที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยระยะยาวแทน
ส่วน Backpacker หรือนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวระยะยาวหลักเดือน แต่ไม่ได้ทำงานออนไลน์ โดยมักจะเก็บเงินมาเพื่อเที่ยวแล้วก็กลับไปอยู่ที่เดิมและทำงานต่อ อันนี้อาจเรียกว่าเป็น "Traveler"
1
ดังนั้น เวลาเห็นชาวต่างชาติในไทย เขาอาจจะเป็นไปได้ทั้ง Tourist, Traveler, Nomad หรือ Expat ก็ได้
แล้วการเป็น “Digital Nomad” มันน่าสนใจยังไง ทำไมวัยรุ่นฝรั่งถึงฮิตกันจัง
ภาพจาก startatbest.eu
ส่วนตัวโมคิดว่ามันเป็นอิสระภาพในการใช้ชีวิตแบบนึง ที่เราสามารถกำหนดสภาพแวดล้อมของตัวเองได้ เช่น ถ้าอยู่เกาะบาหลี ตอนเช้าได้ขี่มอเตอร์ไซค์กินลมชมวิวไปเล่นโยคะกับเพื่อนๆ แล้วไปนั่งทำงานที่คาเฟ่บรรยากาศดีๆ หรือ Co-working space ตกเย็นก็ไปเล่นเซิร์ฟดูพระอาทิตย์ตกหลังเลิกงานก็ย่อมได้
ถึงแม้จะทำงาน 8 ชั่วโมงเท่ากันกับการทำงานประจำในเมืองใหญ่ แต่สามารถใช้ชีวิตแบบ Work-Life Balance ได้มากกว่า ไม่ต้องอุดอู้ทำงานอยู่ในออฟฟิศ สูดมลพิษเข้าร่างกายทุกวัน หรือเสียเวลาวันละหลายชั่วโมงไปกับรถติด (แต่ตอนนี้บาหลีอาจไม่ได้น่าอยู่เหมือนช่วงที่โมไปอยู่ช่วงโควิดแล้วนะ โดยเฉพาะแถว Canggu ที่ได้ข่าวว่าแออัดมาก รถติดไม่ต่างจากกรุงเทพบ้านเราเลย)
นอกจากนี้ การที่เราไปเที่ยวที่ไหนแค่ทริปสั้นๆ อาจทำให้เรามีเวลาไม่มากพอในการซึมซับวัฒนธรรมและวิถีการใช้ชีวิตของคนในเมืองนั้นๆเท่าไรอีกด้วย
อีกเหตุผลหนึ่ง (โดยเฉพาะของชาวต่างชาติ) คือการอยู่อาศัยในประเทศตัวเองอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ในเมื่อเขาสามารถทำงานทางออนไลน์ได้ ก็เลยเลือกมาอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพอาจจะถูกกว่า อากาศดีกว่า หรือบรรยากาศดีใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า เป็นต้น
สำหรับคนไทยที่หารายได้ในประเทศไทยอาจจะเสียเปรียบตรงนี้ เพราะค่าเงินบ้านเราค่อนข้างน้อยกว่า ถ้าอยากจะใช้ชีวิตแบบนี้จะต้องวางแผนการเงินดีๆ อาจจะเลือกเมืองหรือประเทศที่เหมาะกับรายได้ของเรา หรือพยายามหารายได้ให้เพียงพอกับไลฟ์สไตล์ที่เราอยากใช้และเมืองที่เราอยากอยู่
ส่วนตัวโมเอง ได้ลองใช้ชีวิตแบบ Work from Anywhere แบบไม่ได้ตั้งใจ จากตอนที่ไปอยู่ลอนดอนเพื่อไปเยี่ยมแฟนชาวต่างชาติและเตรียมตัวเรียนต่อป.โท ช่วงปลายปี 2019 ระยะประมาณ 4 เดือน
พอไวรัสโควิดเริ่มระบาด โมก็กลับไทยก่อนที่จะมีการปิดประเทศ ก่อนหน้านี้โมไม่เคยรู้จักการใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad เลย แต่เริ่มติดใจความรู้สึกของการมีอิสระในการจะทำงานที่ไหนก็ได้ เลยเริ่มจากการลองไปอยู่เมืองต่างๆในไทยคนเดียวช่วงสั้นๆ เช่น พัทยา หัวหิน และภูเก็ต เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงปิดประเทศ การเดินทางออกนอกประเทศก็ค่อนข้างลำบาก โมเลยตัดสินใจยกเลิก offer ป.โทที่มหาลัยในลอนดอนที่โมได้
หลังจากที่อยู่ห่างกับแฟนเป็นเวลาเกือบปีเพราะโควิด (ตัดสินใจเลิกกันไปแล้วรอบนึงด้วย) สุดท้ายก็กลับมาคุยกันและพยายามหาหนทางที่จะทำให้ได้อยู่ด้วยกันอีกครั้ง และแฟนเองก็ได้ทำงานแบบระยะไกลเพราะโควิด เลยเป็นที่มาของการได้ลองใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad ด้วยกัน โดยต้องหาประเทศที่เราทั้งสองมาเจอกันได้ และเป็นประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อไม่มากเพื่อความปลอดภัย
จนมาลงเอยที่ “เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย” เป็นที่แรก
เมืองทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย เป็น 1 ในเมืองยอดฮิตสำหรับ Digital Nomad เพราะด้วยระยะวีซ่าที่ให้อยู่ได้นานและค่าครองชีพที่ไม่แพงมาก เป็นเมืองสไตล์ยุโรปที่ค่าครองชีพราคาพอๆกับไทยเลย
ใครอยากเห็นการเดินทางอ้อมโลกไปจอร์เจียช่วงโควิดของโม เข้าไปดู Vlog ทางช่อง sMo Nomad ใน YouTube ตามลิ้งค์นี้ได้เลยนะคะ
สำหรับ EP นี้คงเท่านี้ก่อน ใครที่สนใจเรื่องนี้และอยากอ่านต่อ ช่วยกดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ ถ้ามีคนสนใจเยอะก็จะรีบเขียนต่อเลย แล้วก็อย่าลืมกดติดตามจะได้ไม่พลาดบทความต่อๆไปที่จะมาเล่าทั้งประสบการณ์และแบ่งปันวิธีหาเงินออนไลน์ยังไงให้ได้ใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad นะคะ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านและติดตามกันนะคะ เจอกัน EP หน้าค่า
ช่องทางติดตามอื่นๆ
YouTube : sMo Nomad
Instagram : smonomad
Tiktok : sMo Nomad
Facebook : sMo Nomad
#sMoNomad #DigitalNomad #WorkFromAnywhere #เที่ยวด้วยได้เงินด้วย #ลาออกไปเช็กอิน
โฆษณา