สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๑

ปณามกถาวัตถุ : นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส
- ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า โคตมะ ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ปัจจุบันกาล พระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า
- ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระธรรมและธรรมวินัยที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอบูชาอย่างยิ่งซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนนั้น ด้วยเศียรเกล้า
- ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรแก่การสักการะ ทักษิณาทาน ควรทำอัญชลี หมู่นั้นด้วยเศียรเกล้า
- ขอความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พ่อแม่ครูอาจารย์วัดป่าบุญคุ้มเกล้าด้วยเศียรเกล้า ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
-ขอน้อมกราบคณะสงฆ์วัดป่าบุญคุ้มเกล้าทุกรูป โดยใจเคารพอย่างยิ่ง
*ขออนุญาตเผยแพร่ความรู้เรื่องสีมาด้วยความเคารพ
**ข้าพเจ้าจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหลัก และอาจเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเข้ามา เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา เพื่อขจัดความสงสัยในแง่มุมในบางตอน
เกริ่นนำ : สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
หนังสือเรื่อง สีมาวินิจฉัยกถา : ฉบับวัดป่าบุญคุ้มเกล้า เล่มนี้ ข้าพเจ้าได้มาเมื่อครั้งยังบวชอยู่และศึกษาเล่าเรียนเปรียญธรรม ซึ่งก็จำไม่ได้ว่าได้มาจากงานไหน เมื่อไร ใครให้มา แต่เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาค้นคว้าเรื่อง สีมา ทุกประเภทตามพระธรรมวินัย ในครั้งที่ยังเล่าเรียนเปรียญธรรมอยู่นั้น ก็มีเรื่องสีมาให้ได้แปลบาลีเป็นไทย แต่ด้วยสำนวนโบราณทำให้ไม่เข้าใจ มึนงง และจับต้นชนปลายไม่ได้
แต่พอได้หนังสือเล่มนี้มา ทำให้เข้าใจเรื่องสีมามากยิ่งขึ้น ฉะนั้น เมื่ออ่านแล้ว ก็
จะขอแบ่งปันพิมพ์ลงเป็นบทความนี้ไว้ ให้เป็นความรู้ เพื่อเผยแพร่แด่ผู้ใฝ่การศึกษาทั้งหลาย อนึ่งข้าพเจ้า มิได้มีเจตนาเพื่อหารายได้ใด ๆ ด้วย แต่มีเจตนาพิมพ์เป็นความรู้ในโลกออนไลน์ แก่นักศึกษา นักบัณฑิต นักวิชาการ ศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม โบราณคดี ผู้สนใจทั่วไป ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อใช้เป็นแบบอ้างอิง บรรณานุกรม เกี่ยวกับเรื่องสีมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทุกท่านแน่นอน
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
- รวบรวม เรียบเรียง และตรวจทาน จากคณะสงฆ์วัดป่าบุญเกล้า และทีมงานฆราวาส พิมพ์ออกมา ๑๑ ครั้ง จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เมื่อปี ๒๕๕๐
- พิมพ์เนื่องในงานสัมมนาพระวินัยครั้งที่ ๑๑ และฉลองศาลาอุโบสถวัดป่าบุญเกล้า วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐
จัดพิมพ์โดย : มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้จัดพิมพ์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เนื่องในวโรกาส "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช" รัชกาลที่ ๙ ทรงพระเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา และ ๒๐ ปีมูลนิธิดวงแก้ว ฯ
วัดป่าบุญคุ้มเกล้า : พระอาจารย์ วรพจน์ อุปสนฺโต เจ้าอาวาส
99/5 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 24190
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า หน้าปก
ประวัติและความเป็นมา ว่าด้วย สีมา
ความหมายในวิกิพีเดีย
สีมา แปลว่า เขต, แดน, เครื่องหมายบอกเขต ใช้ว่า เสมา ก็มี
สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายบอกเขตที่เรียกว่า นิมิต
ที่เหนือนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต เรียกแผ่นหินนั้นว่า ใบสีมา หรือ ใบเสมา เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือ ซุ้มเสมา
สีมา ยังหมายถึงอุโบสถได้ด้วย
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ระบุว่า ใบเสมาคือนิมิต ในขณะที่พระไตรปิฏกแสดงว่าเสมาเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งซึ่งใช้กำหนดเขตพระอุโบสถอันเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์
ใบสีมา : เป็นหลักกำหนดเขตเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ
นิยมทำด้วยแผ่นหินสกัดเป็นแผ่นหนาประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร มีรูปทรงเฉพาะ บางแห่งสกัดเป็นลายเส้นรูปธรรมจักรเพิ่มความสวยงาม ประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างคร่อมนิมิตทั้ง 8 ทิศของโบสถ์ คล้ายเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต
ถ้าเป็นวัดราษฎร์นิยมทำซุ้มละแผ่นเดียว
ถ้าเป็นวัดหลวงนิยมทำซุ้มละสองแผ่นเรียกว่า สีมาคู่
นัยว่าเพื่อเป็นข้อสังเกตให้ทราบว่าเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง
ประวัติใบเสมา
ใบเสมา : มีวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง
- ในอดีตใบเสมามักจำหลักภาพที่สื่อธรรมเกี่ยวเนื่องพระพุทธศาสนา เช่น ใบเสมาที่สลักภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ (เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ )
- ในปัจจุบันจะไม่ปรากฏใบเสมาที่จำหลักภาพที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาหรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือชาดกต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าด้วยขนาดของใบเสมาที่ดั่งเดิมที่นิยมใช้หินขนาดใหญ่ ไม่มีความคล่องตัวในการขนย้ายหินขนาดใหญ่ซึ่งหายากมากขึ้น ทำให้ใบเสมาในสมัยต่อมามีขนาดเล็กลงและไม่นิยมสลักภาพที่เล่าเรื่องราว
- ใบเสมาในสมัยสุโขทัย : ส่วนใหญ่เป็นใบแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่ปักอยู่บนดิน ยังไม่มีแท่น หรือฐานมารองรับ เช่นที่วัดมหาธาตุ วัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย
- ในสมัยอยุธยาตอนต้นและกลาง : ยังคงสืบเนื่องจากสมัยสุโขทัย ใบเสมายังคงทำจากหินที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- สมัยอยุธยาตอนปลาย : ใบเสมามีขนาดเล็กกว่าเดิมและมีความหนาไม่มากนัก มีการทำฐานหรือแท่นสูงเพื่อรองรับใบเสมา เรียกว่า เสมานั่งแท่น เช่น ที่วัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี
ต่อมาเริ่มมีการสร้างซุ้มครอบใบเสมา เรียกว่า ซุ้มสีมา ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด
แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่ปลายสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นต้นมา ซุ้มสีมานี้ได้รับความนิยมสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่เริ่มหมดความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4
เสมาหรือสีมา คือสิ่งกำหนดเขตชุมนุมของสงฆ์
พระพุทธเจ้าได้กำหนดเขตพัทธสีมาไว้ 8 อย่าง คือ ภูเขา หิน ป่าไม้ จอมปลวก ถนน แม่น้ำและน้ำ
ในสมัยต่อมานิยมใช้หินเป็นส่วนมาก ในวัดเวียงสระปรากฏสีมาเป็นหินทรายแดงเป็นเสมาคู่ โดยทั่วไปวัดเป็นเสมาเดี่ยว การทำเสมาคู่มีข้อสันนิษฐาน 2 ประการ
: ประการแรก เพราะมีการผูกสีมาต่างสมัย ต่างนิกาย ภายหลังไม่มั่นใจในความบริสุทธิ์ของเขตสีมาจึงผูกขึ้นใหม่
: ประการที่สอง เนื่องจากเป็นวัดหลวงประจำเมือง เจ้าเมืองเป็นผู้สร้างขึ้น
**ข้อมูลจากเมืองโบราณเวียงสระ : วัดเวียงสระ ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คำนำจากพระอาจารย์วรพจน์ อุปสนฺโต
เจ้าอาวาสวัดป่าบุญคุ้มเกล้า
สีมา เป็นเขตแดนที่ภิกษุทั้งหลายใช้ในการทำสังฆกรรมหรือในกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุ เช่น การให้อุปสมบท การลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ การบอกปาริสุทธิ การปวารณา การสวดให้ปริวาส การอัพภาณ การอปโลกนกรรม เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมเพรียงของภิกษุที่อยู่ในเขตแดนนั้นทั้งหมด ที่ต้องมาประชุมรวมกันและอยู่ใกล้กันในระยะห่างไม่เกินหัตถบาสในที่แห่งหนึ่งในสีมา ตามที่ได้นัดหมายหรือในโรงอุโบสถที่ได้นัดหมายไว้
ถ้ามีเหตุจำเป็นมาไม่ได้ต้องหมอบฉันทะหรือนำปริสุทธิมาบอกแก่หมู่สงฆ์ สังฆกรรมหรือในกิจนั้น ๆ จึงจะสมบูรณ์ได้
สีมา จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตพระภิกษุสงฆ์ทุกรูป เพราะสีมาเป็นเสมือนบ้านเกิดของผู้ที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
การศึกษาเรื่องสีมาจะทำให้เรารู้จักประเภทของสีมาประเภทต่าง ๆ รู้จักขั้นตอนในการจัดเตรียม การทักนิมิต การสวดถอน การสมมติสีมา ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งรู้จักสีมาที่เกิดขึ้นเป็นเองโดยธรรมชาติ
เมื่อเราศึกษาเรื่องสีมาอย่างละเอียดจนเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจเกี่ยวกับสีมาว่า สังฆกรรมหรือกิจต่าง ๆ ของพระภิกษุที่เราทำลงไปแล้วนั้น สีมาจะวิบัติหรือไม่ ?
สีมายังเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงระบบการบริหารจัดการโดยคณะสงฆ์ ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและความเห็นพ้องต้องกัน หมู่คณะที่อาศัยอยู่รวมกันจึงจะอยู่กันอย่างผาสุก มีความรักความสมานสามัคคีต่อกัน ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในหมู่ภิกษุ และยังสามารถที่จะปกป้องภัยที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ส่งผลให้พระศาสนามั่นคงสืบไปได้
หนังสือ สีมาวินิจฉัยกถา นี้ ได้รวบรวมและเรียบเรียงมาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยการขัดเกลาสำนวนนิดหน่อย เพื่อสะดวกในการทำความเข้าใจสำหรับผู้ศึกษาใหม่ ทำให้ง่ายในการศึกษา สามารถที่จะทำอรรถและพยัญชนะให้ปรากฏชัดเจนขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้สนใจในพระธรรมวินัยจักได้รับประโยชน์สาระจากหนังสือนี้เป็น อย่างยิ่ง ฉะนั้น ขอให้ผู้สนใจในพระธรรมวินัย พึงศึกษาเรื่องสีมานี้ด้วยความเคารพในพระศาสดา เพื่อความดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ให้ตั้งมั่นยั่งยืนตลอดชั่วกาลนานเทอญ .ฯ
คุณสมบัติ 3 ประการ : ที่ขาดเสียมิได้
กุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนาต้องมีคุณสมบัติครบตามพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว คือ
- ต้องเป็นเพศชายที่สมบูรณ์
- มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
- ไม่มีอวัยวะบกพร่อง คือมีอาการครบ 32 ประการ
เป็นต้น เรียกว่า วัตถุสมบัติ
ถ้าพร่องไปเรียกว่า วิบัติ หรือวัตถุสมบัติ
แม้ได้วัตถุสมบัติแล้ว การกล่าวคำขอบวชหรือกรรมวาจาของผู้สวดสมมติ จะต้องสวดตามอักขรฐานกรณ์ มีเสียงสั้นเสียงยาว เสียงหนักเสียงเบา เป็นต้น ผู้ขอบวชต้องกล่าวคำขอบวชโดยออกเสียงให้ชัดเจนและให้ถูกอักขรวิธี และถ้าไม่ตั้งบัญญัติก่อน คือ ไม่กล่าวถึงอุปัชฌาจารย์และผู้ขอบวช เรียกว่า กรรมวาจาวิบัติ ถ้าถูกต้องเรียกว่า กรรมวาจาสมบัติ
อีกประการหนึ่ง ผู้ปรารถนาจะอุปสมบทนั้น จะต้องมีพระภิกษุรับรองการบวช เรียกว่า คณะปูรกะหรือพระนั่งหัตถบาสอย่างน้อย 5 รูป หรือ 10 รูป ขึ้นไป ตามแต่สถานที่ของพระวินัยที่บัญญัติไว้ ถ้าไม่ได้หรือมีไม่ครบองค์ประชุม เรียกว่า ปริสวิบัติ
สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ แม้ว่าจะสมบูรณ์ครบทั้ง 3 ประการดังกล่าวแล้วนั้น จะต้องทำพิธีอุปสมบทในเขตสีมาเท่านั้น เพราะการเกิดขึ้นของพระภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะต้องเกิดในสีมาโดยส่วนเดียวเท่านั้น มิได้เกิดขึ้นตามถนนหนทางหรือในบ้านเรือนเหมือนคนทั่วไป การเกิดขึ้นของพระภิกษุจึงเป็นเรื่องยากประการหนึ่ง เพราะต้องถึงพร้อมด้วยวัตถุสมบัติ กรรมวาจาสมบัติ ปริสสมบัติ และสีมาสมบัติ
ฉะนั้น เรื่องสีมาจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของสังฆกรรมทุกชนิด พระภิกษุผู้ปรารถนาจะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ควรละเลยเรื่องสีมา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
สีมา เป็นหัวใจของ สังฆกรรมในพระพุทธศาสนาก็ว่าได้
หนังสือ สีมาวินิจฉัย นับเป็นคู่มืออุปกรณ์การศึกษาเรื่องสีมาซึ่งมีพุทธานุญาตไว้หลายประเภท โดยเฉพาะสีมาวัดป่าบุญคุ้มเกล้าที่มีลักษณะไม่เหมือนวัดทั่วไป กล่าวคือ มีสีมาอยู่ชั้นบนของศาลา มีเขตพื้นที่เป็นสัดส่วน เพื่อทำสังฆกรรม มีลูกนิมิตไม่ต้องฝัง เหล่านี้เป็นต้น เพื่อจะมีไว้เป็นแหล่งความรู้ แหล่งการศึกษาพระวินัยสืบไป ขอให้ท่านทั้งหลายพึงศึกษาด้วยความเคารพเถิด
ด้วยความรักความปราถนาดีจาก คณะกรรมการมูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์
**โปรดติดตามเนื้อหาเรื่อง สีมาวินิจฉัยกถา ใน EP.2 ตอนต่อไป
โฆษณา