Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara สาระความรู้ หนังสือ และจิตวิญญาณ
•
ติดตาม
5 ส.ค. 2023 เวลา 14:22 • หนังสือ
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๒
สีมา หมายถึง การกำหนดขอบเขต เช่น การกำหนดเขตบ้านก็เรียกว่า "คามสีมา" การกำหนดเขตชายแดนก็เรียกว่า "รัชชสีมา" เป็นต้น
พระวินัยระบุว่า พระทุกรูปที่อยู่ในเขตเดียวกัน จะต้องมาประชุมทำสังฆกรรมร่วมกันโดยพร้อมเพรียง ซึ่งเขตที่กำหนดไว้นี้ ภาษาบาลีเรียกว่า “สีมา”
แจกแจงความหมายได้ 4 อย่าง ดังนี้
(1) เขตแดน
(2) เครื่องหมายแสดงเขต ตามพุทธบัญญัติระบุว่า สีมามี 8 ชนิด คือ ภูเขา หิน ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำ สีมามักทำด้วยหิน ปักล้อมรอบอุโบสถ เรียกว่า เสมา ก็ได้ จะเล่าต่อไปในกาลข้างหน้า
(3) ขอบเขตแห่งพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ทำสังฆกรรม
(4) เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทำด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา ใบสีมา หรือใบเสมา
สีมามี 2 ประเภท คือ :-
1. พัทธสีมา แดนที่ผูก
2. อพัทธสีมา แดนที่ไม่ได้ผูก
1.พัทธสีมา
คำว่า "พัทธสีมา" แปลว่า "แดน หรือ เขต ที่ผูกแล้ว"
ความหมาย : พัทธสีมา หมายถึง เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง โดยจัดตั้งนิมิต คือ
สิ่งที่เป็นเครื่องหมายกำหนดเอาไว้
พัทธสีมา : คือ สีมาที่มีภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ผูกด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ซึ่งพระวินัยธรทำให้ล่วงพ้นสีมาวิบัติ 11 อย่าง และประกอบด้วยสีมาสมบัติ 3 ประการ แล้วผูกนิมิตเชื่อมกับนิมิตให้เนื่องกัน
ในการกำหนดเขตพัทธสีมานั้น
ในเขตนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารก็ได้ เพราะเป็นเขตสำหรับการประชุมสังฆกรรม แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับประชุมได้ เรียกว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่โดยทั่วไปเรียกว่า โบสถ์
ซึ่งต่อมา การสร้างโบสถ์จะสร้างภายในสีมาหรือเท่ากับสีมา
การผูกสีมาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างโบสถ์
ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทย วัดที่ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาจะต้องมีโบสถ์เรียบร้อยแล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง
การกำหนดเขต :
ซึ่งได้ชื่อว่า "พัทธสีมา" สงฆ์ได้รับพระพุทธานุญาตให้กำหนดเอาเองตามความพอใจ แต่พระองค์ทรงจำกัดไว้ ทั้งฝ่ายข้างเล็กและฝ่ายข้างใหญ่ คือ.-
๑. ขนาดเล็ก ต้องจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ซึ่งนั่งเข้าหัตถบาสกัน
๒. ขนาดใหญ่ ต้องไม่เกิน ๓ โยชน์
สีมาที่สงฆ์สมมติเล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไปกว่าที่กำหนดนี้ จัดเป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้
เหตุที่ทรงกำหนดเช่นนั้น :
เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำหนดจำกัดสีมาทั้งข้างเล็กและข้างใหญ่ไว้เช่นนั้น ก็เพราะว่า
๑. สีมาเล็กเกินไป จนจุภิกษุไม่ได้ ๒๑ รูป ทำอัพภานกรรมไม่ได้
๒. สีมาใหญ่เกินไป เหลือที่จะระวังรักษา
อัพภานกรรม เป็นสังฆกรรมที่ต้องการสงฆ์จำนวน ๒๐ รูป เพื่อประชุมกันสวด
ระงับอาบัติสังฆาทิเสส โดยนั่งเข้าหัตถบาสกัน และรวมกันกับภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นด้วยอีก ๑ รูป จึงเป็น ๒๑ รูป
ถ้าเล็กเกินไป ก็ไม่พอที่จะทำอัพภานกรรม
พระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ
สำหรับข้อที่ว่าใหญ่เกินกว่า ๓ โยชน์นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ทรงมีพระมติว่า น่าจะเห็นว่าสงฆ์ได้รับประโยชน์ ๒ อย่าง คือ.
๑. ได้ขยายเขตไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรกว้างออกไป
๒. ได้ขยายเขตนิสัยออกไป
2.อพัทธสีมา
คือ สีมาที่ไม่ต้องผูกด้วยกรรมวาจา แต่สามารถทำสังฆกรรมทุกอย่างให้สำเร็จได้
อนึ่ง ถ้าล่วงจากสีมาทั้ง 2 นี้แล้ว ชื่อว่า สีมาวิบัติ
เพราะพระบาลีว่า กรรมทั้งหลายย่อมวิบัติด้วยสีมา 11 อย่าง คือ
1.
สีมาเล็กเกินไป ภิกษุ 21 รูป ไม่อาจเพื่อจะนั่งในเขตสีมานั้นได้
2.
สีมาใหญ่เกิน คือ สงฆ์สมมติสีมาเกิน 3 โยชน์ แม้เพียงปลายเส้นผม ก็ใช้ไม่ได้
3.
สีมามีนิมิตขาด จัดไว้ 2 ประการ คือ
(ก.) ภิกษุทักนิมิตในทิศตะวันออกแล้ว ต้องทักนิมิตวนไป ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ เวียนกลับมาตามลำดับแล้ว กลับมาทักซ้ำนิมิตในทิศตะวันออกอีกครั้ง แล้วหยุด จึงควร
ก็ถ้าภิกษุทักนิมิตในทิศตะวันออก เวียนมาถึงทิศเหนือ แล้วหยุด ไม่ทักซ้ำในทิศตะวันออกอีก สีมาย่อมชื่อว่า มีนิมิตขาด
(ข.) สีมาใด ที่สงฆ์สมมติต้นไม้มีเปลือกแข็ง กองดิน กองทราย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะใช้เป็นนิมิตได้ ทำนิมิตในระหว่างสีมานั้น สีมาย่อมชื่อว่า มีนิมิตขาด
4. สีมามีเงาเป็นนิมิต สีมาที่สงฆ์สมมติทักเอาเงาอย่างใดอย่างหนึ่งใน 8 อย่าง มีเงาภูเขาเป็นต้นให้เป็นนิมิต จัดว่าเป็น สีมามีเงินเป็นนิมิต
5. สีมาที่สงฆ์อยู่ภายนอกสีมา (นอกนิมิต) สมมติสีมา อันภิกษุทักหรือทำนิมิต แล้วยืนอยู่ภายนอกแห่งนิมิตสมมติ เรียกว่า สีมาอันสงฆ์อยู่ภายนอกสีมาสมมติ
6.สีมาที่หานิมิตมิได้ สีมาที่สงฆ์สมมติ ไม่ทักนิมิตทั้งหลายก่อนโดยประการทั้งปวง เรียกว่า สีมาที่หานิมิตมิได้
7.สีมาที่สงฆ์สมมติในแม่น้ำ
8.สีมาที่สงฆ์สมมติในทะเล (สมุทร)
9.สีมาที่สงฆ์สมมติในชาตสระ (สระน้ำที่เกิดเองตามธรรมชาติ)
สีมาที่สมมติในน่านน้ำ มีแม่น้ำเป็นต้นเหล่านี้ จัดว่าเป็นสีมาสมมติในแม่น้ำ,ในสมุทร,ในชาตสระ แม้สงฆ์สมมติไปแล้ว ย่อมใช้ไม่ได้ ไม่เป็นอันสมมติ พระบาลีว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำไม่ใช่สีมา สมุทรไม่ใช่สีมา ชาตสระทั้งปวงไม่ใช่สีมา
10. สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกับสีมา (สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ด้วยสีมาของตน ชื่อว่า สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกับสีมาด้วยสีมา)
ก็ถ้าว่า ในทิศตะวันออกแห่งวิหารเก่า มีต้นไม้อยู่ 2 ต้น คือ ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ,ต้นหว้าต้นหนึ่ง มีคาคบคาบเกี่ยวถึงกันและกันในต้นมะม่วงและต้นหว้านั้น
ต้นหว้าอยู่ในทิศตะวันตกของต้นมะม่วง และวิหารสีมาเป็นแดนที่ภิกษุกันเอาต้นหว้าไว้ภายใน กำหนดเอาต้นมะม่วงเป็นนิมิตผูกไว้
ครั้นภายหลัง ภิกษุทั้งหลายจะผูกสีมาในวิหารที่สร้างใหม่ในทิศตะวันออกแห่งวิหารเก่านั้น จึงกันเอาต้นมะม่วงไว้ภายใน กำหนดเอาต้นหว้าเป็นนิมิต แล้วผูก
สีมากับสีมาย่อมคาบเกี่ยวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าสีมาของวิหารที่สร้างก่อน ยังไม่ได้สมติสีมา พึงเว้นอุปจารแห่งสีมาไว้ พึงเว้นสีมันตริกประมาณศอกหนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำสุด
ในกุรุนทีกล่าวว่า "จะกันไว้เพียง ๑ คืบก็ได้"
ส่วนในมหาปัจจารีกล่าวว่า "จะกันไว้เพียง ๔ นิ้วก็ควร"
**สีมันตริก คือ เขตคั่นระหว่างมหาสีมากับขัณฑสีมา เพื่อมิให้ระคนกัน เช่นเดียวกับชานที่กั้นเขตของกันและกันในระหว่าง , พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้แก้ปัญหานี้โดยให้เว้นที่ว่าง เพื่อป้องกันปัญหานี้ทุกสีมาจึงต้องกำหนดแนวชานถัดออกไปจากแนวสีมา เรียกว่า “สีมันตริก” เป็นเสมือนแนวกั้นไม่ให้สีมาคาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกัน (พระบาลีวินัยปิฎก มหาวรรค.)
สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกับสีมา
อนึ่ง ต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นนิมิตของสีมา 2 แห่ง
ก็ ต้นไม้นั้นเมื่อโตขึ้น ย่อมกระทำให้สีมาสังกระ (คาบเกี่ยวกัน) เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นนิมิตของสีมา 2 แห่ง
สีมาคาบเกี่ยวกันใช้ไม่ได้
11. สีมาที่สมมติทับสีมาของผู้อื่น
สีมาที่ภิกษุสมมติครอบสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ก็ถ้าว่า กันเอาพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่นทั้งหมดหรือบางส่วนแห่งสีมานั้นไว้ภายในของตน สีมากับสีมาย่อมทับกัน
ภิกษุสมมติสีมาของภิกษุทั้งหลาย ครอบสีมานางภิกษุณีไว้ภายในก็ควร
ภิกษุณีสมมติครอบสีมาของภิกษุ ก็นัยนี้เหมือนกัน
จริงอยู่ ภิกษุและภิกษุณีเหล่านั้น ไม่เป็นปูรกะในกรรมของกันและกัน และไม่ทำกรรมวาจาให้เป็นวรรค
สีมาทับกัน
ภิกษุเว้นสีมาวิบัติ 11 อย่างเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว พึงสมมติสีมาเถิด.ฯ
**โปรดติดตาม EP. ตอนต่อไป
ศิลปะวัฒนธรรม
พุทธศาสนา
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สีมาวินิจฉัยกถา วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย