Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara สาระความรู้ หนังสือ และจิตวิญญาณ
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2023 เวลา 04:59 • หนังสือ
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๓
นิมิต
นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย
อันได้แก่ เครื่องหมายบอกเขตวิสุงคามสีมา
พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวัตถุ ๘ ชนิดให้ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตที่เรียกว่า สีมา สีมาก็คือเขต
วัตถุ ๘ ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตได้ ถ้าใช้วัตถุที่ไม่มั่นคงทนทาน พัทธสีมาที่ผูกคือกำหนดกันไว้ก็ไม่มั่นคงยั่งยืน
ปัจจุบันจึงนิยมกันลงตัว เอาศิลาขนาดที่เป็นหลักเป็นฐาน
คำว่าเครื่องหมายในภาษาบาลีเรียกว่า นิมิต เพราะฉะนั้น วัตถุ ๘ อย่างที่ใช้กำหนดจึงเรียกว่า “นิมิต” หมายความว่าเป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายของอะไร ก็คือเครื่องหมายของสีมา หรือเขตนั่นเอง เพราะฉะนั้น บางครั้งจึงเรียกเต็มๆ ว่า “สีมานิมิต” (เครื่องหมายของสีมา หรือเครื่องหมายเขต)
ได้บอกแล้วว่า ปัจจุบันนิมิตนั้นนิยมใช้ก้อนหิน หรือศิลา และตั้งใจแต่งให้เรียบร้อยงดงามเป็นลูกกลมๆ ก็เลยเรียกว่า “ลูกนิมิต”
สีมาสมบัติ 3 ประการ
1.
นิมิตสมบัติ
2.
ปริสสมบัติ
3.
กรรมวาจาสมบัติ
ในสมบัติทั้ง 3 อย่างนั้น ชื่อว่า สีมาที่ประกอบด้วยนิมิตสมบัติ คือ สีมาที่ภิกษุสมมติกำหนดโดยชอบซึ่งวัตถุ อันใช้เป็นนิมิตได้ ตามที่ได้มีแล้วในนิมิตทั้ง 8 อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ ว่า
นิมิต 8 อย่าง
1.
ปพฺพโต ภูเขา
2.
ปาสาโณ ศิลา
3.
วนํ ป่า
4.
รุกฺโข ต้นไม้
5.
วมฺมิโก จอมปลวก
6.
มคฺโค หนทาง
7.
นที แม่น้ำ
8.
อุทกํ น้ำ
ทั้งหมดนี้ ใช้เป็นนิมิตได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ในทิศาภาคนั้น ตามแต่จะหามาได้
สีมาวิบัติด้วยเหตุ ๓
ในบาลีคัมภีร์บริวาร ท่านได้กล่าวไว้ว่า สีมาย่อมวิบัติ ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ.-
๑. ขณฺฑนิมิตฺตา สีมามีนิมิตขาด
๒. ฉายานิมิตฺตา สีมามีฉายาเป็นนิมิต
๓. อนิมิตฺตา สีมาหานิมิตมิได้
๑. สีมามีนิมิตขาด
สีมามีนิมิตขาด นั้น หมายถึง สีมาที่มีนิมิตเดียว ชักไม่ถึงกัน คือ ชักแนวบรรจบไม่ถึงกัน
๒. สีมามีฉายาเป็นนิมิต
สีมามีฉายาเป็นนิมิต นั้น หมายถึง การทำเงาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีภูเขาเป็นต้น เป็นนิมิต หรือใช้นิมิตอันเดียวเป็นเครื่องหมายใน ๒ ด้าน ในด้านหนึ่งเป็นนิมิตจริง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นแต่เพียงแนวของนิมิตนั้น
๒. สีมาไม่มีนิมิต
สีมาไม่มีนิมิต นั้น หมายถึง.-
๑. สมมติสีมาไม่ได้กำหนดนิมิต
๒. ไม่ได้ทักนิมิตเลยทีเดียว
พระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สำหรับข้อว่า "สีมาไม่มีนิมิต" นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระมติว่า
กำหนดเอาวัตถุที่อยู่ภายในเขตนิมิตได้
<วิธีทักนิมิต>
พระวินัยธรจะเป็นผู้ทักหรือถามไปตามลำดับ และเมื่อใดผู้หนึ่งจะเป็นพระภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี หรือคฤหัสถ์ก็ดี เป็นผู้ตอบก็ได้
วิธีทักนิมิต
อนึ่ง พระวินัยธรพึงระบุซ้ำอีกทุกครั้งไป จึงจะใช้ได้
แต่จะกำหนดอย่างนี้ว่า
"เราทั้งหลาย จะทำภูเขานั่นเป็นนิมิต"
"จักทำภูเขานั่นเป็นนิมิต"
"ทำภูเขานั่นเป็นนิมิตแล้ว"
"ภูเขานั้นจะเป็นนิมิต"
"ภูเขานั้นจงเป็นนิมิต"
คำใดคำหนึ่ง ดังนี้ ใช้ไม่ได้
แม้ในนิมิตทั้งหลาย มีศิลาเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ก็พระวินัยธรทักนิมิตไปตามลำดับอย่างนี้ว่า
ในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออก
พึงทักซ้ำอีกครั้ง จึงค่อยหยุด
จริงอยู่ ด้วยการกำหนดอย่างนี้ นิมิตกับนิมิตจึงจัดว่าเชื่อมถึงกัน
ครั้นกำหนดอย่างนี้ลแล้ว นิมิตทั้งหลายในสีมานั้น คือ พื้นที่ภายในนิมิตย่อมเป็นสีมา ตัวนิมิตทั้งหลาย ย่อมอยู่ภายนอกสีมา
การกำหนดนิมิต จะกำหนดรอบเดียวหรือ 3 รอบก็ได้ จะยืนอยู่ที่เดียวหรือจะเดินเวียนไปสู่ที่นิมิตตั้งอยู่นั้นก็ ควร
วิธีทักนิมิตไปตามทิศาภาค
๑. ภูเขาที่ใช้ได้ ๓ ชนิด
ภูเขา ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น มี ๓ ชนิด คือ.-
๑. สุทฺธปํสุปพฺพโต ภูเขาดินล้วน
๒. สุทฺธปาสาณปพฺพโต ภูเขาศิลาล้วน
๓. อุภยมิสฺสกปพฺพโต ภูเขาศิลาปนดิน
๒. ศิลาที่ใช้ได้ ๔ ชนิด
ศิลาที่ใช้ได้ นั้น มี ๔ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาแท้ หรือ ศิลาเจือแร่
๒. มีสัณฐานโตไม่ถึงช้าง เท่าศรีษะโคหรือกระบือเขื่องๆ
๓. เป็นศิลาแท่งเดียว
๔. มีขนาดเล็กเท่าก้อนน้ำอ้อย หนัก ๓๒ ปละ คือ ประมาณ ๕ ชั่ง
ศิลาที่ใช้ได้อีก ๓ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาดาด
๒. ศิลาเทือก
๓. ศิลาดวด
๑. ศิลาดาด
คำว่า "ศิลาดาด" หมายถึง หินที่เป็นแผ่นราบใหญ่
๒. ศิลาเทือก
คำว่า "ศิลาเทือก" หมายถึง หินที่ตัดกันเป็นพืดยาว
๓. ศิลาดวด
คำว่า "ศิลาดวด" หมายถึง หินที่สูงขึ้นไปบนพื้นดิน
๓. ป่า
องค์ ๒ ของป่าไม้
ป่าไม้ที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ ประการ คือ.-
๑. หมู่ไม้มีแก่น หรือ ชนิดเดียวกับไม้มีแก่น
๒. ขึ้นเป็นหมู่กันอย่างต่ำต้อง ๔ หรือ ๕ ต้น
๔. ต้นไม้
ต้นไม้นั้น ใช้ต้นไม้มีแก่นเพียงต้นเดียว และยังเป็นอยู่ เป็นต้นไม้ซึ่งเกิดจากพื้นดิน
หรือเป็นต้นไม้ที่ปลูกเอง
ขนาดของต้นไม้
ต้นไม้ที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องมีขนาดดังนี้ คือ.-
๑. สูงอย่างน้อย ๘ นิ้ว
๒. ใหญ่ประมาณเท่าเล่มเข็ม
ต้นไม้ที่ใช้ไม่ได้
ต้นไม้ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาไม่ได้นั้น คือ.-
๑. ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในกระถาง
๒. ต้นไม้ที่แห้งตายไปเอง
๓. ต้นไม้ที่เฉาตายไปเอง
๕. จอมปลวก
จอมปลวก นั้น เป็นจอมปลวกที่ตั้งขึ้นมานานแล้ว หรือเพิ่งตั้งขึ้นในวันนั้น ก็ใช้ได้
ขนาดของจอมปลวก
จอมปลวกที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องมีขนาดดังนี้ คือ.-
๑. สูงได้ ๘ นิ้ว
๒. ใหญ่เท่าเขาโค
๖. หนทาง
หนทาง นั้น ต้องเป็นหนทางที่คนใช้เดิน หรือทางเกวียนที่ยังใช้อยู่ ผ่านไปเพียง
ระยะ ๒ - ๓ บ้าน
ทางที่ใช้ไม่ได้
ทางที่่นับว่าใช้นิมิตแห่งสีมาไม่ได้ นั้น คือ.-
๑. ทางที่ไม่ได้ใช้
๒. ทางที่แยกออกจากทางใหญ่ ได้หน่อยหนึ่งแล้ววกกลับเข้ามาบรรจบกับทางใหญ่อีก
๗. แม่น้ำ
แม่น้ำ นั้น ที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้ มีลักษณะ คือ.-
๑. มีกระแสน้ำไหลอยู่เสมอ แม้ฝนไม่ตกก็ไม่แห้ง
๒. ไม่เป็นแม่น้ำตัน คือ มีน้ำไหลอยู่เสมอ
๘. น้ำ
น้ำที่นับว่าใช้เป็นนิมิตแห่งสีมาได้นั้น ต้องเป็นน้ำนิ่งที่ขังอยู่กับที่ไม่ไหล คือ.-
๑. น้ำในหนอง
๒. น้ำในบึง
๓. น้ำในบ่อ
๔. น้ำใสสระ (ชาตสระ สระที่เกิดขึ้นเอง)
น้ำที่ใช้เป็นนิมิตไม่ได้
ในอันธกอรรถกถาปกรณ์เก่า ท่านห้ามไม่ให้ถือเอาน้ำในบ่อลึก
ซึ่งต้องใช้คันโพงหรือวัตถุอย่างอื่นตักขึ้นมาเป็นนิมิต
เพราะว่าในบ่อเช่นนั้น น้ำมีน้อย อาจวิดแห้งได้
มติของพระอรรถกถาจารย์
ท่านพระอาจารย์ผู้รจนาอรรถกถาปกรณ์มหาวรรค กล่าวไว้ว่า
น้ำที่ใช้เป็นนิมิตแห่งสีมานั้น ใช้น้ำนิ่ง แม้ในแอ่งที่สุกรขุด แม้ในที่เล่นของพวกเด็กชาวบ้าน โดยที่สุด น้ำที่เขาตักมาด้วยหม้อ เทลงให้เต็มในหลุมอันขุดใหม่ ในทันใดนั้น ถ้าพอจะขังอยู่ตลอด สวดกรรมวาจาจบ เหลืออยู่น้อยก็ตาม มากก็ตาม เป็นใช้ได้ แต่ในที่นั้น ควรทำกองศิลา กองทราย กองดิน หรือปักหลักศิลาหลักไม้ไว้เป็นเครื่องกำหนด
น้ำนิ่งตามมติของพระอรรถกถาจารย์นั้น มีลักษณะดังนี้ คือ.-
๑. น้ำในแอ่งที่สุกรขุด
๒. น้ำที่พวกเด็กชาวบ้านใช้เล่นกัน
๓. น้ำที่เขาใช้หม้อเป็นต้น ตักมาเทลงในหลุมที่ขุดใหม่
น้ำนิ่งตามลักษณะทั้ง ๓ ประการ ที่กล่าวมานี้ ใช้ได้ แต่ต้องทำเครื่องหมายอย่างใด
อย่างหนึ่งไว้ คือ.-
๑. ต้องทำกองหินไว้
๒. ต้องทำกองทรายไว้
๓. ต้องทำกองดินไว้
๔. ต้องปักหลักเสาหินไว้
๕. ต้องปักหลักเสาไม้ไว้
เครื่องหมายทั้ง ๕ ชนิด ดังกล่าวมานี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมใช้ได้
1.คำทักนิมิต
ในทิศตะวันออก ว่าดังนี้.-
"ปุรตฺถิมาย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศตะวันออก อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศตะวันออเฉียงใต้ ว่าดังนี้
"ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศน้อยแห่งทิศตะวันออก(ทิศอาคเนย์) อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศใต้ ว่าดังนี้
"ทกฺขิณาย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศใต้ อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ว่าดังนี้.-
"ทกฺขิณาย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศน้อยแห่งทิศใต้ (ทิศหรดี) อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศตะวันตก ว่าดังนี้.-
"ปจฺฉิมาย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศตะวันตก อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ว่าดังนี้.-
"ปจฺฉิมาย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศน้อยแห่งทิศตะวันตก(ทิศพายัพ) อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศเหนือ ว่าดังนี้.-
"อุตฺตราย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศเหนือ อะไรเป็นนิมิต"
ในทิศตะวันออเฉียงเหนือ ว่าดังนี้.-
"อุตฺตราย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศน้อยแห่งทิศเหนือ (ทิศอีสาน) อะไรเป็นนิมิต"
ทักซ้ำในทิศตะวันออกอีก ว่าดังนี้.-
"ปุรตฺถิมาย ทิสาย กึ นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ในทิศตะวันออก อะไรเป็นนิมิต"
ตามอรรถกถานัยนั้น ท่านให้เวียนมาทักซ้ำนิมิตแรกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้บรรจบรอบกัน
ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ท่านปรับเอาว่า สีมามีนิมิตขาด ใช้ไม่ได้ ทำแบบมักง่าย ไม่เวียนมาทักซ้ำ
นิมิตแรกอีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นที่รังเกียจ เกิดความยุ่งยากได้ เพราะฉะนั้นโปรดใส่ใจด้วย
ตามอรรถกถานัยนั้น ท่านให้เวียนมาทักซ้ำนิมิตแรกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้บรรจบรอบกัน
ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ท่านปรับเอาว่า สีมามีนิมิตขาด ใช้ไม่ได้ ทำแบบมักง่าย ไม่เวียนมาทักซ้ำนิมิตแรกอีกครั้งหนึ่ง อาจเป็นที่รังเกียจ เกิดความยุ่งยากได้ เพราะฉะนั้นโปรดใส่ใจด้วย
2.คำทักนิมิต
๑. ศิลา ว่า.-
"ปาสาโณ ภนฺเต"
แปลว่า "หิน เจ้าข้า"
๒. ภูเขา ว่า.-
"ปพฺพโต ภนฺเต"
แปลว่า "ภูเขา เจ้าเข้า"
๓. ป่า ว่า.-
"วนํ ภนฺเต"
แปลว่า "ป่า เจ้าข้า"
๔. ต้นไม้ ว่า.-
"รุกฺโข ภนฺเต"
แปลว่า "ต้นไม้ เจ้าข้า"
๕. จอมปลวก ว่า.-
"วมฺมิโก ภนฺเต"
แปลว่า "จอมปลวก เจ้าข้า"
๖. หนทาง ว่า.-
"มคฺโค ภนฺเต"
แปลว่า "หนทาง เจ้าข้า"
๗. แม่น้ำ ว่า.-
"นที ภนฺเต"
แปลว่า "แม่น้ำ เจ้าข้า"
๘. น้ำ ว่า.-
"อุทกํ ภนฺเต"
แปลว่า "น้ำ เจ้าข้า"
คำระบุซ้ำ
๑. ศิลา ว่า.-
"เอโส ปาสาโณ นิมิตฺตํ "
แปลว่า "หินนั่น เป็นนิมิต "
๒. ภูเขา ว่า.-
"เอโส ปพฺพโต นิมิตฺตํ "
แปลว่า "ภูเขานั่น เป็นนิมิต "
๓. ป่า ว่า.-
"เอตํ วนํ นิมิตฺตํ "
แปลว่า "ป่านั่น เป็นนิมิต "
๔. ต้นไม้ ว่า.-
"เอโส รุกฺโข นิมิตฺตํ"
แปลว่า "ต้นไม้นั่น เป็นนิมิต "
๕. จอมปลวก ว่า.-
"เอโส วมฺมิโก นิมิตฺตํ "
แปลว่า "จอมปลวกนั่น เป็นนิมิต "
๖. หนทาง ว่า.-
"เอโส มคฺโค นิมิตฺตํ "
แปลว่า "หนทางนั่น เป็นนิมิต "
๗. แม่น้ำ ว่า.-
"เอสา นที นิมิตฺตํ "
แปลว่า "แม่น้ำนั่น เป็นนิมิต "
๘. น้ำ ว่า.-
"เอตํ อุทกํ นิมิตฺตํ "
แปลว่า "น้ำนั่น เป็นนิมิต "
***โปรดติดตามในตอนต่อไป
พุทธศาสนา
ศิลปะวัฒนธรรม
เรื่องเล่า
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สีมาวินิจฉัยกถา วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย