7 ส.ค. 2023 เวลา 12:25 • หนังสือ

สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๔

พัทธสีมา
พัทธสีมาในบัดนี้ มี ๓ ประเภท คือ.-
๑. ขัณฑสีมา
๒. มหาสีมา
๓. สีมาสองชั้น
๑. ขัณฑสีมา
ขัณฑสีมา นั้น หมายถึง สีมาขนาดเล็กที่สงฆ์กำหนดผูกเฉพาะโรงอุโบสถ ที่อยู่ในมหาสีมา โดยมีสีมันตริกคั่น
คำว่า "สีมันตริก" หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องคั่นแดน ระหว่างมหาสีมา กับ ขัณฑสีมา เพื่อไม่ให้สีมาทั้ง ๒ ติดต่อสังกระ คือคาบเกี่ยวกัน
๒. มหาสีมา
มหาสีมา นั้น หมายถึง สีมาที่สงฆ์กำหนดผูก หรือสีมาที่ท่านกำหนดผูกทั่วบริเวณวัด คือ รอบวัด
วัดที่มีสีมา เป็นประเภท "มหาสีมา" เช่น
๑. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๒. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๓. สีมาสองชั้น
สีมาสองชั้น นั้น หมายถึง มหาสีมา กับ ขัณฑสีมา
คือ ในการสมมติสีมาสองชั้นนั้น จำต้องมีเขตแดนคั่นนระหว่าง มหาสีมา กับ ขัณฑสีมา เพื่อไม่ให้ระคนกัน
- เขตแดนคั่น ในระหว่างมหาสีมา กับ ขัณฑสีมา เรียกว่า "สีมันตริก"
- สีมันตริก นั้น ล้อมรอบขัณฑสีมา ดุจเกาะมีน้ำล้อมเป็นเขต
- สีมันตริก นั้น จัดเป็นอันเดียวกับ คามสีมา
พัทธสีมา ๔ ประเภท
พัทธสีมา ตามที่ปรากฎในวินัยมุขทั้งหมด มีอยู่ ๔ ประเภท คือ.-
๑. ขัณฑสีมา สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ
๒. มหาสีมา สีมาที่ผูกรอบบริเวณวัด
๓. สีมาสองชั้น สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา
๔. นทีปารสีมา สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ
นทีปารสีมา
คำว่า "นทีปารสีมา" แปลว่า "สีมาฝั่งน้ำ"
นทีปารสีมา หมายถึง สีมาที่สงฆ์สมมติคร่อมฝั่งน้ำทั้ง ๒ โดยเปิดแม่น้ำไว้กลาง
สีมาชนิดนี้ ทรงอนุญาตให้สมมติได้เฉพาะในตำบลทีมีเรือไปมาอยู่ตลอด คือ.-
๑. เป็นท่าสำหรับจอดเรือ
๒. มีสะพานถาวรยื่นออก เพื่อเรือจะได้จอดเทียบได้
พัทธสีมา ทั้ง ๔ ประเภท นี้ คงมีแต่ ๓ ประเภทข้างต้น
ส่วนประเภทที่ ๔ ไม่ได้ผูกแล้ว
สมานสังวาสสีมา
สมานสังวาสสีมา หมายถึง เขตที่สงฆ์กำหนดถูกต้องตามระเบียบแห่งพระวินัย เป็นแดนกำหนด
ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ ผู้มีสังวาสเสมอกันและสิทธิ์ในการเข้าอุโบสถและปวารณา ตลอดถึงสังฆกรรมอย่างอื่นด้วยกัน
สมานสังวาสสีมานี้ นับเข้าในพวกพัทธสีมาแดนอันสงฆ์ผูกแล้ว
ติจีวราวิปปวาสสีมา
คำว่า "ติจีวราวิปปวาสสีมา" แปลว่า "แดนเป็นที่อยู่ปราศจากไตรจีวร"
ความหมาย.
ติจีวราวิปปวาสสีมา หมายถึง แดนสำหรับอยู่ปราศจากไตรจีวร คือ อยู่ในเขตเช่นนั้น ไม่เป็นนิสสัคคีปาจิตตีย์ เพราะติจีวราวิปปวาสสิกขาบท
กรรมที่ต้องทำในภายในสีมา ๓
กรรมที่ต้องทำภายในสีมา ทำนอกสีมาจัดเป็นกรรมวิบัติ มีอยู่ ๓ อย่างคือ.-
๑. การสวดถอน
๒. การทักนิมิต
๓. การสวดนิมิต
สีมาสังกระ
คำว่า "สีมาสังกระ" แปลว่า "สีมาที่คาบเกี่ยวกัน"
การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน จัดเป็นสีมาสังกระ เช่น การสมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวสีมาเดิม แต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน สีมาใหม่ย่อมบัติใช้ไม่ได้
มูลเหตุแห่งสีมาสังกระ
๑. สมมติสีมาคาบเกี่ยว
๒. วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมา
๓. สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกัน
๔. ทำสังฆกรรมในน่านน้ำ
๑. สมมติสีมาคาบเกี่ยว
สมมติสีมาคาบเกี่ยวนั้น หมายถึง สมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวกับสีมาเดิม โดยที่
ไม่ได้สวดถอนสีมาเดิมเสียก่อน
๒. วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมา
วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมานั้น เช่น ต้นไทรอันเกิดขึ้นที่สีมาแห่งหนึ่ง
พาดกิ่งออกไปหยั่งย่านลงถึงพื้นของสีมาอีกแห่งหนึ่ง เช่นนี้ ท่านว่าเป็นสีมาสังกระ
สำหรับสีมาสังกระในข้อนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระองค์ผู้ทรงรจนาหนังสือวินัยมุข ไม่ทรงเห็นด้วย
๓. สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกัน
สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกันนั้น ต้องทำให้ห่างกัน โดยที่สุดเว้น ๑ อัพภันดรหรืออุทกุกเขปหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตของสองฝ่ายนั้น โดยใจความว่า.-
ในแนวสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ให้ห่างกันอย่างน้อย ๓ อัพภันดร หรือ ๓ อุทกุกเขป
๔. ทำสังฆกรรมในน่านน้ำ
ทำสังฆกรรมในน่านน้ำนั้น ท่านห้ามไม่ให้ผูกโยงเรือหรือแพสำหรับทำกรรมนั้น
ที่หลักหรือที่ต้นไม้บนตลิ่ง
ถ้าทำอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า อุทกุกเขป กับ คามสีมา สังกระกัน
ความแตกต่างระหว่าง พัทธสีมากับอพัทธสีมา
- พัทธสีมาที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์มีสิทธิ์เต็มที่ ทั้งไม่ละวัตถุไปเอง นอกจากสงฆ์
พร้อมใจกันประกาศ และสงฆ์มีสิทธิ์ที่จะสมมติติจีวราวิปวาสสีมาซ้ำลงไปด้วย
- อพัทธสีมา สงฆ์มีอำนาจเพียงถือเอาเป็นเขตชุมนุมสงฆ์เพื่อทำสังฆกรรมเท่านั้น
ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดเป็นเจ้าของ และไม่มีสิทธิ์ที่จะสมมติติจีวราวิปปวาสได้อีก
***โปรดติดตามตอนต่อไป
โฆษณา