Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara สาระความรู้ หนังสือ และจิตวิญญาณ
•
ติดตาม
7 ส.ค. 2023 เวลา 14:57 • หนังสือ
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๕
อธิบายขยายความเรื่องนิมิตทั้ง 8
1.ภูเขาที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในปัพพตนิมิต
ภูเขามี 3 ชนิด คือ
1.
ภูเขาดินล้วน
2.
ภูเขาศิลาล้วน
3.
ภูเขาศิลาปนดิน
ภูเขาเหล่านี้ใช้ได้ทั้ง 3 ชนิด และภูเขาทั้ง 3 ชนิดนั้น
- แต่พื้นดินขึ้นไปเล็กกว่าช้าง ไม่ควร เท่าตัวช้างขึ้นไปแม้ใหญ่เท่าภูเขาสิเนรุ ก็ควร
- กองทรายแม้จะเกิดเองก็ใช้ไม่ได้ ถึงแม้จะมีขนาดเท่าช้างถึงภูเขาสิเนรุก็ใช้ไม่ได้
- ถ้ามีภูเขา 4 เทือก ในทิศทั้ง 4 หรือ 3 เทือก ใน 3 ทิศ แม้จะสมมติสีมาด้วยภูเขาทั้งหมด ใน 4 ทิศหรือ 3 ทิศ ก็ควร แต่จะสมมติเพียง 2 หรือ 1 ทิศ ไม่ควร
**แม้จะใช้นิมิตทั้ง 7 ที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน
เพราะเหตุนั้น เมื่อจะทำภูเขาให้เป็นนิมิต ควรถามว่า
เนื่องเป็นอันเดียวกัน หรือไม่เนื่องเป็นอันเดียวกัน ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกัน ไม่ควรใช้
แม้กำหนดภูเขานั้นเป็นนิมิต 4 ทิศ หรือทั้ง 8 ทิศ ย่อมเป็นอันกำหนดแล้วเพียงนิมิตเดียวเท่านั้น
เพราะเหตุนั้น ภูเขาที่ตั้งโอบรอบวัด ที่อยู่โดยสัณฐานดังกงจักรอย่างนั้น ควรกำหนดในทิศเดียว
ส่วนในทิศอื่น ๆ พึงกันภูเขานั้นไว้ภายนอก กำหนดนิมิตชนิดอื่นไว้ภายในภูเขานั้นเข้ามา
ภาพประกอบ : ปัพพตนิมิต ๑
หากว่า ประสงค์จะทำภูเขาเสี้ยวหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งไว้ภายในสีมา
อย่ากำหนดเอาภูเขา ประสงค์จะทำสถานที่ใดไว้ภายใน พึงกำหนดชนิดใดชนิดหนึ่ง มีต้นไม้และจอมปลวกเป็นต้น ที่เกิด ณ ภูเขานั้นเอง ซึ่งอยู่ข้างนอกสถานที่นั้น
ภาพประกอบ : ปัพพตนิมิต ๒
หากประสงค์จะกันเอาภูเขาทั้งหมดประมาณโยชน์ 1 หรือ 2 โยชน์ ไว้ภายใน
พึงกำหนดต้นไม้หรือจอมปลวกเป็นต้น ซึ่งเกิด ณ ภาคพื้นข้างนอกภูเขาเป็นนิมิต
ภาพประกอบ : ปัพพตนิมิต ๓
2.หินที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในปาสาณนิมิต
แม้ก้อนเหล็ก ก็นับว่าเป็นศิลาได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ศิลาชนิดใดชนิดหนึ่งก็ควร
แต่เมื่อว่าโดยขนาดแล้ว ขนาดเท่าช้างนับว่าเป็นภูเขา เพราะฉะนั้น ศิลาขนาดเท่าช้างขึ้นไป จึงไม่ควรทำเป็นนิมิต
ส่วนศิลาขนาดเท่าโคเขื่อง กระบือเขื่อง ๆ ก็ใช้ได้
โดยกำหนดอย่างต่ำ ขนาดเท่าก้อนน้ำอ้อย 32 ปละ ก็ใช้ได้ (1 ปละเท่ากับ 10 ธารณะ ประมาณ 8-9 กิโลกรัม พึงดูปุพพสิกขาหน้า 532 ประกอบ) ย่อมกว่านั้นใช้ไม่ได้ (น้อยกว่านั้นใช้ไม่ได้)
หรือแม้อิฐขนาดใหญ่ก็ใช้ไม่ได้ แม้กองศิลาที่ไม่นับเข้าในนิมิตก็ใช้ไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงกองดินกองทราย
- ศิลาดาดซึ่งราบเสมอพื้นดิน คล้ายลานของชาวนาก็ดี
ศิลาดาดที่ตั้งสูงพ้นพื้นดินคล้ายตอไม้ก็ดี
ศิลาแม้นั้นถ้าได้ขนาดก็ใช้ได้
- ศิลาดาดแม้ใหญ่เกินไป ย่อมนับว่าเป็นศิลาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าประสงค์จะกันพื้นที่ ศิลาดาดขนาดใหญ่ให้ไว้เป็นสีมา อย่ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต พึงกำหนดศิลาอื่นเหนือศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต
ภาพประกอบ : ปาสาณนิมิต 1
หากสร้างวัดที่อยู่บนศิลาดาด หรือ (และ) *ศิลาดาดยื่นไปท่ามกลางวัด ศิลาดาดเช่นนั้น ใช้ไม่ได้
- เพราะอะไร ? เพราะถ้ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต สีมานั้นย่อมอยู่บนนิมิต และธรรมดานิมิตต้องอยู่ภายนอกสีมา จะทำให้วิหารสีมาอยู่นอกเขตสีมาไปด้วย
ภาพประกอบ : ปาสาณนิมิต 2
ศิลาดาดตั้งอยู่โอบรอบวัดที่อยู่ ควรกำหนดเป็นนิมิตในทิศเดียว อย่ากำหนดในทิศอื่น
ภาพประกอบ : ปาสาณนิมิต 3
*ในกังขาฎีกาใช้เป็นคำว่า "และ"
3.ป่าที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในวนนิมิต
ดงหญ้าหรือป่าไม้ มีตาลและมะพร้าวเป็นต้น ที่มีเปลือกแข็งใช้ไม่ได้
- แต่หมู่ไม้ มีแก่นข้างใน เป็นต้นว่าไม้สากะ (ต้นสัก) หรือไม้สาละ หรือแม้หมู่ไม้มีแก่นปนไม้ไม่มีแก่น ก็ใช้ได้
- ก็ป่าไม้เช่นนั้นแล โดยกำหนดอย่างต่ำแม้เพียง 4-5 ต้นก็ใช้ได้ หย่อนกว่านั้นใช้ไม่ได้ มากกว่านั้นแม้ตั้ง 100 โยชน์ ก็ใช้ได้
ภาพประกอบ : วนนิมิต 1
ถ้าจะสร้างวัดที่อยู่ในป่า (อรัญญวาสี) ไม่ควรกำหนดป่าเป็นนิมิต แม้ประสงค์จะกันเอาป่าส่วนหนึ่งไว้ภายในเขตสีมา ก็ย่อมได้ แต่อย่ากำหนดเอาป่าเป็นนิมิต พึงกำหนดต้นไม้หรือสิ่งอื่น มีหินเป็นต้น ในป่านั้นเป็นนิมิต
ภาพประกอบ : วนนิมิต 2
ถ้าที่วัดมีป่าล้อมรอบ พึงกำหนดป่าเป็นนิมิตในทิศเดียว อย่ากำหนดในทิศอื่น (เพราะป่านั้นเนื่องกันไปหมดทั้ง 4 ทิศ จึงห้ามไว้)
ภาพประกอบ : วนนิมิต 3
4.ต้นไม้ที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยรุกขนิมิต
- ต้นไม้ที่มีเปลือกแข็ง เช่น ต้นตาล ต้นมะพร้าว เป็นต้น ใช้ไม่ได้
- ต้นไม้ที่มีแก่นแม้ยังเล็กอยู่ โดยที่สุดสูงเพียง 8 นิ้ว วัดรอบลำต้นได้เพียงเท่าด้ามเหล็กจาร ก็ใช้ได้ เล็กกว่านั้นใช้ไม่ได้ โตกว่านั้นขึ้นไป แม้เท่าต้นไทรที่ใหญ่ไพศาลตั้ง 12 โยชน์ ก็ควร
- ต้นไม้ที่เขาเพาะพืชให้งอกในกระถางเป็นต้น แม้ได้ขนาดก็ใช้ไม่ได้
- แต่ถ้าเอาออกจากกระถางนั้น ปลูกลงในดิน แม้ในขณะนั้นกำหนดเป็นนิมิต ก็ควร
- การแตกรากหรือกิ่งใหม่ มิใช่เหตุ แต่จะนำเอาต้นไม้ที่เขาเอาลำต้นมาเพาะชำ ต้องให้แตกรากก่อน จึงจะใช้ได้
ภาพประกอบ : รุกขนิมิต 1
แต่กำหนดต้นไม้ที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน เช่น ต้นไทรที่ขึ้นงามใหญ่ไพศาล เป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร
ภาพประกอบ : รุกขนิมิต 2
5.ทางที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในมรรคนิมิต
- คือทางทั้งหลาย มีทางป่า ทางนา ทางแม่น้ำ ทางเหมือง เป็นต้น ใช้ไม่ได้
- ทางเดินเท้าหรือทางเกวียน ซึ่งผ่านไป 2-3 ระยะบ้าน จึงจะใช้ได้
- ส่วนทางเดินเท้าใด แยกจากทางเกวียนแล้ว วกกลับสู่ทางเกวียนอีกนั้น ใช้ไม่ได้
และทางเดินเท้าหรือทางเกวียนเหล่าใด ที่เลิกใช้แล้วนั้น ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
ทางทั้งหลายที่พ่อค้าหรือประชาชนใช้เดินอยู่เสมอ ทางนั้นย่อมใช้ได้
ถ้าทางสองแพร่งแยกจากกันไปแล้ว ภายหลังบรรจบเป็นทางเดียวกัน เช่น *ทูบเกวียนไซร้ ทางนั้นพึงกำหนดตรงที่แยกเป็นสองแพร่ง หรือที่บรรจบกันเป็นนิมิตครั้งเดียวแล้ว อย่ากำหนดทิศอื่นอีก เพราะนิมิตนั้น เป็นนิมิตเนื่องเป็นอันเดียวกัน
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 1
***ทูปเกวียน [ทูบ-เกวียน] แปลว่า ชื่อไม้เครื่องประกอบเครื่องเกวียน ไม้แม่แคร่ทั้งคู่ของเกวียน บางทีเรียกว่า แม่แคร่เกวียน มีลักษณะที่ยื่นยาวออกไปด้านหน้าเกวียน ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับตัวเกวียนทั้งหมด และตั้งรับแอกที่ใช้เทียมวัวหรือควาย ในภาคอีสานเรียกว่า ทวก ภาษาเขมรเรียกว่า ตูก (เขียนว่า ทูก)
ถ้าทางสี่แพร่งล้อมรอบวัดอยู่ แล้วแยกไปทิศทั้ง 4 กำหนดทางหนึ่งตรงท่ามกลางแล้ว จะกำหนดอีกทางหนึ่ง ไม่ควร เพราะนิมิตนั้นเนื่องเป็นอันเดียวกัน
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 2
แต่จะกำหนดทางที่ผ่านทะแยงมุม ไปเป็นนิมิตในด้านอื่น ควรอยู่
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 3
ส่วนทางที่ลัดผ่านท่ามกลางวัดไป ไม่ควรกำหนด เพราะเมื่อกำหนดแล้ว วัดที่อยู่ ย่อมอยู่บนนิมิต
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 4
ถ้าภิกษุทั้งหลาย จะทำทางที่รอยล้อเกวียนด้านในแห่งทางเกวียนเป็นนิมิต ทางย่อมอยู่ภายนอกสีมา
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 5
ถ้าจะทำทางที่รอยล้อเกวียนด้านนอกเป็นนิมิต ทางรอยล้อเกวียนด้านนอก ย่อมเป็นนิมิต
ทางที่เหลือนับเข้าภายในสีมา อันพระวินัยธรผู้จะกำหนดทางเป็นนิมิต สมควรกำหนดโดยชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ในชื่อที่เป็นภาษาบาลีว่า มคฺโค ,ปนฺโถ,ปโถ,ปชฺโช เป็นต้น
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 6
ทางที่ไปได้รอบวัด มีสัณฐานดังคู กำหนดเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว
จะกำหนดในทิศอื่นอีกไม่ควร
ภาพประกอบ : มรรคนิมิต 7
6.จอมปลวกที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในวัมมิกนิมิต
- จอมปลวกโดยกำหนดอย่างเล็กที่สุด แม้เกิดในวันนั้นสูง 8 นิ้ว ขนาดเขาโค ก็ใช้ได้ เล็กกว่านั้นใช้ไม่ได้
- โตกว่านั้นขึ้นไป แม้จะเท่าภูเขาหิมวัน ก็ใช้ได้
- แต่จะกำหนดจอมปลวกที่ติดกันเป็นพืดเดียว ตั้งขึ้นล้อมรอบวัดอยู่ ให้เป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีกไม่ควร
- ในทิศทั้ง 3 ให้เอาสิ่งอื่นเป็นนิมิตอื่น จึงจะใช้ได้
ภาพประกอบ : วัมมิกนิมิต
7.แม่น้ำที่ใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในนทีนิมิต
ในสมัยแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม เมื่อฝนตกติดกันอย่างนี้ คือ
ทุก 15 วัน,ทุก 10 วัน,หรือทุก 5 วัน พอฝนหายแล้ว (แต่) กระแสในแม่น้ำนั้นก็ขาดแห้งไป แม่น้ำนี้ไม่นับว่าเป็นแม่น้ำ
แต่ในคราวฝนตกเช่นนี้ กระแสแห่งแม่น้ำใดใหลไม่ขาดตลอด 4 เดือนในฤดูฝน ลึกพอเปียกสบงของนางภิกษุณี ที่ไม่ยกขึ้นของชายสบงนั้นเป็นปริมณฑล 3 ตามลักษณะของเสขิยวัตร ที่เดินลุยน้ำไป
แม้ลำน้ำนี้ นับว่าเป็นแม่น้ำที่ใช้เป็นนิมิตได้
แม่น้ำใด โอบรอบวัดโดยสัณฐานดังทูบเกวียนก็ดี โดยสัณฐานดังคูก็ดี คล้ายทางก็ดี
กำหนดแม่น้ำนั้นเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 1
*ในการไปสู่ฝั่งน้ำของนางภิกษุณี (นทีปารคมนสิกขาบท ที่เกี่ยวกับการข้ามแม่น้ำของนางภิกษุณี)
*ในการทำสังฆกรรม มีอุโบสถเป็นต้น (อุทกุกเขปสีมา)
*ในการสมมติ นทีปารสีมาก็ดี (สีมาคร่อมแม่น้ำ) ประสงค์เอาแม่น้ำชนิดนี้แล
แม่น้ำ 4 สาย ซึ่งไหลผ่านตัดกันและกันไปในทิศทั้ง 4 ทิศรอบวัด ก็มีนัยเดียวกัน
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 2
แต่จะกำหนดแม่น้ำทั้ง 4 สาย ซึ่งไม่เชื่อมต่อกันเป็นนิมิต ย่อมใช้ได้
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 3
ถ้าชนทั้งหลาย ปักหลักเรียงกันเป็นเหมือง ทำรั้วกั้นกระแสน้ำด้วยเถาวัลย์และใบไม้เป็นต้น และน้ำนั้นล้นท่วมทำนบใหลไปได้ จะทำให้เป็นนิมิต ควรอยู่
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 4
เมื่อเขาทำทำนบไม่ให้น้ำไหล แม่น้ำที่ไม่ไหลนั้น ไม่ควรทำให้เป็นนิมิต (หมายถึงนทีนิมิต) แต่จะทำให้เป็นอุทกนิมิต ควรอยู่
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 5
แต่แม่น้ำใดที่ไม่ไหล เพราะขาดน้ำในคราวฝนแล้ง หรือในฤดูร้อน ก็ใช้ทำนิมิตได้
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 6
ชนทั้งหลาย ชักลำรางไขน้ำมาแต่แม่น้ำใหญ่ ลำรางนั้นก็เช่นกับแม่น้ำเขินไหลอยู่เป็นนิจ ให้ข้าวกล้า 3 คราว (สำเร็จในการเพาะปลูก) ถึงน้ำจะไหลได้ก็จริง แต่ไม่ควรทำเป็นนิมิต
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 7
ส่วนลำรางอันใดชั้นเดิม แม้เขาขุดมาจากแม่น้ำใหญ่
- ในกาลอื่นเซาะพังทลายเป็นแม่น้ำไหลไปได้เองตามทางที่เขาขุดชักมานั้นแหละ
- โดยกาลต่อมา เกลื่อนกลาดไปด้วยสัตว์น้ำ มีจระเข้เป็นต้น เป็นแม่น้ำที่จะพึงสัญจรไปด้วยเรือเป็นต้น จะทำลำรางเช่นนี้ที่กลายเป็นแม่น้ำแล้วให้เป็นนิมิต สมควรอยู่
ภาพประกอบ : นทีนิมิต 8
8.น้ำที่จะใช้เป็นนิมิต
วินิจฉัยในอุทกนิมิต
- ในที่ซึ่งไม่มีน้ำ จะตักน้ำใส่ให้เต็มในเรือก็ดี ในภาชนะมีตุ่มเป็นต้นก็ดี แล้วจะกำหนดให้เป็นนิมิต ไม่ควร
- น้ำที่ถึงแผ่นดินเท่านั้น จึงจะใช้ได้
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 1
*1.-2. น้ำที่อยู่ในตุ่ม น้ำที่อยู่ในเรือ หรือภาชนะอื่น ๆ ใช้เป็นนิมิตไม่ได้
*3. น้ำที่ขังอยู่พื้นดินเท่านั้น จึงจะใช้ได้
*4. น้ำพุ หรือน้ำซับ ที่ไหลพุ่งออก จะใช้เป็นอุทกนิมิตไม่ได้ (แต่จะใช้สมมติเป็นนทีนิมิต ควรอยู่)
- น้ำที่ถึงแผ่นดินเท่านั้น จึงใช้ได้
- ก็น้ำถึงแผ่นดินนั่นแล เป็นน้ำไม่ไหล ขังอยู่ในที่ทั้งหลาย มีบ่อสระ บึงที่เกิดเองโดยธรรมชาติและทะเลสาบเป็นต้น
- ส่วนน้ำในแม่น้ำลึกและคลองไขน้ำเป็นต้น ซึ่งเป็นน้ำไหล ใช้ไม่ได้
อันน้ำที่ขังอยู่ โดยที่สุดแม้ในแอ่งที่สุกรขุดไว้ก็ดี ในหลุมที่เด็กชาวบ้านเล่นก็ดี น้ำที่เขาขุดหลุม แล้วตักน้ำมาให้เต็มในขณะนั้นก็ดี ถ้าขังอยู่จนถึงสวดกรรมวาจาจบได้ จะน้อยหรือมากก็ตามที ย่อมใช้ได้เหมือนกัน
อนึ่ง ต้องทำกองศิลาหรือกองทรายเป็นต้น หรือเสาศิลา เสาไม้ไว้ในที่นั้น เพื่อทำเป็นเครื่อง *(นิมิตหมาย)
ภิกษุจะทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำกองศิลา กองทราย หรือเสาไม้ เสาศิลาเป็นต้นนั้นก็ได้ แต่ในลาภสีมา ไม่ควรทำเอง
ส่วนสมานสังวาสสีมา ย่อมไม่ทำความเบียดเบียนใคร ๆ ย่อมสำเร็จกิจ เฉพาะวินัยกรรมของภิกษุทั้งหลายอย่างเดียว
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 2
*ท่านให้ปักเสาหรือกองทรายไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้ เพราะในอนาคตหลุมเท่าสุกรอาจถูกกลบจนจำขอบเขตไม่ได้ อาจทำให้เกิดปัญหาได้ภายหลังว่า ขอบเขตสีมาอยู่แค่ไหน (อาจทำให้สีมาคาบเกี่ยวกับสีมาอื่นภายหลังได้)
ก็แล สงฆ์จะสมมติสีมาด้วยนิมิต 8 อย่างนี้ ไม่คละกันก็ดี จะคละสลับกันก็ดี
ควรทั้งนั้น สีมานั้น ที่สมมติผูกอย่างนั้น ไม่เป็นอันผูกด้วยนิมิตเดียวหรือสองนิมิต
ส่วนสีมาที่ผูกด้วยนิมิต มีประการดังกล่าวแล้วตั้งแต่ 3 นิมิตขึ้นไปถึง 100 นิมิต ย่อมเป็นอันผูกด้วยดี
1.สีมาที่สมมติด้วยนิมิต คละกันทั้ง 8 ก็ใช้ได้
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 3 1.สีมาที่สมมติด้วยนิมิต คละกันทั้ง 8 ก็ใช้ได้
2.สีมาที่สมมติผูกด้วยนิมิตเดียว ใช้ไม่ได้
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 4 2.สีมาที่สมมติผูกด้วยนิมิตเดียว ใช้ไม่ได้
3.สีมาที่สมมติผูกด้วยนิมิต 2 ก็ใช้ไม่ได้
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 5 3.สีมาที่สมมติผูกด้วยนิมิต 2 ก็ใช้ไม่ได้
สีมานั้น
ที่ผูกด้วยนิมิต 3 มีสัณฐานดังกระจับ
ที่ผูกด้วยนิมิต 4 เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ที่ผูกด้วยนิมิตมากกว่านั้น มีสัณฐานต่าง ๆ กันไป การทำนิมิตและสมมติตามนัยที่กล่าวแล้วอย่างนี้ พึงทราบว่า สีมาที่ประกอบด้วยนิมิตสมบัติ ใช้ได้
ภาพประกอบ : อุทกนิมิต 6
***โปรดติดตามตอนต่อไป
ศิลปะวัฒนธรรม
พุทธศาสนา
ประวัติศาสตร์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สีมาวินิจฉัยกถา วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย