Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara สาระความรู้ หนังสือ และจิตวิญญาณ
•
ติดตาม
8 ส.ค. 2023 เวลา 08:26 • หนังสือ
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๖
วิธีผูกมหาสีมา ขัณฑสีมา และสีมาสองชั้น
ก็พัทธสีมานั้นมี ๓ ประเภท คือ.-
๑. ขัณฑสีมา
๒. มหาสีมา
๓. สีมาสองชั้น
๑. ขัณฑสีมา : เป็นสีมาขนาดเล็กที่สงฆ์กำหนดผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา โดยมีสีมันตริกคั่น
คำว่า "สีมันตริก" หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องคั่นแดน ระหว่างมหาสีมา กับ ขัณฑสีมา เพื่อไม่ให้สีมาทั้ง ๒ ติดต่อสังกระ คือ คาบเกี่ยวกัน
๒. มหาสีมา หมายถึง สีมาที่สงฆ์กำหนดผูก หรือสีมาที่ท่านกำหนดผูกทั่วบริเวณวัด คือ รอบวัด
วัดที่มีสีมาเป็นประเภท "มหาสีมา" เช่น
๑. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๒. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๓. สีมาสองชั้น หมายถึง มหาสีมา กับ ขัณฑสีมา คือ ในการสมมติสีมาสองชั้นนั้น
จำต้องมีเขตแดนคั่นนระหว่าง มหาสีมา กับ ขัณฑสีมา เพื่อไม่ให้ระคนกัน
ในที่นี้จะขอบรรยายวิธีผูกพัทธสีมาทั้งสามประเภท โดยจะเริ่มจากวิธีผูกมหาสีมา ก่อน ตามด้วยขัณฑสีมา และสีมาสองชั้น
1.วิธีผูกมหาสีมา
ภิกษุทั้งหลายผู้ประสงค์จะผูกมหาสีมานั้น พึงถามภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันถึงขอบเขตกำหนดสีมาแห่งวัดที่อยู่ของตนนั้น ๆ พึงเว้นสีมามันตริก (เขตกั้นระหว่างสีมากับสีมา) เพื่อสีมาของวัดที่ผูกสีมาแล้วทั้งหลาย เว้นอุปจารคือสีมาไว้ เพื่อให้โอกาสแก่วัดที่จะสมมติสีมาภายหลัง
แนวเขตที่เว้นอุปจารเพื่อให้โอกาสแก่วัดที่ยังมิได้ผูกสีมา
อนึ่ง พึงกำหนดเอาสมัยที่ไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของภิกษุทั้งหลายผู้จาริกไปในทิศต่าง ๆ ถ้าประสงค์จะผูกมหาสีมาในตำบลหนึ่ง ๆ หรือในคามเขตหนึ่ง
วัดเหล่าใดในคามเขตนั้นผูกสีมาแล้ว พึงส่งข่าวแก่ภิกษุทั้งหลายในวัดเหล่านั้นว่า
เราทั้งหลาย จักผูกสีมาในวันนี้ เวลานี้ ท่านทั้งหลายอย่าพึ่งออกจากเขตสีมา พึงอยู่ในเขตสีมาของตน ๆ เท่านั้น
วัดเหล่าใดในคามเขตนั้นที่ยังมิได้ผูกสีมา
พึงนิมนต์ภิกษุทั้งหลายในวัดเหล่านั้นให้มาประชุมอยู่ในหัตถบาสเดียวกัน
ในเวลาสวดสมมติสีมา ถ้าไม่มา พึงให้นำฉันทะมา หรือให้อยู่ในเฉพาะเขต คือสระธรรมชาติหรือในแม่น้ำ หรือในทะเล
ภาพประกอบ : วัดที่กำลังผูกสีมา
***ดูภาพประกอบ : วัด ค.ที่กำลังผูกสีมา***
- พระภิกษุที่อยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 4 ต้องเข้ามาในหัตถบาสวัด ค. (วัดที่กำลังผูกสีมา)
ในขณะสวดกรรมวาจาสมมติสีมา ถ้าไม่มา ต้องอยู่ในเขตเฉพาะ (เขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น) คือสระน้ำ (2) หรือแม่น้ำ (3) ,ในเขตสีมาของวัด ก.และวัด ข. หรือต้องมอบฉันทะมา จึงจะอยู่ในคามเขตหมู่ 4 ได้
มิฉะนั้น สังฆกรรมของวัด ค. คือการสวดสมมติสีมา ไม่เป็นอันทำ
- ทางเข้าบ้านหมู่ 4 (1) ทุกทิศ พึงให้สามเณรหรือคนวัด เฝ้าดูการไปมาของพระอาคันตุกะผ่าน
*****************************************************************
- ถ้าปรารถนาจะกันคามเขต แม้เหล่าอื่นไว้ภายในสีมาไซร้
ภิกษุเหล่าใดอยู่ในคามเขตนั้น ในเวลาสมมติสมานสังวาสสีมา จะมาก็ตาม ไม่มาก็ตาม ของภิกษุนั้น ย่อมควร
- ถามว่า เพราะเหตุไร ?
- ตอบว่า เพราะขึ้นชื่อว่า คามเขต (หมู่บ้าน) ต่าง ๆ ย่อมเป็นเช่นกับสีมาอันหนึ่ง ๆ ซึ่งแยกกันอยู่แล้ว (เรียกว่าคามสีมา) ฉันทะก็ดี บริสุทธิ์ก็ดี ย่อมไม่มาจากคามเขตนั้น ๆ
แต่ในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมา ภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในภายในเขตนิมิต ต้องมา
ถ้าไม่มา ต้องนำฉันทะมา
- ถามว่า เพราะเหตุไร ?
- ตอบว่า เพราะเมื่อสวดกรรมวาจาสมมติสมานสังวาสสีมาจบลง คามเขตทั้งหลายที่อยู่ภายในนิมิต (เว้นสีมา, สีมามันตริกแห่งวัดนั้น ๆ ,สระน้ำ,แม่น้ำ,ทะเล) ย่อมเป็นมหาสีมาอันเดียวกัน
ในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมา ภิกษุที่อยู่ในคามเขตภายในนิมิต จึงต้องมา ถ้าไม่มา ต้องนำฉันทะมา ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะได้นำมาบอกแก่สงฆ์แล้ว
พึงวางคนวัดหรือสามเณรเขื่อง ๆ ไว้ในทางเหล่านั้น มีประตูเข้าหมู่บ้านและท่าน้ำ เพื่อนำอาคันตุกะมาในหัตถบาส หรือเพื่อกันไว้ภายนอกสีมา แล้วพึงตีกลองสัญญาณหรือเป่าสังข์สัญญาณให้ทราบ แล้วผูกสีมาด้วยกรรมวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในลำดับแห่งการกำหนดนิมิต
ในเวลาจบลง กรรมวาจานั่นเอง แดนคือพัทธสีมา ก็กันนิมิตทั้งหลายไว้ภายนอก สีมาย่อมหยั่งลงเบื้องล่างลึกถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด
2.วิธีผูกขัณฑสีมา
ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะผูกสมานสังวาสกสีมา ควรผูกขัณฑสีมาก่อน เพื่อทำสังฆกรรมทั้งหลาย มีบรรพชาและอุปสมบทเป็นต้น ได้สะดวก ไม่ต้องลำบากด้วยการประชุมสงฆ์เป็นอันมาก (คือการประชุมในหัตถบาสง่ายขึ้น และการระวังการละหัตถบาสของภิกษุก็สะดวก)
เมื่อจะผูกพัทธสีมานั้น ต้องรู้จักวัตร
ก็ถ้าจะผูกในวัดที่อยู่ที่ทายกสร้าง ให้ประดิษฐานวัตถุทั้งปวง มีต้นโพธิ์ เจดีย์ และหอฉัน เป็นต้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าผูกตรงกลางวัดที่อยู่ อันเป็นสถานที่ประชุมของชนอันมาก พึงผูกในโอกาสอันสงัด ที่สุดท้ายวัดที่อยู่
ให้ประดิษฐานวัตถุทั้งปวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พึงผูกในโอกาสอันสงัด
ในวัดที่ยังไม่ได้สร้าง พึงกะที่ไว้สำหรับวัตถุทั้งปวง มีต้นโพธิ์และเจดีย์เป็นต้นไว้แล้ว
เมื่อประดิษฐานวัตถุทั้งหลายเสร็จแล้ว ขัณฑสีมาจะอยู่ในท้ายสุดของวัดอันสงัดที่สุด
ขัณฑสีมานั้นโดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด จุภิกษุได้ 21 รูป เป็นอันใช้ได้ ย่อมกว่านั้นใช้ไม่ได้ ที่ใหญ่แม้จุภิกษุจำนวน 1,000 รูป ก็ใช้ได้
เมื่อจะผูกสีมานั้น พึงวางศิลาที่ควรเป็นนิมิตได้ ไว้โดยรอบโรงที่จะผูกสีมานั้น แล้วพึงผูกเถิด
- ถามว่า เพราะเหตุไร ? จึงให้วางศิลาเป็นนิมิต
- ตอบว่า เพราะต้นไม้เป็นต้นนั้น จะอยู่ในที่ต้องการนั้นหาได้ยาก
อนึ่ง ต้นไม้และจอมปลวกนั้น ครั้นเจริญขึ้นแล้ว จะทำให้สีมาทั้งสองคือขัณฑสีมากับมหาสีมาเจือกัน แต่ศิลานั้นไม่เจริญขึ้นเหมือนต้นไม้และจอมปลวก เพราะก้อนศิลานั้น จะวางไว้ที่ใด ๆ ก็ทำได้ง่าย
อย่ายืนอยู่ในขัณฑสีมา ผูกมหาสีมา
อย่ายืนในมหาสีมา ผูกขัณฑสีมา
แต่ต้องยืนอยู่เฉพาะในขัณฑสีมา ผูกขัณฑสีมา
ต้องยืนอยู่เฉพาะในมหาสีมา ผูกมหาสีมา
ส่วนกรรมวาจาใช้เหมือนกัน ทั้งมหาสีมาและขัณฑสีมา
*หมายเหตุ
คำว่า จุภิกษุได้ 21 รูป หมายความว่า จุภิกษุได้ 21 รูป ซึ่งรวมภิกษุผู้ควรแก่กรรมด้วย เพราะสังฆกรรมเป็นกิจที่ต้องทำด้วยสงฆ์ "วีสติวรรค" เป็นอย่างยิ่ง และคำนี้กล่าวตามจำนวนภิกษุที่นั่งทำสังฆกรรมจำนวนอย่างต่ำที่สุด
วัดป่าบุญคุ้มเกล้า : ศาลาอุโบสถ ซึ่งมีศาลาและอุโบสถในหลังเดียวกัน ชั้นบนเป็นอุโบสถ ชั้นล่างเป็นศาลาปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกุศลทั่วไป
3.วิธีผูกสีมาสองชั้น
วิธีผูกสีมา 2 ชนิดนั้น ทำดังนี้ :
- พระวินัยธรพึงถามและกำหนดนิมิตเป็นต้นว่า ศิลานั้นเป็นนิมิตโดยรอบแดนขัณฑสีมา ตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น พึงผูกขัณฑสีมาด้วยกรรมวาจา
ลำดับนั้น จึงทำอวิปปวาสกรรมวาจาซ้ำลง เพื่อทำขัณฑสีมานั้นแลให้มั่นคง
จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจักถอนสีมา จักไม่อาจถอนได้
ครั้นสมมติขัณฑสีมาแล้ว พึงวางศิลาเครื่องหมายสีมันตริกไว้ภายนอก
สีมันตริกนั้น ว่าโดยส่วนแคบที่สุดประมาณ 4 นิ้ว ก็ควร
ก็ถ้าว่า วัดที่อยู่ใหญ่ ควรผูกขัณฑสีมาไว้ 2 แห่งก็ได้ 3 แห่งก็ได้ เกินกว่านั้นก็ได้
ครั้นสมมติขัณฑสีมาอย่างนั้นแล้ว ในเวลาจะสมมติมหาสีมา พึงออกจากขัณฑสีมา ยืนอยู่ในมหาสีมา กำหนดศิลาเครื่องหมายสีมามันตริก เดินวนไปโดยรอบ
ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายที่เหลือ แล้วอย่าละหัตถบาสกัน พึงสมมติสมานสังวาสกสีมาด้วยกรรมวาจา แล้วทำอวิปปวาสกรรมวาจาสีมาซ้ำอีก เพื่อทำมหาสีมานั้นให้มั่นคง
จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่า เราทั้งหลายจักถอนสีมา จักไม่สามารถถอนได้
อนึ่ง ครั้นกำหนดนิมิตแห่งขัณฑสีมาแล้ว
ลำดับนั้น จึงกำหนดนิมิตที่สีมันตริก แล้วกำหนดนิมิตแห่งมหาสีมา
เมื่อกำหนดนิมิตใน 3 สถานอย่างนี้แล้ว ปรารถนาจะผูกสีมาใด จะผูกสีมานั้นก่อน ก็ควร แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ควรผูกตั้งต้นแต่ขัณฑสีมาไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว
ก็บรรดาสีมาทั้งหลายที่สงฆ์ผูกแล้วอย่างนั้น
ภิกษุทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในขัณฑสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำสังฆกรรมในมหาสีมา
หรือผู้ยืนอยู่ในมหาสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำสังฆกรรมในขัณฑสีมา
อนึ่ง ภิกษุผู้ยืนอยู่ในสีมามันตริก ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุทั้ง 2 พวก คือ ขัณฑสีมาและมหาสีมา แต่ย่อมทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำสังฆกรรมอยู่ในคามเขต (คามสีมา)
จริงอยู่ สีมามันตริกย่อมควบถึงคามสีมาด้วย
เสาแผ่นศิลาธรรมจักร วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
***โปรดติดตามตอนต่อไป
ประวัติศาสตร์
พุทธศาสนา
ศิลปะวัฒนธรรม
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สีมาวินิจฉัยกถา วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย