Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara สาระความรู้ หนังสือ และจิตวิญญาณ
•
ติดตาม
18 ส.ค. 2023 เวลา 08:12 • หนังสือ
สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๗
สีมาประเภทต่าง ๆ : (สีมาที่ผูกในที่ต่างๆอื่นอีก)
อันที่จริงธรรมดาสีมานั้น ภิกษุสงฆ์ผูกแล้วบนพื้นดินอย่างเดียวเท่านั้น
จึงจัดว่าเป็นอันผูก ก็หามิได้
โดยที่แท้ สีมาที่ภิกษุสงฆ์ผูกไว้บนศิลาดาดก็ดี ในเรือนคือกุฎี ในที่เร้น ในปราสาท และบนยอดเขา จัดว่าเป็นอันผูกแล้วเหมือนกัน
วิธีผูกสีมาประเภทต่าง ๆ :
ยังมีสีมาที่ภิกษุพึงใช้ผูกได้อันท่านยกไว้เป็นตัวอย่างมี 5 ประเภท ได้แก่
- ศิลาดาด ๑
- ในเรือนหรือกุฎี ๑
- ในที่เร้น (ทึบ) ๑
- ในปราสาท ๑
- บนยอดเขา ๑
1.วิธีผูกสีมาบนศิลาดาด
เมื่อภิกษุสงฆ์จะผูกสีมาบนศิลาดาด อย่าสกัดรอยหรือขุดดังครกบนแผ่นหลังศิลานั้น ทำให้เป็นนิมิต (การที่ไม่ให้สกัดรอยหรือขุดหลุมบนศิลาดาดนั้น เพราะว่า รอยหรือหลุม ท่านไม่ได้นับเข้าในนิมิต 8 ประการดังกล่าว และจะเป็นเหตุให้สีมาวิบัติด้วย)
ควรวางศิลาที่ได้ขนาดนิมิต แล้วกำหนดให้เป็นนิมิต สมมติด้วยกรรมวาจาในเวลาจบกรรมวาจา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด
แม้ศิลาที่เป็นนิมิตนั้นจะไม่คงอยู่ที่เดิมก็ตาม ควรทำรอยให้ปรากฏโดยรอบ หรือสกัดเจาะศิลาที่มุมทั้ง 4 หรือจารึกอักษรไว้ว่า ตรงนี้เป็นแดนกำหนดสีมา ก็ได้
ภิกษุบางพวกริษยา จุดไฟขึ้นด้วยคิดว่า เราจักเผาสีมาเสีย ย่อมไหม้แต่ศิลา สีมาหาไหม้ไม่
วิธีผูกสีมาบนศิลาดาด
ศิลาที่ใช้ได้ นั้น มี ๔ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาแท้ หรือ ศิลาเจือแร่
๒. มีสัณฐานโตไม่ถึงช้าง เท่าศรีษะโคหรือกระบือเขื่องๆ
๓. เป็นศิลาแท่งเดียว
๔. มีขนาดเล็กเท่าก้อนน้ำอ้อย หนัก ๓๒ ปละ คือ ประมาณ ๕ ชั่ง
ศิลาที่ใช้ได้อีก ๓ ชนิด คือ.-
๑. ศิลาดาด
๒. ศิลาเทือก
๓. ศิลาดวด
๑. ศิลาดาด
คำว่า "ศิลาดาด" หมายถึง หินที่เป็นแผ่นราบใหญ่
๒. ศิลาเทือก
คำว่า "ศิลาเทือก" หมายถึง หินที่ตัดกันเป็นพืดยาว
๓. ศิลาดวด
คำว่า "ศิลาดวด" หมายถึง หินที่สูงขึ้นไปบนพื้นดิน
2.วิธีผูกสีมาในกุฎี
เมื่อจะผูกในเรือนคือกุฎีเล่า อย่ากำหนดฝาเรือนเป็นนิมิต ควรวางศิลาเป็นนิมิต
กะสถานที่ว่างพอจุภิกษุ 21 รูปไว้ข้างใน แล้วสมมติสีมาเถิด ร่วมในฝาเท่านั้น ย่อมเป็นสีมา
วิธีผูกสีมาในกุฎี : กะที่ว่างให้พอจุภิกษุได้ 21 รูป
ถ้าร่วมในฝา ไม่มีที่ว่างพอภิกษุได้ 21 รูป ควรวางศิลานิมิตที่หน้ามุขก็ได้ แล้วสมมติสีมา
วิธีผูกสีมาในกุฎี : ถ้าไม่มีที่ว่างพอจุ 21 รูปได้ วางที่หน้ามุขก็ได้
ถ้าแม้หน้ามุขนั้นไม่พอ ควรวางนิมิตทั้งหลายในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาภายนอก แล้วจึงสมมติสีมา ก็เมื่อสมมติสีมาอย่างนั้น เรือนคือกุฎีทั้งหมด เป็นอันตั้งอยู่ในสีมาแท้
วิธีผูกสีมาในกุฎี : แนวน้ำที่ตกจากชายคา
3.วิธีผูกสีมาที่เร้น (ทึบ)
เมื่อจะผูกสีมาในกุฎีที่เร้น ซึ่งมีฝาสี่ด้านเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต ควรกำหนดแต่ศิลา
เมื่อข้างในไม่มีที่ว่าง ควรวางนิมิตทั้งหลายไว้ที่หน้ามุขก็ได้
ถ้าหน้ามุขยังไม่พอ ควรวางศิลานิมิตทั้งหลายไว้ในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาในภายนอก แล้วกำหนดนิมิต สมมติสีมา
เมื่อผูกอย่างนี้ ย่อมเป็นสีมาทั้งภายใน ทั้งภายนอกกุฎีที่เร้นนั่นแล.
วิธีผูกสีมาที่เร้น : ควรกำหนดแต่ศิลา วางศิลาไว้ในที่น้ำตกจากชายคาในภายนอก
หมายเหตุ :
- การที่มิให้กำหนดฝาหรือเสาเป็นนิมิต เพราะว่าฝาและเสา มิได้อยู่ในนิมิต 8 อย่างตามพุทธานุญาต จะเป็นเหตุให้สีมาวิบัติ
- คำว่า เรือนกุฏิ (กุฏิเคเห) หมายถึง กุฏิหญ้าที่เขาสร้างไว้บนพื้นดิน
4.วิธีผูกสีมาบนปราสาท
เมื่อจะผูกบนปราสาท อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต พึงวางศิลาทั้งหลายไว้ภายใน แล้วสมมติสีมาเถิด
วิธีผูกสีมาบนปราสาท : พึงวางศิลาไว้ภายใน
ถ้าภายในปราสาทไม่พอ พึงวางศิลาทั้งหลายไว้ที่หน้ามุข แล้วสมมติสีมาเถิด
สีมาที่สมมติอย่างนี้ ย่อมอยู่เฉพาะบนปราสาทเท่านั้น ไม่หยั่งลงไปถึงข้างล่าง
วิธีผูกสีมาบนปราสาท : พึงวางศิลาไว้ที่หน้ามุข
แต่ถ้าปราสาทที่ทำบรอดที่ร้อยในเสามากต้น ฝาชั้นล่างสูงขึ้นไป เนื่องเป็นอันเดียวกับไม้รอดนั้น โดยการที่มีร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย สีมาย่อมหยั่งลงถึงภายใต้ชั้นล่าง
วิธีผูกสีมาบนปราสาท :
*** (อธิบายเพิ่มเติม) และถ้าฝาที่พื้นชั้นล่างของปราสาท ที่เขาสร้างไว้บนขื่อที่สอดเข้าในเสาหลายต้น สูงขึ้นไปติดเป็นอันเดียวกับไม้ขื่ออย่างที่จะมีร่วมในแห่งนิมิตได้
สีมาย่อมหยั่งลงไปถึงข้างล่างได้
ส่วนสีมาที่ผูกไว้บนพื้นชั้นบนของปราสาทที่มีเสาต้นเดียว ถ้าบนยอด
เสามีที่ว่างพอจุภิกษุ ๒๑ รูปได้ ย่อมหยั่งลงถึงข้างล่างได้
ถ้าวางศิลาทั้งหลายในที่เป็นต้นว่า กระดานเรียงอันยื่นออกไปจากฝาปราสาท แล้วผูกสีมา ฝาปราสาทย่อมอยู่ภายในสีมา ส่วนการที่สีมานั้นจะหยั่งลงถึงภายใต้หรือไม่ พึงทราบตามในที่กล่าวแล้วนั้นแล.
วิธีผูกสีมาบนปราสาท :
*** (อธิบายเพิ่มเติม)ถ้าวางหินไว้บนกระดานเรียบเป็นต้นที่ยื่นออกมาจากฝาประสาทแล้ว ผูกสีมา ฝาปราสาทย่อมอยู่ภายในสีมา ส่วนการที่สีมานั้นจะหยั่งลงถึงข้างล่างหรือไม่ ก็พึงทราบตามนัยดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นเอง
วิธีผูกนิมิตใต้ปราสาท
เมื่อจะกำหนดนิมิตภายใต้ปราสาท อย่ากำหนดฝาและเสาไม้เป็นนิมิต
แต่จะกำหนดเสาศิลาซึ่งยึดติดกับฝาไว้ ควรอยู่
สีมาที่กำหนดอย่างนี้ ย่อมมีเฉพาะร่วมในแห่งเสาริมโดยรอบของภายใต้ปราสาท
*** (อธิบายเพิ่มเติม)แม้เมื่อจะทักนิมิตใต้ปราสาท ก็อย่าทักฝาหรือเสาไม้ แต่ทักเสาหินที่ยึดติดกับฝาได้ สีมาที่กำหนดอย่างนี้ย่อมอยู่เฉพาะร่วมในเสาริมรอบข้างล่างปราสาทเท่านั้น
วิธีผูกนิมิตใต้ปราสาท : สีมานี้จะใช้ได้เฉพาะชั้นล่างอย่างเดียว
แต่ถ้าฝาภายใต้ปราสาท เป็นของเนื่องถึงพื้นชั้นบน สีมาย่อมขึ้นไปถึงชั้นบนปราสาทด้วย
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ฝาใต้ปราสาทติดไปถึงพื้นชั้นบน สีมาย่อมขึ้นไปถึงชั้นบน
ปราสาทด้วย
วิธีผูกนิมิตใต้ปราสาท : สีมานี้จะใช้ได้ทุกชั้นของปราสาท
ถ้าทำนิมิตในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคานอกปราสาท ปราสาททั้งหลังตั้งอยู่ในสีมาโดยรอบ
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ถ้าทำนิมิตไว้ที่น้ำตกจากชายคานอกปราสาท ปราสาททั้งหมดก็ตั้งอยู่ในสีมา
วิธีผูกนิมิตใต้ปราสาท : แนวน้ำที่ตกจากชายคานอกปราสาท
5.วิธีผูกสีมาบนยอดเขา
ถ้าพื้นบนยอดเขา เป็นที่ควรแก่โอกาสพอจุภิกษุ 21 รูป ผูกสีมาบนพื้นนั้น อย่างเดียวกันที่ผูกบนศิลาดาดนั่นแล แม้ภายใต้ภูเขาสีมา ย่อมหยั่งลงไปถึงน้ำรองแผ่นดิน โดยกำหนดนั้นเหมือนกัน
วิธีผูกสีมาบนยอดเขา : บนยอดเขามีพื้นที่ว่างพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ภิกษุสงฆ์ผูกสีมาบนพื้นนั้น เหมือนผูกบนหินดาด แม้ภายใต้ภูเขา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึงตามกำหนดนั้นเหมือนกัน
แม้บนภูเขาที่มีสัณฐานดังโคนต้นตาล สีมาที่ผูกไว้ข้างบน ย่อมหยั่งลงไปถึงข้างล่างเหมือนกัน
แม้บนภูเขาที่มีสัณฐานดุจโคนตาล สีมาที่ผูกไว้ข้างบน ย่อมหยั่งลงไปข้างล่างเหมือนกัน
ส่วนภูเขาใด มีสัณฐานดังดอกเห็ด ข้างบนมีที่พอจุภิกษุได้ 21 รูป ข้างล่างไม่พอ สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ย่อมไม่หยั่งลงไปข้างล่าง
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ส่วนภูเขาใดมีสัณฐานดุจดอกเห็ด ข้างบนมีที่ว่างพอจุภิกษุได้ ๒๑รูป ข้างล่างไม่มี สีมาที่ผูกข้างบนภูเขานั้นย่อมไม่หยั่งลงถึงข้างล่างได้
ส่วนภูเขามีสัณฐานดุจดอกเห็ด
ภูเขามีสัณฐานดังตะโพน หรือมีสัณฐานดังบัณเฑาะห์ก็ตามที ข้างล่างหรือตรงกลางแห่งภูเขาใด ไม่มีพื้นที่เท่าตัวสีมา สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ย่อมไม่หยั่งลงถึงข้างล่าง
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ด้วยอาการอย่างนี้จะเป็นภูเขา มีสัณฐานดังตะโพนหรือมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ ที่ข้างล่างหรือตรงกลางของภูเขาใดไม่มีพื้นที่ขนาดเท่าตัวสีมา สีมาที่ผูกข้างบนภูเขานั้นย่อมไม่หยั่งลงถึงข้างล่าง
สีมาเหมือนตะโพนหรือบัณเฑาะว์
หมายเหตุ :
- ถ้าด้านล่างสีมามีพื้นที่พอจุภิกษุได้ ๒๑ รูปขึ้นไป สีมาย่อมหยั่งลงไป ถ้าไม่มีที่เท่านั้น สีมาย่อมไม่หยั่งลง
- ตะโพน. ชื่อกลองสองหน้าชนิดหนึ่ง หัวสอบท้ายสอบกลางป่อง มีขารอง ตีด้วยมือ ใช้บรรเลงกำกับจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์
ตะโพน : ชื่อกลองสองหน้าชนิดหนึ่ง ท่านจึงเปรียบเทียบภูเขาที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับกลองตะโพนอย่างนั้นแล
ส่วนภูเขาใดมี 2 ยอด ตั้งอยู่ใกล้กัน บนยอดแม้อันหนึ่งไม่พอเป็นประมาณแห่งสีมา ควรก่อหรือถมตรงระหว่างแห่งยอดภูเขาทั้งสองนั้นให้เต็ม ทำให้เนื่องเป็นพื้นเดียวกัน แล้วจึงสมมติสีมาข้างบนนั้น
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ภูเขาใดมี ๒ ยอดตั้งอยู่ใกล้ชิดกัน บนยอดแม้ข้างหนึ่งไม่พอขนาดเท่าตัวสีมา พึงก่อหรือถมระหว่างยอดภูเขานั้นให้เต็ม ทำให้เป็นพื้นเดียวกัน แล้วสมมติสีมาไว้ข้างบน
ยอดภูเขาสองยอดตั้งอยู่ใกล้ชิดกัน แต่ตรงกลางขาด สามารถถมให้เต็มและทำให้พื้นเรียบเสมอกัน จึงจะสมมติเป็นสีมาได้
ภูเขาลูกหนึ่งคล้ายพังพานงู เบื้องบนภูเขานั้นผูกสีมาได้ เพราะมีโอกาสได้พอประมาณเป็นสีมา ถ้าภายใต้ภูเขานั้น มีเงื้อมอากาศ สีมาย่อมไม่หยั่งลงไปถึง
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ภูเขาเทือกหนึ่งคล้ายพังพานงู ข้างบนภูเขานั้นผูกสีมาได้เพราะมีที่ว่างพอเป็นสีมาได้ ถ้าข้างล่างภูเขานั้นมีเงื้อมโปร่ง สีมาหยั่งลงไม่ถึง
แต่ถ้าตรงกลางเงื้อมโปร่งนั้น มีโพรงหินขนาดเท่าสีมา สีมาหยั่งลงถึง และหินนั้นก็ตั้งอยู่ภายในสีมานั่นเอง
ภูเขาคล้ายพังพานงู
แต่ถ้าตรงกลางเงื้อมอากาศนั้น มีศิลาโพรงเท่าขนาดสีมา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึง และศิลานั้นเป็นของตั้งอยู่ในสีมาแท้
*คำว่า โพรง หมายถึง ถ้ำใต้ภูเขา
ถ้ำใหญ่บรรจุภิกษุได้ 21 รูป
แต่ถ้าศิลาโพรงไม่จรดพื้น ห้อยลอยกลางอากาศ สีมาย่อมไม่หยั่งลงไป
ศิลาโพลงมีลักษณะไม่จรดถึงพื้น
ถ้าแม้ฝาแห่งที่เร้นภายใต้ภูเขานั้น ตั้งจรดถึงส่วนยอด สีมาย่อมหยั่งถึงทั้งข้างล่างและข้างบน ย่อมเป็นสีมาหมด
ก่ออิฐเป็นฝาผนังชิดพื้นด้านบน
ถ้าที่เร้นเล็กเกินไป ไม่ได้ขนาดกับสีมา สีมาย่อมมีเฉพาะข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงถึงข้างใต้
ถ้ำเล็กไม่พอจุภิกษุ 21 รูปได้
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ถ้าใต้ภูเขานั้น ฝาถ้ำตั้งจรดถึงปลายยอด สีมาย่อมหยั่งถึงทั้งข้างล่างและข้างบน เป็นสีมาได้ทั้งนั้น แต่ถ้าภายในถ้ำข้างล่าง มีอยู่นอกแนวแดนกำหนดสีมา ข้างบนสีมาไม่หยั่งลงถึงภายนอก
แม้ถ้าด้านนอกถ้ำ อยู่ข้างในแนวเขตกำหนดสีมาตอนบน สีมาย่อมไม่หยั่ง
ลงถึงภายใน
แม้ถ้าข้างบนภูเขานั้นมีที่ว่างเป็นเขตกำหนดสีมาเล็ก ด้านใต้มีถ้ำใหญ่ เลยแนวเขตกำหนดสีมา สีมาอยู่แต่ข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงไปถึงข้างล่าง
ถ้าถ้ำเล็กขนาดเท่าสีมาขนาดเล็กที่สุด สีมาข้างบนใหญ่ สีมาที่ตั้งครอบถ้ำนั้นไว้หยั่งลงถึง แต่ถ้าถ้ำเล็กเกินไป ไม่ได้ขนาดกับสีมา สีมาอยู่ข้างบนอย่างเดียว ไม่หยั่งลงไปถึงข้างล่าง
ถ้าภูเขามีสัณบานดังพังพานงูนั้น พังตกลงไปเองครึ่งหนึ่ง ถ้าแม้ได้ประมาณเพียงพอ สีมาส่วนที่ตกลงไปภายนอก ไม่เป็นสีมา ส่วนที่ไม่ได้ตกลงไป ย่อมเป็นสีมาเหมือนเดิม
*** (อธิบายเพิ่มเติม) ถ้าฐานของสีมาพังตกลงไปซีกหนึ่ง จากภูเขาที่มีสัณฐานดังพังพานงูนั้น ถ้าได้ขนาดเท่าสีมา ที่ตกไปข้างนอก ไม่จัดว่าเป็นสีมา ส่วนที่ไม่ตกไปถ้าได้ขนาดสีมา ก็คงเป็นสีมาอยู่นั่นเอง
สีมาสัณฐานดังพังพานงูพังตกลงไปส่วนหนึ่ง
ถ้าขัณฑสีมาเป็นที่ลุ่มต่ำ พูนดินถมขึ้นให้สูงอีก แม้ว่าจะถมดินให้สูงขนาดไหน ก็คงยังเป็นสีมาเหมือนเดิม
พูนดินถมขึ้นให้สูงอีก
ชนทั้งหลายพากันมาสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตสีมา แม้บ้านเรือนหลังนั้นก็ตั้งอยู่ในสีมาโดยแท้
- คนทั้งหลายสร้างเรือนขึ้นในสีมา เรือนนั้นเป็นอันตั้งอยู่ในสีมานั่นเอง
ถึงแม้มีคนขุดสระน้ำในบริเวณสีมา สระน้ำที่ขุดนั้นก็คงเป็นสีมาอยูดี
ขุดสระโบกขรณีในสีมา ก็คงเป็นสีมาอยู่นั่นเอง
หน้าน้ำหลากไหลท่วมบริเวณสีมา ไม่สามารถกระทำสังฆกรรมได้สะดวก จึงผูกแคร่ทำสังฆกรรมในน่านน้ำนั้นก็ควร
ห้วงน้ำไหลท่วมมณฑลสีมาไป จะผูกไม้นั่งร้านทำกรรมในโรงสีมาก็ได้
ภายใต้สีมา มีอุโมงค์และน้ำ มีภิกษุผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ในแม่น้ำนั้น ถ้าแม่น้ำมีอยู่ก่อน สีมาผูกทีหลัง ภิกษุนั้นไม่ทำกรรมให้เสีย เพราะแม่น้ำนั้นเป็นสีมาแผนกหนึ่งคือ อุกทุกเขปสีมา
ถ้าผูกสีมาก่อน แม่น้ำเกิดขึ้นภายหลัง ภิกษุรูปนั้นยังกรรมให้เสีย เพราะอุโมงนั้นเป็นพัทธสีมาอยู่ก่อนแล้ว แม่น้ำไหลผ่านมาทีหลัง ย่อมไม่ทำให้สีมานั้นเสียไป
อนึ่ง ภิกษุผู้สถิตอยู่ ณ ภายใต้พื้นแผ่นดิน ย่อมยังกรรมให้เสียเหมือนกัน
ภายใต้สีมามีอุโมงค์ใต้น้ำ
*** (อธิบายเพิ่มเติม)
- ภายใต้สีมามีอุโมงค์ใต้น้ำ มีภิกษุผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ในอุโมงค์นั้น ถ้าแม่น้ำนั้นไหล
ผ่านไปก่อน สีมาผูกภายหลัง ย่อมไม่ทำให้เสียกรรม
- ถ้าสีมาผูกก่อน แต่แม่น้ำไหลผ่านไปภายหลัง ย่อมทำให้เสียกรรมได้
ก็ภิกษุผู้ดำรงอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน ย่อมทำให้เสียกรรมได้เหมือนกัน
เมื่อต้นไทรมีอยู่ในเขตขัณฑสีมา กิ่งของต้นไทรนั้นหรือย่านไทรที่ยื่นออกนอกเขต จรดพื้นแห่งเขตมหาสีมา หรือจรดต้นไม้ที่เกิดในมหาสีมานั้น พึงชำระมหาสีมาให้หมดจด แล้วจึงกระทำวินัยกรรม หรือจะตัดกิ่งไทรหรือย่านไทรเหล่านั้นมิให้จดกันหรือเกี่ยวพันกัน ก็ใช้ได้
แม้ต้นไทรหรือย่านไทรเป็นต้น ที่เกิดในเขตมหาสีมา ถ้าเกี่ยวพันกับขัณฑสีมา ก็ให้กระทำตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล
พึงตัดกิ่งไทรหรือย่านไทรเหล่านั้นมิให้จดกันหรือเกี่ยวพันกัน ก็ใช้ได้
หากเมื่อสงฆ์กำลังทำสังฆกรรมในขัณฑสีมา มีภิกษุบางรูปนั่งอยู่บนกิ่งไม้ที่ทอดอยู่บนอากาศ เท้าของเธอหรือชายสบงจีวรของเธอจรดถึงภาคพื้น ไม่ควรทำสังฆกรรม แต่ถ้าให้เธอยกเท้าทั้งสองและสบงจีวรนั้นขึ้นเสียแล้ว ทำกรรม ควรอยู่
เมื่อสงฆ์กำลังทำสังฆกรรมในขัณฑสีมา มีภิกษุบางรูปนั่งอยู่บนกิ่งไม้
อาจารย์บางพวกมีความเห็นต่างกันว่า :
ให้ภิกษุยกเท้าหรือสบงจีวรขึ้น แล้วทำสังฆกรรมในขัณฑสีมานั้น ไม่ควร
จะต้องนำมาเข้าหัตถบาส แม้มีภูเขาสูงตั้งอยู่ภายในสีมา หรือมีภิกษุอยู่บนยอดเขา ต้องนำมาในหัตถบาส หรือมีภิกษุผู้มีฤทธิ์อยู่ในภูเขานั้น ก็ต้องนำเธอมาในหัตถบาสเหมือนกัน
อธิบายศัพท์เพิ่มเติม :
- คำว่า โรงสีมา (สีมามาฬเก) หมายถึง พื้นที่ขัณฑสีมา
- คำว่า ต้นไทร (วฏฺฏรุกฺโข) ท่านกล่าวไว้เพราะเป็นต้นไม้ที่พรั่งพร้อมด้วยกิ่งอันสามารถยื่นไปได้แม้ไกลๆ โดยมีย่านช่วยค้ำจุนไว้. (ความจริง) แม้การเชื่อมถึงกันแห่งสิ่งก่อโทษ มีต้นไม้ทุกพันธุ์และเถาวัลย์ทุกชนิดเป็นต้น [ระหว่างสีมาที่มีโทษคาบเกี่ยวกัน] ย่อมไม่ควรเช่นกัน ด้วยเหตุนั้นเอง ท่านจึงห้ามแม้การเชื่อมถึงกันด้วยเชือกผูกเรือและสะพาน
- ย่านคือส่วนที่ยื่นออกมาจากกิ่งไทรไปถึงพื้นดิน แล้วแตกรากใหม่ได้ก็มี ซึ่งคัมภีร์โยชนาให้ความหมายว่า เป็นรากพิเศษชนิดหนึ่ง (เอโก มูลวิเสโส)
- ในคำว่า พื้นมหาสีมา (มหาสีมาย ปถวิตลํ) นี้ พึงถือเอาว่า เพราะท่านไม่ถือเอาคามสีมาแม้ที่อยู่ใกล้ขัณฑสีมามากกว่า ถือเอาเฉพาะพัทธสีมาเท่านั้น
ดังนั้น สัมเภทโทษแม้ในเพราะการเชื่อมถึงกันและกันด้วยต้นไม้เป็นต้น ระหว่างคามสีมากับพัทธสีมาจึงไม่มี เพราะเป็นนิสสยะและนิสสิตซึ่งกันและกัน
- คำว่า ชำระมหาสีมาให้หมดจด (มหาสีมํ วา โสเธตฺวา) ความว่า ชำระมหาสีมาทั้งสิ้นให้หมดจดโดยการนำภิกษุทุกรูปที่อยู่ในมหาสีมา มาเข้าหัตถบาสหรือให้ท่านเหล่านั้นอยู่ภายนอกเป็นต้น. ด้วยคำนี้แสดงให้ทราบว่า พัทธสีมา ๒ แห่ง แม้ที่พ้นจากสีมาวิบัติทุกประเภทผูกไว้ดีแล้วในอดีต ก็ต้องสัมเภทโทษ ซึ่งพ้นจากพระบาฬีเช่นนี้ที่เกิดขึ้นด้วยการเกี่ยวพันกันของต้นไม้เป็นต้นในภายหลังได้
หมายเหตุ :
1.เพราะการชำระมหาสีมาให้หมดจดเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก ส่วนใหญ่สงฆ์จึงกระทำสังฆกรรมในขัณฑสีมาเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในโรงสีมา (สีมามาฬเก) เป็นต้น. แต่ในคราวประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ เมื่อขัณฑสีมาไม่พอจุภิกษุได้ แม้ในขณะกระทำกรรมในมหาสีมา พึงถือเอานัยนี้เหมือนกัน (วิมติ. ๒/๑๙๘)
2. ด้วยคำว่า ให้เธอยก นี้แสดงให้ทราบว่า เมื่อถูกสีมาแม้ด้วยของที่เนื่องกับกาย
ก็จัดเป็นสีมาไปด้วยทีเดียว (วิมติ. ๒/๑๙๘)
3. คำว่า แม้ตามนัยก่อน (ปุริมนเยปิ) ความว่า แม้ตามนัยที่กิ่งไม้ยื่นจากขัณฑสีมาเข้าสู่มหาสีมา
***วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในพัทธสีมา [ยื่นออกจากพัทธสีมา] ไปในที่ใดที่หนึ่งโดยที่ยังเนื่องเป็นอันเดียวกันอยู่ก็ถึงการนับว่าเป็นสีมาทั้งนั้น กิ่งของต้นไม้ที่เกิดในสีมาหนึ่ง เวลายื่นออกไปต้องยังเนื่องกับต้นอยู่ ยังไม่ขาดจากกัน จึงจะจัดได้ว่า ยังเป็นสีมาเดิมอยู่ หมายความว่า สิ่งที่อยู่ในสีมาใด ก็ต้องนับว่าเป็นส่วนของสีมานั้นแน่นอน แม้สิ่งที่เกิดอยู่ในสีมาหนึ่งยื่นออกไปเชื่อมถึงสีมาอื่น ท่านก็ยังจัดว่าเป็นส่วนของสีมาเดิมอยู่ ดังนั้น สีมาสังกระจึงมีได้
**โปรดติดตามตอนต่อไป
พุทธศาสนา
ศิลปะวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สีมาวินิจฉัยกถา วัดป่าบุญคุ้มเกล้า
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย