18 ส.ค. 2023 เวลา 10:53 • หนังสือ

สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๘.๑

สรุปพัทธสีมาและวิธีผูกพัทธสีมา
พัทธสีมามี ๓ ชนิด คือ
๑. ขัณฑสีมา : (สีมาที่ถูกกำหนดไว้โดยรอบ โดยไม่ให้สังกระกันกับสีมาเหล่าอื่น)
สีมาเล็กที่อยู่ภายในมหาสีมา สำหรับทำสังฆกรรม มีการบอกภัณฑุกรรมและอุปสมบทกรรมเป็นต้น ได้สะดวก
๒. สมานสังวาสสีมา : (สีมาที่สมมติขึ้นเพื่อภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน)
สีมาใหญ่ (มหาสีมา) อยู่ภายนอกของขัณฑสีมาที่ภิกษุสมมติขึ้น เพื่อการมีสังวาสเสมอกัน คือ เป็นสีมาที่เหล่าภิกษุผู้มีสังวาสเสมอกัน ทำสังวาสคืออุโบสถกรรมและปวารณากรรมเป็นต้นร่วมกัน
๓. อวิปปวาสสีมา : (สีมาที่สมมติเพื่อการไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร)
สีมาอันเป็นแดนอยู่ปราศจากไตรจีวรได้โดยไม่ต้องอาบัติ ที่มาในทุติยกถินสิกขาบท สีมานี้ไม่มีการทักนิมิตใหม่ ใช้นิมิตเดียวกันกับสมานสังวาสสีมา ฉะนั้น ทั้งสองสีมาจึงมีขอบเขตเท่ากัน ต่างแต่ว่า สมานสังวาสสีมามีเขตครอบทับหมู่บ้านและอุปจาระหมู่บ้าน ส่วนอวิปปวาสสีมาไม่ครอบ (สมานสังวาสสีมาและอวิปปวาสสีมา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มหาสีมา)
สรุป ขั้นตอนการผูกพัทธสีมา
๑. หาที่สงัดท้ายวัด
๒. นำฉันทะของภิกษุที่อยู่ในเขตหมู่บ้านนั้นมา กล่าวคือ แท้จริง การถอนพัทธสีมา ถ้าภิกษุอื่นอยู่ในคามสีมา ฉันทะที่ขอย่อมไม่เข้ามาในพัทธสีมา เพราะเป็นคนละสีมากัน แต่ที่ให้ขอฉันทะไว้ก่อน ก็เพราะในอดีต สถานที่ของหมู่บ้านนั้น อาจจะเคยเป็นมหาสีมามาก่อน ถ้าเราถอนโดยไม่นำฉันทะมา ก็จะทำให้ต้องบริษัทวิบัติได้
๓. ถอนพัทธสีมาเก่า กล่าวคือ ที่ต้องถอนก่อน ก็เพื่อป้องกันสีมาคาบเกี่ยวหรือสีมาทับ คือถ้าไม่ถอนก่อน หากสถานที่ที่เราผูกสีมาใหม่นั้น เป็นที่ตั้งของสีมาเก่าอยู่ (แม้จะไม่ปรากฏร่องรอยของสีมาเดิมแล้วก็ตาม) ก็จะทำให้สีมาของเราไปคาบเกี่ยวหรือทับสีมาเดิม อันเป็นเหตุให้สีมาวิบัติได้ (อธิบายเรื่องการถอนสีมาจะกล่าวไว้ข้างหน้า)
๔. ทักนิมิตรอบเขตที่จะผูกเป็นขัณฑสีมา
๕. สวดสมมติสีมาด้วยกรรมวาจาสมมติสมานสังวาสสีมาและกรรมวาจาสมมติอวิปปวาสสีมา
๖. เว้นที่จากเขตขัณฑสีมาออกมาประมาณ ๑ ศอกทักนิมิตสำหรับเขตที่จะให้เป็นสีมันตริก
๗. ทักนิมิตรอบเขตที่จะผูกเป็นมหาสีมา
๘. สวดสมมติสีมาด้วยกรรมวาจาสมมติสมานสังวาสสีมา
 และกรรมวาจาสมมติอวิปปวาสสีมา
สีมาสังกระ :
คำว่า "สีมาสังกระ" แปลว่า "สีมาที่คาบเกี่ยวกัน" (สีมาสมฺเภทํ) โทษในเพราะการเชื่อมถึงกันตามที่กล่าวแล้วนั่นเอง ท่านกล่าวด้วย สงฺกร ศัพท์ เรียกได้หลายชื่อ คือ สังกรโทษ, สัมเภทโทษ, สัมพันธโทษ
การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน จัดเป็นสีมาสังกระ เช่น การสมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวสีมาเดิม แต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน สีมาใหม่ย่อมบัติใช้ไม่ได้
มูลเหตุแห่งสีมาสังกระ
๑. สมมติสีมาคาบเกี่ยว
๒. วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมา
๓. สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกัน
๔. ทำสังฆกรรมในน่านน้ำ
๑. สมมติสีมาคาบเกี่ยว
สมมติสีมาคาบเกี่ยวนั้น หมายถึง สมมติสีมาใหม่คาบเกี่ยวกับสีมาเดิม โดยที่
ไม่ได้สวดถอนสีมาเดิมเสียก่อน
๒. วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมา
วัตถุพาดพิงถึงกันระหว่างสองสีมานั้น เช่น ต้นไทรอันเกิดขึ้นที่สีมาแห่งหนึ่ง
พาดกิ่งออกไปหยั่งย่านลงถึงพื้นของสีมาอีกแห่งหนึ่ง เช่นนี้ ท่านว่าเป็นสีมาสังกระ
สำหรับสีมาสังกระในข้อนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระองค์ผู้ทรงรจนาหนังสือวินัยมุข ไม่ทรงเห็นด้วย
๓. สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกัน
สงฆ์สองหมู่ทำกรรมในคราวเดียวกันนั้น ต้องทำให้ห่างกัน โดยที่สุดเว้น ๑ อัพภันดร หรืออุทกุกเขปหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตของสองฝ่ายนั้น โดยใจความว่า.
"ในแนวสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ให้ห่างกันอย่างน้อย ๓ อัพภันดร หรือ ๓ อุทกุกเขป"
๔. ทำสังฆกรรมในน่านน้ำ
ทำสังฆกรรมในน่านน้ำนั้น ท่านห้ามไม่ให้ผูกโยงเรือ หรือแพ สำหรับทำกรรมนั้น
ที่หลักหรือที่ต้นไม้บนตลิ่ง
ถ้าทำอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า อุทกุกเขป กับ คามสีมา สังกระกัน
ความแตกต่างระหว่าง พัทธสีมากับอพัทธสีมา
พัทธสีมาที่สงฆ์สมมติแล้ว สงฆ์มีสิทธิ์เต็มที่ ทั้งไม่ละวัตถุไปเอง นอกจากสงฆ์
พร้อมใจกันประกาศ และสงฆ์มีสิทธิ์ที่จะสมมติ ติจีวราวิปวาสสีมาซ้ำลงไปด้วย
อพัทธสีมา สงฆ์มีอำนาจเพียงถือเอาเป็นเขตชุมนุมสงฆ์ ทำสังฆกรรมเท่านั้น
ไม่มีสิทธิ์ที่จะยึดเป็นเจ้าของ และไม่มีสิทธิ์ที่จะสมมติติจีวราวิปปวาสได้อีก
วินิจฉัยเรื่องสีมาสังกระ
สีมาสังกระ คือ การที่กิ่งไม้เป็นต้นที่อยู่ในสีมาหนึ่ง ไปเกี่ยวพันกันกับกิ่งไม้เป็นต้นที่อยู่ในสีมาอื่น จนทำให้สีมาทั้งสองเกิดความปะปนกันขึ้น แม้ไม่จัดเป็นสีมาวิบัติ แต่หากมีภิกษุอยู่ในสีมาที่สีมาของตนไปสังกระเข้านั้น ก็ทำให้บริษัทวิบัติได้ เพราะไม่ได้นำภิกษุนั้นมาเข้าหัตถบาสเป็นต้น ดังนั้น เมื่อจะทำสังฆกรรมจึงต้องชำระกิ่งไม้เป็นต้นนั้นเสียก่อน
โดยสีมาสังกระแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ นิสสยะ (ที่อาศัย) กับ นิสสิตะ (ผู้อาศัย) ดังนี้
นิสสยะ ได้แก่ คามสีมา,นทีสีมา, สมุททสีมา, ชาตสรสีมา,อรัญญสีมา
นิสสิตะ ได้แก่ พัทธสีมา,อุทกุกเขปสีมา,สัตตัพภันตรสีมา
มีหลักดังนี้ คือ สีมาที่เป็นนิสสยะจะไม่สังกระกันเองและไม่สังกระกับนิสสิตะของตน เช่น คามสีมาจะไม่สังกระกับคามสีมาอื่นหรือพัทธสีมา แต่คามสีมาสังกระกับอุทกุกเขปสีมาได้เป็นต้น
การจะรู้ว่าวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของสีมาใด มีหลักดังนี้คือ
• ตั้งอยู่บนสีมาใด ถือเป็นส่วนของสีมานั้น
• ออกมาจากสีมาใด ถือเป็นส่วนของสีมานั้น
 
อนึ่ง สิ่งที่ทำให้สีมาสังกระกันได้ มีลักษณะดังนี้
• เป็นสิ่งที่ปรากฏ เช่น กิ่งไม้หรือรากไม้ที่อยู่บนพื้นดิน ส่วนภูเขาและก้อน
หินเป็นต้น ที่อยู่บนพื้นดินไม่เป็นไร เพราะจัดเป็นพื้นดิน (ภูมิคติกะ)
• ต้องออกจากสีมาหนึ่งไปเชื่อมกับอีกสีมาหนึ่งโดยตรง ไม่มีแบบเชื่อมฝากต่อๆ กัน (ดังนั้น สายไฟที่เชื่อมจากวัดหนึ่งไปสู่อีกวัดหนึ่งจึงไม่ทำให้สีมาสังกระ)
*กรณีที่สายไฟจะทำให้พัทธสีมาสังกระกันได้ คือ
• วัดที่มีทั้งขัณฑสีมาและมหาสีมา แล้วมีสายไฟโยงไปหากัน
• สายไฟที่ต่อเข้าไปในโรงอุโบสถออกมาจากจุดแผงควบคุมไฟใหญ่เป็นต้น ที่เคยเป็นพัทธสีมาอยู่ก่อนโดยไม่รู้
อธิบายขยายความเกี่ยวกับสีมาสังกระ
อรรถกถาสีมาสังกระ :
ก็ที่โรงสีมามีต้นไทร กิ่งต้นไทรนั้นหรือย่านไทรที่ยื่นออกไปจากกิ่งไทรนั้นถูกพื้นมหาสีมา หรือถูกต้นไม้เป็นต้น ที่ขึ้นในมหาสีมานั้น พึงชำระมหาสีมาให้หมดจดแล้วจึงทำกรรม หรือตัดกิ่งหรือย่านไทรเหล่านั้นออก แล้วทำให้ตั้งอยู่ภายนอก
*ย่าน คือ ส่วนที่ยื่นออกมาจากกิ่งไทรไปถึงพื้นดิน แล้วแตกรากใหม่ได้ก็มี ซึ่งคัมภีร์โยชนาให้ความหมายว่า เป็นรากพิเศษชนิดหนึ่ง
ฎีกาสีมาสังกระ :
คำว่า โรงสีมา (สีมามาฬเก) หมายถึง พื้นที่ขัณฑสีมา
คำว่า ต้นไทร (วฏฺฏรุกฺโข) นี้ ท่านกล่าวไว้ เพราะเป็นต้นไม้ที่พรั่งพร้อมด้วยกิ่งอันสามารถยื่นไปได้แม้ไกลๆ โดยมีย่านช่วยค้ำจุนไว้. ความจริง แม้การเชื่อมถึงกันแห่งสิ่งก่อโทษมีต้นไม้ทุกพันธุ์และเถาวัลย์ทุกชนิดเป็นต้น ระหว่างสีมาที่มีโทษคาบเกี่ยวกัน ย่อมไม่ควรเช่นกัน ด้วยเหตุนั้นเอง ท่านจึงห้ามแม้การเชื่อมถึงกันด้วยเชือกผูกเรือและสะพาน
ในคำว่า พื้นมหาสีมา (มหาสีมาย ปถวิตลํ) นี้ พึงถือเอาว่า เพราะท่านไม่ถือเอาคามสีมา แม้ที่อยู่ใกล้ขัณฑสีมามากกว่า ถือเอาเฉพาะพัทธสีมาเท่านั้น ดังนั้น สัมเภทโทษแม้ในเพราะการเชื่อมถึงกันและกันด้วยต้นไม้เป็นต้น ระหว่างคามสีมากับพัทธสีมาจึงไม่มี เพราะเป็นนิสสยะและนิสสิตซึ่งกันและกัน
*สัมเภทโทษ แปลว่า โทษที่คาบเกี่ยวกัน
คำว่า ชำระมหาสีมาให้หมดจด (มหาสีมํ วา โสเธตฺวา) ความว่า ชำระมหาสีมาทั้งสิ้นให้หมดจด โดยการนำภิกษุทุกรูปที่อยู่ในมหาสีมา มาเข้าหัตถบาสหรือให้ท่านเหล่านั้นอยู่ภายนอกเป็นต้น. ด้วยคำนี้แสดงให้ทราบว่า พัทธสีมา ๒ แห่งแม้ที่พ้นจากสีมาวิบัติทุกประเภท ผูกไว้ดีแล้วในอดีต ก็ต้องสัมเภทโทษซึ่งพ้นจากพระบาฬีเช่นนี้ ที่เกิดขึ้นด้วยการเกี่ยวพันกันของต้นไม้เป็นต้นในภายหลังได้
เพราะการชำระมหาสีมาให้หมดจดเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก ส่วนใหญ่สงฆ์จึงกระทำสังฆกรรมในขัณฑสีมาเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในโรงสีมา (สีมามาฬเก) เป็นต้น. แต่ในคราวประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ เมื่อขัณฑสีมาไม่พอจุภิกษุได้ แม้ในขณะกระทำกรรมในมหาสีมา พึงถือเอานัยนี้เหมือนกัน
วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในพัทธสีมา [ยื่นออกจากพัทธสีมา] ไปในที่ใดที่หนึ่งโดยที่ยังเนื่องเป็นอันเดียวกันอยู่ ก็ถึงการนับว่าเป็นสีมาทั้งนั้น เช่น กิ่งของต้นไม้ที่เกิดในสีมาหนึ่ง เวลายื่นออกไปต้องยังเนื่องกับต้นอยู่ ยังไม่ขาดจากกัน
จึงจะจัดได้ว่า ยังเป็นสีมาเดิมอยู่ หมายความว่า สิ่งที่อยู่ในสีมาใดก็ต้องนับว่าเป็นส่วนของสีมานั้นแน่นอน แม้สิ่งที่เกิดอยู่ในสีมาหนึ่งยื่นออกไปเชื่อมถึงสีมาอื่น ท่านก็ยังจัดว่าเป็นส่วนของสีมาเดิมอยู่ ดังนั้น สีมาสังกระจึงมีได้
ฎีกาอธิบายถึงคำว่า ยํ กิญฺจิ วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง (ยํ กิญฺจิ)
ความว่า สิ่งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งแม้ทั้งหมด ที่เกิดขึ้น คือมีอยู่บนพื้นที่สีมาที่สำเร็จแล้ว ทั้งที่ตั้งอยู่ก่อน ที่เกิดภายหลัง และที่เข้าไปภายหลัง (ถึงการนับว่าเป็นสีมาทั้งนั้น)
คำว่า ในพัทธสีมา (พทฺธสีมาย) นี้ ท่านกล่าวไว้โดยอุปลักขณนัย (นัยที่ยกเป็นตัวอย่าง) ด้วยอำนาจแห่งเรื่องนี้ แม้สิ่งที่ตั้งอยู่ในอพัทธสีมาทุกประเภท ก็จัดว่าเป็นสีมาเช่นกัน
คำว่า ไปโดยเชื่อมเป็นอันเดียวกัน (เอกสมฺพทฺเธน คตํ) ท่านกล่าวหมายถึงเฉพาะวัตถุที่เกิดในสีมานั้น มีต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นเท่านั้น วัตถุแม้เช่นนั้นจึงควรที่จะกล่าวได้ว่า ไปจากสีมานี้ (อิโต คตํ)
ส่วนวัตถุใดไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า “ไปจากสีมานี้” หรือ “มาจากสีมานั้น” เช่นเชือกและท่อนไม้เป็นต้น ที่ตกไปขวางอยู่ที่สีมาทั้งสอง คือพัทธสีมากับคามสีมา และอุทกุกเขปสีมากับแม่น้ำเป็นต้น จะพึงทำอย่างไร ? ในข้อนั้น ?
แก้ว่า : ในวัตถุเช่นนี้ พึงทราบว่า ส่วนที่อยู่ในพัทธสีมาก็จัดเป็นพัทธสีมา
ส่วนที่อยู่ในคามสีมาซึ่งเป็นสีมาที่ไม่ได้ผูก ก็จัดเป็นคามสีมา เหมือนกับภูเขา
เป็นต้น ที่ตั้งอยู่ในสีมาทั้งสองนั้น (สังเกตจากการเปรียบเทียบกับภูเขาแล้ว ท่านจะสงเคราะห์ท่อนไม้เป็นต้น เป็นภูมิคติกะ)
สมมติว่า ต้นไทรอยู่ในขัณฑสีมา มีกิ่งทอดยาวออกไปทางทิศหนึ่ง มีย่านออกมาจากกิ่งนั้น ๒ ย่าน ห่างกันพอสมควร ย่านที่ ๑ (นับจากต้น) ลงไปตั้งลงออกรากใหม่ที่พื้นดินของคามสีมา ย่านที่ ๒ ลงไปตั้งลงออกรากใหม่ที่พื้นดินของมหาสีมา ทั้งสองสามารถดำรงอยู่ได้เอง
- ย่านที่ ๑ ถือว่าเป็นส่วนของคามสีมา
- ย่านที่ ๒ ถือว่าเป็นส่วนของมหาสีมา
- ส่วนกิ่งยังถือว่าเป็นของขัณฑสีมาเข้าไปจรดถึงส่วนสีมาทั้งสอง
อย่างนี้ ขัณฑสีมาชื่อว่าสังกระกับมหาสีมา แต่ไม่ชื่อว่าสังกระกับคามสีมาเพราะเป็นสภาคะกันและกัน
อรรถกถากล่าวว่า :
แม้ต้นไม้ต้นเดียว ก็ใช้เป็นนิมิตของสีมา ๒ แห่งได้ แต่ต้นไม้นั้น เมื่อโตขึ้นย่อมทำให้สีมาสังกระกันได้ ดังนั้น ไม่ควรทำ
ฎีกากล่าวว่า
คำว่า ใช้เป็นนิมิต (นิมิตฺตํ โหติ) อธิบายว่า ในเวลาผูกสีมา สัมเภทโทษยังไม่มีก่อน เพราะนิมิตอยู่นอกสีมา (จึงสำเร็จเป็นสีมาทั้งสอง) ภายหลังโตขึ้น ลำต้นล้ำเข้าไปในเขตสีมาทั้งสอง จึงทำให้เป็นสีมาสังกระ
ที่ทำให้สีมาสังกระกันได้ ไม่ใช่เพราะใช้เป็นนิมิตแต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้แม้ต้นอื่นที่อยู่ในสีมันตริก ก็ทำให้เป็นสีมาสังกระได้เช่นกัน
ดังนั้น วัตถุก่อให้เกิดสีมาสังกระทั้งหลายมีต้นไม้เป็นต้น ซึ่งสามารถโตขึ้นได้ อยู่ในสีมันตริกที่เว้นไว้คั่นพัทธสีมาทั้งสอง ถึงจะเล็กก็ไม่ควรเลย
อนึ่ง ในข้อนี้สำเร็จได้ว่า โทษไม่มี แม้ในเพราะการเข้าแห่งรากที่ไม่ปรากฏ เพราะจัดเป็นภูมิคติกะ (มีคติอย่างแผ่นดิน) เนื่องจากท่านแสดงสังกรโทษไว้ในที่ทุกแห่งในเพราะการเข้าไปแห่งลำต้นและกิ่งเป็นต้น ที่ปรากฏอยู่ข้างบน[ดิน]เท่านั้น
แต่ถ้า แม้รากย่อมเข้าไปทั้งที่ปรากฏอยู่นั่นเอง เป็นสีมาสังกระได้แท้ ส่วนภูเขาและก้อนหิน แม้ปรากฏอยู่ ก็จัดเป็นภูมิคติกะเท่านั้น แต่ถ้าในเวลาที่กำลังจะผูกสีมา ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งตั้งจรดเข้าไปในพัทธสีมาแม้ทั้งสอง (อันหนึ่งผูกไว้ก่อนแล้ว อีกอันหนึ่งกำลังจะผูก) พึงเห็นว่า อันที่ผูกทีหลังไม่สำเร็จเป็นสีมา
**โปรดติดตามตอนต่อไป
โฆษณา