18 ส.ค. 2023 เวลา 11:24 • หนังสือ

สีมาวินิจฉัยกถา : วัดป่าบุญคุ้มเกล้า ตอนที่ ๘.๒

เรื่องสีมาคาบเกี่ยวสีมา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
สีมาที่ภิกษุเหล่าใด สมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควรแก่ฐานะ
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติ
คาบเกี่ยวกัน ต้องอาบัติทุกกฏ
(วิ.มหา. ๔/๑๔๘/๒๐๓)
คำว่า สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา (สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ) ความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผูกสีมาของตนคาบเกี่ยวพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ถ้าในทิศตะวันออกของวัดเก่ามีต้นไม้อยู่ ๒ ต้น คือต้นมะม่วงกับต้นหว้า มีค่าคบเกี่ยวประสานกันในต้นมะม่วงและต้นหว้าเหล่านั้น ต้นหว้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของต้นมะม่วง และวิหารสีมาเป็นที่ที่ภิกษุกันเอาต้นหว้าไว้ข้างใน กำหนดต้นมะม่วงเป็นนิมิตผูกไว้
ถ้าภายหลังภิกษุสงฆ์จะผูกสีมากันวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของวัดนั้น จึงกันเอาต้นมะม่วงนั้นไว้ภายในแล้วกำหนดต้นหว้าเป็นนิมิตผูกไว้ สีมากับสีมาย่อมคาบเกี่ยวกัน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ทำอย่างนี้ ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “สมมติสีมาคาบเกี่ยวสีมา” (สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ)
เรื่องสมมติสีมาทับสีมา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
ภิกษุทั้งหลาย สีมาที่ภิกษุเหล่าใดสมมติไว้ก่อนแล้ว กรรมนั้นของ
ภิกษุเหล่านั้นเป็นกรรมที่ถูกต้อง ไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ
สีมาที่ภิกษุเหล่าใด สมมติในภายหลัง กรรมนั้นของภิกษุเหล่านั้นไม่ถูกต้อง กำเริบได้ ไม่ควรแก่ฐานะ ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา
ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ที่จะสมมติสีมา สมมติสีมา
โดยเว้นสีมันดริก (ช่องว่างในระหว่างสีมา)
(วิ.มหา. ๔/๑๔๘/๒๐๓-๔)
คำว่า สมมติสีมาทับสีมา (สีมาย สีม อชฺโฌตฺถรนฺติ) ความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (สมมติสีมา) ครอบพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่นด้วยสีมาของตน หรือผูกสีมาของตนกันพัทธสีมาทั้งสิ้นของภิกษุเหล่าอื่น หรือบางส่วนคือ สถานที่พอให้สงฆ์นั่งได้ของพัทธสีมานั้นไว้ภายใน
พัทธสีมาต้องมีลักษณะดังนี้ คือ
• พ้นจากสีมาวิบัติ ๑๑ อย่าง
• ประกอบด้วยสีมาสมบัติ ๓ อย่าง
• พ้นจากสีมาวิบัติ ๑๑ อย่าง
สีมาวิบัติ ๑๑ อย่างเหล่านี้ คือ
๑) สีมาเล็กเกินไป (อติขุทฺทกา)
๒) สีมาใหญ่เกินไป (อติมหตี)
๓) สีมามีนิมิตขาด (ขณฺฑนิมิตฺตา)
๔) สีมามีเงาเป็นนิมิต (ฉายานิมิตฺตา)
๕) สีมาไม่มีนิมิต (อนิมิตฺตา)
๖) สีมาที่ภิกษุดำรงอยู่ภายนอกสีมาสมมติขึ้น (พหิสีเม ฐิตสมฺมตา)
๗) สีมาที่สมมติในแม่น้ำ (นทิยา สมฺมตา)
๘) สีมาที่สมมติในทะเล (สมุทฺเท สมฺมตา)
๙) สีมาที่สมมติในสระธรรมชาติ(ชาตสฺสเร สมฺมตา)
๑๐) สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกัน (สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺเตน สมฺมตา)
๑๑) สีมาที่สมมติทับกัน (สีมาย สีมํ โอตฺถรนฺเตน สมฺมตา)
อธิบายหัวข้อสีมาวิบัติ ๑๑ อย่าง :
ที่ชื่อว่า สีมาเล็กเกินไป (อติขุทฺทกา) ได้แก่ สีมาที่ไม่สามารถบรรจุภิกษุจำนวน ๒๑ รูปได้
ที่ชื่อว่า สีมาใหญ่เกินไป (อติมหตี) ได้แก่ สีมาที่สงฆ์สมมติใหญ่เกิน ๓ โยชน์แม้เพียงปลายเส้นผม
ที่ชื่อว่า สีมามีนิมิตขาด (ขณฺฑนิมิตฺตา) ได้แก่ สีมาที่มีนิมิตไม่ต่อกัน ภิกษุทักนิมิตในทิศตะวันออกแล้ว ทักในทิศใต้ ทิศตะวันตกและทิศเหนือ วนไปโดยลำดับกัน แล้ว ทักนิมิตซ้ำที่เคยทักแล้วในทิศตะวันออกอีก แล้วจึงหยุด จึงจะควร สีมาย่อมเป็นเขตแดน มีนิมิตไม่ขาดอย่างนี้. ก็ถ้าว่า ทักมาตามลำดับแล้ว ทักนิมิตในทิศเหนือแล้วหยุดเสีย แค่ทิศเหนือนั่นเอง สีมาย่อมมีนิมิตขาด
ที่ชื่อว่า สีมามีนิมิตขาด อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ สีมาที่สงฆ์สมมติใช้ต้นไม้มีปลือกแข็งก็ดี ตอไม้ก็ดี กองดินหรือกองทรายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ซึ่งไม่ควรใช้เป็นนิมิต มาทำเป็นนิมิตอันใดอันหนึ่งในระหว่าง แล้วสมมติสีมา
ที่ชื่อว่า สีมามีเงาเป็นนิมิต (ฉายานิมิตฺตา) ได้แก่ สีมาที่สงฆ์สมมติกำหนดเอาเงาของภูเขาเป็นต้น หรือเงาหย่างใดอย่างหนึ่งเป็นนิมิต แล้วสมมติสีมา
ที่ชื่อว่า สีมาไม่มีนิมิต (อนิมิตฺตา) ได้แก่ สีมาที่สงฆ์สมมติขึ้น โดยไม่ทักนิมิต โดยประการทั้งปวง
ที่ชื่อว่า สีมาที่ภิกษุดำรงอยู่ภายนอกสีมาสมมติขึ้น (พหิสีเม ฐิตสมฺมตา) ได้แก่ สีมาที่ภิกษุดำรงอยู่ภายนอกนิมิต ทักนิมิตแล้วสมมติขึ้น
ที่ชื่อว่า สีมาที่สมมติในแม่น้ำ ในทะเล และในสระธรรมชาติ (นทิยา สมุทฺเท ชาตสฺสเร สมฺมตา) ได้แก่ สีมาที่ภิกษุสมมติในน่านน้ำ มีแม่น้ำป็นต้น สีมานั้น แม้สงฆ์จะสมมติแล้วอย่างนั้น ย่อมไม่เป็นอันสมมติเลย เพราะพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา ทะเลทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา สระธรรมชาติทั้งหมดไม่จัดเป็นสีมา ดังนี้
ที่ชื่อว่า สีมาที่สมมติคาบเกี่ยวกัน (สีมาย สีม สมฺภินฺทนฺเตน สมฺมตา) ได้แก่ สีมาที่ภิกษุสมมติคาบเกี่ยวสีมาของภิกษุเหล่อื่นด้วยสีมาของตน ก็ถ้าว่า ทางทิศตะวันออกของวัดโบราณ มีต้นไม้ใหญ่สองต้น คือ ต้นมะม่วงและต้นหว้า มีกิ่งก้านเกาะเกี่ยวกันและกัน บรรดาต้นไม้ทั้งสองนั้น ต้นหว้าอยู่ทางทิศตะวันตกของต้นมะม่วง และเขตของวิหารสีมา ย่อมคาบเกี่ยวกัน เพราะภิกษุกำหนดเอาต้นมะม่วงเป็นนิมิต โดยทำต้นหว้าไว้ภายใน
เมื่อเป็นอย่างนั้น ภายหลัง เมื่อภิกษุสร้างวัดทางทิศตะวันออกของวัดนั้น พวกภิกษุ
เมื่อผูกสีมา ย่อมผูกกำหนดเอาต้นหว้าเป็นนิมิต โดยทำต้นมะม่วงนั้นไว้ภายในสีมาชื่อว่า ย่อมคาบเกี่ยวกันโดยสีมา
ที่ชื่อว่า สีมาที่สมมติทับกัน (สีมาย สีมํ โอตฺถรนฺเตน สมฺมตา) ได้แก่ สีมาที่ภิกษุสมมติทับสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ด้วยสีมาของตน ก็ถ้าว่า ภิกษุย่อมสมมติสีมาของตนทับสีมาทั้งสิ้นของภิกษุเหล่าอื่น หรือว่า พื้นที่บางส่วนของสีมานั้นไว้ในภายใน สีมานี้ ย่อมสมมติทับสีมาด้วยสีมา
สีมาอันภิกษุกำหนดสมมติ ให้พ้นจากสีมาวิบัติทั้ง ๑๑ อย่างเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
• ประกอบด้วยสีมาสมบัติ ๓ อย่าง
พัทธสีมาต้องประกอบด้วยสมบัติ ๓ อย่าง คือ
๑) นิมิตสมบัติ คือ สีมาที่ทักนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดานิมิต ๘ อย่าง ในแต่ละทิศอย่างถูกต้อง แล้วสมมติขึ้น
๒) บริษัทสมบัติ คือ สีมาที่ภิกษุอย่างต่ำ ๔ รูปประชุมกันโดยนำภิกษุในเขตหมู่บ้านนั้น ที่ไม่ได้อยู่ในพัทธสีมาของตนๆ ก็ดี ที่ไม่ได้อยู่ในแม่น้ำ ทะเล และสระธรรมชาติก็ดี มาเข้าหัตถบาส หรือนำฉันทะของภิกษุเหล่านั้นมา แล้วสมมติไว้
๓) กรรมวาจาสมบัติ คือ สีมาที่สมมติขึ้นด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาอย่างถูกต้อง
 
(กงฺขา. ๑๑๐-๑๑๒)
***โปรดติดตามตอนต่อไป
โฆษณา