Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
13 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
Pierre Balmain: จากราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศสสู่ดีไซเนอร์ของราชินีไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับว่าเป็นพระราชินีอีกพระองค์หนึ่งในโลกที่มีชื่อเสียงในต่างแดนจาก “แฟชั่น” ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ตามเสด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปยังต่างประเทศ
โดยฉลองพระองค์และเครื่องแต่งกายของพระองค์ก็เป็นถึงของแบรนด์ดังที่ออกแบบ
โดยชายผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศส” ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่าง “ปิแอร์ บัลแมง” (Pierre Balmain)
ซึ่งในวันนี้ Bnomics จะพาไปรู้จักกับเขาคนนี้กัน
📌 ยามแรกรุ่งอรุณฉาย
เรื่องราวของ ปิแอร์ อเล็กซงเดร เคลาดิอุส บัลแมง เริ่มต้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมืองซาวอย ราวเดือนพฤษภาคม ปี 1914 โดยเกิดมาในครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับแฟชั่น โดยแม่ของเขาเป็นพนักงานในร้านตัดชุด ส่วนพ่อของเขาเป็นเจ้าของร้านตัดชุดนั้น ฉะนั้นแล้วบัลแมงจึงดูเหมือนว่าเกิดมาในครอบครัวที่มีความพร้อมในเรื่องของอาชีพที่ได้ปูเส้นทางให้กับเขาตั้งแต่ต้น
บัลแมงใช้เวลาอยู่ที่ร้านของครอบครัว และวาดภาพรวมไปถึงทำตุ๊กตากระดาษ แต่แล้วพ่อของเขาก็เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน พร้อมกับสถานะทางการเงินของครอบครัวที่ถือได้ว่า “จน” สุด ๆ กิจการของพวกเขาโซซัดโซเซมาได้สักพักใหญ่ ๆ แต่พ่อของเขาก็ได้แต่เก็บงำมันเอาไว้เพื่อไม่ให้คนในครอบครัวต้องขวัญเสีย ความตายของพ่อไม่เหลืออะไรเลยนอกจากชุดเก่า ๆ ของพ่อที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักแสดงละครสมัครเล่น ซึ่งแน่นอนว่าชุดเหล่านี้ก็มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวที่บัลแมงได้หยิบยืมมาใช้ในงานออกแบบของเขา
📌 เส้นทางสายแฟชั่น
บัลแมงใฝ่ฝันอยากจะเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์เหมือนอย่างพ่อของเขา แต่ท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่วิทยาลัยศิลปะเดโบซาร์เพื่อให้แม่ของเขาดีใจ เมื่อได้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ ก็ย่อมไม่สบายใจเป็นธรรมดา
เขาจึงพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงแฟชั่นโดยได้ทำงานพาร์ทไทม์กับโรเบิร์ต ปิเกต์ ก่อนที่จะมาทำงานให้กับเอ็ดเวิร์ด โมลีโน แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวแรกของเขาในโลกของแฟชั่นเลย
แต่พอทำงานได้ไม่นาน ปารีสก็ถูกกองทัพเยอรมันบุกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร แต่โชคดีที่หลังจากปลดประจำการ เขายังคงได้ทำงานกับโมลีโนต่อ ซึ่งบัลแมงได้เรียนรู้เกี่ยวกับแฟชั่นมากมายจากโมลีโน จนกระทั่งเขาได้ย้ายมาทำงานให้กับ “ลูเซียน เลอล็ง” ซึ่งบัลแมงได้ทำงานในฐานะนักออกแบบจริง ๆ และที่นี้เองที่เขาได้พบกับดีไซเนอร์อีกคนหนึ่งอย่าง “คริสตอง ดิออร์”
ทั้งคู่โตมาด้วยกันในระหว่างที่ทำงานกับเลอล็ง แต่แล้วในวันหนึ่งเมื่อบัลแมงมีความคิดที่จะสร้างแบรนด์ เขาก็ชวนดิออร์มาเป็นหุ้นส่วน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบรับ และนำมาสู่การแยกทางของทั้งคู่
📌 ราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศส
หลังจากที่บัลแมงแยกทางกับดิออร์ เขาก็ได้ทำงานอย่างขมักขเม้นจนได้จัดแสดงผลงานของเขาในซาลอนซึ่งสร้างชื่อเสียงให้เขามากมาย และแบรนด์บัลแมงที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1945 ปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อม ๆ กับสถาปนาแฟชั่นช่วงหลังสงครามโลกขึ้นมา และโด่งดังไกลไปทั่วจากบทวิจารณ์บนนิตยสาร Vogue
ซึ่งทำให้งานของเขามีชื่อเสียงมากในอเมริกา และมีลูกค้าในช่วงแรก ๆ เยอะมากยกตัวอย่างเช่นคนดังอย่างวัลลิส, ดัชเชสแห่งวินเซอร์ ภรรยาชาวอเมริกันของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร
ในช่วงแรกบัลแมงก็ได้โปรโมทงานของเขาหนักมากทั้งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งผลงานด้านแฟชั่นของเขาก็ได้ทำให้เขาได้รับรางวัลด้านแฟชั่นมากมาย
ชุดของเขาถูกสั่งตัดโดยนักแสดงสาวมากมายอย่าง รูธ ฟอร์ด, ลิลี่ พัลเมอร์, บริกิตต์ บราด็อต, มาลีน ดีทริช, แคทเธอรีน เฮปเบิร์น เป็นต้น จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 60-70 ที่เขาได้มาทำงานให้กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศไทย
📌 บัลแมงกับราชวงศ์ไทย
บัลแมงเคยเดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรกในปี 1947 ซึ่งแวะมาในช่วงการออกไปแสดงผลงานที่ออสเตรเลีย เมื่อเขากลับมายังปารีสไม่นาน ก็มีการติดต่อจากสถานทูตไทย
บอกว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ มีพระราชประสงค์จะให้บัลแมงออกแบบชุดสำหรับการเยือนยุโรปและอเมริการ่วมกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในปี 1960
บัลแมงลังเลอยู่พักหนึ่งแต่ก็ตอบตกลงไป
นับตั้งแต่นั้นภาพของสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศไทยในชุดที่ตัดโดยห้องเสื้อของบัลแมงก็ปรากฏให้เห็นต่อสายตาชาวโลก
และเป็นที่ชื่นชมถึงความเข้ากันของแฟชั่นฝรั่งเศสที่ถูกออกแบบและตัดเย็บให้เข้ากันกับสมเด็จพระราชินีชาวไทยได้อย่างสวยงาม
ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการโปรโมทแบรนด์ของบัลแมงว่าเป็นแบรนด์ที่พระราชวงศ์หรือชนชั้นสูงก็ใส่ ซึ่งก็กลายเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าของบัลแมงได้ด้วยในอีกแง่มุมหนึ่ง
ซึ่งผลงานของบัลแมงที่ออกแบบให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก็ยังคงนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ในพระบรมมหาราชวังด้วย
📌 ราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศสผู้อับแสง
ผลงานของบัลแมงนับว่าเป็นที่โด่งดังเป็นอย่างมากในอเมริกา แต่กลับกันชื่อเสียงและความนิยมของเขาในฝรั่งเศสนั้นกลับไม่ได้เป็นกระแสเท่าอเมริกา เนื่องจากบัลแมงเป็นคนแรก ๆ ที่พยายามเจาะตลาดอเมริกาที่มามีอำนาจมากหลังสงครามโลกมากกว่า
ปิแอร์ บัลแมง เสียชีวิตลงในวัย 68 ปี ด้วยโรคมะเร็งตับ ที่โรงพยาบาลอเมริกันในปารีส
ผลงานของบัลแมงเป็นที่ประจักษ์อย่างมากในประวัติศาสตร์แฟชั่นในฐานะของผู้บุกเบิกแฟชั่นหลังสงคราม และในฐานะของราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศส ที่สร้างผลงานออกมามากมายและเคยสวมใส่โดยคนดังมานักต่อนัก
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอยู่บ้างที่ราชาแห่งแฟชั่นฝรั่งเศสแต่กลับไม่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศสเท่าที่ควรจะเป็น
แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นบุคลากรทางแฟชั่นอีกคนหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ถูกรู้จักในฐานะดินแดนแห่งแฟชั่นด้วย
ผู้เขียน: ณัฐรุจา งาตา Content Creator, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:
●
https://www.businessoffashion.com/articles/news-analysis/pierre-balmain-1914-1982/
●
https://us.balmain.com/us/experience/virtual-space/the-house
●
https://wfc.tv/en/articles/brand-history/history-of-balmain/
เครดิตภาพ : Hulton Deutsch via Vogue Mexico และเว็บไซต์ทางการของ
Queen Sirikit Museum of Textiles
5 บันทึก
15
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Bnomics มีเรื่อง "เศรษฐกิจ" มาเล่าให้ชาว Blockdit ได้ฟังกัน Blockdit Originals by Bnomics
5
15
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย