10 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Corrado Feroci: “อาจารย์ศิลป์” ผู้ปลุกปั้นศิลปะไทยร่วมสมัยด้วยการศึกษา

ถ้าพูดถึงชื่อของ Corrado Feroci แล้ว คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย กลับกันถ้าเราพูดถึงชื่อของ อ.ศิลป์ พีระศรีแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะร้องอ๋อ ขึ้นมาในทันที คอร์ราโด เฟโรชี หรือศิลป พีระศรี นับว่าเป็นอีกหนึ่ง “ฝรั่งในสยาม” ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติในด้านของศิลปะ
โดยเป็นผู้ฝากฝังผลงานประติมากรรมทั่วราชอาณาจักรไทยดังที่ปรากฏเป็นอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในหลาย ๆ จังหวัดในฐานะอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ได้ชาวยุโรปเข้ามาวางรากฐาน อีกทั้งอาจารย์ศิลปเองก็ยังเป็น “ครู” ที่รักยิ่งของลูกศิษย์ในแวดวงศิลปะและชาวมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกด้วย
สำหรับในวันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ จะเป็นวันเกิดครบรอบ 131 ปีของอาจารย์ศิลป พีระศรี ซึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากรก็จะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตเป็นงานประจำปีของมหาวิทยาลัยเพื่อรำลึกถึง “ครู” ที่รักยิ่งผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่ง “มรกดกวัฒนธรรมยุโรป” ที่ครูฝรั่งนำมาวางรากฐานไว้ในไทย
เนื่องในวันศิลป พีระศรีนี้ Bnomics จึงจะขอพาทุกท่านไปดูเรื่องราวของอาจารย์ฝรั่งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากฟลอเรนซ์สู่สยาม และกลายมาเป็นอีกหนึ่งชาวต่างชาติที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอีกคนหนึ่ง
📌 จากฟลอเรนซ์สู่สยาม
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือคอร์ราโด เฟโรชี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี 1892 ในเมืองฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลี โดยเป็นทายาทของตระกูลพ่อค้า ครอบครัวของเขาล้วนแต่มีความหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้บุตรชายสืบทอดกิจการของครอบครัว
แต่ทว่าคอร์ราโด เฟโรชีนั้นมีความสนใจอย่างยิ่งยวดในด้านศิลปะหลังจากที่ได้ชมงานประติมากรรมของ “มิเกลันเจโล” ยอดประติมากรแห่งยุคเรอเนซ็องส์ เขาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพศิลปินท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในครอบครัว
เนื่องจากที่บ้านไม่สนับสนุน คอร์ราโด เฟโรชี จึงได้เก็บหอมรอมริบจนมีเงินมากพอที่จะเข้าเรียนในสถาบันศิลปะแห่งฟลอเรนซ์เพื่อตามรอยศิลปินคนโปรดของเขา เฟโรชีใช้เวลา 7 ปีจึงสำเร็จการศึกษา โดยมีความถนัดในด้านประติมากรรมเป็นพิเศษ
ความสามารถด้านประติมากรรมของเขาปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์จากการประกวดประติมากรรมของรัฐบาลอิตาลีหลายต่อหลายครั้ง เช่นอนุสาวรีย์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยังคงตั้งอยู่บนเกาะเอลบา จนถึงปัจจุบัน ความสามารถของเฟโรชีทำให้เขาสามารถขึ้นเป็นศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุเพียง 23 ปีเท่านั้น
ศาสตราจารย์เฟโรชียังคงมีผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย โดยหนึ่งในการประกวดที่ศาสตราจารย์เฟโรชีเข้าร่วมนั้น ก็ได้คือการประกวดออกแบบเงินตราของรัฐบาลสยาม ซึ่งในขณะเดียวกันทางรัฐบาลสยามเองก็มีความประสงค์อยากจะจัดจ้างประติมากรจากยุโรปเพื่อมาปฏิบัติราชการในกรมศิลปากร
รัฐบาลอิตาลีจึงเสนอชื่อของศาสตราจารย์เฟโรชีให้ทางรัฐบาลสยามพิจารณา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ได้เล็งเห็นว่าควรที่จะจ้างให้ศาสตราจราย์เฟโรชีมารับราชการในสยาม การเดินทางล่องนาวาจากมหานครศิลปะ “ฟลอเรนซ์” มาสู่ดินแดนสนธยาที่ห่างไกลอย่าง “สยาม” ของศาสตราจารย์เฟโรชีก็เริ่มต้นขึ้น
📌 ประติมากรหลวงของสยามประเทศ
.
ศาสตราจารย์เฟโรชีได้รับสัญญาจากรัฐบาลสยามให้เป็นช่างปั้นในกรมศิลปากรนาน 3 ปี ซึ่งในระยะเริ่มแรกนี้ก็เต็มไปด้วยความลำบากอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นชาวต่างชาติทำให้ไม่ได้รับจากยอมรับมากนัก
ต่อมากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสามารถของศาสตราจารย์เฟโรชีก็ได้ให้ท่านไปปั้นประติมากรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ฝีมือเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับมากขึ้น และได้รับงานปั้นรูปเหมือนของพระบรมศานุวงศ์พระองค์ต่าง ๆ ตลอดจนได้กลายมาเป็นครูสอนปั้นในแผนกศิลปากรของราชบัณฑิตยสภา
📌 มหาวิยาลัยศิลปากร และการสร้างชาติด้วยประติมากรรม
ในขณะที่สอนอยู่กับราชบัณฑิตยสภานี้เอง ศาสตราจารย์เฟโรชีก็ได้เปิดคาบเรียนฟรีในด้านประติมากรรมสำหรับผู้ที่สนใจ โดยมีลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างและเหล่าลูกศิษย์เหล่านี้เองก็ได้มาเป็นกำลังสำคัญในแผนกช่างปั้น ช่างหล่อ ของกรมศิลปากร
โดยความสำเร็จของคาบเรียนฟรีนี้เอง ทำให้ทางรัฐบาลสยามมาขอให้ศาตราจารย์เฟโรชีช่วยวางรากฐานการสอนศิลปะในระดับอุดมศึกษา โดยในปี 1932 ก็ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นมาโดยหลวงวิจิตรวาทการและพระสาโรชรัตนนิมมานก์ และมีศาสตราจารย์เฟโรชี เป็นอาจารย์ผู้ทำการสอน
โดยแรกเริ่มมีนักเรียนอยู่ทั้งหมด 7 คน และหลายคนในนั้นก็ได้มาเป็นศิลปินคนสำคัญในวงการศิลปะไทยเช่น พิมาน มูลประมุข, เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นต้น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐบาลอิตาลียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ชาวอิตาเลียนในไทยถูกควบคุมตัวโดยทหารญี่ปุ่น ทว่าศาสตราจารย์เฟโรชีนับว่าเป็นบุคคลากรคนสำคัญของรัฐบาลไทยที่นำโดยจอมพลป. พิบูลสงครามในขณะนั้น ศาสตราจารย์เฟโรชี จึงได้รับสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศิลป พีระศรี” หรือที่รู้จักกันในชื่อของอาจารย์ศิลป์
ในช่วงรัฐบาลของจอมพลป.พิบูลสงครามนั้นมีการปฏิรูปวัฒนธรรมเป็นอย่างมากเพื่อการสร้างความเป็นชาติ โดยเล็งเห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมเองก็เป็นส่วนสำคัญของการสร้างชาติไทย จึงได้มีการยกระดับโรงเรียนประณีตศิลปกรรมเดิม ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในวันที่ 12 ตุลาคม ปี 1943
1
อีกทั้งยังมีการชำระประวัติศาสตร์ของความเป็นชาติ จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเป็นเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความเป็นชาติตามแบบที่จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการ ทำให้ผลงานประติมากรรมของอาจารย์ศิลป์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านประติมากรรมเหล่านั้น ตั้งแต่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ ไปจนถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่ประตูชุมพล
📌 ครูผู้เป็นที่รักยิ่งของศิษย์
อาจารย์ศิลป์ นับว่าเป็นอีกหนึ่งครูต้นแบบที่ได้ทุ่มเทเพื่อนักเรียนเป็นอย่างมาก โดยได้จัดทำโครงการการจัดแสดงผลงานศิลปะเพื่อให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถของตนเอง
ไปจนถึงการทำวิจัยด้านศิลปะและเขียนหนังสือทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำมาสอนนักศึกษา ทำให้อาจารย์ศิลป์หรืออาจารย์ฝรั่ง เป็นครูที่ลูกศิษย์ชาวศิลปากรรักมากที่สุดอีกคนหนึ่ง
ในบั้นปลายชีวิตของอาจารย์ศิลป์ ท่านได้สมรสกับมาลินี หญิงสาวชาวไทยหลังจากการหย่าขาดกับภรรยาคนก่อนหน้า ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอยู่มีความสุขจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
อาจารย์ศิลป์ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่14 พฤษภาคม ปี 1962 ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังการเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมสิริอายุได้ 69 ปี
📌 ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว
2 ปีหลังการถึงแก่อนิจกรรมของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี หนึ่งในลูกศิษย์คนโปรดของท่านได้ทำการสร้างอนุสาวรีย์เล็กๆไว้ ยืนยงอยู่ที่บริเวณหน้าตึกคณะจิตรกรรม คณะแรกที่ท่านได้วางรากฐานขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดศิลปะให้กับคนรุ่นต่อๆมา
1
ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็เป็นสถานที่จัดงานวันอาจารย์ศิลป์ในทุก ๆ ปีของชาวศิลปากรวังท่าพระที่จะมีทั้งตลาดศิลปะ การแสดงต่าง ๆ รวมไปถึงการจุดเทียนและร้องเพลง “ซานต้าลูเซียอา” เพลงโปรดที่อาจารย์ศิลป์ชอบร้องและกลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร
แสงเทียนท่ามกลางท้องฟ้าที่มืดมิด เสียงเพลงของเหล่าลูกศิษย์ที่ร้องให้อาจารย์ฟัง นับว่าเป็นอีกหนึ่งบรรยากาศที่สุดแสนจะพิเศษ และเป็นวัฒนธรรมของชาวศิลปากรที่สืบต่อกันมา เสมือนกับการสืบต่อลมหายใจของศิลปะไทยให้ยังคงอยู่ต่อไปสมดังที่อาจารย์ศิลป์ตั้งใจเอาไว้
📌 "พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน... ถึงจะเรียนศิลปะ"
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะมองว่าการเรียนศิลปะเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และหันไปให้ความสำคัญแก่การศึกษาสายวิทยาศาสตร์และธุรกิจมากกว่า
แต่ในมุมมองของอาจารย์ศิลป์ และนักศึกษาที่มุ่งมั่นในสายศิลปะและมนุษยศาสตร์นั้นล้วนแต่มองว่าการเรียนศิลปะคือการเรียนเพื่อเข้าใจในความเป็นมนุษย์ และความเป็นไปของชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากวิชาการสายอื่นที่อาจจะดูเป็นอะไรที่จับต้องได้มากกว่า
ถึงศิลปะอาจจะฟังดูไร้ประโยชน์ในสายตาของผู้คน แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของผู้คนทุกคนทุกย่างก้าวของชีวิต การเรียนศิลปะจึงเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจในมนุษย์อย่างถ่องแท้ และเข้าใจในความเป็นไปของโลกจนสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของตนได้สมดังคำที่อาจารย์ศิลป์เคยพูดเอาไว้ว่า
ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต
Corrado Feroci “อาจารย์ศิลป์”
อ้างอิง:
โฆษณา