16 ส.ค. 2023 เวลา 10:30 • ปรัชญา
จากความรู้ที่เรามีอยู่ในตอนนี้ เราขอตอบว่า "จิต" ค่ะ
ในศาสตร์ที่ทำการศึกษาสมองไม่ว่าจะเป็น Cognitive Psychology, Cognitive Neuroscience, Cognitive Neuropsychology และศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นศาสตร์ย่อยของวิทยาศาสตร์ ล้วนมีข้อสันนิษฐานพื้นฐาน (assumption) ว่า "สมองควบคุมร่างกาย" ซึ่งนั่นเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสมอง วิทยาศาสตร์จึงมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับระบบต่าง ๆ ของร่างกายมาโดยตลอด
1
แต่พุทธเสนอว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หรือก็คือ "จิตควบคุมร่างกาย" (สมองก็คือส่วนหนึ่งของร่างกาย) นั่นเป็นเพราะพุทธไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่มองไม่เห็น แต่กลับให้ความสำคัญกับนามธรรมที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสที่ 6 (จิต) มากกว่าด้วยซ้ำ
1
ที่ (ตอนนี้) เราตอบว่า "จิต" เป็นเพราะเราลองเอาข้อมูล 3 ชุดที่เราได้เรียนรู้มามาลองปะติดปะต่อกันดู ซึ่งเราคิดว่ามันก็ฟังดูเป็นไปได้อยู่ (สำหรับเรา) ยังไง.. ไปดูกัน
ข้อมูลชุดที่ 1
พระพุทธเจ้าบอกว่า หัวใจ {หทัยวัตถุ} คือที่ตั้งของจิต
ข้อมูลชุดที่ 2
เราไปอ่านเจอในหนังสือ Into the Magic Shop ที่เขียนโดยประสาทศัลยแพทย์คนหนึ่งว่า "สิ่งที่รูธเรียกว่าเข็มทิศของหัวใจนั้นที่จริงก็คือการเชื่อมโยงระหว่างสมองและหัวใจผ่านเส้นประสาทเวกัส การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าหัวใจส่งสัญญาณไปยังสมองมากกว่าที่สมองส่งสัญญาณมายังหัวใจมากนัก และขณะที่ระบบทางปัญญาและอารมณ์ในร่างกายนั้นชาญฉลาดแล้ว ก็ยังมีการเชื่อมโยงทางประสาทจากหัวใจไปยังสมองมากกว่าไปที่อื่น ๆ" [หนังสือ Into the Magic Shop หน้า 179]
1
ข้อมูลชุดที่ 3
ข้อมูลชุดนี้เราได้มาจากการเรียนวิชา Cognitive Neuroscience อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีประสาทศัลยแพทย์คนหนึ่งพยายามศึกษาว่าสมองส่วนใดมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (motor movement) และการรับรู้การสัมผัส (sensation) โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคลมชัก
1
วิธีที่เขาใช้คือการกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคลมชักอยู่แล้ว และเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บ เพราะกระแสไฟฟ้าจะถูกปล่อยไปที่ผิวของสมองซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีระบบประสาทรับความเจ็บปวด (pain receptor) อยู่
1
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปที่สมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) คนไข้รายงานว่า “a star came down and towards my nose (มีจุดเล็ก ๆ ที่มีแสง คล้ายดาว เลื่อนลงมาที่จมูกเรื่อย ๆ)” และเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปที่สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) คนไข้รายงานว่า “I heard the music again; it is like the radio (ฉันได้ยินเสียงเพลงอีกครั้ง มันเหมือนเสียงที่มาจากวิทยุ)”
[Wilder Penfield, 1920s]
จึงสรุปได้ว่า การกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดการรับรู้สิ่งเร้าที่ไม่ได้มีอยู่จริงในขณะนั้นได้
1
หลังจากที่เราได้เรียนรู้ข้อมูลทั้ง 3 ชุดนี้ เราก็ "จินตนาการ" ต่อไปว่า...
งั้นมันก็น่าจะเป็นไปได้ที่จิต (ซึ่งอยู่ที่หัวใจ) จะควบคุมสมองโดยการส่งกระแสไฟฟ้ามายังสมองผ่านเส้นประสาทเวกัส
จินตนาการของเราเอง
1
แล้วถ้าจินตนาการของเราเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเราไม่สามารถควบคุมจิตได้ {นามขันธ์เป็นอนัตตา} แล้วชีวิตนี้มันคือของเราจริง ๆ เหรอ ความรู้สึก ความคิด การรับรู้ การตอบสนอง การกระทำที่เกิดขึ้น มันเป็นของเราหรือของจิตกันแน่ (?) แล้วเราคืออะไร (?) เราอยู่ที่ไหนในร่างกายนี้ (?)
1
แต่ถึงอย่างไรนี่ก็เป็นข้อมูลเพียงน้อยนิดที่เราเอามา "จินตนาการ" ต่อยอดเอาเองเท่านั้น ท่านผู้ (หลงเข้ามา) อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล เพราะคำตอบของเราอาจมี Confirmation bias (การเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม) ได้
และถ้าท่านผู้อ่านท่านใดมีแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเกี่ยวกับจิต หทัยวัตถุ เส้นประสาทเวกัส ความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจกับสมอง การกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้า หรือหากพบงานวิจัยที่ดร.เจมส์ อาร์ โดตีอ้างถึงในหนังสือ Into the Magic Shop สามารถเอามาแชร์แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ เราก็อยากศึกษาเพิ่มเติมเหมือนกันค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา