18 ส.ค. 2023 เวลา 04:09 • สุขภาพ

"ทำความเข้าใจกับภาวะหมดไฟ ฉบับคนวัยทำงาน"

Key takeaway
1. ภาวะหมดไฟเป็นปัญหาสะสมจากงาน เพื่อนร่วมงาน และสภาพแวดล้อมที่ทำงาน
2. แม้ว่าภาวะหมดไฟจะหายได้เอง แต่การดูแลด้านสุขภาพจิตในช่วงที่เราประสบกับภาวะหมดไฟก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อประคองประสิทธิภาพการทำงานให้คงที่
3. การดูแลซึ่งกันและกันจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว รวมถึงการจัดงานอย่างเป็นระเบียบ จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากภาวะหมดไฟได้ดีขึ้น
*หมายเหตุ บทความนี้เกิดจากประสบการณ์ของผู้เขียนและการหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์
ช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา ผมได้กลับบ้านต่างจังหวัดหลังจากที่ไม่ได้กลับมาหลายเดือน ได้กลับไปทานอาหารที่คุ้นเคย ได้ไปสถานที่ที่คุ้นชิน รวมถึงกลับไปเจอบรรยากาศอันน่าสบายใจ ผมสังเกตว่า พอได้กลับมาพักที่บ้านทีไร พอกลับไปทำงาน ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากงาน หายไปเยอะ รู้สึกมีเรี่ยวแรงเหมือนเก่า เลยเริ่มเกิดความสงสัยขึ้นมาบ้าง และอยากหาเหตุผลที่ทำให้ผมกลับมาทำงานได้เหมือนเก่า
ช่วงหนึ่ง ๆ เราจะมีงานเยอะมากจนหลายครั้งรู้สึกเครียด จัดการงานที่ได้รับมอบหมายไม่ค่อยทัน แม้บางช่วงมีเวลาว่างค่อนข้างมาก แต่งานกลับไม่ค่อยคืบหน้า ประกอบกับรู้สึกเหนื่อยล้าจากงานจนอยากนอนเฉย ๆ ผมมักเป็นแบบนี้ 2-3 ครั้งต่อปี ถ้าช่วงไหนงานไม่เยอะมาก พอจัดการงานได้ก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้ามีอาการอ่อนล้าช่วงที่งานเยอะ ทำงานแล้วรู้สึกไม่มีความสุข เรียกได้ว่ามีความคิดอยากลาออกขึ้นมาบ่อย ๆ เลยลองเอาปัญหาและความสงสัยก่อนหน้านี้ มาค้นหาในอินเตอร์เน็ต เเล้วพบกับคำว่า ‘ภาวะหมดไฟ’
“ภาวะหมดไฟเป็นอาการจากความเครียดสะสมในที่ทำงานที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ลักษณะอาการ ได้แก่ ความรู้สึกเหนื่อยล้าหรือไร้พลังงาน ความรู้สึกด้านลบกับงานที่ทำอยู่ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง”
จริง ๆ แล้ว ภาวะหมดไฟ เป็นภาวะทางการแพทย์ที่เพิ่งถูกพูดถึงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกว่ามาพร้อมกับช่วงโควิด-19 ช่วงนั้นบริษัทและภาครัฐในประเทศอเมริกาเริ่มสังเกตว่าการปิดเมืองทำให้การจ้างงานลดลง ปริมาณงานที่ต้องทำก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการขาดปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงานจากการทำงานที่บ้าน เมื่อขาดการสื่อสารที่เพียงพอ การขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงาน รวมไปถึงปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตตามมา ซึ่งปัญหาภาวะหมดไฟก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น
ภาวะหมดไฟไม่ได้ทำให้มีอาการที่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต แต่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เหมือนเรี่ยวแรงหายไป รู้สึกทำงานได้ไม่ดีเหมือนเคย เราจึงต้องประคองประสิทธิภาพการทำงานของเราให้ผ่านช่วงที่มีอาการแบบนี้ไปให้ได้
คำแนะนำของผมคือ ลองไปหาสถานที่ที่ทำให้สบายใจในการทำงาน (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กลับไปทำงานที่บ้าน) ลองเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ออกจากกรอบเดิม ๆ ของตัวเอง ก็เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ การได้เล่าระบายปัญหากับคนรู้จัก คนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน การขอคำปรึกษาจากคนในบ้าน ก็เป็นวิธีการที่ผมใช้อยู่บ่อย ๆ ถึงแม้คนในบ้านอาจไม่ค่อยเข้าใจเรื่องงานของเราก็ตาม แต่เขาก็จะคอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ
สุดท้ายคือ การจัดการเวลาให้เหมาะสมกับปริมาณงานก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่างานหลายอย่างมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีกำหนดส่งงานที่รวดเร็ว แต่การแก้ปัญหาเรื่องงาน วิธีหนึ่งที่แก้ได้ก็คือการกำหนดขอบเขตของงาน ให้เรารู้สึกว่าเราสามารถจัดการงานของเราได้
🟢HealthPot เป็นเพจที่เกิดจากกลุ่มคนที่เคยมีปัญหาหมดไฟ พวกเราอยากช่วยเหลือคนวัยทำงานทุกคนที่กำลังประสบปัญหาภาวะหมดไฟ โดยพวกเราจะมีเนื้อหาสนุก ๆ ที่สอดแทรกความรู้และประสบการณ์ที่พวกเราเคยเจอจากปัญหาภาวะหมดไฟให้ทุกคนได้อ่านและรับชม นอกจากนี้ ทุกคนสามารถกดติดตามพวกเราได้ผ่านช่องทางนี้
#HealthPot #Burnout #MentalHealth #หมดไฟ #เบิร์นเอาต์
โฆษณา