Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อรรถเสวนา
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2023 เวลา 19:46 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มุมมองมิติภาวะ
ในปัจจุบัน เรื่องราวของมิติภาวะต่างๆ โดยในที่นี้จะขอจำกัดเพียง มิติของอวกาศ หรือ ปริภูมิ (Space) เนื่องจากคำว่า มิติ นั้นกินความไปได้ค่อนข้างกว้าง มีทั้งมิติของอวกาศ (space dimention) มิติของเวลา (time dimension) ไปจนถึงมิติของภพภูมิ (world dimension) ที่เป็นแดนเกิดของเหล่าวิญญาณทั้งหลาย
เฉพาะเรื่องของมิติอวกาศ ก็มีทฤษฎีทางฟิสิกส์รองรับ โดยเฉพาะในทฤษฎีของซุปเปอร์สตริง (superstring theory) จะมีได้ถึง 10 มิติ เมื่อรวมกับมิติของเวลาอีก 1 มิติ จึงกลายเป็น 11 มิติ โดยมิติเวลา จะเป็นเพียงมิติเสริม ที่เพิ่มเข้ามา และเป็นเหมือนเส้นทาง ให้มิติอวกาศเคลื่อนตัวไป
บทนนำ
(Introduction)
คนจำนวนมากที่พยายามทำความเข้าใจในเรื่องของมิติภาวะที่แตกต่างกันออกไป มักจะรู้สึกสับสน เพราะยิ่งเป็นมิติสูงขึ้นเพียงใดก็ยิ่งยากที่จะจินตนาการไปถึงได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ชอบใช้ในการอธิบายถึงขอบเขตข้อจำกัดของสามัญสำนึกปกติ นั่นคือเรื่องของไฮเปอร์คิวบ์ (hypercube) โดยประเด็นทั้งหมดมีอยู่ว่า การเพิ่มของมิติที่สูงขึ้นนั้น จะเกิดได้จากการลากเส้นตั้งฉากกับทุกระนาบของมิติเดิม
อาทิเช่น มิติที่หนึ่งจะเป็นเส้นตรงที่มีแต่ความยาวเพียงอย่างเดียว เมื่อลากเส้นตั้งฉากกับเส้นตรงหรือมิติที่หนึ่งนั้น ก็จะได้มิติของความกว้างเพิ่มขึ้นมาเกิดเป็นสองมิติ นั่นก็คือสี่เหลี่ยมที่แบนราบนั่นเอง และเมื่อลากเส้นตั้งฉากกับระนาบของมิติที่สองหรือแผ่นสี่เหลี่ยมนั้นก็จะได้ความสูงเพิ่มขึ้น กลายเป็นมิติที่สาม หรือกล่องคิวบิค (Cubic)
Dimensional view
จากนั้นหากต้องการเพิ่มมิติที่สี่เข้าไป ก็ต้องลากเส้นตั้งฉากกับทุกระนาบของมิติที่สาม หรือทุกด้านของกล่องคิวบิคนั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือสิ่งที่คล้ายกับไฮเปอร์คิวบ์ และถ้าหากจะให้ลองจินตนาการดูว่า ควรจะมีรูปร่างเป็นอย่างไร ท่านจะพบว่ามันยากเกินกว่ามโนความคิดตามปกติที่จะไปถึงได้
แม้จะมีภาพที่คนวาดขึ้นมาแสดงจำนวนมาก แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน อยากจะขอบอกว่ามันไม่น่าจะใช่ไฮเปอร์คิวบ์ที่ถูกต้อง แต่เป็นเหมือนกล่องสามมิติที่ซ้อนกันอยู่สองกล่องเท่านั้น ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วรูปแบบของไฮเปอร์คิวบ์ที่ควรจะเป็นนั้น น่าจะอยู่ในรูปแบบใด
มุมมองโลก 2 มิติ
(View of the two dimension world)
จากที่กล่าวข้างต้น โลก 2 มิติ จะมีเพียง ความกว้างกับความยาว เหมือนรูปสี่เหลี่ยมปกติ มุมมองของโลก 2 มิติ ก็ไม่ต่างจากมุมมองในมิติทั่วไป คือ มีเพียงมุมมองภายใน กับ มุมมองภายนอก ซึ่งในกรณีนี้ มุมมองภายใน ก็คือ สิ่งที่ชาวโลก 2 มิติ มองเห็นภายในโลกของตน ส่วนมุมมองภายนอก ก็คือ สิ่งที่ชาวโลก 3 มิติ มองเห็นโลก 2 มิติ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้พิจารณาจากรูปที่ 1
ในเบื้องต้น ให้ท่านเพ่งความสนใจไปที่รูปของคนที่ยืนบนโลกตรงที่ลูกศรชี้บนโต๊ะ โดยผู้เขียนจะให้ภาพที่แบนราบนี้แทนจักรวาลแบบสองมิติ ซึ่งมีโลกและผู้คนอาศัยอยู่บนผิวโลกนั้นเช่นกัน และเนื่องจากโลกสองมิตินี้ จะมีเพียงความกว้างกับความยาวดังกล่าว คนในโลกนี้จึงไม่สามารถออกมาจากโลกของเขาในทิศของความสูงได้ ดังนั้นพวกเขาจึงพากันดำเนินชีวิตอยู่บนผิวโลกที่มีส่วนโค้ง
ซึ่งย่อมทำให้พวกเขารู้สึกว่า โลกของเขากลม ในขณะที่พวกเราที่มองจากทิศที่ตั้งฉากกับระนาบของโลกสองมิตินั้น ในทิศทางเดียวกับที่ลูกศรชี้อยู่ เราจะรู้สึกว่าโลกของเขานั้นมันไม่ได้กลม แต่เป็นเพียงแผ่นแบนๆ และนี่ก็คือมุมมองจากมิติที่สูงกว่านั่นคือมิติสาม ที่อยู่เหนือไปกว่าโลกสองมิติของพวกเขา
รูปที่ 1 แสดงมุมมองโลก 2 มิติจากโลก 3 มิติ
ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายสิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือ ประการแรกเราจะสามารถมองเห็นโลกของเขาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน คือเห็นทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ ขณะที่คนในโลกสองมิตินั้น จะต้องค่อยเดินทางไปตามส่วนโค้งบนโลกวงกลมของพวกเขา เมื่อไปถึงขั้วโลกเหนือก็จะเห็นเพียงขั้วเดียว ไม่อาจเห็นขั้วโลกที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ประการที่สอง
นอกจากเราจะเห็นโลกสองมิติทั้งหมดของคนเหล่านั้นแล้ว เรายังสามารถเห็นสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในโลกสามมิติไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งในที่นี้ เมื่อเปรียบโลกสองมิติของคนเหล่านั้นเป็นเพียงแผ่นกระดาษที่วางไว้บนโต๊ะ เราก็ย่อมเห็นทุกสิ่งทุกอย่างบนโต๊ะไปพร้อมกัน ทั้งโคมไฟ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เมาส์ สมุด ลำโพง และเจกันดอกไม้
มุมมองจากมิติที่สูงขึ้น
(View from a higher dimension)
จากตัวอย่างข้างต้น คราวนี้เราจะลองนำมาเปรียบเทียบกับการมองโลกสามมิติของเรา จากมิติที่สูงขึ้นไป เช่น มิติที่สี่ โดยในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ได้หมายถึงมิติของเวลา เพราะการนับเวลาเป็นมิติที่สี่นั้น เนื่องมาจากเส้นเวลามีเพียงหนึ่งมิติ คือยาวไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด นักวิทยาศาสตร์จึงนำเอามาบวกกับมิติที่สามของเรากลายเป็นสภาวะสี่มิติของ ปริภูมิ-เวลา (space-time) หรือ กาล-อวกาศ จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อใช้อธิบายในสมการทางฟิสิกส์เท่านั้น
ดังนั้นเวลาจึงไม่ใช่มิติที่สี่ของอกวกาศ การมองจากมิติที่สี่ในความหมายของผู้เขียนจึงต้องใช้หลักของไฮเปอร์คิวบ์ข้างต้น คือมองตั้งฉากกับทุกระนาบของมิติที่สาม หรือมองเห็นทุกด้านของกล่องคิวบิคสามมิติไปพร้อมๆ กัน คือ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน นั่นเอง
รูปที่ 2 แสดงการสร้างรูปกล่องลูกบาศก์ (cube)
จากรูปที่ 2 เมื่อเราพับภาพด้านซ้าย ซึ่งเป็นแผ่นแบนราบในระนาบ 2 มิติ ขึ้นมาในระนาบของ ความสูง ก็จะได้รูปกล่องลูกบาศก์ ในโลก 3 มิติ ดังรูปด้านขวา ซึ่งเราจะพบว่า เมื่อเรามองจากมิติที่สูงกว่า เช่น มิติที่ 3 เข้าไปยังมิติที่ 2 เราจะพบว่า สามารถเห็นทุกด้านของกล่องลูกบาศก์พร้อมกันในคราวเดียว
อุปมานี้จะสามารถใช้ได้กับกรณีการมองจากมิติที่ 4 เข้ามายังมิติที่สาม คือเห็นทุกด้านของกล่องลูกบาศก์ดังกล่าวพร้อมกัน เพียงแต่มิได้มีสภาพที่แผ่ราบออกมาเป็นแผ่นแบนๆ เหมือนในมิติที่ 2 ในขณะเดียวกัน ก็ย่อมจะมองเห็นทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในโลก 4 มิติได้ด้วย
รูปที่ 3 แสดงภาพมุมมองจากโลก 4 มิติ
จากรูปที่ 3 ได้แสดงให้เห็นมุมองที่กว้างขึ้น โดยสมมุติให้รูปด้านซ้าย เป็นห้องในบ้านหลังหนึ่ง ที่มีด้ายกัน 6 ห้อง หากพับห้องนี้ออกไปในระนาบของมิติที่ 4 ซึ่งในที่นี้ขอเรียกเป็น ระนาบไฮเปอร์ ไปพลางๆ ก็จะได้รูปกล่องลูกบาศก์ 4 มิติ ที่คล้ายกับไฮเปอร์คิวบ์ ดังแสดงในรูปด้านขวา ทำให้คนในโลก 4 มิติ สามารถเห็นห้องในมิติที่ 3 ได้พร้อมกันหมดในเวลาเดียวกัน
และยังสามารถเข้าออกห้องเหล่านั้นได้ โดยผ่านออกมาทางระนาบไฮเปอร์ แล้วกลับเข้าไปมิติที่ 3 อีกที โดยสามารถไปได้ทุกห้อง โดยไม่ต้องเดินไปตามลำดับของห้อง แนวคิดนี้ก็เป็นเหมือนการเดินทางผ่าน รูหนอน (wormhole) ในอวกาศ โดยรูหนอนจะทำหน้าที่เป็น วัตถุ 4 มิติที่ปรากฏในจักรวาล 3 มิติ
เมื่อรูหนอนมีสภาพเป็นช่องผ่าน หลายคนจึงจินตนาการว่า น่าจะเป็นรูกลม แต่แนวคิดที่น่าจะถูกต้องในทางมิติวิทยา (dimensional science) น่าจะเป็น รูปทรงกลมมากกว่า ให้ลองจินตนาการว่า รูปทรงกลมของ 3 มิติ เมื่อปรากฏในโลก 2 มิติ ก็จะเหมือนระนาบตัดผ่านทรงกลม ทำให้ปรากฏเป็นเพียงรูปวงกลมเดียว ในทุกโลก 2 มิติ ดังนั้น รูปไฮเปอร์สเฟียร์ (hyper sphere) ซึ่งมีทรงกลมหลายรูปซ้อนกันอยู่ในมิติที่ 4 เมื่อปรากฏในโลก 3 มิติ จึงเกิดเป็นระนาบตัดใน 3 มิติและเห็นเป็นทรงกลมเดียว
ไฮเปอร์คิวบ์หรือเทสเซอแรคท์
(Hypercube or Tesseract)
เราพูดถึงไฮเปอร์คิวบ์กันมาหลายครั้งแล้ว ในหัวข้อนี้ ก็จะมาลงลึกในรายละเอียดกันเพิ่มเติม ไฮเปอร์คิวบ์ หรือ ที่เรียกกันว่า เทสเซอแรกคท์ (Tesseract) แท้จริงเป็นการแปลงสภาพของรูปทรงลูกบาศก์ จำนวน 8 รูป ที่พับขึ้นไปในระนาบที่ตั้งฉากของ มิติที่ 4 จนทำให้เกิดภาพซ้อนของลูกบาศก์ทั้ง 8 จนกลายเป็นไฮเปอร์คิวบ์ หรือ เทสเซอแรคท์ ดังกล่าว
ในระบบเรขาคณิต เทสเซอแรคท์ ถือเป็น อะนาล็อก (analogue) สี่มิติของลูกบาศก์ ซึ่งพื้นผิวของเทสเซอแรคท์ (hypersurface) จะประกอบเซลล์ลูกบาศก์แปดเซลล์ (eight cubical cells) จัดเป็นหนึ่งในหกของ 4 โพลิโทปแบบนูนปกติ (convex regular 4-polytopes)
รูปที่ 3 แสดงการพับมิติของรูปลูกบาศก์ทั้ง 8 จนกลายเป็นไฮเปอร์คิวป์
จากรูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึง กล่องลูกบาศก์ 8 กล่องในโลก 3 มิติ ที่พับเข้าไปในระนาบ 4 มิติ จนได้รูปไฮเปอร์คิวบ์ หรือ เทสเซอแรคท์ ซึ่งมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ อาทิเช่น 8-เซลล์ (8-cell) ออคตาโฮรอน (octachoron) ออคตาฮีดรอยด์ (octahedroid) ปริซึมลูกบาศก์ (cubic prism) และ เตตราคิวบ์ (tetracube) คำนี้มาจากภาษากรีก téssara (τέσσαρα) ที่หมายถึง สี่ และ aktís (ἀκτίς) ซึ่งหมายถึงขอบทั้งสี่จากจุดยอดแต่ละจุดไปยังจุดยอดอื่น
พ้นไปจากมิติที่ 4
(Beyond the 4th Dimension)
การศึกษาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับมิติที่สูงขึ้นเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 และค่อนข้างซับซ้อนภายในเวลาหลายทศวรรษ: บรรณานุกรมปี 1911 มีการอ้างอิงถึง 1,832 รายการเกี่ยวกับเรขาคณิตของมิติ n อาจเป็นผลให้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ผู้คนเริ่มหลงใหลในมิติที่สี่ ในปี 1884 เอ็ดวิน แอบบอตท์ (Edwin Abbott) ได้เขียนนวนิยายแนวเสียดสียอดนิยมเรื่อง Flatland ซึ่งใช้สิ่งมีชีวิตสองมิติเผชิญหน้ากับตัวละครจากมิติที่สาม เป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมิติที่สี่
และศิลปินหลายคน เช่น แพบโล ปิคัสโซ (Pablo Picasso) และ แม็คเซบ ดูแช้มป์ (Marcel Duchamp) ได้รวมแนวคิดเกี่ยวกับมิติที่สี่ไว้ในผลงานของพวกเขา จากนั้นมา ทั้งนักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ก็ล้วนมีความสนใจในมิติที่สูงมากขึ้น แนวคิดง่ายๆ ที่พอจะช่วยให้จินตนาการได้ ก็อาศัยหลักการเดียวกัน หากมีการพับไฮเปอร์คิวบ์ขึ้นไปในระนาบ ของมิติที่ 5 และในทำนองเดียวกัน จากมิติที่ 5 ไปมิติที่ 6 จากมิติที่ 6 ไปมิติที่ 7 และจากมิติที่ 7 ไปมิติที่ 8 ก็ได้รูปทรงลูกบาศก์ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปตามลำดับ ดังแสงในรูปที่ 4
รูปที่ 4 แสดงรูปทรงลูกบาศก์มิติ ในมิติที่สูงขึ้นไป (ref.1)
โดยเฉพาะในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาทฤษฎีใหม่ทางฟิสิกส์ เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง (Theory of everything) โดยทฤษฎีหนึ่งที่มีการพัฒนาได้อย่างก้าวหน้ามาก ก็คือ ทฤษฎีสตริง ซึ่งต้องการมิติพิเศษของกาลอวกาศ เพื่อความสอดคล้องทางคณิตศาสตร์
ในทฤษฎีบอสโซนิกสตริง (bosonic string theory) ต้องการกาลอวกาศ 26 มิติ ในขณะที่ทฤษฎีซูเปอร์สตริง (superstring theory) ต้องการ 10 มิติ และในทฤษฎีเอ็ม (M-theory) ต้องการ 11 มิติ ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางกายภาพจริง เราจึงต้องจินตนาการถึงสถานการณ์ที่มิติพิเศษเหล่านี้จะอาจสังเกตได้ในการทดลอง
บทสรุป
(Conclusion)
มุมมองมิติภาวะของมิติที่สูงขึ้น เป็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ที่อ้างถึงการมีอยู่ของมิติ ที่อยู่นอกเหนือจากสามมิติปกติที่เราพบในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ความยาว ความกว้าง และความสูง เช่นเดียวกับที่เราสามารถเคลื่อนที่ได้สามทิศทาง ซ้าย-ขวา ขึ้น-ลง และ เดินหน้า-ถอยหลัง (left-right, up-down, and forward-backward) วัตถุในมิติที่สูงกว่าสามารถเคลื่อนที่ในทิศทางเพิ่มเติมได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนในโลก 2 มิติ จะเคลื่อนที่ได้แค่ 2 ทิศทาง คือ ซ้าย-ขวา และ ขึ้น-ลง เท่านั้น แต่คุณจะ เดินหน้า-ถอยหลัง ไม่ได้ นอกจากจะเพิ่มมิติที่สาม เช่น ขยายแผ่นแบนราบให้เป็นลูกบาศก์ จึงจะสามารถเดินหน้า-ถอยหลังได้
ในทำนองเดียวกัน มิติที่สูงขึ้นสามารถนิยามได้ว่า เป็นการเพิ่มระนาบอิสระในการเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น ในสี่มิติ วัตถุสามารถเคลื่อนที่ได้ไม่เฉพาะในสามมิติที่เราคุ้นเคย แต่ยังเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่สี่ ซึ่งตั้งฉากกับระนาบทั้งหมดด้วย แม้ว่าการมองเห็นมิติที่สูงขึ้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่แนวคิดนี้มีความสำคัญในด้านต่างๆ เช่น ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ซึ่งสามารถช่วยอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น พฤติกรรมของอนุภาค (behavior of particles) และเรขาคณิตของกาลอวกาศ (geometry of space-time)
Refference :
1.
https://en.wikipedia.org/wiki/Tesseract
2.
https://en.wikipedia.org/wiki/String_theory
(ไขรหัสลับปริศนา ep.5 มุมมองมิติภาวะ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไขรหัสลับปริศนา
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย