Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
20 ส.ค. 2023 เวลา 14:51 • บ้าน & สวน
สนามวิถีพลังปราณ
หากจะพูดถึงบทบาทของพลัง ในสายวิชาภูมิพยากรณ์นั้น ความจริงแล้วก็ไม่ถึงกับเลื่อนลอยไร้สาระเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้ามปราณ หรือพลังที่สายวิชาดังกล่าวหมายถึงนั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ อาทิเช่น สนามแม่เหล็กโลก แรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วง ระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และแม้แต่เทหวัตถุในท้องฟ้าทั้งหมด โดยอาศัยการหมุนรอบตัวเองของโลก และการเคลื่อนตัวไป ในวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลให้สนามปราณ ของโลกมีการก่อเกิดและเสื่อมสลาย แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา
บทนำ
(Introduction)
ดังนั้นถ้าจะกล่าวกันตามตรง ก็ต้องบอกว่าเรื่องของพลัง หรือปราณนั้นล้วนมีพื้นฐาน อยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ แทบทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ประสาทสัมผัสปกติของมนุษย์ ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝน เป็นการเฉพาะอย่างเพียงพอ ย่อมไม่อาจรับรู้ได้เป็นธรรมดา ชาวจีนโบราณที่เป็นต้นฉบับ ของวิชาภูมิพยากณ์ดังกล่าว จึงได้เฝ้าสังเกตและมองหาภาพสะท้อน ของบทบาทแห่งสนามปราณหรือพลัง
ซึ่งปรากฏออกมาในแง่มุมของธรรมชาติ ที่สามารถสัมผัสจับต้องได้ และพวกเขาก็พบความสัมพันธ์ระหว่างสนามปราณกับลมและน้ำนั้น กล่าวคือ ลมจะพัดพาและกระจายปราณไปทั่ว ขณะที่น้ำจะสกัดกั้นและเก็บกักปราณไว้ ด้วยเหตุนี้จึงเรียก วิชาเกี่ยวกับสนามปราณนี้ว่า ฮวงจุ้ย โดยฮวงก็คือลม และจุ้ยก็คือน้ำ ซึ่งเป็นสองธาตุที่มีบทบาท เกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังปราณที่ว่านั้น
Path field of prana
และเพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ เกี่ยวกับสนามปราณหรือพลัง ที่กำลังจะพูดถึงนี้ได้ดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอรรถาธิบายถึงประเภท หรือชนิดของสนามปราณ หรือพลังดังกล่าวให้ชัดเจนก่อน โดยต่อไปนี้จะขอเรียกรวมๆ ว่า พลังปราณ เพื่อจะได้ไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป เนื่องจากสนามปราณนี้ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถส่งอิทธิพล ต่อหลายบทบาทในธรรมชาติ จึงจัดได้ว่าเป็นพลังงานประเภทหนึ่ง การแบ่งพลังปราณนี้ โดยหลักๆ แล้วสามารถจำแนกออกได้ เป็นสามประเภทคือ พลังปราณฟ้า พลังปราณดิน และพลังปราณคน
ปราณของอาคารต่ำ
(Low building energy)
โดยพลังปราณทั้งสามประเภทนี้ ล้วนมีบทบาทเชื่อมโยงถึงกัน อย่างมิอาจแยกออกเป็นอิสระได้ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถใช้แทนกันได้ในหลายกรณี แต่วิชาภูมิพยากรณ์ดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นที่การวิเคราะห์บทบาท ของพลังปราณดินเป็นหลัก เพื่อหาทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการส่งเสริมให้พลังปราณคน มีความแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ
หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการทำให้พลังปราณโดยภาพรวม เกิดความสมดุลย์ที่พอเหมาะ ตามสถานภาพเท่าที่จะสามารถ เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นได้ โดยหากพลังปราณดินไม่เพียงพอแล้ว หรือไม่สามารถจัดหาให้ได้แล้ว จึงจะเริ่มหันไปพิจารณาในการหาทาง ดึงเอาพลังปราณฟ้ามาใช้แทน
Low building energy
ในที่นี้จึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พลังปราณดินจะใกล้ชิด และมีบทบาทกับพลังปราณคนโดยตรง ขณะที่พลังปราณฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ต้องถือเป็นส่วนสนับสนุน หรือส่วนเสริม ในหลักวิชาภูมิพยากรณ์จึงถือว่า มนุษย์จะต้องดำรงอาศัยอยู่บนผืนดินเป็นหลัก โดยการตั้งอาคารบ้านเรือน ที่มีส่วนติดกับพื้นดินโดยตรง ลักษณะของบ้านเรือน ที่ชั้นล่างโปร่งไร้กำแพง จึงถือว่าเป็นลักษณะอัปมงคล ในความหมายของวิชาภูมิพยากรณ์
เพราะไม่มีผนังหรือกำแพง ที่จะเก็บกักพลังปราณดินเอาไว้ใช้ได้ ในขณะที่ปัจจุบันที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาก เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ผสานกับเทคโนโลยีในการก่อสร้างยุคใหม่ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องขึ้นไป อาศัยอยู่บนอาคารสูง เช่น ตึก และคอนโดมีเนียม ส่งผลให้ผู้คนเหล่านั้น ขาดความผูกพันเชื่อมโยง กับพลังปราณดินโดยตรง
ปราณของอาคารสูง
(High building energy)
แต่ถึงกระนั้นตัวอาคารสูง ที่กล่าวมาก็ล้วนสร้างติดอยู่บนผืนดิน จึงทำให้ในภาพรวม ต้องถือว่าอาคารดังกล่าว ยังมีความผูกพันกับพลังปราณดินอยู่ เพียงแต่ว่า เมื่อต้องจ่ายพลังขึ้นไป ให้ห้องพักทั้งหลายที่อยู่สูงขึ้นไปนั้น หากไม่ได้รับการออกแบบการชักจูง พลังปราณดินที่ดีพอแล้ว ยิ่งชั้นที่พักอยู่สูงขึ้นไปเพียงใด ก็จะยิ่งขาดแคลนพลังปราณดิน มากขึ้นเพียงนั้น
ในกรณีนี้การปรับแก้ จึงต้องหาทางดึงพลังปราณฟ้า เข้ามาช่วยชดเชยแทน แต่ก็ต้องยอมรับว่า เนื่องจากพลังปราณฟ้า มีความละเอียดอ่อนกว่าพลังปราณดิน จึงทำให้กระบวนการที่จะนำมาใช้ มีความซับซ้อนยุ่งยากมากกว่า และหากทำไม่ถูกต้องจริงๆ แล้ว ก็อาจไม่ได้ผลสมตามที่คาดหมายไว้นั้น
High building energy
ที่ซ้ำร้ายก็คือหลายอาคาร ที่เป็นสถานที่พักในปัจจุบัน ผู้สร้างหรือผู้ออกแบบไม่มีความเข้าใจ ในเรื่องบทบาทของสนามพลังปราณดังกล่าว แต่เน้นในเรื่องของประโยชน์ การใช้สอยพื้นที่เป็นหลัก จึงทำให้ตัวอาคารสูญเสียการเชื่อมโยงกับพลังปราณดิน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้เขียนเคยได้พบเห็นอาคารสูงหลายแห่ง ที่ใช้ชั้นล่างๆ หลายชั้นเป็นสถานที่ สำหรับจอดรถของผู้ที่เข้าพักอาศัย ในห้องพักที่อยู่สูงขึ้นไป
ขณะเดียวกันสถานที่จอดรถดังกล่าว ก็เปิดโล่งไร้กำแพงปิดกั้น เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงไม่ต่างกับบ้านที่ปล่อยให้ด้านล่างโล่ง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลน พลังปราณดินในลักษณะเดียวกัน เพราะไม่สามารถเก็บกักพลังปราณดินไว้ได้ อีกทั้งกระแสอากาศ ที่เคลื่อนไหวอย่างสับสนอลหม่าน จากการเคลื่อนตัวของยวดยาน ที่วิ่งขึ้นลงอยู่ตลอดเวลานั้น ก็ยิ่งเป็นการก่อกวนให้ สนามพลังปราณโกลาหลยิ่งขึ้น จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง
สถานะของพลังปราณ
(The status of prana)
เมื่อท่านผู้อ่านพอจะเข้าใจประเภทของปราณ และบทบาทความสำคัญของปราณแต่ละชนิดแล้ว ผู้เขียนก็จะพาทุกท่านไปเรียนรู้บทบาทกลไก การทำงานของพลังปราณให้ดียิ่งขึ้น โดยจะขอเริ่มต้นบรรยายในส่วนของสถานะ ที่แยกย่อยของพลังปราณก่อน เพราะจะเป็นเหมือนภาคขยายความ ของสิ่งที่กล่าวถึงก่อนหน้านั้น และต้องถือเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนจะไปพูดถึง รูปแบบการเคลื่อนตัว ของพลังปราณในเนื้อหาถัดไป
โดยในข้อเท็จจริงแล้ว สนามพลังปราณแต่ละประเภทนั้น ยังมีการจัดแบ่งออกเป็น สองสถานะย่อยลงไปอีก นั่นคือ สภาพที่เคลื่อนไหวและหยุดนิ่ง ทำให้การพิจารณาใช้ พลังปราณให้เกิดประโยชน์นั้น จำเป็นต้องบริหารจัดการ สถานะทั้งสองของสนามพลังปราณ ให้ถูกต้องเหมาะสมด้วย โดยอาศัยหลักการที่ว่า หากพลังใดต้องการนำมาใช้ประโยชน์ ก็ต้องกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว ส่วนพลังใดที่ไม่ต้องการใช้ ก็ต้องสะกดให้หยุดนิ่งกับที่ไว้
The status of prana
ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า พลังทุกอย่างในจักรวาลนั้น ล้วนมีทั้งสองสถานะเช่นกันกล่าวคือ พลังด้านบวกหรือหยาง และพลังด้านลบหรือหยิน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่เรียกว่าพลังบวกและลบนั้น ในทางวิชาภูมิพยากรณ์นั้น ไม่ได้จำแนกว่าสถานะพลังใด เป็นพลังที่ดีหรือไม่ดี
เพราะหากมองในแง่มุม ของสนามพลังปราณตามธรรมชาติแล้ว ล้วนเป็นองค์รวมที่ประกอบขึ้น ด้วยสนามพลังปราณ ทั้งสองสถานะในสัดส่วน ที่ก่อให้เกิดดุลยภาพ ของพลังปราณทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” หรือ “ในหยางมีหยิน ในหยินมีหยาง” นั่นเอง
ดุลยภาพของพลังปราณ
(Equilibrium of prana)
ดังนั้นการที่อาคารสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่บนสภาพ ของการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เหมือนกับอาคารที่พัก ซึ่งตั้งอยู่บนสถานที่จอดรถดังกล่าว จึงไม่ต่างกับอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นบนพื้นน้ำ ที่มีกระแสน้ำขึ้นลง และสั่นไหวอยู่โดยตลอด ซึ่งย่อมส่งผลให้ไม่สามารถ ควบคุมสนามพลังปราณ จึงยากที่จะบริหารจัดการ ให้เกิดประโยชน์ใช้สอย อย่างมีประสิทธิภาพได้
เพราะมันจะเต็มไปด้วยสภาพ ของการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรักษา สภาพการหยุดนิ่งไว้ได้ จึงเรียกได้ว่า ขาดดุลยภาพของสนามพลังปราณอย่างสิ้นเชิง อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในลักษณะดังกล่าว จึงยากที่จะควบคุมชะตาของอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนของชะตาดินให้คงที่ได้ ท้ายสุดจึงย่อมส่งผล กระทบต่อพลังปราณคน หรือชะตาของบุคคล ที่อยู่อาศัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
Equilibrium of prana
ด้วยเหตุนี้ดุลยภาพของพลังทั้งสอง คือทั้งบวกและลบ หรือทั้งหยางและหยินนั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมี เพราะหากไม่มีดุลยภาพย่อมยากจะควบคุม เมื่อไม่อาจควบคุมก็ย่อมมิอาจบริหารจัดการให้เป็นประโยชน์ได้ เพียงแต่ดุลยภาพของพลังปราณ สำหรับคนเป็นและคนตายนั้น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยดุลยภาพพลังของคนเป็น จำต้องเน้นไปที่พลังหยางเป็นหลัก
ขณะที่ดุลยภาพของคนตายจะเน้นไปที่พลังหยินเป็นหลัก โดยพลังปราณของคนเป็น จะเกี่ยวกับ อาคารบ้านเรือน ส่วนพลังปราณของคนตายจะเกี่ยวกับ สุสาน แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะอธิบายความ เกี่ยวกับการควบคุม ใช้งานพลังปราณดังกล่าว เราก็ต้องมาเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบ การเคลื่อนตัวของพลังปราณ ให้กระจ่างแจ้งเสียก่อน
การเคลื่อนตัวของพลังปราณ
(Movement of prana)
ดังกล่าวแล้วว่า พลังปราณทั้งสามประเภทนั้น ล้วนต้องอาศัยการเคลื่อนตัว ของลมและน้ำทั้งสิ้น ในส่วนของพลังปราณฟ้านั้น ท่านผู้อ่านคงพอจะนึกภาพออกได้ไม่ยาก เพราะเป็นพลังปราณที่ล่องลอยอยู่เหนือผืนดิน โดยเกิดจากสภาวะการสั่นไหว ขององค์ประกอบย่อย ระดับอณูของธาตุที่ประกอบ เป็นโมเลกุลของอากาศทั้งหมด จึงย่อมถูกพัดพาไปด้วยกระแสลมได้
โดยอาศัยการหมุนรอบตัวเองของโลก และอิทธิพลของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ดังกล่าว ในขณะเดียวกันพลังปราณที่ถูกเก็บกักด้วยน้ำนั้น ก็ย่อมต้องเลื่อนไหลไปตามกระแสน้ำ ที่มีผลกระทบมาจากอิทธิพล และบทบาทการเคลื่อนตัวของโลก ที่สัมพันธ์กับเทหวัตถุทั้งหลาย ในฟากฟ้านั้นด้วยเช่นกัน
Movement of prana
ส่วนพลังปราณดินนั้น อาจกล่าวได้ว่า เกิดมาจากกระบวนการสั่นไหว ภายในอณูธาตุที่ประกอบ ขึ้นเป็นผืนแผ่นดิน รวมไปถึงการไหลเวียนของลาวา หรือโลหะเหลวที่มีความร้อนสูง ภายใต้เปลือกโลกนั้น โดยพลังปราณดินเหล่านี้ ก็จะถูกเก็บกักไว้ในน้ำใต้ดิน และทางน้ำต่างๆ บนผิวดินได้เช่นเดียวกัน และก็จะถูกพัดนำชักพาไป ตามอิทธิพลของธรรมชาติ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนพลังปราณของคนนั้น
หลายท่านอาจจะ ยังมองภาพไม่ค่อยออก ผู้เขียนก็ต้องขออธิบายให้ฟังว่า พลังปราณคนนั้นก็ล้วนอยู่ในสภาวะเดียวกัน กับพลังปราณฟ้าและดิน คือถูกชักนำด้วยสายลมและน้ำเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากการหายใจ เอาอากาศเข้าไปภายในร่างกาย จากนั้นปราณฟ้าและดินที่ได้รับเข้าไป จากที่มันเคลื่อนตัวมากับกระแสลมดังกล่าว ก็จะถูกเก็บกักด้วยน้ำในระบบเลือดภายในร่างกาย ก่อนจะไหลเวียนหมุนวน แจกจ่ายไปทั่วร่างเช่นเดียวกันดังนั้นเมื่อการเคลื่อนไหว ของสนามพลังปราณทั้งหมด ล้วนผูกพันเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับลมและน้ำ
จึงเป็นธรรมดาที่อาจถือได้ว่า สภาพการเคลื่อนไหวของทั้งกระแสลม และน้ำนั้นล้วนสามารถใช้เป็นภาพสะท้อน ของการเคลื่อนตัวของพลังปราณ ที่ปรากฏออกมาให้เราสามารถ พบเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัสปกติ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ วิชาภูมิพยากรณ์ถูกเรียกรวมสั้นๆ ว่า วิชาฮวงจุ้ย ในความหมายที่ต้องการสื่อให้เห็นถึง การเป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง ของลมและน้ำดังกล่าว โดยใช้เป็นตัวแทนการเคลื่อนตัว ของสนามพลังปราณทั้งสามประเภทนั้น
การควบคุมพลังปราณ
(How to control prana)
สรุปแล้วรูปแบบการเคลื่อนตัวของพลังปราณ จึงย่อมไม่ต่างจากการเคลื่อนตัว ของลมและน้ำในธรรมชาติ คือมีสภาพที่ฟุ้งกระจาย และล่องลอยอย่างอิสระได้ เหมือนสายลม และสามารถไหลเลื่อน สู่ที่ต่ำเหมือนกระแสน้ำ และด้วยหลักการนี้เอง ในวิชาภูมิพยากรณ์ จึงสามารถควบคุมและชักนำ การเคลื่อนตัวของพลังปราณ ให้ดำเนินไปตามทิศทางที่ต้องการได้ โดยการอาศัยกระแสลมเป็นตัวชักนำ และเก็บกักไว้ด้วยน้ำ ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางป้องกัน การรั่วไหลของพลังปราณที่ชอบเคลื่อนตัวลงสู่ที่ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อมันได้พบกับน้ำก็จะวิ่งเข้าหา
นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลักวิชาดังกล่าว ต้องหลีกเลี่ยงช่องเปิดลงสู่ ระบบท่อระบายน้ำภายในอาคาร เพราะนั่นถือเป็นจุดรั่วไหล ของพลังปราณที่ต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากหลักวิชาดังกล่าว จะเน้นในการเก็บรักษาพลังปราณที่ดีเอาไว้ และให้หมุนเวียนอยู่ภายในอาคาร ให้มากและนานที่สุด การรั่วไหลจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข ในขณะเดียวกันการรักษา คุณภาพของพลังปราณ ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ เป็นพิเศษเช่นกัน
How to control prana
ดังนั้นเมื่อต้องการควบคุมพลังปราณ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการหาหนทางชักนำพลังปราณ ที่มีอยู่โดยรอบตัวอาคารให้เข้ามาสู่ ภายในบริเวณที่ตั้งของตัวอาคารก่อน ด้วยเหตุนี้ในหลักวิชาจึงเน้นว่า ต้องมีแนวรั้วกั้นไว้ โดยรอบบริเวณที่ตั้งตัวอาคาร โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านหน้าเพียงพอ ที่มีสัดส่วนสมดุลย์ กับความสูงของตัวอาคาร โดยปกติแล้วกรณีดีที่สุดก็คือ
จะต้องเผื่อเนื้อที่ให้กว้าง เท่ากับความสูงของตัวอาคาร เมื่อวางนอนทาบลงมา หรืออย่างน้อยก็สักครึ่งหนึ่งของความสูง แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันที่อาคารหลายแห่ง มีความสูงหลายสิบถึงหลายร้อยชั้น เนื่องมาจากสาเหตุที่ดิน มีราคาแพงและมีเนื้อที่จำกัด จึงทำให้ไม่สามารถกระทำ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ในแง่ของพลังก็ต้องบอกว่า ไม่ดีเท่าที่ควรแต่ก็เป็นสภาพจำยอม ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
พื้นที่เก็บกักพลังปราณ
(Storage area of prana)
และแม้จะถือเป็นการอนุโลม แต่ก็ต้องบอกว่าไม่สามารถ เก็บกักพลังปราณได้เพียงพอ ไม่ต่างจากคนที่ตัวใหญ่ แต่ได้อาหารปริมาณน้อยนิด ในระยะยาวจึงยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ตัวอาคารสูงดังกล่าวก็เช่นกัน เมื่อไปถึงระยะหนึ่งก็ย่อมหลีกไม่พ้น ที่จะต้องประสบกับสภาวะ ขาดแคลนพลังปราณดังกล่าว ส่วนการใช้พลังปราณฟ้ามาช่วยนั้น ก็ไม่ต่างกับการต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น เพื่อหาซื้ออาหารเสริม
ซึ่งบ่อยครั้งจะไม่สามารถ ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายได้ เท่ากับอาหารตามธรรมชาติปกติ และที่เปรียบกับอาหารเสริม ที่มีราคาแพงนั้นก็ต้องบอกว่า การลงทุนเพื่อดึงพลังปราณฟ้ามาใช้งาน หากไม่มีความรู้พอ บ่อยครั้งจะต้องทุ่มทุนมาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับคืนมาไม่คุ้มกัน
Storage area of prana
ส่วนการที่ต้องเผื่อพื้นที่ ด้านหน้าอาคารไว้มากขนาดนั้น ก็เหมือนกับการเตรียมพื้นที่ไว้รองรับพลังปราณ อุปมาดังคนที่ตัวใหญ่ต้องกินอาหารปริมาณมาก จึงต้องมีที่รองรับอาหาร ที่จะรับประทานอย่างเพียงพอ ดังนั้นในหลักวิชาภูมิพยากรณ์ จึงเรียกพื้นที่ดังกล่าวนี้ว่า ลานรับพลัง แต่เนื่องจากลานรับพลังนี้ มักจะตั้งตรงกับประตูทางเข้าออก ภายในบริเวณตัวอาคาร หรือที่เรียกว่าประตูรั้วนั่นเอง
โดยอาศัยการสัญจรไปมา ของทั้งผู้คนและยวดยานพาหนะ เพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนตัว ของมวลอากาศที่จะชักนำพลังปราณ เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว แต่ด้วยสภาพที่มีการเคลื่อนไหว อยู่ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง จึงต้องมีการชักนำพลังไปเก็บกักไว้ ในพื้นที่อีกส่วนที่นิ่งกว่า โดยพื้นที่ในส่วนนี้จะอยู่ตรงบริเวณด้านหน้า ประตูทางเข้าหลักของตัวอาคาร และเรียกพื้นที่นี้ว่า ลานรวมพลัง
คุณภาพของพลังปราณ
(Quality of prana)
สภาวะของลานรวมพลัง จึงต้องค่อนข้างนิ่ง มีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก และต้องมีแนวโอบล้อมที่สามารถ เก็บกักพลังให้มาชะลอตัวพักไว้ เพื่อจะชักนำจ่ายเข้าสู่ตัวอาคารในขั้นตอนต่อไป การชักนำพลังปราณ ให้เข้ามาในลานรวมพลังนี้ โดยปกติแล้วจะใช้ วิธีทางธรรมชาติเป็นหลัก ในสายวิชาภูมิพยากรณ์ จึงกำหนดให้ลานรวมพลัง ดังกล่าวต้องเปิดโล่ง ราบเรียบ และสามารถรับแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่
เหตุผลก็เพื่อให้แสงแดด ที่ส่องลงมาทำให้อากาศบริเวณลานรวมพลัง มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าบริเวณอื่น ผลที่ได้ก็คือมวลอากาศร้อน บริเวณลานดังกล่าวจะลอยตัวขึ้น ทำให้ดึงดูดเอากระแสลมรอบบริเวณ หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเข้ามา และยังเป็นการกระตุ้นพลังหยาง หรือพลังชีวิตให้รุ่งเรืองขึ้นด้วย สรุปในขั้นตอนนี้ก็คือ เป็นการดึงเอากระแสอากาศที่เข้ามา ทางประตูรั้วผ่านทางลานรับพลัง ให้เคลื่อนเข้ามาจ่ายไว้ ที่ลานรวมพลังดังกล่าว
ส่วนการชะลอพลังนั้นจะทำได้ โดยแนวกำแพงที่โอบล้อมไว้ และอาจเก็บกักไว้ด้วยน้ำที่สะอาด โดยอาจทำเป็นสระน้ำที่ไม่ใหญ่นัก ที่สำคัญจะต้องไม่สะท้อนภาพ ของตัวอาคารให้พลิกคว่ำลง ภายในพื้นน้ำนั้น ปกติจึงมักจะทำให้พื้นน้ำนั้นสั่นไหว โดยการใช้น้ำพุ โดยให้มีแนวของน้ำยิงตรงเข้าสู่ ประตูทางเข้าของตัวอาคาร ถือเป็นการจ่ายพลังปราณ เข้าสู่ตัวอาคารในอีกทางหนึ่ง
Quality of prana
ในด้านการควบคุมคุณภาพของพลังปราณนั้น ก็ต้องถือเป็นสิ่งที่สำคัญนับแต่แรกเริ่มของพลัง ที่เข้ามาสู่บริเวณภายในอาคารเลย เพราะหากคุณภาพของพลังปราณไม่ดีพอ เมื่อจ่ายเข้าสู่ภายในตัวอาคาร ก็ย่อมจะไร้ประโยชน์ และจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี อุปมาเหมือนบ้านเรือนที่มีถังขยะ หรือของสกปรกที่ส่งกลิ่นเหม็น อยู่ที่ปากทางเข้าบ้าน เมื่อลมพัดเข้ามา ก็ย่อมนำเอากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ เข้าไปเหม็นตลบอบอวล อยู่ภายในบ้านนั้นด้วย และย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งกายและใจของผู้อยู่อาศัยเป็นธรรมดา
ดังนั้นพื้นที่ด้านหน้าของตัวอาคาร ซึ่งเป็นส่วนของลานรับและรวมพลังทั้งสองนั้น จึงต้องอยู่ในสภาพที่ราบเรียบ สะอาด และเป็นระเบียบ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรจัดให้มีความสวยงาม กลมกลืนทางด้านทัศนะศิลป์ เข้าไปเป็นองค์ประกอบด้วย โดยเฉพาะหากมีการใช้สระน้ำ หรือน้ำพุในการเก็บกักพลังปราณ ก็ต้องหมั่นดูแลให้สระน้ำนั้นสะอาด มีคุณภาพน้ำที่ใสบริสุทธิ์ เท่าที่จะทำได้อยู่ตลอดเวลา
รวมทั้งอุปกรณ์ของระบบน้ำพุ ก็ต้องคอยดูแลมิให้ชำรุดเสียหาย เพราะหากท่อน้ำพุทั้งหมด ไม่สามารถทำงานได้ มันจะกลายเป็นเหมือนเศษซากของเสีย ที่ปลดปล่อยพลังอัปมงคลออกมา ปนเปื้อนกับพลังที่เก็บกักไว้นั้น
การชักนำพลังปราณ
(Induction of prana)
นอกจากการชักนำพลังปราณใหม่ๆ ให้เข้ามาเก็บกักไว้ในลานรวมพลังดังกล่าวแล้ว การชักนำให้พลังปราณมีการหมุนเวียน เคลื่อนตัวไปรอบตัวอาคาร ก็ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ตัวอาคารที่มีพื้นที่น้อย หรือสร้างเต็มพื้นที่ จนไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ ให้กระแสลมเคลื่อนตัว ไปรอบตัวอาคารได้ ก็จะทำให้เกิดสภาพจุดอับของพลัง ไม่ต่างจากบ้านเรือนที่มีอากาศ ถ่ายเทได้ไม่สะดวก ย่อมเกิดมุมอับที่ทำให้มวลอากาศ มีสภาพหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว และบ่อยครั้งจะเป็นที่รวม ของความอับชื้นและเชื้อโรคได้ง่าย
ดังนั้นการเผื่อพื้นที่ว่างไว้โดยรอบตัวอาคาร จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง ส่วนการชักนำพลังปราณนั้น สำหรับอาคารสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ก็สามารถทำได้โดยการออกแบบ ทางเดินรถให้หมุนวนไปรอบตัวอาคาร อาศัยการเคลื่อนตัวของยวดยาน ช่วยชักนำกระแสลม ให้เกิดการเคลื่อนตัว สำหรับบ้านเรือนธรรมดาที่ไม่สูงมากนัก ก็สามารถออกแบบเป็นทางเดิน ให้ผู้คนสัญจรไปมาได้โดยรอบ ก็จะถือเป็นการชักนำพลังปราณ ได้ระดับหนึ่งเช่นกัน
Induction of prana
ส่วนการชักนำพลังปราณด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภายใน และภายนอกตัวอาคาร ก็คือ ประการแรกการใช้น้ำดังกล่าว โดยอาจติดตั้งตู้ปลา หรือเครื่องประดับที่มีการเคลื่อนไหว มีรูปทรงที่สวยงามกลมกลืน กับรูปแบบการตกแต่ง เช่น นาฬิกา โดยเฉพาะแบบที่มีลูกตุ้มแกว่งไกว หรือมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวนอกเหนือ ไปจากเข็มนาฬิกาจะยิ่งดีมาก
นาฬิกาแบบโบราณ ที่มีเสียงเคาะบอกเวลา ด้วยการกระทบของชิ้นส่วนโลหะ ที่ให้เสียงกังวานก้องดัง จะมีส่วนช่วยในการปรับ และกระตุ้นพลังปราณภายในอาคาร ให้มีสภาพเป็นหยางอยู่ตลอดเวลาด้วย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการออกแบบทิศทาง กระแสลมจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลม
แสงสว่างก็เป็นอีกสิ่งที่สามารถชักนำพลังปราณได้ แต่ต้องเป็นแสงที่ไม่เจิดจ้าจนเกินไป วัดได้โดยความรู้สึกที่กำลังสบายตา และทำให้บริเวณดังกล่าว มีความสว่างที่กลมกลืนพอดี อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ปกติแล้วแสงจากหลอดไฟฟ้าชนิดต่างๆ ล้วนปลดปล่อยความร้อน ออกสู่อากาศที่อยู่โดยรอบ จึงย่อมเกิดบทบาทเดียวกัน ที่ใช้กับลานรวมพลังด้านหน้าอาคาร เมื่ออากาศรอบหลอด หรือโคมไฟร้อนขึ้น ก็จะดึงเอามวลอากาศจากรอบบริเวณ ให้เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่
ดังนั้นการชักนำพลังขึ้นสู่ห้องพักบนชั้น ที่อยู่สูงขึ้นไปจากชั้นที่ติดพื้นดิน จึงสามารถกระทำได้ โดยอาศัยโคมไฟที่ส่องสว่างดังกล่าว โดยแสงสว่างที่ได้ในปริมาณกำลังพอดีนั้น ยังมีส่วนช่วยรักษาคุณภาพ ของพลังปราณไปในตัวด้วย เพราะความมืดจะทำให้พลังปราณที่ดี หรือพลังด้านบวก เกิดการแปรเปลี่ยนเป็นพลังด้านลบแทน นอกจากนี้เครื่องประดับตกแต่งที่สวยงามทั้งหลาย ก็ล้วนมีส่วนช่วยชักนำพลังปราณได้ทั้งสิ้น โดยอาศัยหลัก “สรรพสิ่งจัดกลุ่มตามสภาพ” พลังที่ดีจึงย่อมเข้าหาสถานที่ดีเป็นธรรมดา
บทสรุป
(Conclusion)
เรื่องราวของ สนามวิถีปราณ ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพลังปราณ นับแต่แรกเริ่ม ชักนำพลังปราณ จากภายนอกเข้ามาสู่ภายในสถานที่ โดยให้เก็บกักไว้ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ คือ ลานรับพลัง ก็จะชักนำต่อไปยังลานรวมพลัง จากนั้นจะแยกเป็นสองส่วน คือ ภายนอก กับ ภายใน โดยภายนอก ก็คือการชักนำพลังปราณให้แจกจ่ายหมุนเวียนไปรอบอาคารสถานที่ ส่วนภายใน ก็คือ การชักนำพลังปราณเข้าสู่ภายในตัวอาคาร รวมไปถึงการแจกจ่ายไปยังพื้นที่ทุกส่วนของตัวอาคารนั้น โดยจะต้องจ่ายไปยังชั้นต่างๆ ของอาคารหลังนั้นอย่างทั่วถึงด้วย
นอกจากการชักนำพลังปราณ ยังจะต้องควบคุมรักษา ให้พลังปราณมีคุณภาพที่ดี ไม่ปนเปื้อนหรือแปรสภาพจนกลายเป็นพลังปราณที่ไม่เหมาะสม ดังกล่าวข้างต้นว่า คนเป็นต้องอาศัยพลังหยางเป็นหลัก ดังนั้นพลังปราณที่ดีของคนเป็นจึงต้องเป็นปราณหยางมากกว่าปราณหยิน ในเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับการควบคุมดุลยภาพของพลังปราณโดยตรง
โดยดุลยภาพของพลังปราณ ก็คือ การควบคุมสัดส่วนระหว่างพลังหยางกับพลังหยินให้มีความเหมาะสม ไม่เพียงต่ออาคารสถานที่ แต่ยังต้องเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดด้วย อาทิเช่น ห้องนอนควรมีพลังพยินมากกว่าหยางเล็กน้อย เพื่อจะเอื้อต่อการพักผ่อนหลับนอน
(มิติทางหลักปรัชญา ep.6 สนามวิถีพลังปราณ)
1 บันทึก
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางหลักปรัชญา
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย