Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
27 ก.ค. 2023 เวลา 20:51 • ปรัชญา
แผนภาพบรรพกาล
หลักการพื้นฐานอีกส่วนหนึ่ง ในวิชาถอดรหัส และปรับชะตาของจีนนั้น ยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจแผนภาพ ที่สืบทอดมาจากบรรพกาลอีกจำนวนหนึ่ง เพราะรหัสนัยที่แฝงอยู่ในแผนภาพเหล่านี้ จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ ในหลากหลายวิชา ที่จะกล่าวต่อไป และผู้ที่ประสงค์จะเรียนรู้ จึงควรที่จะรับทราบ และทำความเข้าใจแผนภาพเหล่านี้ ไว้เป็นเบื้องต้น หากไม่สามารถทำความเข้าใจ แผนภาพเหล่านี้ ได้อย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทำให้ยากที่จะเรียนรู้ในหลักวิชาอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องอาศัย แผนภาพเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ
บทนำ
(Introduction)
ประการสำคัญที่ต้องชี้แจงไว้ในที่นี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเนื้อหาต่อไป ก็คือ เมื่อขึ้นชื่อว่าบรรพกาลแล้ว แน่นอนว่า แผนภาพแต่ละชิ้นที่จะนำมาพูดถึงนี้ ก็ล้วนมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน หากต้องพรรณนากันทั้งหมด คงจะยืดยาวเกินไป และไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้ ที่เน้นในการนำรหัสนัย ที่ซ่อนเร้นไว้ในแผนภาพนั้น มาประยุกต์ใช้งาน ในการถอดรหัสและปรับชะตา
แต่เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่าน ถึงกับเคว้งคว้างไม่รู้ถึง ที่ไปที่มาของแผนภาพดังกล่าว ก็จะขอนำประวัติโดยย่อมากล่าวถึง ไว้พอสังเขป ที่สำคัญในหนังสือเกี่ยวกับหลักวิชาเหล่านี้ ก็มักจะมีการพูดถึงประวัติความเป็นมา ในรายละเอียดกันมากแล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่านที่สนใจ คงจะหามาศึกษาได้ไม่ยาก
Primitive diagram
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถ ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงได้นำแผนภาพทั้งหมด มาจัดเรียงไว้ด้วยกัน (ดังแสดงไว้ในรูปที่ 1) แม้จะมิได้แยกออกเป็นทีละชิ้นก็ตาม แต่ก็มิต้องด่วนเป็นกังวลไป ค่อยๆ ติดตามคำบรรยาย ของผู้เขียนไปเรื่อยๆ พร้อมดูภาพข้างต้นประกอบ
เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะสามารถ ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก และจะเป็นการเข้าใจในเชิงผสมผสาน ที่เป็นเหมือนการย่อยองค์ความรู้ให้ง่ายขึ้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถมองเห็นแนวทาง ที่จะนำไปประยุกต์ใช้งานได้โดยตรง มิใช่เป็นเพียงการทำความรู้จัก กับบรรดาแผนภาพโบราณ เหล่านี้เท่านั้น
แผนภาพปากัว
(Pakua diagram)
แผนภาพแรกที่จะกล่าวถึง ก็คือแผนผังที่เรียกว่า ปากัว (八卦) ในภาษาจีนกลาง หรือ โป้ยข่วย ในภาษาแต้จิ๋ว แต่เนื่องจากในตำราที่เป็นสากล และเผยแพร่ทั่วไปนั้น โดยเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมักจะใช้คำแทนเสียงภาษาจีนกลางเป็นหลัก ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอดำเนินตามแนวทางนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถ ใช้คำเหล่านี้ไปสืบค้น หาความรู้เพิ่มเติมกันได้ต่อไป
รูปที่ 1 แสดงสัญลักษณ์และความหมายของปากัว
พูดถึงปากัวแล้ว แท้จริงก็เป็นการนำรหัสที่เรียกว่า เหยา คือ เส้นเต็มจะหมายถึงหยาง และเส้นขาดจะหมายถึงหยิน การนำเส้นเหยาสามเส้นมาเรียงต่อกัน เรียกว่า ตรีลักษณ์ แล้วทำการจัดรูปแบบ การเรียงลำดับของเส้นทั้งสาม เท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะได้ทั้งหมด 8 รูปแบบด้วยกัน เพื่อที่จะแสดงรูปแบบทั้งหมดให้เห็นง่ายขึ้น ก็จะขอแทนขีดเต็มหรือหยางด้วยเลข 1 และเส้นขาดหรือหยินด้วยเลข 0
จะเห็นได้ว่า ลักษณะนี้จะไปสอดคล้องกับเลขฐานสอง (Binary number) ของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเลขพื้นฐานที่สุด ท่านผู้อ่านสามารถดูเทียบกับ แต่ละรหัสตรีลักษณ์ในภาพ โดยใช้ทิศทางจากนอกเข้าใน โดยเริ่มจากทิศใต้ด้านบน แล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งรูปแบบทั้งแปดนั้น จะแทนได้ด้วยตารางต่อไปนี้
ประเภทของปากัว
(Type of Pakua)
ตารางข้างต้นนี้จะใช้เปรียบเทียบกับ ผังปากัวที่แสดงไว้ในภาพ และต่อไปนี้เราจะมาทำความเข้าใจกัน เริ่มจากปากัวในภาพก่อน ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า มีรหัสตรีลักษณ์อยู่ถึงสองวงด้วยกัน รูปทรงแปดเหลี่ยม ถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อประกอบกับยันต์ ที่เป็นตรีลักษณ์ทั้งหลายนี้ เชื่อกันว่าจะมีอำนาจ ในการปรับสมดุลย์ของพลัง สามารถเปลี่ยนร้ายกลับกลายเป็นดีได้
ส่วนจะทำได้อย่างไร จะค่อยอธิบายต่อไป ตอนนี้จะขอพูดถึงตรีลักษณ์ทั้งสองวงก่อน โดยวงในจะเป็นรหัสตรีลักษณ์ ที่เรียกว่า เซียนเทียนปากัว หรือปากัวก่อนกำเนิด ส่วนวงนอกจะเป็น โฮ่วเทียนปากัว หรือ ปากัวหลังกำเนิด
รูปที่ 2 แสดงแผนภาพปากัว
คราวนี้เราจะมาดูกันว่า ปากัวทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร แน่นอนว่า ปากัวก่อนกำเนิดนั้น ตามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องเกิดก่อน โบราณท่านใช้คำว่า เซียนเทียน กับ โฮ่วเทียน ซึ่งถ้าแปลตามตัวอักษร ก็ต้องหมายถึง ก่อนฟ้า และหลังฟ้า โดยความหมายนี้ก็ไม่ถึงกับ จะไร้ประเด็นโดยสิ้นเชิง ปากัวก่อนฟ้านี้จะถูกใช้ในแง่ของการปรับ พลังหยินหยางตามธรรมชาติ
ส่วนปากัวหลังฟ้าจะใช้ปรับในเรื่องของชะตาคน ดังนั้นในตารางข้างต้น ในส่วนของทิศทาง และความหมายนั้น จะมีอยู่สองนัยด้วยกัน โดยตัวหน้าจะหมายถึงทิศทาง และความหมายของปากัวก่อนฟ้า ส่วนตัวหลังจะหมายถึง ปากัวหลังฟ้า
ปากัวก่อนฟ้า
(Early heaven Pa kua)
เราจะมาพิจารณากันที่ความหมายก่อน โดยปากัวก่อนฟ้า หรือ เซียนเทียนปากัว (先天八卦) นั้นจะเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งตามตำราจีนจะสอนให้ท่องกันในภาษาแต้จิ๋วว่า “เทียน เจ๊ก ฮ่วย ลุ้ย” โดยเริ่มจากทิศใต้แล้ว วนทวนเข็มนาฬิกาไปทางซ้าย ส่วน “ฮวง จุ้ย ซัว ตี่” จะเริ่มจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้ววนตามเข็มไปทางขวา
ซึ่งเทียนคือฟ้า เจ๊กคือทะเลสาบ ฮ่วยคือไฟ ลุ้ยคือสายฟ้า และอีกกลุ่มหนึ่ง ฮวงคือลม จุ้ยคือน้ำ ซัวคือภูเขา ตี่คือดิน โดยมีการบัญญัติบทบาท ของทั้งสองกลุ่มสี่คู่ตรีลักษณ์นี้ไว้ว่า “ฟ้าดินประจำที่ ทะเลสาบขุนคีรีวิถีปราณ ไฟน้ำต้านสภาพ อัสนีสายลมร่วมประสาน”
เมื่อพิจารณาจากภาพปากัวข้างต้นแล้ว (ดูวงใน) ก็จะพบว่า คู่ตรีลักษณ์ทั้งสี่นี้ จะตั้งประจัญอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน แต่บทบาทที่ได้มิใช่จะ หักล้างต่อต้านกันทั้งหมด โดยจากข้อความข้างต้น จะสามารถสรุปความได้ เป็นสี่บาทบาทดังนี้คือ “หยุดนิ่ง เคลื่อนไหว ต้านทาน ประสาน” โดยฟ้าดินประจำที่ก็คือหยุดนิ่ง ทะเลสาบขุนคีรีวิถีปราณ ก็คือการเลื่อนไหลถ่ายเทปราณ หรือการเคลื่อนไหว ไฟน้ำต้านสภาพก็คือ ต้านทานหรือปะทะ อัสนีสายลมร่วมประสาน ก็คือ การร่วมประสานกัน
รูปที่ 3 แสดงแผนภาพเซียนเทียนปากัว
หลายคนอาจงงว่า อัสนีคือสายฟ้ากับสายลม ทำไมมาร่วมประสานได้ ให้พิจารณาจากปรากฏการณ์จริงในธรรมชาติ เมื่อลมพัดแรง เมฆก็จะเคลื่อนที่เร็ว ทำให้เกิดการเสียดสี สร้างประจุไฟฟ้าในอากาศมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสายฟ้าขึ้นได้ และเมื่อสายฟ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มวลอากาศ ที่สายฟ้าเคลื่อนผ่านไป เกิดความร้อนสูง มวลอากาศเย็นรอบด้าน ก็จะพัดเข้ามาแทนที่ เป็นการเพิ่มกำลัง ให้กับสายลมไปในตัว
ดังนั้นปากัวก่อนฟ้า หรือก่อนกำเนิดนี้ จึงเป็นตรีลักษณ์ที่เน้นบทบาท ของธรรมชาติล้วนๆ เป็นหลัก และด้วยหลักการ “หยุดนิ่ง เคลื่อนไหว ต้านทาน ประสาน” ซึ่งเป็นบทบาทหลักๆ ของทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ จึงทำให้สามารถใช้ ในการปรับสมดุลย์ ของพลังงานหยินหยางได้เป็นอย่างดี ในหลักวิชาภูมิพยากรณ์ เมื่อต้องการต้านปะทะ กับสิ่งที่พิฆาตหรือคุกคาม
จึงมักจะใช้จานแปดเหลี่ยม ที่มีตรีลักษณ์ก่อนฟ้า พร้อมกระจกนูนที่ใจกลาง เพราะยันต์ตรีลักษณ์ปากัวก่อนฟ้านี้ จะมีบทบาทในการแปรเปลี่ยนพลังทั้งหมด ที่คุกคามมาให้เข้าสู่สมดุลย์ โดยมีกระจกนูนช่วยในการหักเห และกระจายพลังจากพุ่งตรงเป็นคลี่คลาย
ปากัวหลังฟ้า
(Later heaven Pa kua)
คราวนี้เราจะมาพิจารณาปากัวหลังฟ้า หรือ โฮ่วเทียนปากัว (後天八卦) บ้าง จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า ความหมายของตรีลักษณ์ ในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของบุคคลเป็นหลัก ในกรณีนี้ทิศทางจะเริ่มเข้ามา มีบทบาทด้วยเป็นอย่างมาก ส่วนจะเป็นอย่างไรค่อยติดตามต่อไป ตอนนี้จะขอชี้ให้เห็นบางอย่างก่อน ให้ท่านผู้อ่านดูภาพข้างต้น ที่ใจกลางจะเป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ไท่จี๋ โดยเป็นรูปของหยิน (สีดำ) และหยาง (สีขาว)
ท่านจะเห็นว่า ในซีกของหยางทั้งหมด จะครอบคลุมในกลุ่มของผู้ชาย โดยเริ่มจากทิศตะวันออกคือชายหนึ่ง ตะวันออกเฉียงเหนือคือชายสาม ทิศเหนือคือชายสอง และทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือพ่อ ในทางตรงกันข้ามหยิน จะครอบคลุมในกลุ่มของผู้หญิง โดยเริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงใต้คือหญิงหนึ่ง ใต้คือหญิงสอง ตะวันตกเฉียงใต้คือแม่ และตะวันตกคือหญิงสามลักษณะการจัดเรียงกลุ่มตรีลักษณ์ ของปากัวหลังฟ้านี้เอง จึงเป็นความพยายามในการจัดกลุ่มพลัง ของหยินหยางให้เป็นระเบียบ ซึ่งปากัวก่อนฟ้ามิได้คำนึงถึงเรื่องนี้
จึงอาจกล่าวได้ว่า ปากัวหลังฟ้าเป็นการประยุกต์ เอาปากัวก่อนฟ้ามาใช้ ในแง่มุมที่จะอธิบายชะตาคน โดยมีประวัติเล่าว่า กษัตริย์ฝูชีเมื่อหกพันกว่าปีก่อน เป็นคนคิดค้นปากัวก่อนฟ้าขึ้น ต่อมากษัตริย์เหวินหวาง ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นปากัวหลังฟ้า ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าว และต่อไปนี้เราจะมาดูกันว่า จะใช้งานปากัวหลังฟ้านี้อย่างไรกัน
รูปที่ 4 แสดงแผนภาพโฮ่วเทียนปากัว
จากแผนภาพและตารางที่แสดงไว้ข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งของบุคคลจะประจำอยู่ตามทิศต่างๆ ในเบื้องต้นให้พิจารณาเฉพาะทิศทางตัวหลัง ซึ่งเป็นของปากัวหลังฟ้าโดยเฉพาะ เมื่อเรานำปากัวนี้ไปวางซ้อนกับ ตำแหน่งของอาคารบ้านเรือน โดยอิงตามทิศทาง ทั้งแปดของตัวอาคาร ก็จะได้ตำแหน่งของบุคคลทุกคน ในบ้านตามที่ระบุไว้ ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อ คือ ผู้ชายที่สูงอายุที่สุดในบ้าน และแม่ก็คือ ผู้หญิงที่สูงอายุที่สุดเช่นกัน จากนั้นก็เรียงกันไปตามลำดับ โดยแยกเป็นผู้ชายผู้หญิงในบ้าน
หากมีมากกว่าสามคน ก็ให้นับเริ่มตำแหน่งใหม่ เช่น ชายคนที่สี่ก็ให้มาซ้อนกับตำแหน่ง ของชายหนึ่งแล้วนับวนไปใหม่ หรือจะใช้วิธีแบ่งจำนวน ออกเป็นสามช่วง อาทิเช่น มีลูกชายหกคน ก็ให้คนที่หนึ่งกับสอง อยู่ตำแหน่งชายหนึ่ง สามกับสี่อยู่ตำแหน่งชายสอง ห้ากับหกอยู่ตำแหน่งชายสาม แต่ในทัศนะของผู้เขียนนั้นมองว่า หากเป็นบ้านคนเป็นไม่ใช่สุสาน จะใช้วิธีจัดวางแบบที่สองจะเหมาะกว่า อีกอย่างการนับวนแบบแรกนั้น แม้จะใช้ในสุสาน ก็มีการเรียงลำดับของลูกชายลูกสาว ที่ต่างไปจากนี้
ปากัวกับชะตากรรม
(Pa kua and Destiny)
เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้ว หลังทำการตรวจสอบ ชะตาของอาคารบ้านเรือนดังกล่าว แล้วพบว่า มีตำแหน่งที่ดีหรือร้ายที่ใดบ้าง ก็จะสามารถนำมาเทียบกับ ตำแหน่งบุคคลในปากัวหลังฟ้า เพื่อดูว่า ใครจะได้รับผลดีผลร้ายอย่างไร ผู้เขียนเคยเจอกรณีศึกษาหนึ่ง ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
กล่าวคือ มีอาคารหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยก โดยหน้าบ้านได้หันไป ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่เป็นตำแหน่งพ่อเฒ่าของบ้าน ก็ปรากฏว่า ทุกช่วงกลางคืน นับแต่ย้ายมาอยู่ที่อาคารหลังนี้ พ่อของเจ้าของบ้านจะไม่สบาย และเป็นเฉพาะช่วงนั้น พอสายๆ ของวันใหม่ก็จะหายเป็นปกติ เมื่อตรวจสอบแล้วก็จะพบว่า ตัวอาคารหลังนี้ในช่วงกลางวัน มีทางรถที่ถูกบังคับให้เลี้ยวซ้าย โอบด้านหน้าตัวอาคารไว้ และการจราจร ค่อนข้างคับคั่งพอสมควร
แต่พอตกค่ำการจราจรเบาบางลง รถที่เลี้ยวขวามา จะพุ่งเข้าใส่หน้าบ้านก่อน แล้วค่อยเลี้ยวไป จึงเป็นสาเหตุให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า พิฆาตตาพยัคฆ พุ่งเข้าใส่ตำแหน่งของพ่อเฒ่า จึงเป็นเหตุให้ไม่สบาย เฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว แต่หากปล่อยนานไป ก็อาจกลายเป็นป่วยเรื้อรังได้ ต่อมาเจ้าของบ้านได้ขอให้ทางเขตมากั้นแนวราวโลหะกันรถไว้บริเวณหัวโค้ง ก็ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น
รูปที่ 5 แสดงภาพกรณีปากัวมีผลต่อชะตา
จากกรณีศึกษาที่ยกมานี้ คงพอจะทำให้ท่านผู้อ่านเห็นประโยชน์ ของการประยุกต์ใช้ปากัวหลังฟ้า ในระดับเบื้องต้นได้บ้าง แต่มีอีกสิ่งที่ควรตระหนักไว้ ในการใช้ปากัวหลังฟ้าคือ ตำแหน่งทิศทางของแต่ละตรีลักษณ์ ที่อยู่ในทิศทางของปากัวก่อนฟ้า เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม จึงไม่ควรละเลย และยังสามารถใช้เป็นตัวแทน ตำแหน่งของบุคคลได้เช่นกัน
สรุปแล้วให้ใช้ทิศทาง ของปากัวหลังฟ้า ในการตรวจสอบก่อน หากยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ก็ให้ใช้ตำแหน่งบุคคล ในทิศทางของปากัวก่อนฟ้า เข้าร่วมพิจารณาด้วย ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งพ่อ สามารถพิจารณาได้ทั้งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศใต้
เหอถูแผนภาพแม่น้ำ
(He Tu river map
แผนภาพต่อไปที่จะพูดถึงก็คือแผนภาพเหอถู และหลอซู โดยมีประวัติที่โน้มเอียงไป ในทางเทวตำนานค่อนข้างมาก กล่าวคือ กษัตริย์ฝูชีได้พบเห็นอาชามังกรโผล่ขึ้นมา จากแม่น้ำเหลืองหรือฮวงเหอ และมีแผนภาพของเหอถูปรากฏอยู่ เป็นจุดแต้มบนตัว ตั้งแต่หนึ่งถึงเก้า ต่อมาฝูชีได้กำหนดทิศ ให้จุดแต้มเหล่านั้นเข้าประจำตำแหน่ง จนกลายเป็นแผนภาพเหอถูที่สมบูรณ์
กล่าวคือ จุดแต้มที่หนึ่งกับหกอยู่ทางทิศเหนือ สองกับเจ็ดอยู่ทางทิศใต้ สามกับแปดอยู่ทางทิศตะวันออก สี่กับเก้าอยู่ทางทิศตะวันตก และห้าอยู่ตรงกลาง ซึ่งต่อมาได้เพิ่มสิบหรือศูนย์ เข้าที่ตำแหน่งกลางอีกหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเทียบกับธาตุทิศ ตามหลักเบญจธาตุแล้ว จึงได้ว่า หนึ่งกับหกเป็นน้ำ สองกับเจ็ดเป็นไฟ สามกับแปดเป็นไม้ สี่กับเก้าเป็นทอง และห้ากับศูนย์เป็นดิน
การประยุกต์ใช้แผนภาพของเหอถูนี้ สามารถทำได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนปลา ที่จะเลี้ยงให้เป็นมงคล เนื่องจากปลาต้องอยู่ในน้ำ ดังนั้น จำนวนปลาควรจะเป็นหนึ่งกับหกที่เป็นธาตุน้ำ จึงเป็นคู่ธาตุช่วยเสริมกำลังให้แก่ธาตุน้ำในตำแหน่งดังกล่าว หรือสี่กับเก้าที่เป็นธาตุทอง เพราะทองกำเนิดน้ำ ก็ยังพออนุโลมได้ แต่ปลาจะไม่ค่อยแข็งแรง
รูปที่ 6 แสดงแผนภาพเหอถู (ref.1)
แต่หากใช้สามกับแปด ซึ่งเป็นธาตุไม้ อันนี้ดีกับปลา แต่จะทอนกำลังของน้ำ หากเป็นการใช้น้ำ กระตุ้นตำแหน่งทรัพย์ การใช้จำนวนสามกับแปดจึงไม่ค่อยดีนัก แต่ถ้าเป็นการเลี้ยงไว้ดูเล่น หรือช่วยชักนำปราณ ตามปกติก็ถือว่าใช้ได้
นอกจากนี้จำนวนตัวเลขดังกล่าว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการเลือก ชั้นของอาคารที่จะอยู่อาศัยได้ด้วย โดยเลือกให้สอดคล้องตามหลักเบญจธาตุ กรณีนี้จะต้องรู้วิธีหาธาตุของบุคคลก่อน (จะอธิบายในบทต่อๆ ไป) จึงจะกำหนดตัวเลขได้ อาทิเช่น คนมีธาตุประจำตัวเป็นน้ำ หรือต้องการธาตุน้ำ การอยู่อาศัยในชั้นที่ลงท้าย ด้วยหนึ่งกับหก เช่น ชั้น 1,6,11,16,21,26 จะดีที่สุดเพราะเป็นคู่ธาตุโดยตรง รองมาก็อาจใช้เลขสี่กับเก้า ที่เป็นธาตุทองได้เช่นกัน
ที่ต้องการให้ท่านผู้อ่านสังเกตอีกอย่าง ก็คือรูปเครื่องหมาย สวัสดิกะในรูปข้างต้นนั้น ก็ใช้หลักการภาคี ของเหอถูที่กำลังพูดถึงนี้ มาเป็นตัวกำหนด โดยการซ้อนลงไป บนแผนภาพของหลอซู ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง เป็นการบอกถึงรหัสนัย ที่แฝงเร้นอยู่ในความลึกลับ ของธรรมชาติที่เกิดความลงตัว อย่างน่าประหลาด และนี่อาจเป็นเหตุผลที่มา ของเครื่องหมายดังกล่าว ซึ่งถือกันว่าเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง
หลอซูจัตุรัสมหัศจรรย์
(Lo Shu magic square)
แผนภาพสุดท้ายคือ แผนภาพหลอซู ซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง โดยกษัตริย์หวี่แห่งราชวงศ์เซี่ย ได้เห็นเต่าเทวะปรากฏขึ้นในแม่น้ำลั่ว และมีจุดแต้มบนหลัง เป็นจำนวนหนึ่งถึงเก้าเช่นกัน เพียงแต่มีการจัดวางที่แตกต่างออกไป โดยมีจุดแต้มจำนวนเก้าจุดอยู่ทางหัวและหนึ่งอยู่ทางหาง นี่อาจเป็นคติที่ใช้ ในการวางทิศของแผนภาพหลอซู โดยให้ทิศใต้อยู่บน และทิศเหนืออยู่ล่าง
ส่วนการกำหนดธาตุทิศนั้น อาจมาจากคติ ของสภาพภูมิศาสตร์จริง เพราะประเทศจีนนั้น ทิศเหนือหนาวเย็น และทิศใต้อบอุ่น ขณะที่ตะวันตกเป็นภูเขาสูง ตะวันออกเป็นทะเล ที่อุดมสมบูรณ์กว่า จึงให้ทิศเหนือเป็นน้ำ ใต้เป็นไฟ ตะวันตกเป็นทอง และตะวันออกเป็นไม้ ส่วนทิศย่อยนอกจากนั้น ต้องอาศัยความรู้เรื่อง วงจรธาตุที่ลึกซึ้งกว่านี้ จึงจะเข้าใจได้ ซึ่งจะยังไม่ขอกล่าวถึง ในที่นี้
หากท่านผู้อ่านลองพิจารณา แผนภาพหลอซูให้ดีจะพบว่า มันเป็นการเรียงตัวเลขแบบประหลาด กล่าวคือ ชุดตัวเลขที่เรียงอยู่ ในตารางทั้งเก้าช่องนั้น จะพบว่าไม่ว่าจะบวกตัวเลขทางแนวไหน จะเป็นแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง ก็จะได้ผลรวมเท่ากับ 15 ทั้งหมด นอกจากนั้นตัวเลขในตารางทั้งเก้า ยังสามารถใช้แทนธาตุได้ โดยเฉพาะการคำนวณ เลขประจำตัวฮวงจุ้ยของบุคคล
รูปที่ 6 แสดงแผนภาพหลอซู (ref.1)
กล่าวคือ เลขหนึ่งจะแทนธาตุน้ำ สองห้าแปดแทนธาตุดิน สามสี่แทนธาตุไม้ หกเจ็ดแทนธาตุทอง และเก้าแทนธาตุไฟ ดังนั้นเมื่อคำนวณ ได้เลขประจำตัวตรงกับเลขใด ก็จะรู้ว่าคนผู้นั้นเป็นธาตุอะไร ส่วนสูตรการคำนวณนั้น จะไปรวมกล่าวในบทของวิชาอัฐเรือน
ความมหัศจรรย์ของแผนภาพหลอซูยังไม่จบแค่นี้ เพราะมันได้กลายเป็น แผนผังสำเร็จที่เป็นพื้นฐาน สำหรับการคำนวณผังดาว ที่เป็นชะตาอาคาร ในวิชาดาวเหินเก้าชะตา และเมื่อประยุกต์วิชาดาวเหิน เข้ากับวิชาอัฐเรือนหรือนวเรือน ก็จะทำให้สามารถขยายขอบข่าย การใช้งานแผนภาพหลอซูออกไป ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตัวเลขแต่ละตัวในตำแหน่งทั้งเก้า ซึ่งในบางตำราอาจเรียกว่า เป็นพระราชวัง (palace) โดยเฉพาะในตำรา ที่แปลไปเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าไปอ่านเจอเข้าก็ขอให้เข้าใจว่า หมายถึงกรณีเดียวกันนี้
บทสรุป
(Conclusion)
มีคำกล่าวว่า “แม่น้ำเหลืองให้กำเนิดเหอถู ลำน้ำลั่วให้กำเนิดหลอซู และปราชญ์ทั้งหลายยึดถือ เป็นหลักการสูงสุด” โดยลำน้ำทั้งสองล้วนเป็นชื่อของทางน้ำ ที่ปรากฏสัตว์เทวะทั้งสองในตำนาน ในศาสตร์พยากรณ์ของจีนโบราณจึงถือว่า แผนภาพทั้งสองคือ เหอถูและหลอซู ล้วนเป็นแผนภาพศักดิ์สิทธิ์ ที่สวรรค์ประทานสู่แดนมนุษย์ ทำให้มีการประยุกต์ ใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งวิชาวิเคราะห์ดวงชะตา ภูมิพยากรณ์ แม้แต่การกำหนดฤกษ์ยาม
ก็ล้วนมีการนำรหัสนัย ที่แฝงอยู่ในแผนภาพทั้งสองไปใช้ ดังนั้นการทำความเข้าใจ แผนภาพทั้งสองนี้ จึงถือเป็นพื้นฐานของวิชา การถอดรหัสและปรับชะตา ที่ผู้เขียนจะได้บรรยายถึงในบทต่อๆ ไป สำหรับในบทนี้ คงจะเอาไว้แค่นี้ก่อน ขอให้ท่านผู้อ่านลองทบทวน ทำความเข้าใจแผนภาพ และคำอธิบายนี้ให้ลึกซึ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการอ่านบทต่อๆ ไป ซึ่งจะทวีความซับซ้อน มากขึ้นทุกขณะ
Refference :
1.
https://www.facebook.com/iLiuFa
(มิติทางหลักปรัชญา ep.5 แผนภาพบรรพกาล)
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางหลักปรัชญา
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย