Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
19 ก.ค. 2023 เวลา 20:11 • ปรัชญา
พฤกษาแห่งฟ้าดิน
ในบรรดาหลักวิชาปรับชะตาของชาวจีนนับแต่โบราณนั้น ล้วนต้องอาศัยหลักการของพฤกษาแห่งฟ้าดินที่จะกล่าวถึงนี้เป็นพื้นฐานทั้งสิ้น จนอาจกล่าวได้ว่า พฤกษาอันยิ่งใหญ่นี้ได้แตกกิ่งก้านสาขาแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกสรรพสิ่งแห่งฟ้าและดิน จนไม่มีที่ว่างเว้น สอดประสานอยู่ทั้งในเวลา วัน เดือน ปี และฤดูกาล ตลอดไปถึงระบบนักษัตร และทิศทาง นอกจากนั้นยังถูกนำไปผสมรวมกันจนเกิดเป็นคู่ราศี ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ในทุกสายวิชาทั้งการพยากรณ์และการปรับเปลี่ยนดวงชะตา
1
ที่เรียกกันว่าพฤกษาแห่งฟ้าดินนี้ ก็เนื่องมาจาก การแบ่งพลังแห่งจักรวาลออกเป็นสองสาย ส่วนหนึ่งเป็นพลังแห่งฟากฟ้า เรียกว่า เทียนกาน หรือ กิ่งฟ้า ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสิบสายพลัง อีกส่วนเรียกว่า ตี่จี หรือ ก้านดิน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสิบสองสายพลัง รวมกันแล้วจึงมักจะเรียกกันว่า สิบกิ่งฟ้า และสิบสองก้านดิน
1
โดยในส่วนของสิบกิ่งฟ้าจะแบ่งออกเป็น 1-กะ 2-อิก 3-เปี้ย 4-เต็ง 5-โบ่ว 6-กี 7-แก 8-ซิง 9-ยิ้ม และ 0-กุ่ย ส่วนสิบสองก้านดินนั้นจะแบ่งออกเป็น 1-จื้อ 2-ทิ่ว 3-อิ้ง 4-เบ้า 5-ซิ้ง 6-จี๋ 7-โง่ว 8-บี่ 9-ซิม 0-อิ้ว A-สุก B-ไห โดยท่านที่สนใจตัวหนังสือจีนของสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดิน ก็สามารถดูได้จากแผนภาพต่อไปนี้
รูปที่ 1 แสดงอักษรจีนแทนกิ่งฟ้าและก้านดิน
จากแผนภาพข้างต้น เพื่อให้ง่ายต่อการบรรยาย และสำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาจีน จึงขอใช้รหัสของตัวเลขแทนสัญลักษณ์แต่ละตัวในสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดินข้างต้น กล่าวคือ สิบกิ่งฟ้าจะแทนด้วยตัวเลข 1,2,3,…,9,0 ส่วนสิบสองก้านดินจะแทนด้วยตัวเลข 1,2,3,…,9,0,A,B และเป็นไปตามหลักการของพลังหยินหยางของชาวจีนโบราณ ซึ่งถือเป็นพลังบวกและลบที่ผสมผสานกันอยู่ในสรรพสิ่งทั่วจักรวาล หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่งก็ว่าได้
ในการแบ่งกิ่งฟ้าและก้านดิน ก็ไม่อาจหลีกพ้นกฏเกณฑ์ข้อนี้ คือ มีการแบ่งพลังของทั้งกิ่งฟ้าและก้านดินออกเป็นหยินหยางเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของสิบกิ่งฟ้านั้น ค่อนข้างจะแบ่งเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจกล่าวคือ 1,3,5,7,9 เป็นพลังหยาง 2,4,6,8,0 เป็นพลังหยิน หรืออาจกล่าวได้ว่า เลขคี่เป็นพลังหยางและเลขคู่เป็นพลังหยินสลับกันไป ส่วนเหตุผลนั้นจะกล่าวต่อไป เพราะต้องอธิบายในเรื่องของพลังธาตุให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเสียก่อน
1
สำหรับสิบสองก้านดินนั้นจะค่อนข้างซับซ้อนมากขึ้น โดยต้องอาศัยหลักของการแฝงพลังฟ้าเข้าสู่ดิน ซึ่งรู้จักกันในนามของ “อั้มชั้ง” หรือที่บางสำนักจะเรียกว่า “ราศีแฝง” ก็สุดแล้วแต่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นไปตามหลักการโบราณที่ว่า “ความสำเร็จเป็นของฟ้า ความพยายามเป็นของดิน”
แต่ในขณะเดียวกันฟ้าก็มิได้ทอดทิ้งดินเสียทีเดียว จึงมีการแฝงพลังเข้าไว้ในสิบสองก้านดิน โดยดูได้จากตารางภาพด้านล่าง ซึ่งจะเทียบเคียงพลังหยินหยางของสิบสองก้านดิน พร้อมพลังแฝงของกิ่งฟ้าที่แซมซ้อนอยู่ รวมถึงเดือนและนักษัตรที่สิบสองก้านดินเป็นตัวแทนร่วมอยู่ด้วย
รูปที่ 2 แสดงตารางความหมายของกิ่งดิน
จากตารางข้างต้น ท่านผู้อ่านอาจจะยังสับสนเกี่ยวกับหลักการแบ่งพลังหยินหยางให้แก่สิบสองก้านดินนั้น ความจริงแล้วก็ไม่มีอะไรยาก เพียงแต่ก่อนจะอธิบายในเรื่องนี้ ท่านจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องธาตุของสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดินให้กระจ่างเสียก่อน ซึ่งผู้เขียนจะทำการบรรยายต่อไป ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องของสัญลักษณ์ตัวแทนของสิบสองก้านดินอีกสองตัวก่อน ตัวแรกคือปีนักษัตรที่เราท่านคุ้นเคยกันเป็นปกติ โดยผู้เขียนได้ระบุไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว
ทั้งชื่อนักษัตรที่เป็นภาษาไทยและสัตว์ที่เป็นตัวแทนทั้งหมด ซึ่งคงไม่มีอะไรยุ่งยากมากนักเพราะไล่เรียงเทียบเคียงกันมาตามลำดับ ในขั้นนี้ก็ให้ท่านผู้อ่านรับรู้ไว้เพียงแค่นี้ก่อน ยังไม่ต้องไปเคร่งเครียดมากนัก เมื่อมีการนำไปใช้ในสายวิชาอื่นๆ ผู้เขียนก็จะอธิบายในรายละเอียดต่อไป ที่อาจสับสนน่าจะเป็นเรื่องของเดือน เพราะจากตารางท่านผู้อ่านจะพบว่า มิได้ขึ้นต้นด้วยเดือนมกราคมเหมือนปกติ แต่กลับเป็นเดือนธันวาคมแทน
1
ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการแบ่งแบบวงรอบฤดูกาลหรือสาร์ท โดยจะถือว่าก้านดินรหัส 3-อิ้งจะเป็นตัวเปลี่ยนสาร์ทใหญ่ประจำปี ซึ่งจะมีการเปลี่ยนประมาณวันที่ 3-6 ของเดือนกุมภาพันธ์ แล้วแต่การนับวงรอบฤดูกาลของแต่ละปีจะมาบรรจบครบลงที่วันใด ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ประมาณวันที่ 4 กุมพาพันธ์เป็นส่วนใหญ่
ต่อไปก็จะมาพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ไม่อาจละเลย และจะเป็นเหมือนตัวเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบวิชาพยากรณ์ทั้งหมด ทั้งในส่วนของการถอดรหัสและการปรับชะตา นั่นก็คือเรื่องของเบญจธาตุ โดยจากภาพข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นสีของตัวอักษรจีนที่แตกต่างกันไป ก็น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะมีอยู่ทั้งหมดเพียงห้าสี นั่นก็คือการจำแนกสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดินเข้ากับหลักของธาตุทั้งห้า
ดังที่เคยบรรยายมาในบทก่อนหน้านี้ เพียงแต่เพื่อให้เห็นสีตัวอักษรได้ชัดเจน จึงมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย กล่าวคือ สีของธาตุดินที่ควรเป็นสีเหลืองนั้น ได้ใช้เป็นสีเทาแทน ซึ่งเป็นสีของขี้เถ้าก็ถือว่าใช้ได้ ในขณะที่ธาตุทองซึ่งควรเป็นสีขาว ซึ่งจะทำให้มองไม่เห็น จึงต้องเปลี่ยนเป็นสีดำแทน จึงต้องนำเรียนไว้ในที่นี้ เพื่อป้องกันการสับสน เพราะเดิมทีนั้นปกติแล้ว สีดำจะหมายถึงธาตุน้ำ ซึ่งในที่นี้ได้ใช้สีฟ้าแทนไปแล้ว
1
การประยุกต์เอาหลักเบญจธาตุเข้ากับสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดิน จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์รหัสพลังของฟ้าดินซึ่งดูเหมือนเป็นนามธรรมที่เลื่อนลอยจับต้องไม่ได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถสัมผัสและปรับเปลี่ยนได้ โดยในสิบกิ่งฟ้านั้น เมื่อพิจารณาตามสีจากรูปข้างต้นก็จะได้ว่า 1-กะ,2-อิก เป็นธาตุไม้ 3-เปี้ย,4-เต็ง เป็นธาตุไฟ 5-โบ่ว,6-กี เป็นธาตุดิน 7-แก,8-ซิง เป็นธาตุทอง และ 9-ยิ้ม,0-กุ่ย เป็นธาตุน้ำ
1
เมื่อจับหลักตรงนี้ได้แล้ว ท่านผู้อ่านก็คงจะพอทำความเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมสิบกิ่งฟ้าจึงมีการแบ่งพลังเป็นหยางหยินสลับกันไป ก็เนื่องมาจากการเป็นคู่ธาตุที่เหมือนกัน จึงต้องมีการแบ่งให้เห็นชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น รหัส 1-กะ และ 2-อิก ที่เป็นธาตุไม้ทั้งคู่ ก็จะถูกแบ่งออกเป็นไม้พลังหยางคือ 1-กะ และไม้พลังหยินคือ 2-อิก โดยคู่ธาตุอื่นๆ ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน และการแบ่งในรูปแบบดังกล่าวนี้เอง จะทำให้สามารถนำสิบกิ่งฟ้าไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ในหลากหลายสาขาวิชาการพยากรณ์ของจีน ดังจะได้เรียนรู้กันต่อไป
การนำพลังหยินหยางและเบญจธาตุของสิบกิ่งฟ้ามาประยุกต์ใช้เป็นประการแรก ก็คือการที่สิบกิ่งฟ้าถูกนำมาเป็นพลังแฝงไว้ในสิบสองก้านดิน ดังที่ผู้เขียนได้สาธยายมาข้างต้นนั้น ตอนนี้ก็จะมาเฉลยให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเสียทีว่า ทำไมจึงมีการแบ่งพลังหยินหยางของสิบสองก้านดินแบบที่ดูเหมือนจะไร้ระบบอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่พลังหยินหยางและเบญจธาตุในสิบกิ่งดินที่เป็นพลังแฝงนั้นเอง ก่อนจะทำความเข้าใจต่อไป
ผู้เขียนจะขอจำแนกเบญจธาตุของสิบสองก้านดินให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเสียก่อน กล่าวคือ 1-จื้อ,B-ไห เป็นธาตุน้ำ 2-ทิ่ว,5-ซิ้ง,8-บี่,A-สุก เป็นธาตุดิน 3-อิ้ง,4-เบ้า เป็นธาตุไม้ 6-จี๋,7-โง่ว เป็นธาตุไฟ และ 9-ซิม,0-อิ้ว เป็นธาตุทอง เมื่อท่านผู้อ่านได้รับรู้ธาตุประจำในแต่ละรหัสของสิบสองก้านดินเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ง่ายขึ้น โดยให้ท่านผู้อ่านลองเทียบธาตุของสิบสองก้านดิน กับพลังแฝงของสิบกิ่งฟ้าที่เป็นธาตุเดียวกัน ก็จะทำให้สามารถจำแนกพลังหยินหยางของสิบสองก้านดินได้ไม่ยากยก
ตัวอย่างเช่น รหัส 1-จื้อ ของก้านดิน ซึ่งเป็นธาตุน้ำ จะมีพลังแฝงของสิบกิ่งฟ้าที่เป็นธาตุน้ำเพียงตัวเดียวนั่นคือ 0-กุ่ย ซึ่งเป็นพลังหยิน ดังนั้น รหัส 1-จื้อดังกล่าวจึงต้องเป็นพลังหยินด้วย แต่บังเอิญว่ารหัส 1-จื้อนั้นมีพลังแฝงของกิ่งฟ้าเพียงรหัสเดียวจึงง่ายต่อการพิจารณา คราวนี้เรามาลองดูตัวรหัส 2-ทิ่ว ของก้านดินบ้าง ซึ่งเป็นธาตุดิน
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากรหัสของพลังแฝงจากกิ่งฟ้า ซึ่งมีทั้งหมดสามตัวก็จะพบว่า มีรหัสกิ่งฟ้าที่เป็นธาตุดินเพียงตัวเดียวเช่นกัน นั่นคือ 6-กี ซึ่งเป็นพลังหยิน จึงทำให้รหัส 2-ทิ่ว ต้องเป็นพลังหยินตามไป ส่วนรหัสพลังแฝงตัวอื่นที่ไม่ได้เป็นธาตุเดียวกันนั้น ท่านผู้อ่านยังไม่ต้องสนใจในตอนนี้ เพราะยังไม่ได้ใช้ในระดับพื้นฐานนี้ แต่จะมีการใช้ในหลักวิชาชั้นสูงที่ผู้เขียนจะทยอยบรรยายให้ทราบในบทต่อๆ ไป
นอกจากนี้แล้ว ดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้ข้างต้นนั้น ทั้งสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดิน ยังถูกนำมาผสมรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นคู่ราศีที่ไม่ซ้ำ โดยมีทั้งหมด 60 คู่ ที่นักพยากรณ์สายจีนมักจะรู้จักกันในนามของ 60 กะจื้อ หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า “หลักจับกะจื้อ”
โดยได้มีการนำเอาคู่ราศีทั้งหกสิบคู่นี้มาเทียบเข้ากับปี เดือน วัน และเวลา จนสามารถใช้ในการจัดเรียงขึ้นเป็นผังของดวงชะตาในหลากหลายระบบ และยังถูกใช้ในการกำหนดรหัสคู่ราศีของวันเดือนปีและเวลาในปฏิทินจีน ที่ใช้ในการคำนวณและกำหนดฤกษ์ยามได้ด้วย รหัสของคู่ราศีทั้งหกสิบคู่นั้นได้แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้
รูปที่ 3 แสดงตารางของ 60 กะจื้อ
จากตารางข้างต้น เป็นการจัดเรียงคู่ราศีทั้งหกสิบ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่รหัสกิ่งฟ้าและก้านดินที่ 11 คือ กะจื้อ ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อเรียกคู่ราศีทั้งหกสิบคู่ดังกล่าว จากนั้นก็จะไล่เรียงกันไปตามลำดับ ทั้งกิ่งฟ้าและก้านดิน คือ 1,2,3,… ไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากกิ่งฟ้านั้นมีเพียงสิบรหัส ขณะที่ก้านดินมีถึงสิบสองรหัส ดังนั้นรหัสของกิ่งฟ้าจะสิ้นสุดก่อน ในหลักวิชาจึงให้เริ่มนับรหัสของกิ่งฟ้าใหม่
โดยกลับไปเริ่มที่ 1-กะ อีกครั้งในขณะที่ก้านดินยังคงนับต่อไป ดังนั้นเมื่อ สุดรหัส 00-กุ่ยอิ้ว ก็จะไปต่อที่ 1A-กะสุก วนไปเช่นนี้เรื่อยไปจนครบรหัสทั้งหกสิบคู่นั้น ซึ่งจะลงตัวพอดีที่ 0B-กุ่ยไห คือครบรอบของทั้งสิบกิ่งฟ้าและสิบสองก้านดินทั้งหมด โดยผู้เขียนได้เรียงเอาไว้ให้เห็นง่ายๆ โดยใช้สิบกิ่งฟ้าเป็นหลัก ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า แต่ละแถวทั้งสิบแถวนั้น จะขึ้นต้นด้วยรหัสของกิ่งฟ้าทั้งสิบนั้นไล่เรียงกันไป
จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ การเรียงที่ถูกต้องนั้นจะทำให้รหัสที่เป็นเลขคี่กับเลขคี่มาจับคู่กัน ขณะที่รหัสที่เป็นเลขคู่กับเลขคู่ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีการจับเอารหัสเลขคี่กับเลขคู่มาอยู่ด้วยกัน ก็แสดงว่ามีการเรียงคู่รหัสที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นแล้ว ท่านผู้อ่านที่จะฝึกเรียงรหัสเอง โดยไม่ต้องพึ่งตาราง จึงสามารถใช้เกณฑ์นี้ในการตรวจสอบคู่รหัสที่จัดเรียงได้
อีกส่วนที่สำคัญซึ่งผู้เขียนจะเห็นได้จากตาราง ในช่องระดับที่สามของแต่ละคู่รหัสนั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธาตุนับอิม ของแต่ละคู่รหัสนั่นเอง ท่านผู้อ่านคงเริ่มสงสัยว่า แล้วธาตุนับอิมนี้คืออะไรกันแน่ ก่อนจะอธิบาย ผู้เขียนจะขอให้ผู้อ่านลองสังเกตดูว่า แต่ละคู่รหัสราศีนั้นล้วนประกอบไปด้วยรหัสของกิ่งฟ้าและก้านดินดังกล่าว ซึ่งบางคู่นั้นก็เป็นธาตุชนิดเดียวกัน แต่บางคู่ก็เป็นธาตุต่างชนิดกัน
จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ตกลงแล้วคู่รหัสราศีดังกล่าวควรจะเป็นธาตุอะไรดี และนี่ก็คือประเด็นปัญหาที่กลายมาเป็นสาเหตุของการคิดสูตรคำนวณให้เกิดเป็นธาตุเดียวขึ้น โดยเรียกธาตุที่เกิดใหม่นี้ว่า ธาตุนับอิม ดังกล่าว สำหรับสูตรคำนวณนั้นค่อนข้างยุ่งยากเกินไป ผู้เขียนจึงได้ทำการสรุปเอาไว้ในตารางคู่รหัสราศีทั้งหกสิบคู่ข้างต้นนั้น ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นธาตุนับอิมแล้วจะได้เพียงสามสิบกลุ่มราศี เรียกได้ว่าลดไปได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว
1
ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยต่อว่า แล้วเจ้าธาตุนับอิมดังกล่าวนี้จะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็ต้องขอตอบว่า มันได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ที่ง่ายที่สุดนั้นก็น่าจะเป็นการขึ้นผังดวงชะตา ซึ่งดวงเกิดของทุกคนจะต้องประกอบด้วยปี เดือน วัน และเวลา ที่สามารถแทนได้ด้วยคู่ราศีทั้งหกสิบนั้น โดยจะถูกเลือกมาเพียงสี่คู่ราศีที่ตรงกับรหัสของปีเดือนวันเวลาเกิดของแต่ละคน ซึ่งหากพิจารณาแยกตามธาตุของแต่ละรหัสกิ่งฟ้าและก้านดิน
ท่านก็จะพบว่ามีธาตุอยู่มากกว่าหนึ่งจนถึงมากสุดไม่เกินห้าธาตุ แต่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้สับสนได้แล้วว่า ตกลงเจ้าของดวงชะตานั้นควรจะเป็นธาตุชนิดใด ดังนั้นการใช้ธาตุนับอิมของแต่ละคู่ราศีมาช่วยก็จะสามารถทอนจำนวนธาตุลงไปได้ ทำให้สามารถอ่านธาตุประจำตัวของเจ้าของดวงได้ง่ายขึ้น โดยอาศัยหลักสมดุลย์และความหมายของธาตุในสามสิบกลุ่มราศีเป็นหลัก แต่ก็เป็นเพียงเกณฑ์คร่าวๆ เท่านั้น
การประยุกต์ใช้ธาตุนับอิมที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะจะมีการระบุในช่วงขึ้นปีใหม่ทุกปีว่า ปีนี้เป็นปีของหนูไฟบ้าง หรือไม่ก็เป็นปีมังกรทอง อะไรประมาณนั้น ที่เรียกเช่นนั้นถ้าจะให้ถูกต้องก็ต้องอาศัยปีนักษัตรที่ตรงกับรหัสก้านดินในปีนั้น แล้วอ่านประกอบกับธาตุนับอิมของคู่ราศีในปีดังกล่าว ก็จะได้ความหมายที่ถูกต้องของความสัมพันธ์ระหว่างธาตุและปีนักษัตออกมาได้
ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.2009 นี้ตรงกับคู่ราศีของ 62-กีทิ่ว ซึ่งมีธาตุนับอิมเป็นธาตุไฟ ในขณะที่รหัส 2-ทิ่ว ที่เป็นก้านดินนั้นหมายถึงปีฉลูหรือวัว จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นปีของวัวไฟ แต่ความจริงแล้วยังมีความหมายที่แฝงไว้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของธาตุประจำคู่ราศีดังกล่าวก็ว่าได้ ในที่นี้รหัส 62 เมื่อเทียบกับตารางหกสิบคู่ราศีข้างต้นจะหมายถึง “ไฟในสายฟ้า” ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการพยากรณ์ภาพรวมของปีดังกล่าวได้
โดยในที่นี้ก็อาจจะอ่านได้ว่า เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว แบบไม่คาดฝัน และยังเต็มไปด้วยสภาพที่เร่าร้อนของธาตุไฟ ในขณะที่คู่ราศี 62 ซึ่งเป็นธาตุดินทั้งคู่ จึงทำให้ดินค่อนข้างมาก บอกถึงสภาพที่ดื้อรั้นไม่ฟังกัน เมื่อรวมความกับธาตุไฟแล้ว ปีนี้จึงมีโอกาสเกิดเรื่องขัดแย้งแบบไม่คาดฝัน ประมาณเรื่องของน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้เกิดเรื่องบานปลายใหญ่โตขึ้นได้
แต่การจะพิจารณาสภาวะเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีให้ถูกต้องชัดเจนนั้น ยังจะต้องนำรหัสในด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของพลังจรประจำปีทั้งหลาย เช่น หลักของไตรอสูร ราศีผีหลวงหรือวงรอบดาวพฤหัส ซึ่งจะสอดคล้องกับเรื่องของนักษัตรที่ผสานกับรหัสของสิบสองก้านดินและคู่หกสิบราศีดังกล่าวด้วย อีกส่วนที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมก็คือการเดินของพลังดาวจรที่เปลี่ยนไปในทุกปี
โดยเฉพาะดาวห้าหรือเบญจภูตนั้น ถือเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีนัยสำคัญในการใช้ตรวจสอบดูว่า ดาวนั้นจรไปยังทิศใดในแต่ละปี เมื่ออ่านผสมรวมกับหลักของธาตุนับอิมข้างต้น ก็จะได้ความหมายของคำพยากรณ์ประจำปีนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ในขณะเดียวกันเมื่อประยุกต์เอาหลักต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมาเป็นตัวแปรที่ชี้เฉพาะเจาะจงไปในแต่ละเดือน ลำพังเพียงธาตุนับอิมที่เป็นของคู่ราศีประจำเดือน ก็จะสามารถอ่านข้อมูลเหตุการณ์รายเดือนได้โดยไม่ยากนัก
จากที่กล่าวมานี้ ก็คงต้องถือเป็นตัวอย่างในการประยุกต์ใช้หลักวิชาพฤกษาแห่งฟ้าดินในเบื้องต้นพอให้เห็นแนวทางการใช้งาน ซึ่งประกอบด้วยสิบกิ่งฟ้า และสิบสองก้านดิน ที่สามารถนำมาผสมรวมกันจนก่อเกิดเป็นหกสิบคู่รหัสราศี และเมื่อแปลงเป็นธาตุนับอิมแล้ว ก็สามารถใช้ในการอ่านความหมายหรือถอดรหัสของธรรมชาติได้อย่างค่อนข้างกว้างขวาง แต่ดังที่กล่าวไว้แล้ว เนื่องจากธรรมชาติมิได้ประกอบไปด้วยตัวแปรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นองค์รวมของความสัมพันธ์ระหว่างรหัสตัวแปรจำนวนมาก
ดังนั้นผู้ที่สามารถทำความเข้าใจในเรื่องราวรายละเอียดของรหัสตัวแปรได้มากเพียงใด เขาผู้นั้นก็ย่อมที่จะสามารถแปลความหมายหรือถอดรหัสนัย ที่ซ่อนเร้นอยู่ในธรรมชาติได้กระจ่างชัดมากเพียงนั้น และนี่คือสิ่งที่บทความชุดนี้จะค่อยนำพาท่านผู้อ่านให้ติดตามไปพร้อมๆ กัน เพื่อหาทางเข้าถึงรหัสของธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนจะสามารถนำพาไปได้ โดยทั้งหมดนี้จะเป็นเหมือนการปูพื้นฐานให้ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปได้ด้วยตนเอง
(มิติทางหลักปรัชญา ep.4 พฤกษาแห่งฟ้าดิน)
2 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางหลักปรัชญา
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย