20 ส.ค. 2023 เวลา 15:19 • อาหาร

ติดเตาเล่าเรื่อง | ขนมบัวลอย

บัวลอยเล่ห์บัวงาม คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล สถนนุชดุจประทุม
[กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒]
Credit photo by : Internet
ขนมบัวลอย หนึ่งเมนูขนมไทยโบราณที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แม้ไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดว่าเริ่มต้นจากที่ไหน และใครเป็นผู้คิดค้น แต่ทุกภาคของประเทศไทยก็มีเมนูขนมหวานถ้วยนี้เป็นขนมคู่สำรับมายาวนาน ไม่ว่าจะเทศกาลไหน บัวลอยจะเป็นหนึ่งเมนูที่อยู่ในสำรับหวานเสมอ
Credit photo by : Internet
ขนมบัวลอยนั้นใช้วัตถุดิบในการทำที่ง่าย แต่ต้องใช้พิถีพิถันในเรื่องรสชาติ สีสัน ความสวยงาม กลิ่นหอม และรูปลักษณะ แตกต่างกันไปหลากหลายวิธีในการทำ ซึ่งก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ไม่เพียงแต่ความหอมหวานของน้ำกะทิ และความนุ่มของแป้งเท่านั้น แต่ด้วยความหมายที่เป็นมงคลของขนมบัวลอย ที่สื่อความหมายดี ๆ ให้คนในครอบครัวกลมเกลียวเหนียวแน่น ทำให้ขนมบัวลอยได้รับความนิยมนำมาทำรับประทานในงานบุญ และงานมงคลต่าง ๆ ด้วย
จากลักษณะของวิธีการทำขนม คือ จะนำแป้งที่นวดแล้วมาปั้นเป็นเม็ดกลมเล็กขนาดเท่าเม็ดบัว นำต้มในน้ำเดือดจนแป้งสุก และลอยขึ้นมา แล้วราดน้ำกะทิก่อนรับประทานจึงอนุมานได้ว่าคงเป็นที่มาของชื่อ “ขนมบัวลอย”
Credit photo by : Internet
ส่วนผสมบัวลอยไข่หวาน
๑)แป้งข้าวเหนียว ๕๐๐ กรัม
๒)น้ำตาลปึก ๑ ถ้วย
๓)หัวกะทิ ๕ ถ้วย
๔)เกลือป่น ๑ ช้อนชา
๕)ไข่ไก่
วิธีทำขนมบัวลอย
๑)นำแป้งข้าวเหนียวใส่ลงในภาชนะสำหรับผสม ถ้าทำประมาณ ๘-๑๐ ถ้วย ควรใช้แป้งประมาณ ๕๐๐ กรัม ไม่ควรผสมหมดทั้ง ๕๐๐ กรัม ควรเหลือแป้งไว้นิดหน่อย เผื่อเวลาผสมแป้งเหลวเกินไปจะได้เติมแป้งส่วนที่เหลือ นำแป้งนวดกับน้ำเปล่า นวดจนแป้งจับตัวเป็นก้อน
๒)จากนั้นปั้นแป้งเป้นเม็ดกลมเล็กขนาดเท่าเม็ดบัว นำไปต้มจนแป้งสุกและลอยขึ้นมา ตักขึ้นมาใส่ชามที่มีน้ำพักไว้
๓)นำหัวกะทิใส่หม้อ และเติมน้ำเปล่าลงไปนิดหน่อย โดยอัตราส่วนประมาณ กะทิ ๓ ส่วน น้ำเปล่า ๑ ส่วน ตั้งไฟอ่อน เติมน้ำตาลปึกลงไป เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ต้องมั่นคนเพราะอาจจะทำให้กะทิไหม้ได้ แล้วใส่เกลือตามลงไปเล็กน้อย ต้มจนกะทิเดือดอ่อน ๆ ทั่วทั้งหม้อ จากนั้นก็ดับไฟ
๔)เมื่อกะทิเดือดทั่วทั้งหม้อจึกตอกไข่ใส่ลงไป ต้มจนไข่สุกลอย
วิธีเวลาเสริฟตักใส่ถ้วยเล็กๆ ใส่เม็ดบัวลอยไปสัก ๑ ทัพพี หรือมากน้อยกว่านี้ตามชอบ ใส่ไข่หวาน ๑ ฟอง ตามด้วยน้ำกะทิพอประมาณ เท่านี้เราก็จะได้บัวลอยไข่หวาน ที่ทั้งหอม ทั้งหวาน แป้งบัวลอยนุ่มละมุนลิ้นจนลืมกลืนเลยทีเดียว
เคล็ดลับสำคัญของเมนูบัวลอย
๑)บัวลอยที่ปั้นออกมานั้น ต้องผึ่งให้แห้งจริง ๆ ไม่อย่างนั้นเวลาใส่ลงไปต้มแล้ว อาจทำให้เม็ดติดกันได้
๒)แป้งที่ทำการนวดไว้เพื่อที่จะนำมาปั้นเป็นเม็ดบัวลอย ในขณะที่เราทำการปั้นส่วนที่ยังไม่ได้ปั้นนั้นให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วนำมาคลุมปิดไว้เพื่อที่จะไม่ให้แป้งแห้งได้
๓)สำหรับใครที่ต้องการทำไข่หวาน แต่ไม่มีไข่ไก่ และต้องการใช้ไข่เป็ด ก็สามารถทำได้ แต่ต้องแยกออกมาต้มต่างหาก เพราะหากใส่ลงไปต้มในหม้อบัวลอย อาจทำให้บัวลอยมีกลิ่นคาวของไข่เป็ดได้ โดยวิธีคือให้ตั้งหม้อต้มน้ำเชื่อม โดยใช้น้ำ ๑ ส่วน ต่อน้ำตาล ๒ ส่วน ตามด้วย ขิงแก่จัด (เอาไว้ดับกลิ่นคาว) ลงไปต้ม พอน้ำเดือด ก็ตอกไข่เป็ดใส่ลงไป ใช้เวลาประมาณ ๕-๖ นาที กว่าจะสุก (ใช้เวลานานกว่าไข่ไก่) แล้วจึงตักขึ้นมาใส่ถ้วยบัวลอยได้
“สุดคลองบางกอกน้อย…. พายเรือตามหาบัวลอย จนเหงื่อพี่ย้อยโซมกาย”
[เพลงบางกอกน้อย ขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ]
เสน่ห์ของขนมไทยอีกหนึ่งอย่างคือการผนวกเข้ากับเรื่องเล่า เรื่องราว หรือตำนาน ขนมบัวลอยเองก็เช่นกัน จากเมื่ออดีตกาลนานมาแล้วมีหญิงคนหนึ่งชื่อว่า “บัวลอย” ซึ่งกำลังตั้งท้องต้องการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผัวด้วยการทำขนมขาย
แม้ผัวจะห้ามปราอย่างไรก็ไม่ฟัง เมื่อผัวไปทำงานนางก็จะทำขนมใส่เรือแล้วพายไปขายในคลอง ชาวบ้านที่จะซื้อก็จะตะโกน “บัวลอยจ้า..บัวลอยมาทางนี้หน่อย” และด้วยขนมบัวลอยทำจากกระทิ เมื่อทำเสร็จแล้วก็เอาลงเรือขายเลยประกอบกับฝีมือการทำขนม บัวลอยที่มีความอร่อยจนติดอกติดใจชาวบ้าน จนใคร ๆ ก็เรียกเธอว่า “บัวลอย”
วันหนึ่งเมื่อผัวกลับจากทำงานไม่เห็นเมียสุดที่รัก จึงพายเรือตามหาบัวลอยพร้อม กับร้องตะโกนว่า “บัวลอย บัวลอย” แต่ก็ไม่พบแม้แต่เรือของเธอ
หลังจากนั้นไม่นานก็มีคน พบศพเธอลอยไปติดอยู่ที่ท่าเรือของวัดในคลองจึงมีการนำขึ้นมาทำพิธีตามศาสนา และด้วยความเชื่อของคนไทยที่ว่าถ้าตายท้องกลมผีจะเฮี้ยนจึงไม่ได้มีการเผาแต่แค่ฝั่งเอาไว้ และมีบางคนมาขอหวยปรากฎว่าถูกจนโด่งดังไปทั่วผู้คนถูกหวยเป็นว่าเล่น
แต่แล้วเช้าวันหนี่งศพของบัวลอยก็หายไป คาดว่าเจ้ามือหวยคงมาทำการขุดศพเอาไปทิ้ง และสะกดวิญญาณไว้ หลังจากนั้นตำนานบัวลอย ก็เริ่มถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา แต่ที่ยังคงอยู่ก็คือ เรื่องราวที่เล่าต่อ ๆ กันมาของคลองบางกอกน้อย และได้มีการนำมาทำเป็นเพลง ชื่อเพลง บางกอกน้อย ที่ขับร้องโดย ชัยชนะ บุญนะโชติ ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งเวลาทำขนมบัวลอยแล้วมีคำถามว่าขนมบัวลอยมาจากไหนผู้เฒ่าผู้แก่ก็มักจะเล่าเลื่องนี้ให้ฟังอยู่เนือง ๆ
Credit photo by : Internet
กว่าจะมาเป็นขนมบัวลอยหนึ่งหม้อถ้าปั้นคนเดียวจำเป็นต้องใช้เวลาในการปั้นอยู่นานเลยทีเดียว คงดีไม่น้อยถ้าคนในครอบครัวช่วยกันคนละไม้คนละมือปั้นขนมบัวลอยช่วยกันปั้น ช่วยกันปรุง ช่วยกันชิม เติมนู่นนิด เติมนี่หน่อย กินด้วยกันทั้งครอบครัว ขนมบัวลอยหม้อนี้คงเป็นขนมบัวลอยที่อร่อยจนบอกไม่ถูก และจะเป็นขนมบัวลอยที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนอย่างแน่นอน
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
รฤก รัก
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
#ขนมไทย
#ขนมพื้นบ้าน
#ขนมบัวลอย
#ติดเตาเล่าเรื่อง
โฆษณา