20 ส.ค. 2023 เวลา 17:43 • สิ่งแวดล้อม
ดงสาร

การอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงครามบ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

ชุมชนบ้านดงสาร ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในฐานะกลไกสำคัญที่ช่วยพิทักษ์รักษาและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ(ป่าบุ่งป่าทาม) ตลอดจนการจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนโดยได้ดำเนินการครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสงวนอนุรักษ์พันธุ์ปลาควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพป่าบุ่งป่าทาม นับเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี
4
ระบบนิเวศพื้นที่ชุมน้ำ
บ้านดงสาร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุกว่า 109 ปี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและทำประมงน้ำจืด จัดเป็นหมู่บ้านขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตบริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ห่างจากริมน้ำ 3-5 กิโลเมตร
ลักษณะโดยรอบบริเวณหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมที่เป็นรูปแบบนิเวศพื้นที่ชุมน้ำอย่างชัดเจน ประกอบด้วย พื้นที่นา ป่าบุ่งป่าทามซึ่งมีลักษณะเป็นป่าสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ป่าในภาคอีสาน รวมทั้งมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น หนองน้ำ ลำห้วยต่างๆ จำนวนมาก
เมื่อถึงฤดูฝนทุกปี น้ำจากลำน้ำสงครามจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่ม ดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง จากการขึ้นลงของน้ำในลำน้ำสงครามนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพย้ายถิ่นของปลาตามธรรมชาติ เมื่อเวลาน้ำหลากท่วมป่าบุ่งป่าทาม ปลาจากแม่น้ำโขงจะว่ายมาตามลำน้ำสงครามเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำ และเมื่อหมดฤดูน้ำ พันธุ์ไม้ต่างๆ ในป่าบุ่งป่าทามก็จะเจริญงอกงาม ชาวบ้านก็จะได้อาหารจากป่าทาม ได้แก่ หน่อไม้ เห็ด และพืชสมุนไพร
ป่าบุ่งป่าทาม จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนที่ดอน และอยู่ใกล้กับป่าทามที่อุดมสมบูรณ์
“ทุ่งพันขัน” จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรลุ่มน้ำสงคราม ณ บ้านดงสาร
“ทุ่งพันขัน” เป็นชื่อเรียกป่าบุ่งป่าทามของเขตพื้นที่บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม มีพื้นที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ ติดกับลำน้ำสงคราม ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ป่าทุ่งพันขันในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์มาก สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารของชุมชนได้ตลอดปี แต่ในภายหลังเมื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ป่าบุ่งป่าทามทุ่งพันขันเสื่อมโทรมลงไปมาก เกิดจากการใช้ประโยชน์ด้านทรัพยากรป่าไม้ของป่าทามเพื่อการค้า อาทิ การสัมปทานทำไม้ และการเผาถ่าน
สำหรับการเผาถ่าน ในช่วงแรกส่วนใหญ่มักเผาเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีพ่อค้าจากจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานีเข้ามารับซื้อ จึงทำให้มีการเผาถ่านเพื่อการค้าอย่างกว้างขวาง
ในช่วงปี พ.ศ. 2533 - 2534 ได้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน ซึ่งกินพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวนหลายแปลง พร้อมๆ กับการไถทำลายป่าบุ่งป่าทามเพื่อปลูกยูคาลิปตัส จากนั้นยังได้ล้อมรั้วกั้นไม่ให้ชาวบ้านนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ป่าดังกล่าว จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและทวงผืนป่าซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของพวกเขากลับคืนมา
ในที่สุดปีพ.ศ. 2541 - 2542 บริษัทเอกชนบริษัทเอกชนกลุ่มนั้น ต้องคืนพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามให้กับชาวดงสารหลังจากได้พื้นที่ป่าทุ่งพันขันคืนมา ชาวดงสารก็ช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าและรวมตัวก่อตั้งเป็นกลุ่ม “อนุรักษ์ทุ่งพันขัน” ขึ้น
ในปีพ.ศ. 2535 มีการกำหนดนโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม ด้วยการวางแผนสร้างเขื่อน แกนนำชุมนุมใน 5 หมู่บ้าน จากบ้านดงสาร บ้านสามขา บ้านท่าแร่ บ้านดงเสียว และบ้านปากยาม จึงได้รวมกลุ่มกันในนาม “ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม” เมื่อปีพ.ศ.2539 เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ คือเกรงเสียผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม และป่านานาพันธุ์ การรวมตัวกันของชุมชนอย่างสันติเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี ส่งผลให้ภาครัฐต้องหันกลับมาทบทวนนโยบาย และด้วยผลจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า จะไม่ให้ผลคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ ภาครัฐจึงมีมติให้ยกเลิกโครงการในเวลาต่อมา
แม้ว่าชุมชนจะประสบผลสำเร็จจากการรักษาทรัพยากรของท้องถิ่น แต่ภารกิจของชาวบ้านไม่ได้หยุดเพียงนั้นการรักษาสิ่งที่เรียกร้องกลับคืนมาได้ให้ยั่งยืนตลอดไป นับเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งสำหรับชุมชนลุ่มน้ำสงคราม ชุมชนบ้านดงสารจึงได้ดำเนินการฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม โดยการฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทาม และกำหนดเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูวังปลาขึ้นหรือเรียกกันว่า “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งวังปลา หนึ่งป่าทาม ในเขตลุ่มน้ำสงคราม”
การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าทุ่งพันขัน
ชาวบ้านพยายามดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทามที่เหลืออยู่ โดยกำหนดพื้นที่ทุ่งพันขันตลอดริมแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นป่าทามที่กำลังฟื้นตัว เป็นพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทามของชุมชนบ้านดงสาร นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา และมีข้อตกลงร่วมกันดังนี้
1. กำหนดให้พื้นที่ “ทุ่งพันขัน” เป็นพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทามของบ้านดงสาร
2. ห้ามตัดไม้ยืนต้นหรือตัดทำลายพืชพันธุ์ไม้ด้วยเจตนาทำลายล้างทรัพยากรในพื้นที่อนุรักษ์ป่าบุ่งป่าทามของบ้านดงสาร ผู้ใดละเมิดข้อตกลงมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
3. ห้ามจุดไฟเผาป่า หรือก่อไฟอย่างประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ป่า ผู้ใดละเมิดมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4. ห้ามทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูล อันทำความสกปรกน่ารังเกียจในเขตพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าบุ่งป่าทามของบ้านดงสาร
การอนุรักษ์ฟื้นฟูวังปลากุดสิ้วและหนองหมากแซว
“กุดสิ้ว” เป็นบริเวณที่เรียกว่า “สงครามหลง” ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน เหลือสภาพมาเป็นที่กุดสั้นลง แนวธารน้ำเก่าเรียกว่ากุดหรือหลง
กุดสิ้ว มีขนาดความยาวประมาณ 5,000 เมตร ความกว้างโดยเฉลี่ยของลำน้ำประมาณ 80 เมตรเป็นรูปโค้งวงแหวน เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำ ชาวดงสารเรียกบริเวณนี้ว่า “วังปลากุดสิ้ว” ตั้งอยู่ด้านหลัง “ดอนเล้าข้าว” ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์ส่วน “หนองหมากแซว” คือหนองน้ำใหญ่ที่อยู่ติดกับหมู่บ้านทางทิศเหนือมีพื้นที่ 720 ไร่
เพื่อให้ปลามีบ้านที่ร่มเย็นและปลอดภัยในการวางไข่สามารถแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตจนถึงรุ่นลูกหลานได้หากินชาวบ้านดงสารจึงได้มีการทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดกฏเกณฑ์หรือข้อตกลงร่วมกันโดยได้กำหนดให้ “กุดสิ้ว” บริเวณหลังดอนเล้าข้าว 250 เมตร พื้นที่ประมาณ 12.5 ไร่ และพื้นที่ “หนองหมากแซว” 125 ไร่ ซึ่งได้มีการทำแนวเขตอย่างชัดเจนทางด้านทิศตะวันออกของหนองหมากแซว เป็นเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูวังปลา โดยชุมชนบ้านดงสารตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป
ข้อตกลงร่วมกัน
1. ให้พื้นที่กุดสิ้วหลังดอนเล้าข้าวไปตลอดล้ำน้ำเป็นระยะทาง 250 เมตร พื้นที่ประมาณ 12.5 ไร่ และหนองหมากแซว พื้นที่ประมาณ 125 ไร่ เป็นเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูวังปลาโดยชุมชนบ้านดงสาร
2. ห้ามจับปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ในเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูวังปลาโดยชุมชนบ้านดงสาร ผู้ใดละเมิดข้อตกลงอันเป็นที่เคารพร่วมกันของชุมชนนี้ มีโทษปรับเป็นเป็นเงินไม่เกิน 1,000 บาท
3. ห้ามทิ้งขยะหรือทำความสกปรกอันเป็นที่น่ารังเกียจ ในพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูวังปลาโดยชุมชนบ้านดงสาร
4. ห้ามตัดต้นไม้หรือทำลายสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสองฝั่งลำน้ำ ตลอดแนวเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูวังปลาโดยชุมชนบ้านดงสาร
นอกจากการกำหนดข้อตกลงร่วมกันแล้ว ชาวบ้านดงสารยังได้มีการทำ “หุ้ม” เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำในการอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยการนำขอนไม้ กิ่งไม้ ไผ่กะซะมารวมกันลงไว้ใต้น้ำในเขตวังอนุรักษ์ที่กำหนดไว้
ความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นตามมา
เมื่อป่าบุ่งป่าทาม และวังปาไม่ถูกรบกวนก็เริ่มมีปลาใหญ่มากขึ้น จากแต่เดิมที่ชาวบ้านจับได้แต่ปลาตัวเล็กๆ ปัจจุบันชาวบ้านไม่จำเป็นต้องรุกล้ำเขตวังปลา เพียงแค่ใส่เบ็ต ใส่มองรอบนอกเขตอนุรักษ์ก็สามารถได้กินปลาตัวใหญ่ๆ ตั้งแต่ขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นไปจนถึง 10 - 15 กิโลกรัม ชาวบ้านจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนวังปลา เมื่อชาวบ้านเห็นคนทำผิดกฎกติกาก็ช่วยกันดูแลว่ากล่าวตักเตือน นอกจากนี้ ชุมชนยังมีความสามัคคีและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
บทสรุป
ชาวชุมชนบ้านดงสาร ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชน ในฐานะกลไกสำคัญที่จะช่วยพิทักษ์รักษาและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพป่าบุ่งป่าทาม) ตลอดจนการจัดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสงวนพันธุ์ปลาควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพป่าบุ่งป่าทาม
นับเป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่ยืนยังถึงศักยภาพของชุมชนบ้านดงสารคือ การที่บ้านดงสารได้รับรางวัลองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรดีเด่น ประจำปี 2544 จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำให้วังปลาของบ้านดงสารเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง
ภาพป่าบุ่งป่าทาม(ทุ่งพันขัน)ปี2566
เรียบเรียงข้อมูลโดย : สมชาย เครือคำ
สนับสนุนจาก : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2566 โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
แหล่งที่มา
1. หนังสือ 60 ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2542 (ค้นหาออนไลน์ วันที่21ส.ค.2566, https://irre.ku.ac.th/books/pdf/140.pdf )
โฆษณา