Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
OnePoverty
•
ติดตาม
13 ธ.ค. 2023 เวลา 00:11 • ประวัติศาสตร์
ดงสาร
ประวัติศาสตร์บ้านดงสาร กับตำนาน“ทุ่งพันขัน” สุดคลาสสิก
บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี
3
นาปรังข้าวขาว ดอนเล้าข้าวต้นไม้ใหญ่ กุดสิ้วน้ำใส ทุ่งพันขันกว้างไกล ปลาใหญ่หนองหมากแซว ใช่แล้วบ้านดงสาร
คำขวัญหมู่บ้านดงสาร
ต้นไม้ยางนาใหญ่ 8 คนโอบ
■
ประวัติศาสตร์บ้านดงสาร
ก่อนปี 2484 คนเขมรและคนลาวเดินทางเข้ามาค้าขายในเขตลุ่มน้ำสงคราม โดยเดินทางด้วย “เรือกะแซง” มีการค้าขายเครื่องเงิน เครื่องทอง มีด ดาบ ข้าว และมีการส่งออกเกลือไปขายที่ประเทศลาว
ปี 2484 - 2488 เริ่มตั้งชุมชนหมู่บ้าน มีคนญวนได้อพยพเข้ามาอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณรอบๆ แม่น้ำสงคราม และมีคนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเขตแม่น้ำสงครามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อีสาน ลาว โส้ ญ้อ และจีน ได้มีการตั้งชุมชนที่ตั้งอยู่เดิมหรือตั้งชุมชนใหม่ มีการทำการเกษตรมากขึ้น เช่น ทำนาแซง(นาปรัง) ปลูกผัก เลี้ยงวัว-ควาย รวมถึงการค้าขาย และเป็นลูกจ้างขนของขึ้นลงเรือกะแซง
ปี 2490 มีพ่อค้าชาวจีน บรรทุกข้าวและพริกมาขายในลุ่มน้ำสงคราม โดยใช้เรือกำปั่นและเรือกะแซงในการเดินทาง มีการนำปลาร้า ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาส้ม และเกลือจากลุ่มน้ำสงคราม ลงไปขายตามชุมชนสองฝั่งโขงแถบหนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษและประเทศลาว
ปี 2493 ทางการได้ตัดถนนจากอำเภอท่าอุเทน เข้าสู่อำเภอศรีสงคราม การส่งสินค้าทางเรือมีบทบาทน้อยลง พ่อค้าหันมาใช้เส้นทางการขนส่งทางบกแทน ได้มีการนำรถยนต์เข้ามาทำการขนส่งสินค้าจากลุมน้ำสงครามไปสู่จังหวัดอื่น
ปี 2508 - 2522 มีการสัมปทานเผาถ่าน ทำให้ป่าไม้ที่เคยมีมากมาย ถูกตัดไปเผาเป็นถ่านในการใช้ในครัวเรือน มีพ่อค้าจากจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี เข้ามาซื้อถ่านจากคนในชุมชน (ในช่วง พ.ศ 2517-2519)
ปี 2518 เริ่มทำนาปรัง หลังน้ำลดประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกทำนาแซง
ปี 2520 - 2539 มีการก่อตั้งบริษัท ด้านอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่จำนวน 5 บริษัท 1) ปี2521 ตั้งบริษัทตะวันฟาร์ม 2) ปี2527 ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรอีสาน 3) ปี2531 ก่อตั้งบริษัทซันเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มีการเข้ามาปลูกดอกทานตะวัน มะเขือเทศ และยูคาลิปตัส 4) ปี2538 ตั้งบริษัท เอเชียเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 5) ปี2539 ตั้งบริษัท เอเชียเทค พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2533 ผู้ว่าราชการจังหวัดนำที่ดินทุ่งพันขัน มาจัดสรรให้ชาวบ้านดงสาร 160 ครอบครัว จำนวน 996 ไร่ ต่อมาบริษัทซันเทคฯ เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านทางอ้อมในราคาไร่ละ 1,000 - 2,000 บาท และได้เบิกไถที่ดินในพื้นที่ป่าทามทุ่งพันขัน เพื่อปลูกยูคาลิปตัส เพิ่มอีก 3,000 ไร่ โดยอ้างว่าได้เช่าพื้นที่จากราชการแล้ว รวมเป็น 4,000 ไร่
ปี 2533 - 2534 เกิดการใช้ทรัพยากรป่าไม้เพื่อการค้า มีการไถเบิกพื้นที่ทุ่งพันขันเป็นจำนวนมากในช่วง จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
ปี 2538 - 2539 ชาวบ้านได้รวมกลุ่ม อนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูทุ่งพันขัน และรวมตัวกันต่อต้านกดดันกลุ่มบริษัทเอกชนที่มาลงทุนในทุ่งพันขันเรื่อยมา
ปี 2538 มีการถวายฎีกาต่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาประทับแรมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อปลายปี 2538
ปี 2541 - 2542 บริษัทตกลงคืนพื้นที่ป่าทุ่งทามให้กับชาวบ้าน โดยบริษัทขอตัดต้นยูคาลิปตัสก่อน และมีการฟื้นฟูป่าทุ่งทาม ทุ่งพันขัน
ปี 2547 ต่อมาชาวบ้านได้สร้างพื้นที่ขยายและอนุรักษ์พันธุ์ปลา 2 วัง ได้แก่ วังอนุรักษ์หนองหมากแซว พื้นที่ 725 ไร่ และวังอนุรักษ์กุดสิ้ว พื้นที่ 12 ไร่ และมีธรรมนูญชุมชน การจัดสรรพื้นที่ทุ่งพันขันให้ชาวบ้านทำนาปรังเพิ่ม
ปี 2548 - 2549 ศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดสกลนคร ได้มอบลูกปลามาปล่อยในแหล่งน้ำมีปลาอุดมสมบูรณ์มากกขึ้น จำนวน 2 ครั้ง 1) จำนวน 100,000 ตัว 2) จำนวน 155,000 ตัว และชาวบ้านชาวบ้านได้มอบปุ๋ยคอก จำนวน 91 กระสอบให้กับทางศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดสกลนครกลับไปใช้
ผังประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านดงสาร จากการศึกษา “ไทม์ไลน์พัฒนาการ” โดยใช้เครื่องมือวิศวกรสังคม
■
ศ.ดงสาร เหล่าผู้ก่อการดีนักวิจัยไทบ้าน
ความอุดมสมบูรณ์ที่ได้สัมผัสถ้าชุมชนไม่รวมพลังรักษาไว้ ปัจจุบัน “ทุ่งพันขัน” คงไม่มีพิกัดอยู่บ้านดงสาร ขอประกาศเกียรติคุณ ศ.(ศาสตร์)ดงสาร ให้เหล่าผู้ก่อการดีนักวิจัยไทบ้าน ยังเข้มแข็งและดุดันเกินแรงม้า เป็นแบบอย่างการนำพลังความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาแก้ไขปัญหาชุมชนโดยชุมชน กับผลงานวิจัย "การนำภูมิปัญญาไทบ้านสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทุ่งพันขัน บ.ดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร" สุดคลาสสิกถล่มมารผ่านการพัฒนามาถึง 3 ยุค ได้แก่
●
ยุคแรกทวงคืนแผ่นดินทุ่งพันขัน ก่อนพ.ศ.2538 บริษัทอุตสาหกรรมเข้ามากว้านซื้อที่ดินกับชาวบ้านด้วยวิธีบีบบังคับทางอ้อม
●
ยุคสองการฟื้นฟูและพัฒนา ช่วงพ.ศ.2547 เกิดวังอนุรักษ์ เขตสงวน ธรรมนูญชุมชน การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำนาปรัง
●
และยุคสามสืบทอดเผยแพร่ ช่วงพ.ศ.2565 ดงสารโมเดล “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
หนองหมากแซว ยามเช้าฤดูฝน
หนองหมากแซว ฤดูแล้ง
กุดซิ้ว ฤดูฝน
กุดซิ้ว ฤดูแล้ง
ที่มา :
https://www.1poverty.com/2024/02/dongsan.html
1poverty.com
ประวัติศาสตร์บ้านดงสาร กับตำนาน “ทุ่งพันขัน” ทำนาปรังสุดคลาสสิก
OnePoverty วิถีชุมชน เกษตรมูลค่าสูง โมเดลแก้จน หนึ่งเดียว
เรียบเรียงข้อมูลโดย : สมชาย เครือคำ
สนับสนุนจาก : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี 2566 โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
แหล่งอ้างอิง
1. การอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม :
https://www.blockdit.com/posts/64e250c32553f8096fe4791e
2. การนำภูมิปัญญาไทบ้านสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุ่งพันขัน บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (สุวรรณ บงศ์บุตร, 2546)
https://elibrary.tsri.or.th/project_contentTRFN.asp?PJID=RDG46E0006
บันทึก
2
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ท่องเที่ยวโดยชุมชน กับวิถีบ้านดงสาร
2
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย