23 ส.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ใบหูบอกโรคหัวใจได้จริงหรือ

เมื่อวันก่อน 22 สิงหาคม 2566 เป็นวันที่สภามีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ในช่วงท้ายของการโหวต มีสมาชิกในสภาท่านหนึ่งล้มหมดสติไป และเมื่อฟังคำสัมภาษณ์ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือซึ่งเป็น สส. และ แพทย์ บอกว่าผู้ป่วยล้มหมดสติ มีอาการเกร็ง มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ต้อง CPR และจำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED: Automated External Defibrillator) เมื่อมีสัญญาณชีพจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ข้อมูลข้างต้นนี้ วิเคราะห์ได้ว่า เป็นไปได้ที่ ผู้ป่วยจะมีโรคหัวใจและหลอดเลือด จะเป็นอยู่แล้วหรือซ่อนอยู่ ทำให้หัวใจหยุดเต้น จากการมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ที่ต้องใช้เครื่อง AED กระตุก (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบ ventricular tachycardia หรือ ventricular fibrillation ซึ่งเป็นการเต้นของหัวใจห้องล่างแบบผิดจังหวะและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้)
แล้วใบหูมาเกี่ยวอะไรด้วย?
ด้วยความสนใจ เนื่องจาก สส. เป็นบุคคลสาธารณะ จึงอยากรู้ว่าผู้ป่วยเป็นใคร เคยมีเจ็บป่วยไม่สบายหรือไม่ ทำไมอายุไม่ถึง 50 ปี กลับมีอาการที่สงสัยโรคหัวใจและหลอดเลือด พอได้ดูภาพข่าวในอดีต หลาย ๆ ภาพ ใบหูสองข้างเหมือนมันมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไป (จริง ๆ แล้วรูปไม่ชัดมาก แต่ดูคล้าย ๆ) เราเห็นร่องบากแนวทะแยงที่ใบหูทั้งสองข้าง ซึ่งอยู่ตรงติ่งหู เอ… แล้วมันเกี่ยวอะไรนะ
ความผิดปกติของใบหูดังกล่าวคือ “รอยย่นที่ติ่งหู” หรือในภาษาอังกฤษคือ Diagnonal Earlobe Crease (DELC) เป็นรอยย่นหรือริ้วรอยร่องบากลึกที่ยื่นออกไปที่ติ่งหู (ดูตามรูปประกอบ) เรียกอีกอย่างว่า Frank's sign ซึ่งตั้งชื่อตาม คุณหมอ แซนเดอร์ส ที. แฟรงค์ ซึ่งเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความผิดปกตินี้ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและมีการอุดตันของหลอดเลือดแดง
An earlobe crease is a diagonal fold on the lobe. MagMos/Getty Images Reference: https://www.insider.com/guides/health/conditions-symptoms/earlobe-crease-cad-coronary-artery-disease
Reference: https://academic.oup.com/omcr/article/2021/9/omab089/6372553?login=false
การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าให้เห็นว่า รอยย่นที่ติ่งหู บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคหัวใจวาย มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวหยุดเต้น อย่างไรก็ตาม กลไกที่เชื่อมโยงระหว่างรอยย่นที่ติ่งหูกับโรคหลอดเลือดหัวใจ นั้นยังไม่ชัดเจนและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ รอยย่นดังกล่าวเกิดจากความเสื่อมของเส้นใยอีลาสตินในติ่งหู ซึ่งคล้ายกับกระบวนการที่ทำลายหลอดเลือดในโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือร่องบากนี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกันที่ทำให้คน ๆ นั้น มีความเสี่ยงทั้งรอยย่นที่ติ่งหูและโรคหลอดเลือด
รอยย่นที่ติ่งหูสามารถแบ่งตามลักษณะ ความยาว ความลึก แนวเอียง และจำนวนข้างที่เป็น การศึกษาวิจัยบางชิ้นพบว่ารอยย่นที่ติ่งหูที่ยาว ลึก เป็นสองข้างสัมพันธ์กับโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบเฉียบพลันที่รุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามบางการศึกษายังไม่ยืนยันความสัมพันธ์นี้ และบางคนพบว่ารอยย่นนี้ไม่ใช่ตัวทำนายที่ดีของโรคหลอดเลือดหัวใจในประชากรบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ
ดังนั้นแล้วรอยย่นที่ติ่งหู ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นสัญญาณเตือนที่เป็นไปได้ของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจที่อาจจำเป็นต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติม
เราลองมาสังเกต “รอยย่นที่ติ่งหู” ของคนรอบตัวกัน ถ้าใครมี แนะนำให้เขาเหล่านั้นไปตรวจสุขภาพ ไปหาหมอ เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในอนาคต
อ้างอิง
ปล. ข้อความนี้ ไม่ได้เป็นการเปิดเผยความลับผู้ป่วยแต่อย่างใด แต่เป็นเพื่อการเรียนรู้ ระแวดระวังโรคภัยไข้เจ็บ เตือนภัยคนรอบตัวและหันมาสนใจสุขภาพส่วนบุคคล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา