24 ส.ค. 2023 เวลา 04:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เยือน NASA Jet Propulsion Laboratory จากห้องควบคุม สู่โรงเก็บโรเวอร์ - ตอนที่ 1

จุดกำเนิดของการสำรวจอวกาศในสหรัฐฯ จากดาวเทียมดวงแรกที่ประสบความสำเร็จ สู่การส่งยานอวกาศไปลงจอดยังดาวอังคาร และยานอวกาศลำแรกที่เดินทางออกนอกระบบสุริยะ นี่คือศูนย์กลางที่มนุษย์เฝ้ามองจักรวาล นี่คือหน่วยงานวิจัยที่ตั้งอยู่ในหุบเขาชานเมืองแพซาดีนา สามสิบนาทีจากนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
วันนี้เราได้รับโอกาสในการเป็นสื่อไทยเจ้าแรกที่ได้เข้าไปในห้องควบคุมภารกิจ ห้องที่เราคุ้นเคยจากภาพบรรยากาศการลงจอดดาวบนอังคารของยานอวกาศลำแล้วลำเล่า ได้เปิดโรงเก็บโรเวอร์ แทบจะสัมผัสกับ Optimism ฝาแฝด Enginnering Model ของ Perseverance ที่ปัจจุบันกำลังทำงานอยู่บนดาวอังคาร
นี่คือการพาทัวร์ NASA Jet Propulsion Laboratory
สำหรับการเดินทางของเราในรอบนี้ เรายังได้มีโอกาสคุยกับดร.ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ของ JPL ที่เป็นหนึ่งในผู้พาเราเข้าชม ร่วมกับฝ่าย Media ของ JPL คือคุณ Mark Petrovich ที่ได้ให้โอกาสเราเข้าชมทุกซอกทุกมุมของสถานที่ที่เราคุ้นเคยกัน แต่อาจจะยังไม่เคยได้ไปเยื่ยมเยือนของจริง
ต้องเคลียร์กันก่อนว่า ในบทความนี้เราจะมีการพูดถึง Flight Model, Engineering Model, และ Replica
Flight Model คือยานอวกาศลำจริงที่จะถูกส่งไปยังอวกาศ ในขณะที่ Engineering Model คือยานอวกาศที่ถูกสร้างขึ้นมาแบบเหมือนจริง ขาดแต่อุปกรณ์บางชิ้นที่อันตรายหรือไม่จำเป็นเท่านั้น แต่เพื่อการทดสอบและวิจัย หรือเป็นตัวเก็บไว้บนโลกหากลำจริงมีปัญหา และ Replica คือแบบจำลองที่ทำขึ้นเลียนแบบของจริงเฉย ๆ
สำหรับประวัติที่มาของ JPL คงไม่ต้องกล่าวเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ในบทความ https://spaceth.co/jpl-history/
23 กรกฎาคม 2023 เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ น้ำหวาน พิรมล กำเนิดมณี เริ่มต้นการเดินทางจาก University of California Santa Cruz ลงใต้บนถนนทางหลวงสายแคลิฟอร์เนีย 101 เลียบชายฝั่งแปซิฟิกสู่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ เข้าสู่นครลอสแอนเจลิส ตัดเข้าสู่ชานเมืองแพซาดีนา
ป้ายที่โด่งดังของ JPL ปรากฎให้เห็นอยู่ตรงด้านหน้าทางเข้า JPL บริเวณหลังจุดตรวจ
ที่ตั้งของ JPL นั้นอยู่ข้างทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 210 บนถนนที่ชื่อว่า Oak Grove Drive ซึ่งตัดตรงเข้าสู่ JPL ด้านในจะมีการตั้งชื่อถนนตามชื่อที่เกี่ยวข้องกับโครงการอวกาศ เช่น DSN (Deep Space Network) Road, Exploror Road, Pioneer Road, และ Mariner Road เป็นต้น ซึ่งที่ตั้งโดยรวมจะอยู่บริเวณตีนเขาที่ตั้งขวางไว้ระหว่างความเขียวชะอุ่มของแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันตก กับพื้นที่ทะเลทรายตอนกลางของรัฐ
บัตรจอดรถของ JPL สำหรับจอดในบริเวณ Visitor Lot Parking
เราจอดรถบริเวณที่จอดสำหรับผู้มาเยือน (Visitor Parking) ในขั้นตอนนี้เราจะต้องผ่านด่านตรวจที่ค่อนข้างเข้มงวด จะต้องแสดงเอกสารหรืออีเมลว่าเรามีนัดหรือธุระเข้ามาติดต่อจริง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ยื่นบัตรจอดให้แขวนไว้บริเวณหน้ากระจก เราจึงจะมีสิทธิ์นำรถเข้ามาจอดและมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณต้อนรับ ก่อนที่เราจะเจอกับโฮสต์ ได้แก่ ดร.ปุณณทัศน์ และคุณ Petrovich ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลเรา
ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยื่นบัตรจอดรถให้แขวนไว้บริเวณหน้ากระจก ก่อนที่จะนำรถเข้ามาจอด และมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณต้อนรับ ก่อนที่เราจะเจอกับโฮสต์ของเราได้แก่ ดร.ปุณณทัศน์ และคุณ Petrovich ที่จะเป็นผู้ดูแลเรา โดยกฎสำคัญของที่นี่ก็คือ ห้ามถ่ายรูปหรือวิดีโอติดป้ายพนักงานเป็นอันขาด และเราอยู่ในสถานะถูกคุ้มกัน (Escort) โดยตลอดเวลา ไม่สามารถเดินไปไหนเองได้
อาคารอำนวยการหลักของ JPL ที่ตั้งอยู่เด่นชัดที่สุดในบริเวณทางเข้า
ที่ JPL นี้ ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ แต่บ่อยครั้งที่ JPL จะต้อนรับคณะทัวร์ที่มีการนัดหมายล่วงหน้าไว้ หรือจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน บริเวณแห่งนี้จึงมีลักษณะกึ่งปิดกึ่งเปิด และมีสถานที่เช่น โถงต้อนรับ ห้องประชุม และร้านขายของฝาก หรือพนักงานของ JPL เองนั้นก็สามารถพาสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนมาทัวร์ได้เช่นกัน แต่วันนี้เรามากันในฐานะ Media จึงต้องมีการเตรียมเอกสารและการตรวจสอบที่ค่อนข้างรัดกุม
หลังจากที่ลงทะเบียนตรวจเอกสารกันแล้ว คุณ Petrovich ก็แจกแจงรายการสถานที่ที่เราจะไปถ่ายทำกันในวันนี้ ได้แก่
  • JPL Museum และห้อง Von Karman Auditorium
  • Spacecraft Assembly Facility หรือห้อง Cleanroom ที่ใช้ประกอบยานอวกาศ
  • Space Flight Operations Facility และห้องควบคุม Charles Elachi Mission Control Center
  • Mars Yard ลานจำลองดาวอังคาร และโรงเก็บตัวโรเวอร์
รวมถึงบริเวณต่าง ๆ ที่เราเดินผ่าน ซึ่งภายใน Spacecraft Assembly Facility ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการประกอบยาน Europa Clipper ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ที่มีแผนปล่อยในปี 2024
ประวัติศาสตร์ของ JPL ผ่านต้นไม้และแผ่นป้ายของผู้ก่อตั้ง
เมื่อเดินออกจากบริเวณต้อนรับแขก สิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือต้นไม้ที่ด้านล่างมีแผ่นป้ายสลักชื่อของผู้ก่อตั้ง หากใครที่อ่านบทความที่เรากล่าวถึงข้างต้นกันไปแล้ว ก็น่าจะพอรู้ที่มาที่ไปของ JPL แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ถูกบอกเล่าโดยคนหลากหลายยุคหลากหลายสมัย แผ่นป้ายเดิมถูกจัดทำขึ้นในปี 1968 การจดบันทึกและลำดับความสำคัญตัวบุคคล ยังคงมีบริบททางประวัติศาสตร์ยุคนั้น
ภายหลัง (2023) จึงได้มีการจัดทำแผ่นป้ายอะคริลิกขึ้นมาแสดงรายชื่อของผู้ก่อตั้ง JPL ที่รวมถึงดร.เฉียน เสวียเซิน ที่ภายหลังถูกบีบให้ออกจากสหรัฐฯ และกลับสู่บ้านเกิดจนภายหลังกลายเป็นบิดาแห่งโครงการอวกาศจีน และ Weld Arnold ที่ในตอนนั้นเป็นนักศึกษาหนึ่งในผู้ให้ทุนสนับสนุนรายแรก ๆ ของ JPL ก็ได้ถูกนำกลับมาใส่อีกครั้ง
แผ่นป้าย Founder Plaque เดิม (สีเขียว) และแผ่นป้ายกระจกใหม่ที่ถูกติดตั้งเข้ามาเพื่อเป็นเกียรติและให้บริบททางประวัติศาสตร์
ในบริเวณโดยรอบนี้มีชื่อว่า JPL Mall ซึ่งเป็นเหมือนลานอเนกประสงค์ที่สามารถมาเดินเล่น รับประทานอาหาร (ในบริเวณนี้จะมี JPL Cafeteria หรือโรงอาหารอยู่ด้วย) เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนกลาง Common Area ให้กับทั้งพนักงานและผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม สิ่งที่ทำให้เราสะสุดตาก็คือ ป้ายบอกทางที่ไม่ได้บอกทางใน JPL แต่ชี้ไปยังเทหวัตถุบนท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ระบบดาวฤกษ์อื่น ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือยานอวกาศต่าง ๆ
ป้ายบอกทางที่แสดงทิศทางไปยังยานอวกาศ Voyager 1
ซึ่งป้ายเหล่านี้มีกลไกที่สามารถขยับชี้ไปยังบริเวณจุดพิกัดในทรงกลมท้องฟ้าที่วัตถุเหล่านั้นอยู่จริง ๆ ได้ เป็นสัมผัสของความเนิร์ดแรกที่เราจะเห็นเมื่อเข้ามาเยือน JPL ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันแสดงถึงความอินในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ได้แค่เป็นหน่วยงานที่ทำงานไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความขี้เล่น อยากทำ
อาคารที่เป็นที่ตั้งของ Von Karman Museum และ Auditorium
เราเดินเข้าสู่ JPL Museum และ Von Karman Auditorium ซึ่งอยู่ในอาคารเตี้ย ๆ ไม่ไกลจากโถงต้อนรับมากนัก ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นมิวเซียม จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศ แบบจำลองยานอวกาศต่าง ๆ และแสดงเรื่องราวของ JPL ว่ามีบทบาทในการสำรวจอวกาศตั้งแต่ดวงอาทิตย์ไปจนถึงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้อย่างไรบ้าง ในขณะที่ห้อง Von Karman Auditorium นั้นก็เป็นห้องที่มีประวัติศาสตร์อันยานนานและผ่านเหตุการณ์สำคัญมามากมาย
Von Karman Museum และ Auditorium
Von Karman นั้นก็ตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวฮังการี Theodore von Karman ที่ในยุคของการก่อตั้ง JPL เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Caltech และถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง JPL โดยชื่อของ Von Karman นั้นเราจะได้ยินกันบ่อยจากเส้น Karman Line ซึ่งเป็นเส้นที่ถูกขีดขึ้นเพื่อแบ่งระหว่างโลกและอวกาศที่ความสูง 100 กิโลเมตรนั่นเอง
น้ำหวาน กับ Engineering Model ของ Explorer 1 ดาวเทียมดวงแรงของสหรัฐฯ
เมื่อเดินเข้ามาสิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือโมเดลจำลอง (Replica) ของจรวดและดาวเทียม Explorer 1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐฯ หลังจากที่กองทัพอากาศประสบความล้มเหลวในการส่งดาวเทียม Vanguard ไปยังอวกาศ จน JPL ได้เข้ามาช่วยเหลือในการส่งดาวเทียม Explorer 1 สำเร็จ ท่ามกลางความตึงเครียดในยุคสงครามเย็น โดย Engineering Model ของ Explorer 1 (ซึ่งเป็นตัวสำรองด้วยหากตัวจริงเกิดข้อผิดพลาด) ได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่นี่ด้วย
หลังจากนั้นเราก็ได้เข้ามาในห้อง Von Karman Auditorium ซึ่งห้องนี้ บุคคลสำคัญอย่าง Carl Sagan, Charles Elachi, หรือ Edward Stone เคยขึ้นเวทีแถลงข่าวสำคัญ ๆ หลายครั้ง
เวลาที่มีแถลงข่าวภารกิจปัจจุบัน ใครที่ติดตามข่าวสารก็น่าจะคุ้นเคยกับห้องนี้กันดี การได้เข้ามาอยู่ในห้องนี้จึงนับว่าน่าตื่นเต้นมาก เป็นห้องประชุมที่เล็ก และจุคนได้เพียงแค่หลักร้อยคนเท่านั้น แต่นับว่าเป็นอีกหนึ่งห้องประชุมเปลี่ยนโลกอีกห้องหนึ่งของโลกใบนี้ก็ว่าได้ โดยรอบข้างจะมีการตกแต่งไปด้วยโมเดลจำลองของยานอวกาศต่าง ๆ เช่น ยาน Voyager อัตราส่วน 1:1 พร้อมด้วยแผ่นเสียงทองคำจำลอง
น้ำหวานกับแผ่นเสียงทองคำที่ถูกเก็บไว้ที่โลก ในขณะที่อีกสองแผ่นอื่นถูกส่งไปกับยาน Voyager 2 และ Voyager 1 ตามลำดับ
เราเคยเล่าเรื่องของแผ่นเสียงทองคำไว้ในบทความ https://spaceth.co/voyager-thai-voice/ ซึ่งก็ได้มีเสียงภาษาไทยถูกบันทึกลงไปไว้ด้วย
เราเดินกลับออกมาบริเวณประตูทางเข้าห้อง Von Karman Auditorium อีกด้านก็จะเป็นโซนจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศ สาเหตุที่ออกแบบมาแบบนี้ก็เพราะว่าหากมีการจัดกิจกรรมในห้อง Von Karman Auditorium นักเรียนหรือเด็ก ๆ ก็จะสามารถเข้าชมนิทรรศการด้านข้างได้ด้วย ซึ่งภายในก็จะเรียงตามลำดับ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ไปจนถึงนอกระบบสุริยะ
โมเดลจำลองยาน Mars Exploration Rover คือ Spirit หรือ Opportunity และ Sojourner ขนาดเท่าของจริง
โดยภายในห้องนี้สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือยาน Galileo ยานสำรวจดาวพฤหัสบดีที่ถูกปล่อยไปในปี 1989 พร้อมกับเสาอากาศที่กางไม่สุด ที่เราเคยเล่าไว้ในบทความ https://spaceth.co/galileo_spacecarft-broken/ ที่สุดท้ายทาง JPL ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้เสาอากาศขนาดเล็กแทน แม้จะมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่น้อยกว่าแต่ก็ทำให้ไม่ต้องเสียยานอวกาศลำนี้ไป
เราอาจจะไม่ได้ใช้เวลาในห้องนิทรรศการแห่งนี้มากนัก เพราะของจริงรออยู่ที่ด้านหน้า หลังจากที่ถ่ายทำเรียบร้อยก็แจ้งคุณ Petrovich ให้พาไปยังเป้าหมายต่อไปของการทัวร์ในรอบนี้ซึ่งก็คือ Spacecraft Assembly Facility หรือห้องสำหรับประกอบยานอวกาศ หรือที่เรามักจะเรียกกันชินปากว่าห้อง Cleanroom นั่นเอง
อาคาร Spacecraft Assembly Facility ของ JPL นั้นอยู่ห่างออกไปพอสมควรจากบริเวณโถงต้อนรับ ในการเดินทางเราจำเป็นต้องนั่งรถกอล์ฟไป ซึ่งคนที่ขับรถให้เราก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นคุณ Petrovich นั่นเอง
บริเวณภายใน JPL นั้นกว้างมาก ๆ การเดินทางจึงจำเป็นต้องใช้รถเป็นหลัก
ซึ่งก็ทำให้เราได้เห็นบริเวณอาคารอื่น ๆ โดยรอบ ที่เรารู้สึกว่าเหมือนเป็นมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษามากกว่าการเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอวกาศ คือมีอาคารต่าง ๆ เรียงรายกัน ด้านหน้าอาคารก็จะมีรถจอดอยู่
Spacecraft Assembly Facility
หลังจากที่เดินทางประมาณ 2 นาทีเราก็ได้มาถึงด้านหน้าของอาคาร Spacecraft Assembly Facility ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่สูงหลายชั้น
ทางเข้าของ Spacecraft Assembly Facility
เราได้เดินขึ้นไปผ่านทางเดินแคบ ๆ เพื่อไปยังบริเวณที่เราจะสามารถมองลงมาแล้วเห็นยานอวกาศที่กำลังประกอบอยู่ในห้อง Cleanroom ได้ ระหว่างทางเดินขึ้นก็ไม่วายพบกับภาพเขียนสีเทียนในตำนานได้ถูกแขวนอยู่ที่ Spacecraft Assembly Facility แห่งนี้ นั่นก็คือภาพ First TV Image ของดาวอังคาร ซึ่งเราเคยเล่าไว้ในบทความ https://spaceth.co/mars-first-image-pastel/
ซึ่งภาพนี้นั้นเกิดจากการที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอดใจรอการประมวลผลของคอมพิวเตอร์หลังจากที่ยาน Mariner 4 ได้ถ่ายภาพระยะใกล้ภาพแรกของดาวอังคารในปี 1965 และส่งกลับมายังโลก
ภาพวาดในตำนานที่ถูกแขวนอยู่ระหว่างทางเดินเข้า Spacecraft Assembly Facility
สุดท้ายภาพถ่ายภาพแรกของดาวอังคารในระยะใกล้จึงเป็นภาพที่ถูก Decode ด้วยมือโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ JPL ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะประมวลผลเสร็จและพบว่าภาพที่พวกเขา Decode ด้วยมือนั้นมีความใกล้เคียงกับภาพถ่ายจริง ๆ มาก แสดงถึงความบ้าและความเนิร์ดในการสำรวจอวกาศ
และแล้วหลังจากเดินทางผ่านโถงแคบ ๆ เราก็เดินทางมาถึงประตูที่เปิดอ้ารอให้เราได้เห็นกับจุดกำเนิดของยานอวกาศลำแล้วลำเล่าที่กำลังสำรวจอวกาศอยู่ตอนนี้
ประตูทางเข้าไปยังส่วนชม Spacecraft Assembly Facility
ในห้องนี้นั้นเคยถูกใช้ในการประกอบยานอวกาศมาหลากหลายลำ และใครที่เคยได้มาเยี่ยมเยือนในช่วงต่าง ๆ ก็จะได้เห็นยานอวกาศในระหว่างการประกอบที่แตกต่างออกไป ใครที่มาในปี 2010 ก็อาจจะได้เห็น Curiosity ใครที่มาช่วงปี 2016 ก็อาจจะได้เห็น Mars 2020 (Perseverance) ส่วนเราที่มาในปี 2023 ก็จะได้เห็นยาน Europa Clipper
มองการประกอบยาน EuropaClipper ผ่านกระจกในระยะที่ใกล้มาก ๆ
และด้านหน้าของเรานั้นก็คือยาน Europa Clipper ที่กำลังประกอบอยู่นั่นเอง อีก 20 ปีหลังจากนี้ยานอวกาศลำนี้จะกลายเป็นยานอวกาศที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยไขปริศนาชีวิตในระบบสุริยะ หรืออาจค้นพบจุลชีพแรกนอกโลกของเราก็เป็นได้
High-Gain Antenna ของยาน EuropaClipper
ภายใน Cleanroom จะมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจน สามารถประกอบยานอวกาศพร้อมกันได้หลายลำ หรือกั้นโซนสำหรับประกอบอุปกรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ในอีกมุมหนึ่งของห้องเราจะเห็น High-Gain Antenna ของ Europa Clipper ซึ่งเป็นจานรับส่งสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร วางอยู่รอการประกอบ
Europa Clipper จะนับว่าเป็นยานอวกาศของ NASA ที่หนักที่สุดที่เคยถูกส่งไปยังวงโคจรของดาวพฤหัสบดี โดยมีมวลกว่า 3,250 กิโลกรัม เป็นรองเพียงแค่ยาน JUICE ของ ESA ที่มีมวล 3,600 กิโลกรัม ที่จะเดินทางไปยังวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเช่นเดียวกัน
ห้อง Cleanroom ของ JPL ภาพกว้าง
หากว่ากันตามขนาดแล้ว Cleanroom ของ JPL มีขนาดไม่ได้ใหญ่มากนัก เป็นห้องสูง 14 เมตร และมีความกว้างและยาวประมาณ 21 เมตร เป็น Cleanroom Class 10,000 (หมายความว่าทุก ๆ 1 ลูกบาศก์ฟุตจะมีอนุภาคฝุ่นขนาด 0.5 ไมครอนได้ไม่เกิน 10,000 อนุภาค ยิ่งตัวเลขน้อยแปลว่าห้องยิ่งสะอาด) ซึ่งห้องนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี 2002 เพื่อรองรับภารกิจการสำรวจอวกาศที่มากขึ้นของ JPL
1
หลังจากที่ได้ชม Europa Clipper อย่างจุใจแล้ว (และถ้าหากยังไม่จุใจทาง JPL มีถ่ายทอดสดบรรยากาศในห้อง Spacecraft Assembly Facility ให้ได้ชมกันใน https://www.youtube.com/live/yk0X3Sh2gIE?si=7efMZadHCAHTRMBq เราได้เดินทางไปต่อที่ Mars Yard และโรงเก็บโรเวอร์
เดี๋ยวในตอนที่ 2 จะพาทุกคนไปเยือน Space Flight Operations Facility ห้องควบคุม Charles Elachi Mission Control Center และ Mars Yard ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบและมีโรงเก็บของเหล่า Rover
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
โฆษณา