เยือน NASA Jet Propulsion Laboratory จากห้องควบคุม สู่โรงเก็บโรเวอร์ - ตอนที่ 2
Mars Yard และ Engineering Model ยานสำรวจดาวอังคาร
เราเดินทางกลับขึ้นรถก่อนที่จะมันจะพาเราขึ้นเขาไปเป็นเวลาประมาณ 4 นาที เพื่อไปยังบริเวณที่เรียกว่า Mars Yard ซึ่งเป็นลานกว้างที่จำลองดาวอังคาร เพื่อทดสอบยานอวกาศให้ได้มาลองปีน วิ่ง และเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของโรงเก็บที่ใช้เก็บยานอวกาศที่เป็น Engineering Model ของยานอวกาศโรเวอร์สองลำที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคารได้แก่ Curiosity และ Perseverance
เติ้ลและน้ำหวาน ขณะที่กำลังนั่งรถขึ้นเขาไปยัง Mars Yard
โดยเราจะขอเล่าเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คือ ยาน Engineering Model ของ Perseverance นั้นตั้งชื่อว่า OPTIMISM ซึ่งย่อมาจาก Operational Perseverance Twin for Integration of Mechanisms and Instruments Sent to Mars พร้อมกับ Engineering Model ของ Curiosity ที่ชื่อว่า MAGGIE ที่ย่อมาจาก Mars Automated Giant Gizmo for Integrated Engineering (ทั้งคู่จะฝืนไปไหน) ซึ่งเรากำลังจะได้ไปเจอในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
Mars Yard ลานสำหรับทดสอบยานสำรวจดาวอังคาร
เราเดินเข้าสู่บริเวณ Mars Yard เพื่อพบกับภาพที่คุ้นเคยตามสารคดีและคลิปฟุตเทจต่าง ๆ ของ JPL โดยเฉพาะการทดสอบตัว OPTIMISM สำหรับภารกิจ Mars 2020 โดยเนินเขาด้านขวามือของภาพ ก็คือเนินที่วิศวกรให้ยานได้มาลองปีนเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือในปัจจุบัน หากโรเวอร์เกิดปัญหาบนดาวอังคาร วิศวกรก็จะจำลองสถานการณ์บน Mars Yard แห่งนี้เพื่อระดมสมองช่วยกันแก้ปัญหาว่าจะต้องส่งคำสั่งไปยังตัวโรเวอร์อย่างไร
หลังจากที่บอกลา OPTIMISM และ MAGGIE เรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยัง Charles Elachi Mission Control Center ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเพราะเป็นศูนย์ควบคุมหลักของภารกิจสำรวจอวกาศโดย JPL
Charles Elachi Mission Control Center
Charles Elachi เป็นผู้อำนวยการ JPL ในช่วงปี 2001-2016 ต่อจาก Edward Stone หลังจากที่ร่วมงานกับ JPL มาตั้งแต่ยุค 70s และมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางของ JPL และทิศทางการสำรวจอวกาศปัจจุบัน ชื่อของเขาได้รับการนำมาตั้งเป็นชื่อของ Mission Control Center
Mission Control Center อยู่ภายใน Space Flight Operations Facility เป็นอีกหนึ่งอาคารขนาดใหญ่สูงหลายชั้น มีโครงสร้างที่ค่อนข้างดูเก่าและขลัง และในปี 1985 ยังได้รับการจดทะเบียนให้เป็นหนึ่งใน National Historic Landmark of the United States of America โดย Department of the Interior ด้วย
ด้านหน้าของอาคาร Spaceflight Operation Facility
และเมื่อเดินเข้าข้างใน Space Flight Operations Facility นี้เองก็ได้เป็นที่ตั้งของ ป้าย JPL อันโด่งดัง ที่ใครเห็นก็ต้องมาถ่ายรูปกันตรงนี้ ซึ่งแม้อาคารด้านหน้าจะดูเก่า แต่ภายในตกแต่งอย่างล้ำสมัย มีจอ LED แสดงภาพต่าง ๆ ที่รู้สึกว่าสมกับเห็นหน่วยงานด้านอวกาศที่ล้ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และดูเหมือนเซ็ตในฉากภาพยนตร์เรื่อง The Martian มาก
หากใครที่สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าภายใน Mission Control Center จะถูกแบ่งออกเป็นห้องย่อยอีก 2 ห้องได้แก่ บริเวณห้องด้านหลังจอที่แสดง Deep Space Network กับ บริเวณด้านซ้ายมือที่มีธงชาติสหรัฐฯ แขวนอยู่ ห้องนั้นคือห้องที่ถูกใช้ในการทำ EDL หรือ Entry Descent and Landing สำหรับภารกิจสำรวจดาวอังคาร หรือภารกิจ Cassini Grand Finale
เราได้ลงไปยังพื้นล่างของห้อง Mission Control Center ซึ่งโชคดีที่เราไปในเวลาที่ยังไม่มีภารกิจหรืองานสำคัญ จึงสามารถเดินถ่ายบรรยากาศโดยรอบได้อย่างอิสระ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งคอยนั่งดูสถานะต่าง ๆ ของยานอวกาศเพียงเท่านั้น ซึ่งในห้องนี้ ก็จะเป็นห้องที่ใช้ควบคุมการติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศผ่านระบบ Deep Space Network (DSN) ด้วย อ่านเรื่อง Deep Space Network ได้ที่ https://spaceth.co/deep-space-network/
ภาพบนหน้าจอด้านบนแสดงสถานะของ Deep Space Network ผ่านโปรแกรม DSN Now และแสดงสถานะของยานอวกาศผ่านโปรแกรม NASA’s Eye on Solar System
ป้าย The Center of the Universe ณ ห้อง Charles Elachi Mission Control Center
และสุดท้ายที่เราอยากชี้ให้ดูก่อนออกจาก Charles Elachi Mission Control Center ก็คือแผ่นป้ายที่พื้น ที่เขียนไว้ว่า The Center of the Universe และ Dare Mighty Things ซึ่งเป็นคำขวัญของ JPL นั่นเอง เพราะถ้าจะพูดถึงภารกิจการสำรวจอวกาศที่มุ่งหน้าไปยังทิศทางต่าง ๆ บนฟากฟ้าแล้ว ที่แห่งนี้ ก็นับว่าเป็นจุดกึ่งกลาง และจุดเริ่มต้นของภารกิจเหล่านี้จริง ๆ
NASA Jet Propulsion Laboratory เป็นเหมือนสถานที่พิเศษที่หนึ่งบนโลกที่สะท้อนสายเลือดของนักสำรวจอวกาศ ทุกคนที่นี่ดูเนิร์ดและมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ โดยเฉพาะการได้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันมนุษยชาติไปข้างหน้า
ป้ายประกาศเกียรติคุณโดยผู้อำนวยการ NASA ในตอนนั้น คือ James Fletcher ปี 1972 ในช่วงหลังจากที่โครงการ Apollo และความนิยมของ NASA พุ่งไปถึงขีดสุด ในตอนนั้นเป็นสมัยของประธานาธิบดี Richard Nixon โดย Fletcher ขึ้นตรงต่อ Nixon
นอกจากนี้เราจะยังได้เห็น Element ของความสนุกสนาน การทำอะไรแปลก ๆ สร้างสรรค์ตามความชอบ เช่น ป้ายบอกทางไปยังยานอวกาศที่เราชี้ให้ดูในตอนแรก (อยุ่ในตอนที่ 1) และในภาพนี้ที่เราเก็บมาให้ชม ก็คือไฟเส้น LED ที่แสดงสถานะบอกว่าตอนนี้ระบบ Deep Space Network กำลังติดต่อสื่อสารกับยานอวกาศอะไรอยู่ Uplink หรือ Downlink ด้วยปริมาณของข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
ไฟเส้น LED ที่แสดงว่าตอนนี้ระบบ Deep Space Network กำลังสื่อสารกับยานอวกาศอะไรอยู่ ในที่นี้ตัวอักษรที่ปรากฎก็คือกำลังส่งข้อมูลขึ้นไปยังยานอวกาศ Voyager 1
เราเชื่อว่าในอนาคตเราจะได้พาทุกคนเดินทางไปยังสถานที่ที่เต็มไปด้วยดีเอ็นเอแห่งการสำรวจอวกาศแบบนี้อีก สำหรับในรอบนี้ขอขอบคุณทีม Media ของ JPL และคุณ Mark Petrovich รวมถึงทีมวิศวกรที่เราไปรบกวนระหว่างการถ่ายทำในครั้งนี้ และที่ขาดไม่ได้คือ ดร.ปุณณทัศน์ บดีนิธิเกษม ที่เป็นผู้ชี้ช่องทางสำหรับการได้เข้ามาถ่ายทำในรอบนี้