3 ต.ค. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคทั่วโลก คือ วิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ

วิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ อย่างการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคทั่วโลก คือ Topic ที่เราจะมาบอกเล่ากันในครั้งนี้
ปัจจุบันโลกเรานั้นกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การเมืองโลก และการเงิน ซึ่งก็ได้รับความสนใจและมีการค่อยเฝ้าติดตามมากมายจากนักลงทุน
แต่มีอยู่อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่นัก มันเองก็กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อโลกเราอย่างเงียบๆ ปัญหาที่ว่านี้ ก็คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค
เพื่อนๆหรือนักลงทุนหลายคน อาจคุ้นเคยกับการใช้น้ำประปาหรือน้ำดื่มที่จัดหาได้ง่าย
แต่รู้หรือไม่ว่าจากการสำรวจขององค์กร UNESCO พวกเขาพบว่า 26% ของประชากรโลกเราทั้งหมด หรือประมาณ 2 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงบริการการจัดการเกี่ยวกับน้ำดื่มที่ง่ายดายแบบนี้ได้
และอีก 46% หรือประมาณ 3.6 พันล้านคนทั่วโลก พวกเขายังขาดการเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่ปลอคภัย
แต่ทำไมปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคนี้ ถึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะเมื่อเรามาดูข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องนี้จากทางองค์กร UNESCO แล้ว
ไม่เพียงแต่ปัญหาการจัดการเกี่ยวกับน้ำดื่ม และระบบสุขาภิบาลที่ปลอคภัยเท่านั้น
แต่กว่า 85% ของแหล่งพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติทั่วโลกที่เราค้นพบนั้นได้หายไปแล้ว แสดงว่าแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เรามีอยู่นั้นกำลังลดลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดีทางองค์กร UNESCO ได้บอกว่า 60% ของแหล่งน้ำตามธรรมชาติของโลกเราที่เหลืออยู่นั้นมีคุณภาพน้ำที่ดี
แต่ถึงกระนั้นเองด้วยปัญหาโลกรวนหรือ Climate change ทำให้กว่า 75% ของพื้นดินของโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บและรองรับน้ำที่ยั่งยืนของโลกเราลดน้อยลง
ขณะเดียวกันในด้านความต้องการน้ำของโลกเรานั้นมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาความต้องการน้ำของโลกเราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1% ทุกปี โดยสาเหตุก็มาจากหลายสิ่งหลายอย่างแต่หลักๆ มีดังนี้
อย่างภาคเกษตรกรรม ที่มีการใช้ปริมาณน้ำจืด "มากที่สุด" โดยกว่า 72% ของน้ำจืดที่โลกเรามีอยู่หมดไปกับการเกษตร
รองลงมาก็คือ ภาคอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ พลังงาน การผลิตอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ยา และเหมืองแร่ รวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ 19% ของการใช้น้ำจืดที่โลกเรามีอยู่
โดยภูมิภาคที่มีการพึ่งพาน้ำจืดในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ก็คือ ยุโรปและเอเชีย ซึ่งคิดเป็น 49% และ 47% ตามลำดับ
และโดยเฉพาะเอเชียที่มีการประเมินจากองค์กร UNESCO ว่าพวกเขาอาจกำลังเผชิญกับแรงกดดัน จากการพึ่งพาน้ำจืดในระดับที่สูงได้ในทศวรรษข้างหน้า
ถึงแม้ว่าโลกเราจะมีการใช้น้ำจืดในปริมาณที่มาก แต่เมื่อกลับมามองเรื่องการบำบัดน้ำแล้วนั้นก็บอกได้เลยว่า "น่าผิดหวัง"
เพราะมากกว่า 80% ของน้ำเสียทั่วโลกถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับการบำบัดใดๆเลย ทั้งๆที่แหล่งน้ำคุณภาพดีของโลกเรานั้นเหลือน้อยลงแล้วแท้ๆ
องค์กร UNESCO ยังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงปี 2000 ถึง 2019
พบว่า "ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ" ที่ตามมานั้นมีมูลค่าประมาณกว่า 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 1.65 พันล้านคน
ข้อมูลยังบอกอีกว่ากว่า 153 ประเทศทั่วโลก มีแอ่งแม่น้ำและทะเลสาบข้ามพรมแดน 286 แห่ง และระบบชั้นหินอุ้มน้ำข้ามพรมแดน 592 แห่ง
แต่กลับมีเพียง 58% ของพื้นที่ลุ่มน้ำเท่านั้นที่มีการจัดการปฏิบัติการสำหรับความร่วมมือด้านน้ำ หมายความว่า ยังไม่มีการร่วมมือเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำระหว่างประเทศเท่าที่ควรนั่นเอง
หากว่าเรายังไม่มีการวางแผนจัดการน้ำที่ดีมากกว่านี้ ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยในอนาคต
ในทางกลับกัน ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนอีก 1.43 พันล้านคน โดยมูลค่าความเสียหายอยู่ที่เกือบ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป โลกของเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคอย่าง "หลีกเลี่ยงไม่ได้" ในทศวรรษข้างหน้า
โดยมี "ตัวเร่ง" อย่างความต้องการน้ำในเมืองทั่วโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 80% และส่งผลกระทบกับประชากรเมืองกว่า 1.7 ถึง 2.4 พันล้านคน ภายในปี 2050
และองค์กร UNESCO ยังได้ประเมินความสูญเสียต่อ GDP ไว้ที่ประมาณ 6% ในบางประเทศที่เกิดการขาดแคลนน้ำ ซึ่งมันยังกระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นของประชากร และความขัดแย้งภายในประเทศได้อีกด้วย
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วน ในช่วงเวลาหนึ่งมานำเสนอเท่านั้น
โดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำ และโอกาสการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด ได้ด้วยตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา