21 ก.ย. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed หลังจากนี้ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการแก้เงินเฟ้อ

ตามหัวข้อเลย ครั้งนี้เราจะมาชวนคิดวิเคราะห์กันว่าทำไมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed หลังจากนี้ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการแก้เงินเฟ้อ
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นวิธีพื้นฐานที่เหล่าธนาคารกลางทั่วโลกใช้เพื่อปราบเงินเฟ้อ และมันก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีมาโดยตลอด
คำถามที่จะมาชวนให้คิดกันก็คือ แล้วหลังจากนี้วิธีนี้มันจะยังได้ผลและเป็นวิธีที่ดีอยู่ใช่หรือไม่ในอนาคต
คำตอบก็คือ ใช่! วิธีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อจะยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลเสมอ แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีเสมอไปในบางกรณี
บางกรณีที่ว่านี้ นั่นคือ กรณีที่ประเทศนั้นมีการขาดดุลการคลังที่สูง หรือมีหนี้สาธารณะสูงกว่า GDP ของประเทศ
  • ลองมาดูตัวอย่างของสหรัฐฯกัน
อย่างที่หลายคนรู้ว่าในสหรัฐฯ ตอนนี้ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากทาง Fed เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อลดลง
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 5.25% ถึง 5.50 % ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูง แต่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับไม่ได้แย่อะไรมากอย่างที่คิด
ตามรายงานจากการประชุม Jackson Hole ครั้งล่าสุด คำพูดของประธาน Fed อย่างคุณเจอโรม โพเวลล์ เขาแสดงท่าทีให้เห็นว่า Fed ค่อนข้างให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่าง PCE เป็นพิเศษโดยเฉพาะตัว Core ทั้งหลาย มากกว่าตัวชี้วัดปกติอย่าง CPI
Core PCE นั้นเป็นดัชนีที่ใช้ชี้วัดราคาจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน
ในช่วงการประชุม Jackson Hole CPI จะอยู่ที่ 3.20 และ Core PCE อยู่ที่ 4.10 ซึ่งก็ยังถือว่าสูง แสดงว่าราคาสินค้าและบริการพื้นฐาน ที่ไม่รวมอาหารและพลังงานยังคงสูงอยู่
ทำให้ในช่วงใกล้จบการประชุม Jackson Hole คุณเจอโรม โพเวลล์ ก็ได้พูดประมาณว่า Fed ขอดูตัวเลขอย่างอื่นอีกทีแล้ว Fed ค่อยตัดสินใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อหรือไม่
ซึ่งท่าทีก็ไม่ต่างอะไรกับ FOMC ในครั้งล่าสุด ที่แม้ CPI จะมีการดีดขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% และ CORE PCE ดีดขึ้นมาอยู่ที่ 4.24% โดยมีต้นเหตุมาจากราคาพลังงาน
แต่คุณเจอโรม โพเวลล์ ก็พูดประมาณว่า Fed จะขอดูตัวเลขอย่างอื่นอีกทีแล้ว Fed ค่อยตัดสินใจว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อหรือไม่
ตามที่อธิบาย Fed ไม่ได้ปิดโอกาสว่าพวกเขาจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก แม้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันจะอยู่สูงกว่า ทั้งตัว CPI และ Core PCE ก็ตาม
กลับมาเข้าประเด็นหลักครั้งนี้ที่ว่า ทำไมการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed หลังจากนี้ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการแก้เงินเฟ้อ ในกรณีที่ประเทศนั้นมีการขาดดุลการคลังที่สูง หรือมีหนี้สาธารณะสูงกว่า GDP ของประเทศ
จากการประชุม Jackson Hole และ FOMC ครั้งล่าสุด ทำให้เราได้รู้ว่า Fed ยังคงคิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นยังคงแย่ไม่พอ ต่อการกดดันเงินเฟ้อให้ลงไปตามเป้าหมายที่ 2.00%
แต่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้จะเป็นวิธีที่ดีจริงหรือ เราลองมาดูสิ่งนี้กัน
แผนภูมินี้แสดงให้เห็นว่า แม้การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯจะมีการปรับตัวลดลงจากช่วงโรคระบาด Covid-19 แล้วก็ตาม แต่มันก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอยู่ดี
จุดที่ย้อนแย้งและชวนให้คิดมันอยู่ตรงนี้ โดยทั่วไปแล้วการขาดดุลการคลัง มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ เพราะต้องมีการเอาเงินมาอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จึงอาจทำให้เกิดการขาดดุลการคลังได้ อย่างที่เกิดในช่วงโรคระบาด Covid-19 นั่นเอง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นแย่มากรึป่าว คำตอบคือ ก็ไม่ได้แย่อะไรมากเพราะถ้ามันแย่มากๆ ปัญหาเงินเฟ้อคงคลี่คลายไปแล้วจริงมั้ย?
แสดงว่ากระทรวงการคลังของสหรัฐฯต้องมีการใช้จ่ายที่มาก แม้จะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ได้แย่อะไร และมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงก็ตาม
ซึ่งโดยตามหลักแล้วในการที่จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด นโนบายการคลังและนโนบายการเงินควรที่จะสอดคล้องกัน
กล่าวคือ การคลังของพวกเขาควรที่จะลดการใช้จ่าย หากต้องการทำให้เงินเฟ้อลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาทำสิ่งที่มันสวนทางกันเลย ก็คือ นโนบายการเงินตึงตัวแต่การคลังกลับใช้จ่ายมากขึ้น
แล้วถ้าหาก Fed ทำการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป กดดันให้เศรษฐกิจแย่เพื่อที่จะทำให้เงินเฟ้อไปอยู่ที่เป้าหมาย 2.00% ให้ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯกัน
แน่นอนว่าดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นจะต้องเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ อย่าง "แน่นอน"
แล้วพวกเขาหารายได้เพิ่มขึ้นรึป่าว คำตอบคือ ไม่ หากเราไปดูแผนภูมิก่อนหน้านี้
กล่าวคือ หนี้ที่ต้องจ่ายก็เพิ่มขึ้น แต่กลับหาเงินเพิ่มไม่ได้ เพราะในช่วงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูง ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจพวกเขาต่างก็มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายมากขึ้นเหมือนกัน
ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงหลักของรัฐบาลอย่างการเก็บภาษีก็เก็บได้น้อยลงเช่นกัน
ในแผนภูมิแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดี ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีการเก็บภาษีได้น้อยลงจริงในช่วงนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง
อธิบายมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆหรือนักลงทุนบางคนอาจสงสัยว่า อ้าวแล้วการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ มันไปเกี่ยวข้องอะไรกับเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายกัน
เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ความเกี่ยวข้องที่ซ้ำซ้อนระหว่างการขาดดุลการคลังสหรัฐฯกับเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะสามารถอธิบายหัวข้อที่พวกเราคิดวิเคราะห์กันในครั้งนี้ได้
เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น Fed ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเงินเฟ้อไปด้วย แต่ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บภาษีได้น้อยลงในทางกลับกันก็ต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย
ก็จริงที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสามารถทำให้เงินเฟ้อลดลงได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมีสาเหตุ "ส่วนหนึง" มาจากการขาดดุลของการคลัง การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรอ?
เพื่อนๆหรือนักลงทุนหน้าใหม่หลายคน อาจจะยังไม่ทราบว่าการขาดดุลการคลังก็เป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้เช่นกัน
เพราะเมื่อเกิดการขาดดุลการคลังแสดงว่า รัฐบาลหารายได้ไม่ทันรายจ่ายของตน จึงนำไปสู่วิธียืมเงินในอนาคตมาใช้ อย่างการออกพันธบัตรรัฐบาลขายนักลงทุน
การหาเงินด้วยวิธีนี้ของสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงถึง 122.8 %
เพราะแม้การออกพันธบัตรรัฐบาลจะทำให้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ มีเงินไว้ใช้จ่าย
แต่ในทางกลับกัน มันก็เหมือนการเพิ่มหนี้ที่ต้องจ่ายในระบบด้วย เนื่องจากต้องจ่ายปันผลให้นักลงทุนที่มาซื้อพันธบัตร และมันยังเพิ่มปริมาณเงินในระบบขึ้นมาอีกด้วย
ลองนึกภาพตามนะ ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่สูง แล้วรัฐบาลต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น แต่กลับหาเงินได้น้อยลง รัฐบาลสหรัฐฯ เลยออกพันธบัตรรัฐบาลขายเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย
กล่าวคือ ปริมาณเงินในระบบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง จึงเป็นการยากที่จะนำเงินนั้นไปสร้างกระแสเงินใหม่ให้ได้พอมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหนี้ที่สร้างขึ้น
ทำให้กลายเป็นว่าเงินที่ได้มานั้น อาจทำได้เพียงแค่นำมา "หมุนเงิน" เท่านั้น
ปริมาณเงินในระบบที่เกิดขึ้นมา แต่กลับนำไปสร้างเงินใหม่ไม่ได้ ปริมาณเงินที่เยอะขึ้นก็ทำให้เงิน "ด้อยค่า" ไปตามธรรมชาตินั่นเอง เลยเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการขาดดุลการคลังอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อได้
และถ้าหาก Fed ยังจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ปัญหาลักษณะเหมือนงูกินหางตนเองแบบที่กล่าวมานี้ ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก การคลังก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นอีก ก็ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นอีก รัฐบาลก็ต้องยืมเงินในอนาคตมาใช้อีก ปริมาณเงินในระบบก็เพิ่มอีก
ท้ายที่สุดเงินมันก็ "ด้อยค่า" แล้วก็กลายเป็น "รากฐานให้กับเงินเฟ้อ" อีกในอนาคตต่อไป หน้ำซ้ำยังเพิ่มหนี้สาธารณะให้สหรัฐฯ อีกด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและงบประมาณให้แก่รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
แผนภูมินี้คือ การประมาณการหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในอนาคต จะเห็นได้ว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเอาแค่ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในปี 2023 ก็เกินกว่าที่คาดการณ์ไปแล้ว
คำถามที่อยากให้เพื่อนๆหรือนักลงทุนไปทำการบ้านต่อกันเอง ก็คือ หากแนวโน้มหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เป็นไปตามนี้จริง แล้วพวกเขาหารายได้ตามหนี้ได้ทันมั้ย?
แล้วถ้าไม่ทันพวกเขาจะทำอย่างไรกันต่อนะ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แม้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นวิธีที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาตั้งแต่อดีต และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเมื่อเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออาจทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้
เนื่องจากสามารถลดอัตราการกู้ยืมของธนาคาร และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้
มันอาจจะใช้ได้ผลกับเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยอื่นๆ แต่มันไม่สามารถใช้กับเงินเฟ้อที่มาจากการขาดดุลของการคลังได้
การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปราบเงินเฟ้อของ Fed หลังจากนี้ "อาจจะ" ไม่ใช่วิธีที่ดีเสมอไปก็ได้
และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอีกหลายบริบท อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดได้ หากไม่ไตร่ตรองให้ดี
การคาอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่ไว้ในระดับนี้ แล้วรอให้มันออกฤทธิ์ อาจเป็นวิธีที่ "แย่น้อยกว่า" ก็ได้
แต่ในอีกบริบทหนึ่ง ถึงเงินจะเฟ้อยังไง เศรษฐกิจของพวกเขาก็ไม่สามารถทนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5%กว่า ได้เป็นเวลานาน
ซึ่งก็อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากมายตามมาได้ และหากผิดนัดชำระหนี้กันมากๆ จนเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลก็คงเข้ามาช่วยอีก ก็ขาดดุลการคลังอีก
และต่อให้ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ตายยังไง แต่ถ้าการคลังยังใช้จ่ายเยอะแบบนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่านี้อาจไม่ช่วยอะไรก็ได้
หรือหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่านี้ แต่ถ้าจีนมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตามแผนที่พวกเขาได้ประกาศไว้
สิ่งนี้ก็อาจส่งผลต่ออัตราการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีนของสหรัฐฯ แล้วจะกระทบเงินเฟ้อที่มาจากภาคแรงงาน ซึ่งมันก็เป็นปัจจัยที่สหรัฐฯ ควมคุมไม่ได้อยู่ดี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่านี้อาจไม่ช่วยอะไรก็ได้เช่นกัน
หากถามว่า Fed รู้อะไรพวกนี้มั้ย? ก็ตอบเลยว่ารู้อยู่แล้วทำไมจะไม่รู้ มันเลยทำให้การตัดสินใจของ Fed ในครั้งต่อๆไป เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับนักลงทุน ว่า Fed จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
หรือนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อดีตประธาน Fed อย่างคุณเจเน็ต เยลเลน ต้องไปนั่งเก้าอี้ของ รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ หรือพวกเขากำลังวางแผนอะไรกันอยู่?
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วน ในช่วงเวลาหนึ่งมานำเสนอเท่านั้น และเขียนเพื่อขยายความบทความก่อนหน้านี้ที่ว่า การ "ขาดดุล" ของการคลัง อาจจะสามารถทำให้เกิด "เงินเฟ้อ" ได้
สามารถอ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/64bedf715b5341e8d4e3745a
จริงๆแล้วปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการคลัง เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนโยบายนั้นมีมากมายกว่าที่กล่าวมา เพื่อนๆหรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา