30 ก.ย. 2023 เวลา 02:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กรณีศึกษา เงินเฟ้อ 1940s ของสหรัฐฯที่ไม่ได้ใช้ดอกเบี้ยนโยบายสูงเพื่อปราบเงินเฟ้อ

ในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯนั้น มีการเกิดภาวะเงินเฟ้ออยู่หลายต่อหลายครั้ง และหลายๆครั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จะใช้วิธีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการปราบปรามภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้วิธีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนี้ เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อลดลง ครั้งนี้เลยจะมาบอกเล่าเป็น "กรณีศึกษา" ให้ได้รู้กัน
เหตุการณ์ที่พวกเขาไม่ได้ใช้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในการปราบปรามภาวะเงินเฟ้อที่ว่านี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1940 ของสหรัฐฯ
อย่างที่หลายๆคนเข้าใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากเราต้องการที่จะกดดันอัตราเงินเฟ้อให้ลดลง อย่างน้อยๆดอกเบี้ยนโยบายควรที่จะอยู่ "สูงกว่า" อัตราเงินเฟ้อ
แต่ในช่วงปี 1940 มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
แผนภูมิจาก Lyn Alden investment strategy
ในแผนภูมิเส้นสีน้ำเงินจะแสดงถึงราคาสินค้าและบริการ และเส้นสีแดงจะแสดงถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (Bond Yield)
อย่างที่รู้กันเมื่อราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น และเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลก็จะสูงขึ้นตามเช่นกัน
แต่หากสังเกตดูในแผนภูมิจะเห็นได้ว่า ในช่วงเริ่มต้นปี 1940 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอะไรมากเลย เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เรียกได้ว่าสูงมากๆ
มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น
เรามาปูพื้นเรื่องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงนั้นกันก่อน ว่าอะไรทำให้เกิดเงินเฟ้อ
โลกของเราในช่วงปี 1940 นั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยภาวะสงครามทำให้เกิด "ความต้องการสินค้าและบริการ" ของทหารจำนวนมาก
ความต้องการนี้ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และความต้องการสินค้าและบริการของทหารนั้นยังครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการเกษตร ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นและรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างนี้ก็นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในท้ายที่สุด
แต่ด้วยภาวะสงครามที่เกิดขึ้นและสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ร่วมในสงครามด้วย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคงอัตราดอกเบี้ยนนโยบายให้ต่ำ
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจสามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลงทุนและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจยังคงไปต่อได้ แม้จะอยู่ในภาวะสงครามก็ตาม
ในอีกบริบทหนึ่ง การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ทำการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นั้นก็เพื่อที่จะไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไปกระทบกับการทำสงครามและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของสหรัฐฯในช่วงเวลานั้น
ลองนึกภาพดูว่า หากมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อที่สูงขนาดนั้น ในตอนที่กำลังเกิดสงครามละก็ มันคงเป็นอะไรที่เหนื่อยและยากลำบากแน่ๆ สำหรับประชาชนและประเทศสหรัฐฯเอง
แล้วเพื่อที่จะสามารถทำสงครามไปด้วยพร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยได้ คงมีวิธีเดียวเท่านั้นที่ทำให้สหรัฐฯทำสิ่งนี้ได้
ซึ่งก็เป็นวิธีที่เราได้ยินกันจนเบื่อแล้วอย่าง "การพิมพ์เงิน" นั่นเอง
การพิมพ์เงินเพื่อใช้จ่ายในการทำสงครามไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯเป็นหนี้ต่อ GDP เพิ่มและมีการขาดดุลการคลังแล้ว
มันยังเป็นอีกปัจจัยที่หนุนเงินเฟ้อในครั้งนั้นอีกด้วย จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบ
โดยภายในปี 1945 ค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศของสหรัฐฯเพิ่มเป็น 15 เท่าของค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณปี 1941 เลยทีเดียว
รูปภาพจาก Peter G. Peterson Foundation
งบดุลของการคลังสหรัฐฯในช่วงนั้น
เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้ นั้นได้เริ่มคลี่คลายจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ได้เริ่มยุติลง ในช่วงปี 1945 ถึง 1948
การยุติลงของสงคราม ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐในการทำสงครามและความร้อนแรงของเศรษฐกิจนั้นค่อยๆเบาบางลงตามไปด้วย
ซึ่งในช่วงนั้นเอง ธนาคารกลางสหรัฐฯจึงได้เริ่มค่อยๆที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเพื่อควมคุมเงินเฟ้อนั่นเอง
โดยจะสังเกตได้จากที่มีการ "ขยับขึ้น" ของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ในแผนภูมิอันแรก
โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์เงินเฟ้อในช่วงปี 1940 มีสาเหตุหลักมาจากสงคราม ซึ่งเป็นเพียง "เหตุการณ์ชั่วคราว" เท่านั้น
มันนำไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาคประชาชนและรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการทำสงคราม
และด้วยภาวะสงครามนี้เองเพื่อไม่ให้กระทบกับการทำสงครามและประชาชนของสหรัฐฯ
ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เลือกที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อประครองเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอาไว้
เพราะถึงจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงยังไง ก็คงไม่อาจที่จะกดดันให้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นลดลงมาได้ เนื่องจากมีปัจจัยที่ควมคุมไม่ได้ในช่วงสงครามมาเกี่ยวข้อง
Fed จึงต้องรอให้สงครามสงบลงจึงค่อยขึ้นดอกเบี้นนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้ออย่างจริงจัง
กรณีศึกษานี้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบาย ในแง่มุมอื่นๆ นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้สูงๆเพื่อปราบปรามเงินเฟ้อ
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วน ในช่วงเวลาหนึ่งมานำเสนอและอธิบายอย่างคร่าวๆเท่านั้น
รายละเอียดต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเงินเฟ้อ 1940 นั้นมีมากมาย เพื่อนๆหรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา